“อะไรคือราคาของคำลวง ไม่ใช่การที่เราเข้าใจผิดว่ามันคือความจริง เรื่องอันตรายที่แท้จริงคือเมื่อเราฟังคำลวงมากพอ เราจะไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงอีกแล้ว”

ตีหนึ่งของคืนที่ 26 เมษายน 1986 ชาวเมืองปริปยัต (Pripyat) ในยูเครน สหภาพโซเวียต ต้องสะดุ้งตื่นด้วยแรงสะเทือนมหาศาล ที่สว่างไสวเดือดดาลยามค่ำคืนคือกองไฟที่ลุกท่วมมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ท่ามกลางความตื่นตระหนกสุดขีดของเหล่าพนักงานกะกลางคืนในโรงงานที่หาทางรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ภายใต้คำสั่งของ อนาโตลี ดียัตลอฟ (รับบทโดย พอล ริตเตอร์) หัวหน้าวิศวกรอารมณ์ร้ายที่สั่งให้มีการทดสอบระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากแต่ข้อผิดพลาดรุนแรงทำให้แรงดันไอน้ำพุ่งขึ้นสูงฉับพลัน ดียัตลอฟสั่งให้คนงานตัดระบบการทำงานกระทันหันเพื่อป้องกันความสูญเสีย หากแต่ระบบตัดพลังงานกลับไม่ทำงาน ส่งผลให้ความร้อนในโรงไฟฟ้าสูงขึ้นจนแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 หลอม ตามมาด้วยระเบิดที่ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีกระจายออกไปกลางอากาศอย่างไร้การควบคุม บนสะพาน มีคนจำนวนมากออกจากบ้านมาเพื่อดูเปลวไฟและรังสีประหลาดที่เรืองรองอยู่เหนือโรงไฟฟ้า ไม่สนใจขี้เถ้าแสบร้อนที่ปลิวมาปะทะผิว

เวลาเดียวกันนั้น วาสิลี อิกนาเต็นโก (รับบทโดย อดัม นาไกทิส) พนักงานดับเพลิงถูกเรียกตัวออกมาจากบ้านโดยด่วนเพื่อระงับเหตุดับเพลิงที่โรงไฟฟ้า ปล่อยให้คนรักสาว ลุดมิลล่า (รับบทโดยเจสซี่ บัคลี่ย์) อยู่โยงเฝ้าบ้านด้วยความเข้าใจว่า กลุ่มไฟสว่างที่เห็นจากโรงไฟฟ้าเป็นแค่เหตุไฟไหม้ธรรมดาที่อาศัยแรงน้ำดับก็คงจะสงบ หากแต่เพลิงในเชอร์โนบิลไม่ใช่เพลิงแบบที่วาสิลีและเพื่อนดับเพลิงเคยเจอ มันไม่ยอมดับไปกับน้ำ มิหนำซ้ำ ยิ่งเดินเข้าใกล้มัน ผิวหนังของพวกเขายังบวมเป่งและแสบร้อน ใกล้ๆ กันนั้น เพื่อนคนหนึ่งคว้าเอาโลหะสีดำจากพื้นขึ้นมาถือ นาทีต่อมา มือข้างนั้นของเขาไหม้เกรียม ไม่อาจรักษาและบรรเทาได้ด้วยยาขนานใด

หายนะของเชอร์โนบิลทำให้คณะรัฐบาลต้องส่งทีมงานไปประกบดูแลเพื่อระงับและหาสาเหตุอย่างใกล้ชิด บอริส เชอร์บิน่า (รับบทโดยสเตลลัน สการ์สการ์ด) รองประธานสภาจำต้องมาที่ปริปยัตอย่างเสียมิได้พร้อมกับ วาเลอรี่ เลกาซอฟ (รับบทโดยจาเร็ด แฮร์ริส) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ กับนักฟิสิกส์หญิง อูลาน่า คอมยุค (เอมิลี่ วัตสัน) ซึ่งให้ความร่วมมือกับเลกาซอฟอย่างเต็มที่เพื่อระงับเปลวเพลิงและหาสาเหตุของการระเบิดนั้น

Chernobyl มินิซีรี่ส์ความยาวเพียงห้าตอน ออกฉายทางช่อง HBO กำกับโดยโยฮัน เร็นค์ (เคยกำกับซีรีส์ The Walking Dead, Breaking Bad) สร้างจากหนังสือ Voices from Chernobyl ของนักเขียนชาวเบลารุสอย่าง สเว็ตลาน่า อเล็กซีวิช ซีรี่ส์กวาดคะแนนความนิยมล้นหลามทันทีที่มันออกฉาย เพราะมันไปไกลกว่าการเป็นซีรี่ส์ที่เล่าถึงโศกนาฏกรรมของเชอร์โนบิล หรือชะตากรรมหฤโหดที่ประชากรต้องเผชิญ มันยังสำรวจสาเหตุที่แท้จริงของวิกฤติการณ์ครั้งนี้อย่างละเอียด ธีมหลักของซีรี่ส์ไม่ได้อยู่ที่เหตุไฟไหม้หรือสารกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหล หากแต่เป็นเรื่องของ ‘คำโกหก’ คำโตและราคาที่ตามมาหลังจากนั้นต่างหาก

