“เมื่อข่าวลือประหลาดเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้ล้มป่วยแพร่สะพัดไปทั่วอาณาจักร องค์ชายรัชทายาทจึงเป็นเพียงความหวังเดียวที่จะต่อสู้กับโรคระบาดปริศนาที่กำลังคุกคามดินแดนแห่งนี้”

ท่านผู้อ่านได้ดู Kingdom ซีรีส์ซอมบี้สัญชาติเกาหลีใต้ทางเน็ตฟลิกซ์กันแล้วหรือยังครับ ผมเพิ่งจะดูจบไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง (ช้าไปใช่ไหมครับ แหะๆ) พูดเหมือนยาว แต่เป็น 6 ตอนที่ถ้าวันรุ่งขึ้นไม่ต้องตรวจคนไข้ต่อก็คงดูรวดเดียวจบเหมือนกับหลายคนไปแล้ว

“ซอมบี้” ในซีรีส์นี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ความอดอยากของประชาชนจนล้มตายกลายเป็นอสูรกายไล่กัดกินมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่างที่คิมอึนฮี-นักเขียนบทให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องการเสนอภาพให้เห็นถึงความหิวโหยและยุคสมัยที่ย่ำแย่ผ่านซอมบี้[i] แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งซอมบี้ก็เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนที่มีการระบาดในพื้นที่ (outbreak) และกลายเป็นภารกิจขององค์รัชทายาทที่จะต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในพื้นที่ใหญ่ขึ้น (epidemic) ดังนั้นจึงอาจใช้ทฤษฎีทางระบาดวิทยาในการมองซีรีส์นี้ได้

โดย สามเหลี่ยมระบาดวิทยา (epidemiological triangle)[ii] หรือปัจจัยสามทางระบาดวิทยา (epidemiological triad) เป็นทฤษฎีที่อธิบายว่ามีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ส่งผลต่อการเกิดโรค ได้แก่ สิ่งที่ทำให้เกิดโรค (agent) โฮสต์ (host) และสิ่งแวดล้อม (environment) ซึ่งหากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปก็จะทำให้เกิดโรคระบาดขึ้นมาได้

 

*มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์*

 

  1. สิ่งที่ทำให้เกิดโรค (agent) คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทางชีวภาพ (biological agent) เท่านั้น แต่ยังหมายถึงสาเหตุทางเคมี สาเหตุทางกายภาพ (physical agent) เช่น แสงอาทิตย์ทำให้ผิวหนังไหม้ รวมถึงสาเหตุทางด้านจิตใจและสังคม (psychosocial agent) เช่น ซีรีส์ผีทำให้นอนไม่หลับ ได้ด้วย

         จุดเริ่มต้นของโรคระบาดในครั้งนี้เกิดจากการรักษาของหมออีซึงฮีที่ใช้สมุนไพรคืนชีพในการรักษาพระราชาที่สวรรคตไปแล้วให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง แต่กลับฟื้นเป็นอสูรกายที่หิวกระหายเลือดเนื้อมนุษย์ จึงได้กัดทันอี-เด็กหนุ่มผู้ติดตามหมออีจนป่วยเสียชีวิต เมื่อหมออีนำศพกลับมาสำนักแพทย์จียุลฮยอนพร้อมกัน ยองชิน-คนไข้รายหนึ่งได้แอบชำแหละศพไปต้มซุปแจกจ่ายให้คนไข้กิน ทำให้ภายในเย็นวันเดียวกันทุกคนที่กินซุปก็เสียชีวิต เท่ากับว่าโรคนี้มีความสามารถในการติดเชื้อ (infectivity) และอัตราป่วยตาย (case fatality rate) 100%

           แต่อย่างที่หมออีได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโรคนี้ว่า “ทันอีป่วยอยู่หลายวัน แล้วก็เสียชีวิตอย่างมนุษย์ แต่ว่าตอนคนพวกนี้โดนกัดเข้าพวกเขากลับกลายเป็นอสุรกายเหมือนกัน โรคนี้เปลี่ยนไปแล้ว” (ตอนที่ 3) เชื้อโรคอาจมีการเปลี่ยนแปลงความรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าเชื้อโรคยังเหมือนเดิม สิ่งที่ต่างกันคือโฮสต์และสิ่งแวดล้อม

  1. โฮสต์ (host) หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่สามารถเกิดโรคได้ แต่เนื่องจากโรคที่สนใจเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเราจึงหมายถึงมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งมีความหลากหลายทั้งอายุ เพศ เชื้อชาติ พันธุกรรม อาชีพ ปัจจัยทางด้านจิตใจ ภูมิคุ้มกันของโรค และพฤติกรรมสุขภาพ (health behavior) ทำให้โฮสต์บางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าอีกกลุ่ม

            โรคระบาดในเรื่องมีโฮสต์เป็นมนุษย์เท่านั้น โดยจะสังเกตว่าซอมบี้ไม่กัดหมูที่มีการบรรทุกขึ้นไปบนเรือด้วย หรือไม่กัดม้าที่เป็นพาหนะขององค์รัชทายาทและองครักษ์ ส่วนปัจจัยทางด้านประชากรแทบจะไม่มีลักษณะเฉพาะเลย เพราะซอมบี้กัดทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ในขณะที่ความแตกต่างระหว่างอาการของทันอีกับชาวบ้านในทงเรอาจเป็นเพราะภาวะโภชนาการ ซึ่งทันอีได้เข้าวังหลวงไปพร้อมกับหมออีจึงน่าจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ส่วนชาวบ้านถูกทอดทิ้งจากทางราชการให้อดอยาก ขนาดโรคทั่วไปยังรักษาไม่ค่อยได้ผล อย่างที่พยาบาลในคลินิกคุยกันว่า “ยาไม่ได้ผล เพราะพวกเขากินไม่ได้เยอะ” (ตอนที่ 1)

