“ข้าใช้ชีวิตในฐานะเจ้าชายด้วยการดื่มเหล้าและทำตัวไร้สาระไปวันๆ รู้ตัวอีกที… ก็กลายเป็นกษัตริย์ไปแล้ว”

บางทีแล้วย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 14 กษัตริย์เฮนรี่ที่ 5 อาจไม่เคยวาดภาพตัวเองนั่งบัลลังก์ราชาของอังกฤษ หรือไม่เคยคิดด้วยซ้ำไปว่าเขาจะกลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้อังกฤษรบชนะฝรั่งเศสในสงครามร้อยปีจนบ้านเมืองเงียบสงบอยู่นานหลายทศวรรษ และคงอาจไม่เคยคิดด้วยเหมือนกันว่า วิลเลียม เชกสเปียร์ กวีรุ่นหลานชาวอังกฤษจะนำเรื่องราวการต่อสู้และนำทัพของเขาไปเขียนเป็นบทละครเพลง Henriad และอาจไม่เคยแม้แต่จะจินตนาการว่า อีกหกศตวรรษให้หลัง บทละครของเชกสเปียร์ที่เล่าถึงวีรกรรมของเขาจะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ออกฉายในเว็บไซต์สตรีมมิ่งดังอย่างเน็ตฟลิกซ์ในชื่อ The King

The King กำกับโดย เดวิด มิช็อด คนทำหนังสัญชาติออสเตรเลียที่แจ้งเกิดจาก Animal Kingdom (2010), The Rover (2014) ตัวเรื่องเล่าถึงเฮนรี (ทิโมธี ชาลาเมต์) เจ้าชายแห่งเวลส์ที่ใช้ชีวิตสำเริงสำราญอย่างสุขใจกับสหายคนสนิทอย่าง จอห์น ฟาลสตาฟฟ์ (โจเอล เอ็ดกอร์ตัน—นักแสดงนำที่ร่วมเขียนบทในหนังเรื่องนี้ด้วย) อยู่ห่างไกลจากการดูแลของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษผู้เป็นพ่อซึ่งฮัล (เฮนรี) ไม่ถูกโรคด้วยนัก เพราะมักรู้สึกว่าพ่อหมกมุ่นกับสงครามและการเมืองมากเกินไป 

ขณะที่ฝั่งพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 เองก็รู้สึกว่าลูกชายคนโตของเขา ‘ไม่เอาอ่าว’ เพราะนอกจากจะไม่แยแสเรื่องการขึ้นครองบัลลังก์แล้วยังหมกมุ่นอยู่แต่กับสิ่งไร้สาระและความเริงใจ ทั้งที่ในเวลานั้นอังกฤษกำลังเผชิญสถานการณ์คับขันเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในแผ่นดิน เวลส์กับไอร์แลนด์ก็แข็งข้อใส่ มิหนำซ้ำ สก็อตแลนด์ที่เหมือนเป็นพันธมิตรที่ดีมาโดยตลอดก็บุกเข้าตีจนระส่ำระสาย หากแต่ฮัลก็วางเฉยปล่อยให้ โธมัส (ดีน—ชาร์ลีส์ แชปแมน) น้องชายที่ห้าวหาญด้านการศึกมากกว่าต้องออกรบแทน ทั้งยังพร้อมจะสละบัลลังก์ให้โธมัสหากว่าน้องอยากขึ้นครองราชย์ต่อจากพ่อ หากแต่โธมัสก็ถูกสังหารตายคาสนามรบโดยกบฏจากฝั่งสก็อตแลนด์ หายนะยังคุกคามมาติดๆ เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 สวรรคตจนฮัลต้องผลัดสถานะตัวเองจากเจ้าชายเป็นกษัตริย์เฮนรี่ที่ 5 อย่างไม่เต็มใจนัก เพราะมันหมายความว่าเขาต้องเข้ามาสางปมการเมืองที่พ่อได้ก่อไว้ทั้งในและนอกบ้าน

ระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 พยายามสงบศึกกับทุกฝ่ายด้วยการส่งคนไปเจรจาตามดินแดนต่างๆ ในปกครอง และแม้นั่นจะเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและการสงบศึก หากแต่ในสายตาของ วิลเลียม (ฌอน แฮร์ริส) หัวหน้าฝ่ายตุลาการกลับมองว่าพฤติกรรมของพระเจ้าเฮนรี่กลับแสดงออกถึงความอ่อนแอและเปราะบางของอังกฤษเสียมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อ หลุยส์ โดแฟ็ง (โรเบิร์ต แพตตินสัน) จากฝรั่งเศสส่งลูกบอลของเล่นมาเพื่อเยาะเย้ยความเยาว์วัยของเฮนรี่ขณะขึ้นครองราชย์ ทำให้เฮนรี่ตระหนักได้ว่าแม้เขาปรารถนาจะสงบศึกและเก็บตัวเงียบเชียบสักเพียงไหน แต่เขาไม่ได้เป็น ‘ฮัล’ อีกต่อไปแล้ว 