ช่วงปี 1986 สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตกำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาซึ่งถือแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างดุเดือด และเป็นสองขั้วอำนาจยักษ์ใหญ่ที่ชิงชัยกันในสงครามเย็นอันยืดเยื้อและน่าเศร้าภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งที่สหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ แข่งกันนั้นไม่ใช่แค่เรื่องแนวคิดที่ฝั่งแรกยึดถือระบอบคอมมิวนิสต์และฝั่งหลังที่สมาทานระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยม หากแต่มันยังขยับขยายไปสู่การชิงความเป็นหนึ่งด้านการทหาร, เศรษฐกิจและเทคโนโลยี (เห็นได้จากการชิงดีชิงเด่นกันเรื่องการปล่อยดาวเทียมดวงแรก หรือการออกเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของมนุษย์) ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเองเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญที่เป็นหลักฐานว่าสหภาพโซเวียตนั้นแข็งแกร่งและก้าวไกลในเรื่องเทคโนโลยีกับพลังงาน… การที่มันระเบิดจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลรู้สึกเสียหน้าและหวาดหวั่นว่ามันจะส่งผลร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ทางการเมือง ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงไฟที่ลุกท่วมอย่างไม่ยอมดับที่โรงงาน และร่างกายของพวกเขาที่เริ่มร้อนและพุพองจนคนต้องแห่ไปเข้าโรงพยาบาลจนล้นทะลัก

เพื่อจะระงับเรื่องนี้ คณะกรรมการเขตปริปยัตและเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลจึงประชุมกันอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา และลงความเห็นว่าพวกเขาควรจะอพยพผู้คนออกโดยด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย แต่นั่นเท่ากับเป็นการยอมรับความพ่ายแพ้ที่มีให้ต่อเชอร์โนบิล และการจะต่อโลกเสรีนิยมที่จับตามองพวกเขาอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง เพื่อจะรักษาหน้าของตนไว้ พวกเขาจึงตัดสินใจยกเลิกการอพยพ

“เวลาที่ผู้คนถามคำถามซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อตัวพวกเขาเอง เราควรบอกให้พวกเขามุ่งความสนใจไปกับการใช้แรงงาน และปล่อยให้รัฐจัดการเรื่องของรัฐ” ซาร์คอฟ (โดนัลด์ ซัมป์เตอร์) คณะกรรมการและผู้บริหารอาวุโสของปริปยัตสรุปการโต้เถียงอย่างดุเดือด “ดังนั้น เราจึงจะปิดตายเมืองนี้”

ด้วยความกลัวราคาของ ‘ความจริง’ ที่จะต้องจ่ายหากยอมรับแก่สากลโลกว่าโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดขึ้นด้วยความบกพร่องของอุปกรณ์และคนงาน พวกเขาจึงเลือกจะเอ่ย ‘คำลวง’ โดยปราศจากการตั้งคำถามของราคาที่ต้องจ่าย ชีวิตประชากรกลายเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงมาจากความมั่นคงของเสถียรภาพรัฐบาล ขณะที่คนในชุดสูทร่างแถลงการณ์ยาวยืดเพื่อจะโกหกต่อประชาคมโลกว่าเหตุระเบิดนั้นเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ พนักงานดับเพลิงอย่างวาสิลี อิกนาเต็นโกก็ค่อยๆ บุบสลายช้าๆ ในโรงพยาบาลกลางกรุงมอสโกว เพื่อจะทนกับเนื้อเยื่อที่พุพอง ไหม้เกรียมและเจ็บปวดเสียจนมอร์ฟีนก็ระงับไม่ได้ ภายหลังจากการเสียชีวิต ร่างอิกนาเต็นโกและเพื่อนร่วมชะตากรรมถูกปิดตายในโลงเหล็ก ฝังอยู่ใต้ดินลึกหลายเมตรและเททับด้วยคอนกรีตเพื่อไม่ให้รังสีหลุดรอดออกมาได้ ว่ากันว่าร่างของวาสิลี่บิดเบี้ยวและผิดรูปเสียจนจับใส่เสื้อผ้าและรองเท้าไม่ได้ อูลาน่าซึ่งเป็นภรรยาจึงยืนถือรองเท้าของเขาขณะบอกลาสามีตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย อีกไม่กี่เดือนต่อมา อูลาน่าให้กำเนิดลูกของวาสิลี ทารกอยู่ได้เพียงสี่ชั่วโมงหลังออกจากครรภ์ก็สิ้นลม

