ในพาดหัวข่าวของเว็บไซต์ BBC เมื่อปี 2017 เมื่อพวกเขาสัมภาษณ์แซลลี พอตเตอร์ (Sally Potter) ผู้กำกับหญิงชาวอังกฤษถึงหนังใหม่ของเธอ เขาเขียนว่า พอตเตอร์จะอธิบายถึงการสร้างหนังจากหนังสือที่ ‘ไม่น่าจะเป็นหนังได้’ แน่นอนว่าเขาไม่ได้หมายถึงหนังใหม่ของเธอ แต่หมายถึงหนังเก่าเมื่อปี 1992 ที่ชื่อ Orlando ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ Orlando : Biography
นิยาย Orlando : Biography ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1928 นิยายเล่มที่หก หรือจดหมายรักที่ยาวที่สุดในรูปแบบนวนิยายของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) ตัวนิยายแบ่งเป็นหกบท เล่าถึงชีวิตของออร์แลนโด ขุนนางที่เกิดในตระกูลสูง เกิดมาเป็นชาย ได้พบรักพลัดพราก ได้รู้จักรสของวรรณกรรม ถูกวรรณกรรมทำให้เจ็บปวด ได้ท่องไปในทางตะวันออกหลายสิบปี ตื่นมากลายเป็นหญิงกลับมาสู่บ้าน เรียนรู้ความเป็นหญิงจากมุมมองของคนที่เคยเป็นชาย เรียนรู้ที่จะเขียน ที่จะพบปะปัญญาชน ที่จะมีสามี ที่จะมีลูก และที่จะมีชีวิต ชีวิตอันเสรียาวนานสามร้อยปี ข้ามผ่านศตววรษที่ 17 จนถึง 20
เรื่องราวเหนือจริงของออร์แลนโดถูกเล่าอย่างละเอียดและงดงาม ดึงเอาความลุ่มหลงในวรรณกรรม ความพลาดรัก ความอึดอัดคับข้องที่วูล์ฟมีต่อโลกชายเป็นใหญ่ คลี่ขยายผ่านเรื่องราว อารมณ์ และรายละเอียดอันถี่ยิบ รสชาติแบบเรื่องเล่าโบร่ำโบราณที่ถูกวิเคราะห์ จดจำ วิพากษ์วิจารณ์ เปิดโปง และลงลึกไปข้างในของผู้คน ชีวิตสี่ร้อยปีที่อาจทำหน้าที่เป็นบทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ผ่านวรรณกรรม ถูกทำให้เป็นชีวประวัติที่บันทึกถึงความลุ่มหลง และการปลดเปลื้องตนเองจากความลุ่มหลงนั้นอย่างหมดจด
เป็นการยากที่จะดัดแปลงนิยายที่พลุ่งพล่านไปด้วยรสของวรรณกรรม เต็มไปด้วยบทบรรยายละเอียดลออให้เป็นหนัง หากทำ คงทำได้แค่เปลี่ยนจากตัวบทไปเป็นภาพเคลื่อนไหวของตัวหนังสือเพื่อเล่าเรื่อง แนบเนาไปกับเสียงบรรยายที่หยิบยกเอาตัวบทขึ้นมาอ่าน แต่นั่นไม่ใช่วิธีของแซลลี พอตเตอร์ เพราะก่อนจะเป็นคนทำหนัง เธอเป็นคนออกแบบท่าเต้น เป็นนักดนตรี เป็นผู้กำกับละครเวที และตอนนี้เธอก็ยังเป็นอยู่