เขาคือตัวแทนของอังกฤษที่กำลังถูกดูแคลนและไม่อาจเงียบเฉยอีกต่อไปได้ พระเจ้าเฮนรี่จึงตัดสินใจยกทัพบุกฝรั่งเศสเพื่อแสดงถึงการไม่ยอมก้มหัวให้การถากถางครั้งนั้น นำมาสู่สงครามใหญ่ที่สานต่อสงครามร้อยปีอันยืดเยื้อที่เมืองอาแซ็งกูร์ ตอนเหนือของฝรั่งเศสท่ามกลางสภาพการณ์ที่เสียเปรียบอย่างที่สุดเมื่ออังกฤษไม่เพียงต้องออกเดินทัพข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำศึกเท่านั้น แต่กำลังพลของพวกเขาก็ห่างชั้นกันกับกองทัพของโดแฟ็งหลายเท่าตัวจนมองแทบไม่ออกว่าจะชนะได้อย่างไร… และนี่เองที่อาจทำให้เรื่องราวของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ได้รับการจดจำในหน้าประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เพราะไม่เพียงแต่จะคว้าชัยชนะกลับมาได้อย่างเด็ดขาด แต่ยังเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้อังกฤษได้ครอบครองฝรั่งเศสซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าถึงสองเท่าในแบบที่กษัตริย์คนก่อนๆ ไม่เคยทำสำเร็จ

อย่างไรก็ดี The King ไม่ได้เป็นหนังที่มีขึ้นเพื่อเชิดชูวีรกรรมของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 นัก ตรงกันข้าม เขาดูอ่อนไหว เปราะบางและดูห่างไกลจากการเป็นนักรบในอุดมคติของชาวอังกฤษ (โดยเฉพาะเมื่อหนังได้ชาลาเม่ต์ที่รูปร่างผอมบางมารับบทนี้ เทียบเคียงกันกับนักแสดงชายคนอื่นๆ ที่รับบททหารได้อย่างน่าเกรงขามและดูคุกคามมากกว่า) อีกทั้งหนังยังเทน้ำหนักไปให้ตัวละครสมมติอย่างฟาลสตาฟฟ์ —ตัวละครที่เชกสเปียร์จินตนาการขึ้นมา— ในฐานะกุนซือหลักของฝั่งอังกฤษแทนที่จะเป็นกษัตริย์เฮนรี่ อีกทั้งสถานะทางการเมืองของเฮนรี่ยังถูกตั้งคำถามอยู่เป็นระยะว่า หากนับตามสายเลือดจริงๆ แล้วเขาไม่ควรมีสิทธิในการครองบัลลังก์ด้วยซ้ำ (นำไปสู่ประโยคฮุกในช่วงท้ายเรื่องว่า “ระบอบกษัตริย์ก็ล้วนผิดทำนองคลองธรรมทั้งนั้น”) เพราะพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 ผู้พ่อก็ชิงตำแหน่งกษัตริย์มาครองด้วยความรุนแรงท่ามกลางสายตาคลางแคลงใจของประชาชน มากกว่านั้น เรายังพบว่า แม้เฮนรี่จะพยายามดำเนินนโยบายสร้างสันติขึ้นระหว่างหัวเมืองน้อยใหญ่ แต่เขาก็ไม่อาจเลี่ยงคำถามสำคัญไปได้ ว่าความสงบในสายตาของเขากับคนอื่นๆ นั้นมันวางอยู่บนรากฐานและสมการเดียวกันหรือเปล่า

“สันติสุขในวันนี้ต้องการมากกว่าความกลมเกลียว มันต้องการความเข้มแข็งและความมั่นใจ” 