สองสามีภรรยาอิกนาเต็นโกไม่ใช่แค่รายเดียวที่ถูกรัฐทอดทิ้ง เพื่อจะระงับความวุ่นวายทั้งปวง รัฐบาลนำคนงานเหมืองมาขุดดินความลึก 12 เมตรใต้โรงไฟฟ้า —ด้วยมือเปล่าเพราะหากใช้เครื่องจักรแล้วอาจทำให้โรงไฟฟ้าถล่มซึ่งจะหายนะหนักกว่าเก่า— เพื่อหาทางระบายน้ำและรังสีที่รั่วไหลลงพื้นดินไม่ให้ถ่ายเทไปสู่แม่น้ำ แต่ก็หวาดกลัวว่าหากบอกความจริงกับเหล่าคนงานจะทำให้ไม่มีใครกล้ารับงานนี้ พวกเขาจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปออกคำสั่งคนงานโดยไม่ยอมบอกสาเหตุที่แท้จริงกับฝ่ายหลัง นำมาสู่บรรยากาศคุกคามและคลางแคลงใจเมื่อชาวเหมืองไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง (“จะยิงเราเหรอ เอาเลย นายมีกระสุนไม่มากพอจะยิงเราทุกคนในนี้หรอก”) ความจริงจึงเป็นสิ่งที่รัฐกีดกันจากคนงานเหล่านี้จนพวกเขาต้องเรียกร้องเพื่อหาคำตอบว่า สิ่งที่พวกเขากำลังจะขุดดินลงไปเจอนั้นคืออะไร

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าความพยายามจะปกปิดข้อเท็จจริงของรัฐนั้นรุนแรงมากถึงขั้นที่ว่า หลังการระเบิดเพียงวันเดียวก็มีนโยบายให้เด็กๆ ออกมาเดินกลางถนนในปริปยัตและแคว้นต่างๆ ในเคียฟเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีแล้ว โดยมีการยื่นบัตรเชิญชวนให้เหล่าเด็กนักเรียนออกมาร่วมเดินพาเหรดในเดือนพฤษภาคม ก่อนที่ในเวลาต่อมา ประชาชนจะรู้ว่าชนชั้นนำและเจ้าหน้าที่รัฐบาลได้ย้ายลูกหลานในครอบครัวตัวเองออกจากแคว้นเคียฟไปแล้ว และความรู้สึกเจ็บใจ ถูกหักหลังนี้เองที่แปรมาเป็นความคุกรุ่นเดือดดาลของประชาชนโซเวียต นำมาสู่การประท้วงในยูเครนที่มีผู้เข้าร่วมกว่าหมื่นราย เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปริปยัต ตามมาด้วยขบวนผู้ชุมนุมที่ผุดขึ้นมากมายทั่วสหภาพโซเวียต และกินเวลายาวนานเรื่อยมาจนนักรัฐศาสตร์หลายรายลงความเห็นว่า ภัยพิบัติเชอร์โนบิลคือบันไดขั้นแรกของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะหลังจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ กระบวนการคอมมิวนิสต์ในโซเวียตถูกมองว่าเต็มไปด้วยคำลวงและตรวจสอบไม่ได้

Chernobyl จากช่อง HBO จึงชำแหละ ‘ราคา’ ที่โซเวียตต้องจ่ายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทั้งยังตั้งคำถามถึงเหล่าแรงงานที่สังคมนิยมเชิดชูหนักหนาว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญของรัฐ หรือว่าถึงที่สุดแล้วพวกเขาจะมีค่าแค่เพียงเป็นคนงานขุดเหมืองที่ต้องขุดดินโดยไม่มีอุปกรณ์ใดๆ จากรัฐมาป้องกัน หรืออาจจะเป็นเพียงประชาชนไร้ใบหน้าของปริปยัตที่ไม่รู้เลยว่าขี้เถ้าที่สัมผัสตัวพวกเขาและลูกๆ นั้นปนเปื้อนสารพิษ และนี่เองคือสิ่งที่ทำให้เจ้ามินิซีรี่ส์ความยาวเพียงห้าตอนเรื่องนี้แตกต่างไปจากหนังภัยพิบัติเรื่องอื่นๆ คือมันชี้ให้เห็นผลกระทบและความร้าวรานของการใช้ชีวิตในเมืองปิดตายแห่งนี้ มากกว่าการนำเสนอระเบิดหรือหายนะซึ่งตื่นตาตื่นใจคนดูมากกว่า และไม่แปลกเลยเมื่อซีรี่ส์มันเลือกที่จะปัดฉากระเบิดใหญ่โตของโรงไฟฟ้าเป็นเรื่องรอง แล้วหยิบเรื่องราวของ ‘คนตัวเล็กๆ’ ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐ จะได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง เพราะมันได้เล่าในสิ่งที่หนังว่าด้วยภัยพิบัติเชอร์โนบิลหลายเรื่องไม่เคยเล่า และท้ายที่สุด มันอาจจะเป็นอย่างที่วาเลอรี่ เลกาซอฟ รำพึงไว้อย่างเศร้าสร้อย อันเป็นประโยคที่ขมวดปมและชี้ประเด็นซีรีส์ทั้งเรื่อง

“ความจริงนั้นไม่แยแสว่าเราต้องการหรืออยากได้อะไร ไม่ได้สนว่ารัฐบาล แนวคิดหรือความเชื่อของเราเป็นแบบไหน ความจริงเพียงแต่รอเวลาเท่านั้น และถึงที่สุดแล้ว นี่คือของขวัญอันล้ำค่าจากเชอร์โนบิลล่ะ”