เธอเขียนสกอร์ของหนังขึ้นมาเอง ดัดแปลงและตัดทอนบางส่วนของนิยายออก ขยายเวลาจนมาถึงยุคร่วมสมัย แบ่งมันออกเป็นห้าบท และอาศัยพลังการแสดงของคนที่ไม่มีใครในโลกนี้จะเหมาะสมที่จะรับบทออร์แลนโดไปกว่านี้แล้ว นั่นคือทิลด้า สวินตัน (Tilda Swinton) นักแสดงที่มีความกึ่งสองเพศ เติบโตมาจากการแสดงในหนังของเดเร็ก จาร์แมน (Derek Jarman) ผู้กำกับหนังเกย์คนสำคัญของโลกอีกคนหนึ่ง ใน Orlando ทิลด้าให้การแสดงที่เหมือนทั้งจักรวาลหมุนรอบตัวเธอ ความซีดเซียว สะโอดสะองและทรงพลังด้วยสายตาเฉียบคมซึ่งบ่อยครั้ง หันมาพยักเพยิดกับผู้ชมเอาตรงๆ ทำให้ ‘ออร์แลนโด’ ฟื้นตื่นขึ้นมาเป็นคนที่จับต้องได้ เป็นคนที่เชื่อได้ว่าจะเป็น ถ้าจะมีใครสักคนที่เพศสรีระของตนจะเปลี่ยนแปลงไปโดยอายุขัยไม่เปลี่ยนแปลงตาม
หนังยังได้สกัดเอาส่วนสำคัญที่สุดของนิยายออกไป นั่นคือความหมกมุ่นลุ่มหลงในบทกวีและวรรณกรรมของออร์แลนโด ทิ้งเอาส่วนของวรรณกรรมไว้กับวรรณกรรม หนังหันมาเล่าสิ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของออร์แลนโดในเวลาต่อมา นั่นคือการข้ามเพศสภาพ และการเป็นเควียร์
ด้วยการสร้างภาพของลอนดอนที่เป็นน้ำแข็งในบทแรกที่ออร์แลนโดพบรัก หรือสร้างดินแดนตะวันออกขึ้นมาอย่างงามหรู สร้างเครื่องแต่งกายอันรุ่มร่าม ใหญ่โต เปล่งประกายยามออร์แลนโดกลายเป็นหญิง หนังเปลี่ยนพื้นที่ทางการอ่านให้เป็นพื้นที่ทางสายตา จินตนาการถึงแผ่นดิน ทัศนียภาพ เครื่องทรง หรือเรือนร่างที่เคยจางอยู่ระหว่างบรรทัดถูกขับออกมาให้เป็นภาพ และการแสดงได้ผลักเอาส่วนที่เคยแจ่มกระจ่างถึงห้วงความรู้สึกภายในตัวละครให้ลดทอนลงไปเป็นเพียงจินตนาการถึงแววตา ร่างที่สัมผัส หรือการขยับท่าทางเพียงเล็กน้อย ด้วยวิธีการนี้ แซลลี พอตเตอร์ได้ทำหนังสือที่ไม่น่าจะทำเป็นหนังได้ ให้กลายเป็นหนังที่ไม่น่าจะเป็นหนังสือได้ (หากต้องแปลงกลับไปเช่นกัน)
เมื่อความลุ่มหลงในวรรณกรรมถอยฉากออกไปจากหนัง สิ่งที่หนังชูขึ้นก็คือความเป็นเฟมินิสต์ของ ชายที่ค่อยๆ เรียนรู้ทุกข์ของผู้หญิงผ่านการกลายเป็นหญิง ออร์แลนโดเป็นภาพแทนที่สำคัญของ LGBT ที่พร่าเลือนความเป็นเพศลง การเปล่งเสียงจากชายขอบของความไม่ชายไม่หญิง Orlando ของแซลลีได้ขยายภาพของการเรียนรู้โลกที่ต่างไปเมื่อเพศเปลี่ยนแปลง ผ่านทั้งท่าทาง androgynous ของทิลด้า หรือห้วงชีวิตยากลำบากหลังจากที่ออร์แลนโดกลายเป็นหญิงที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความเป็นหญิงในศตวรรษที่ 18 ต่อ 19 การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากกรอบความเป็นหญิง ดังที่คนรักชายของเธอกล่าวกับเธอว่า ‘คุณไม่ได้ต้องการสามี คุณต้องการชู้รักต่างหาก’ การปลดปล่อยตัวเองของออร์แลนโดจึงนำไปสู่การมีสภาพไม่ชายไม่หญิง กับลูกที่ไม่ชายไม่หญิงในคฤหาสน์ที่ต้นไม้ห่มคลุมด้วยพลาสติกสีขาวสมยุค 1990s ในปีที่หนังออกฉาย