ยุคสมัยแห่งการสร้างชาติและยึดพื้นที่มาเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรนั้น สันติภาพย่อมไม่ใช่ปัจจัยแรกที่อยู่ในตำราการเดินหมากเกมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคกลางที่การรบพุ่งและทำสงครามคือหมุดหมายสำคัญในการขยับขยายเขตแดน อิทธิพล ความเชื่อและการปกครอง พระเจ้าเฮนรี่จึงไม่อาจเลี่ยงสงครามและการปะทะได้ นำไปสู่การบุกคืบไปยังอาแซ็งกูร์ เมืองทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเพื่อทำสงครามกับโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ทั้งที่เสียเปรียบด้านกำลังพล ฝั่งกองทัพอังกฤษนั้นกล่าวได้ว่าเกือบๆ จะปิดประตูตายสนิทเพราะมีทหารในกองทัพเพียง 8,000 คนเท่านั้น แถมเดินทางมารบในถิ่นศัตรูในระยะทางแบบชวนหมดแรง เทียบกับฝรั่งเศสที่ประเมินกันว่ามีมากถึง 20,000-30,000 คน แถมยังมาพร้อมกำลังรบสุดแกร่งทั้งทหารม้าและเสื้อเกราะ 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เฮนรี่เอาชนะฝรั่งเศสได้คือกลยุทธ์ของฟาลสตาฟฟ์ที่ปฏิเสธจะให้ทหารอังกฤษใช้หน้าไม้ —อาวุธโบราณคู่ใจของทหารยุโรป— ซึ่งทั้งเบาและพกพาสะดวก เพื่อหันไปใช้อาวุธที่เทอะทะและหนักหนากว่าอย่างคันธนูขนาดยาวที่มีระยะยิงได้ไกลกว่าหน้าไม้ ท่ามกลางสายตากังขาของไพร่พล การณ์กลับกลายเป็นว่าในยามหน้าสิ่วหน้าขวานนั้น ทหารทัพหน้าของฝรั่งเศสโดนลูกธนูสอยตกจากหลังม้าก่อนที่พวกเขาจะวิ่งเข้ามาในระยะที่เหนี่ยวไกหน้าไม้ได้ด้วยซ้ำ และด้วยสภาพสมรภูมิรบที่เฉอะแฉะเจิ่งนองด้วยหยาดฝนจนพื้นดินกลายเป็นหล่มโคลนท่วมลึก ฟาลสตาฟฟ์ให้นายทหารอังกฤษสวมเสื้อเกราะแบบบางเพื่อความคล่องตัวไม่ให้ถูกโคลนดูด จนพวกเขาเอาชีวิตรอดจากนรกโคลนตมเพื่อไปสังหารกองทัพฝรั่งเศสที่สวมใส่ชุดเกราะหนาหนัก และกว่าจะขยับตัวได้ก็โดนโคลนกินไปครึ่งท่อนแล้วจนกลายเป็นเป้านิ่งให้เหล่านายทหารจากอังกฤษในที่สุด (มีบันทึกไว้ว่า หลังการต่อสู้สิ้นสุด ฝรั่งเศสเสียผู้คนไปที่จำนวน 6,000 ขณะที่อังกฤษเสียไปราว 450 คน)

และดังที่เรารู้กัน อังกฤษเป็นฝ่ายกำชัยในศึกครั้งนั้นก็จริง แต่หนังไม่ได้มีท่าทีเฉลิมฉลองความสำเร็จของกษัตริย์เฮนรี่ อันที่จริง ราวกับมิช็อดปูเรื่องทั้งหมดมาเพื่อองก์ที่สามหลังอังกฤษคว้าชัยชนะได้ นั่นคือการเปิดเปลือยให้เห็นบาดแผลและความไร้เดียงสาของเฮนรี่ เมื่อความปรารถนาดีและก้าวย่างทางการเมืองของเขานั้นถูกชักจูงและชี้นำโดยคนรอบตัวได้อย่างง่ายดายมากเพียงใด หากว่าที่ผ่านมา พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 มีชื่อเสียงในด้านการยึดแผ่นดินฝรั่งเศสมาไว้ในครอบครอง The King คือการนำเสนออีกด้านว่าบางทีแล้วภายใต้ฉากหน้าของการเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่คือเด็กหนุ่มไม่ประสาและถูกชักจูงทางการเมืองอย่างง่ายดายโดยนักการเมืองที่เจนสนามมากกว่าเท่านั้น

นี่จึงไม่ใช่เพียงภาพยนตร์สำคัญคนสนใจประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวย้อนยุค (หรือกระทั่งแฟนๆ ของชาลาเม่ต์หรือแพททินสัน) หากยังเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ชวนให้เรามองไปยังแง่มุมหนึ่งของการเมืองการปกครองได้เป็นอย่างดี

Tags: , ,