อย่างไรก็ตาม แซลลีให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อเธอปฏิเสธฉลากเฟมินิสต์และบอกว่า “ฉันได้ข้อสรุปว่าฉันไม่สามารถใช้คำนี้กับงานของตัวเองได้ ไม่ใช่เพราะว่าฉันปฏิเสธหลักการที่ให้กำเนิดคำนี้ออกมา ซึ่งนั่นคือความมุ่งมั่นของเสรีภาพ ศักดิ์ศรี และความเท่าเทียม แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าคำนี้กลับเป็นคำที่กระตุ้นให้ผู้คนหยุดคิดต่อ คุณจะเห็นได้ถึงความเบื่อหน่ายในดวงตาของผู้คนเมื่อคำนี้หล่นลงในบทสนทนา”
เฟมินิสต์อาจไม่ใช่คำที่ชั่วร้าย เพราะมันกินความหมายกว้างและลึก แต่การให้ความหมายของมันก็อาจจะไม่ได้ถูกใช้ในความหมายที่กว้างและลึกอย่างที่มันเป็นจริงๆ มากกว่าจะเป็น ‘ฉลาก’ อย่างที่พอตเตอร์กล่าว นั่นนำมาสู่การลงลึกไปในอีกมิติของ Orlando เมื่อเราคิดถึงหนังอีกเรื่องที่ดัดแปลงจาก Orlando แต่ไม่เคยถูกนับในฐานะของหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือ Orlando ของวูล์ฟ นั่นคือหนังเยอรมันที่มาก่อนกาลตลอดกาล ในปี 1981 ของอูลริเก้ ออตติงเกอร์ (Ulrike Ottinger) ผู้กำกับหญิงชาวเยอรมันที่ทำหนังได้บ้าคลั่งมากที่สุดคนหนึ่งของโลก บ้าคลั่งสมชื่อหนัง Freak Orlando
Freak Orlando เริ่มต้นจากนักบวชลึกลับเดินข้ามกองหินมาพบกับต้นไม้วิเศษที่ที่จริงคือหญิงเปลือยครึ่งท่อนที่ผมกระเซอะกระเซิงออกเป็นพุ่มไม้เรืองแสง นักบวช แวะดื่มนมจากเต้าของเธอแล้วเดินผ่านประตูเมืองที่เขียนป้ายว่า FREAK CITY
เรื่องราวใน Freak City เริ่มต้นในห้างสรรพสินค้า Orlando ที่กำลังลดกระหน่ำ ตัวละครออร์แลนโดเป็นนางค้อนที่ต้องคอยตอกยี่ห้อของห้างลงในพื้นรองเท้าที่ลูกค้าซื้อมา ก่อนที่เธอจะโดนรุมจากลูกค้าจนต้องหนีออกจากห้างอย่างทุลักทุเลกับเหล่าคนแคระผู้ช่วย โดยมีผู้ประกาศสาวของห้างที่ตกหลุมรักออร์แลนโดหนีตามมาด้วย บทต่อมาเป็นการผจญภัยอย่างเดียวกับการท่องตะวันออกของออร์แลนโดกับเหล่าคนแคระ และหญิงคนรัก ในตอนนี้ออร์แลนโดซึ่งถูกสาปจากการมีความรักคือ เมื่อมีความรัก ผู้หญิงจะมีเครา!
การเดินทางไปสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ของชายที่เป็นรูปเคารพ ซึ่งเลือกออร์แลนโดมาเป็นรูปเคารพคนต่อไปแล้วตายลง ขณะที่ออร์แลนโดหลบหนี พวกผู้ชายชุดหนังที่โบยตีตัวเองเป็นหมู่คณะก็เดินทางมาถึงรูปเคารพ พวกนั้นแห่แหนรูปเคารพที่ตายแล้วไปตามถนน กองคาราวานตัวประหลาดไปพบพานกับนักร้องหญิงแฝดอินจันแล้วออกเดินทางไปด้วยกัน บทต่อมา พวกคนที่โบยตีตัวเองกลายเป็นตำรวจศีลธรรมไล่จับพวกคนแคระ พวกคนแต่งหญิง พวกตัวประหลาด รวมถึงออร์แลนโด ทุกคนถูกล่ามไว้กับเตียงคนไข้ที่ผูกติดกันเป็นขบวนรถไฟ แห่ไปรอบๆ เมืองร้าง ก่อนจะเอาทุกคนไปสังหารหมู่ในสนามกีฬา
บทที่สี่ ออร์แลนโดและเหล่าคนประหลาดมางานปาร์ตี้บนดาดฟ้าตึกร้าง ที่นั่น เขาหรือเธอตกหลุมรักกับร่างหนึ่งจากสองร่างของแฝดสยาม ความรักนำมาซึ่งการเป็นอื่นของอีกตัวหนึ่งและลงเอยอย่างเป็นโศกนาฏกรรม เมื่อออร์แลนโดไม่อาจทนผู้หญิงที่เอาแต่คุยกันเอง ด่ากันเองได้อีกต่อไป ในบทสุดท้าย ออร์แลนโดกลายเป็นพิธีกรบนเวทีในการประกวดตัวที่น่าเกลียดที่สุดในโลก บรรดาตัวประหลาด คนแคระชายแต่งหญิง คนชุดหนังโบยตีตัวเอง ทุกคนมาประกวดแต่ต้องพ่ายให้กับเซลล์แมนชายที่เดินผ่านมาเฉยๆ!!!!
ไม่ต้องรู้เรื่องชีวิตอะไรกันอีกแล้ว คือนิยามที่เหมาะที่สุดกับหนังประหลาดบ้าบอเรื่องนี้ ที่เป็นเหมือนโชว์ตัวประหลาดสวมเครื่องแต่งกายประหลาดแล้วเต้นรำอย่างบ้าคลั่งไปรอบๆ เมืองประหลาด เป็นการย่ำยี Orlando อันมลังเมลืองละเอียดลออที่เรารู้จัก ให้กลายเป็น ไอ้ Orlando ตัวประหลาด!!!
แต่นี่คือผลงานของอูลริเก้ ออตติงเกอร์ ผู้กำกับหญิงชาวเยอรมันที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับคนทำหนังยุค New German Cinema อย่าง Alexander Kluge, Wim Wenders , Werner Herzog หรือเพื่อนสนิทของเธออย่าง Reiner Werner Fassbinder
ดังที่รู้กันว่า New German Cinema มาพร้อมกับคำประกาศว่าหนังเยอรมันยุคเก่าตายแล้ว พวกเขาท้าทายทำลายภาษาหนังแบบดั้งเดิม ลบล้างโลกก่อนสงคราม สั่นคลอนฐานคิดของผู้คนที่เพิ่งฟื้นตื่นขึ้นมาจากการหลับใหลหลังการจบสิ้นของฮิตเลอร์ สถาปนาภาษา เรื่องเล่า เทคนิคของคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น หนังของ Kluge คือความบ้าที่เอาประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทาน และงานไซไฟทำเองมายำรวมกันเพื่อวิพากษ์สังคมอย่างคมคาย Wim Wenders พาผู้ชมท่องถนนหนทางไปด้วยความรักในหนังอเมริกัน และสร้างตำนานคนเหงาอย่าง Paris, Texas. ส่วน Herzog บุกป่าฝ่าดงเข้าไปทำหนังที่ว่าด้วยความบ้าคลั่งของมนุษย์อันไม่มีที่สิ้นสุด ความบ้าอยู่ทั้งในหน้าฉากของตัวหนังและหลังฉากของหนังที่มีตั้งแต่การฝ่าแอมะซอน ลากเรือเดินสมุทรไปกลางป่า หรือการท้าต่อยตีกับนักแสดงจนแทบจะฆ่ากันจริงๆ ในกองถ่าย ข้างฝ่าย Fassbinder ก็เปิดเปลือยเรื่องของตัวเองอย่างหมกมุ่นรุนแรง ความเกลียดชัง ความเป็นเกย์ การโหยหาความรัก การเมืองอันบ้าคลั่ง ถูก Fassbinder เล่าอย่างกระหายในหนังหลายสิบเรื่องของเขา
เช่นกันอูลริเก้ ออตติงเกอร์ ก็เดินหน้าเข้าหาความผิดเพี้ยน ตัวประหลาดความเป็นเกย์ (ตัวเธอเป็นเลสเบี้ยน) หนังของเธอคือมหกรรมของการเฉลิมฉลองให้กับตัวประหลาด คนพิการ คนแบบที่ในยุคสมัยหนึ่งคือคนที่จะถูกจับไปขังแบบสวนสัตว์มนุษย์ในคณะละครสัตว์ ออตติงเกอร์เชิดชูตัวละครเหล่านี้ หนังของเธอคือบรรดาคนชายขอบของชายขอบ แต่งตัวแต่งหน้าบ้าคลั่งโดดเด่นและงดงาม ไม่มีพื้นที่ของนักแสดงสวยหล่อ ทุกคนกลายเป็นตัวประหลาดในหนังของเธอ
มันจึงหมดจดงดงามอย่างยิ่งที่เธอจะตีความ Orlando เสียใหม่ในฐานะตัวประหลาด หญิงไม่ใช่ชายไม่เชิง ร่วมหัวจมท้ายกับคาราวานตัวประหลาด เริงเล่น เฉลิมฉลอง และมีชีวิตเฉกเช่นมนุษย์สามัญคนหนึ่ง
หาก Orlando ของแซลลี พอตเตอร์คือ Orlando ในมุมมองแบบเฟมินิสต์ (แม้เจ้าตัวจะไม่ชอบคำนี้มากนัก) ที่เปิดเผยความเป็นอื่นของผู้หญิง และการเปิดเผยความงดงามของการเป็นเกย์ Orlando ของ Ottinger ก็เป็นเสมือนมุมมองของเควียร์ที่แผ่ขยายออกไปมากกว่าเรื่องชายหญิง ไปสู่ชีวิตของคนชายขอบที่มีมุมมองต่อโลกแบบที่ ‘เบี่ยงเบน’ ไปจากบรรทัดฐานของรักต่างเพศ ตั้งแต่ระดับกายภาพ วิถีทางเพศ ไปจนถึงโลกทัศน์ และวัฒนธรรมที่ต่างออกไป การเป็น fetish เป็นคนพิการ เป็นคนแคระ เป็นคนบ้า เป็นตุ๊ด เป็นสิ่งที่ถูกเบียดขับออกไป
สายตาของเควียร์ในการตีความ Orlando ทำให้มันไม่ได้เป็นเพียงการตีความแบบรักร่วมเพศ หรือแบบการมองความเป็นหญิงที่ถูกกดทับโดยผู้ชาย แต่ Freak Orlando คือไวยากรณ์ใหม่ โลกทัศน์ใหม่ การพุ่งเข้าชนแบบใหม่ แบบเดียวกับกระแสสำนึกเอ่อท้นของวูล์ฟในต้นศตวรรษ มันคือไปให้พ้นจากการเป็นบทเรียนสอนใจ หรือเรื่องเล่าที่เล่าได้จบลงแล้ว Freak Orlando อันบ้าคลั่งจึงไม่ใช่การย่ำยีหากแต่เป็นการตีความแบบถอนรากถอนโคน
และนี่คือตัวอย่างของหนังสองเรื่องที่ดัดแปลงนิยายดั้งเดิมให้กลายจากวรรณกรรมไปสู่ภาพยนตร์ ขยายขอบฟ้าใหม่ๆ ของการตีความที่ทั้งท้าทาย รื้อสร้าง และสร้างบทสนทนากับตัวบทเดิมได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
Tags: Queer, Virginia Woolf, Orlando, Sally Potter, Ulrike Ottinger, Freak Orlando, Feminist