           นอกจากนี้ระยะฟักตัว (incubation period: ระยะตั้งแต่ติดเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการ) ของโรคยังรวดเร็วขึ้นด้วย จะเห็นว่าตอนแรกที่คนไข้ในคลินิกกินซุปเนื้อทันอีพวกเขายังไม่เสียชีวิตในทันที น่าจะใช้เวลาเป็นหลักนาที-ชั่วโมง แต่พอในตอนที่ 5 อัครเสนาบดีโจได้ทดลองให้นักโทษในคุกกินเนื้อที่ติดเชื้อดูบ้าง เขากลับเสียชีวิตแทบจะเป็นหลักวินาที-นาที และกลายเป็นซอมบี้กัดเพื่อนนักโทษอีกคนหนึ่งเลย ส่วนการติดเชื้อจากการกัดสั้นกว่าเป็นหลักวินาที

  1. สิ่งแวดล้อม (environment) หมายถึงสภาพที่อยู่ห้อมล้อม 2 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (physical environment) สิ่งแวดล้อมทางเคมี (chemical environment) สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (biological environment) และสิ่งแวดล้อมทางสังคม (social environment)

           “เราต้องรีบไปก่อนอาทิตย์จะตกดิน เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครตายอีก” (ตอนที่ 2) สิ่งที่ซอบีกล่าวกับองค์รัชทายาทอย่างกระวนกระวายใจที่หุบเขาน้ำแข็งทำให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี เพราะเขาสังเกตว่าคนที่ติดเชื้อเสียชีวิตไปแล้วที่คลินิกจะฟื้นกลับมาเสมือนมีชีวิตและแพร่เชื้อได้อีกครั้งในตอนกลางคืน ดังนั้นจะต้องรีบจัดการกับศพด้วยการตัดศีรษะหรือเผาทำลายร่าง แต่ยังติดปัญหาที่ไม่มีใครเชื่อในวันแรก และถึงแม้จะทุกคนจะเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในคืนวันเดียวกันแล้ว ก็ยังมีข้อจำกัดสิ่งแวดล้อมทางสังคมอีกกล่าวคือ

          กลุ่มคนชั้นสูงไม่ยินยอมให้มีการตัดศีรษะหรือเผาทิ้งอย่างที่ผู้เป็นแม่ท่านหนึ่งกล่าวกับเจ้าเมืองทงเรว่า “ไม่ว่าใครก็ห้ามทำลายร่างกายที่ได้มาจากพ่อแม่… ถ้าเจ้าคิดแตะต้องร่างของเขา เจ้าต้องผ่านข้าไปก่อน” (ตอนที่ 3) จนทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ทันเวลา

         ในขณะที่เมืองซังจู-เมืองใกล้เคียง เริ่มมีข่าวโรคระบาดแพร่กระจายก็มีการนำเสนอให้เห็นวัฒนธรรมการบูชายัญ และความเชื่อว่าผ้ายันต์สีเหลืองที่เขียนโดยร่างทรงเด็กจะสามารถปัดเป่าโรคร้ายได้ จึงมีประชาชนผู้ตื่นกลัวโรคระบาดในเมืองซังจูยอมจ่ายเงินแย่งกันซื้อมาใช้

         ความสำคัญของสามเหลี่ยมระบาดวิทยาที่กล่าวมาทั้งหมดคือการนำมาใช้ในการวางแผนป้องกันและควบคุมโรค โดยเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทั้ง 3 มุม เช่น การทำลายแหล่งแพร่เชื้อโรค การกักกันโรคเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ การสร้างเสริมสุขภาพและส่งเสริมสุขอนามัยโฮสต์ การปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

        “การเอาเนื้อผู้ติดเชื้อให้ตัวทดลองที่ร่างกายสมบูรณ์กินจะนำไปสู่การแพร่เชื้อของโรคนี้ สิ่งนี้ควบคุมไม่ได้ เราต้องยับยั้งโรคระบาดนี้ไว้ก่อนที่มันจะไปทางเหนือ” (ตอนที่ 5) ผลการทดลองของอัครเสนาบดีโจทำให้เขาตัดสินใจปิดประตูเมืองทางตะวันตก และใช้โรคระบาดเป็นอาวุธทางการเมืองในการจัดการกับองค์รัชทายาท การแพร่เชื้อจึงยังดำเนินต่อไปภายใต้ความจงใจของรัฐ แต่ถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็คงมีการพัฒนาวัคซีนขึ้นมาบ้างแล้ว

        ส่วนคนดูอย่างเราก็ยังขาดข้อมูลสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับโรค โดยเฉพาะการจัดการกับซอมบี้ที่ปรมาจารย์อันฮยอนน่าจะเป็นผู้ที่รู้จักโรคนี้ดีที่สุด และแอบลุ้นกับซอบีว่าจะสามารถคิดค้นวิธีรักษาโรคจากตำราของหมออีได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรอซีซัน 2 อย่างใจจดใจจ่อ

       เหมือนกันไหมครับ

 

[i] https://www.forbes.com/sites/joanmacdonald/2019/02/13/netflix-zombie-hit-kingdom-begins-filming-second-season/#65c76316e0f7

[ii] วิฑูรย์ โล่ห์สุนทร. ระบาดวิทยา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561.

 

Tags: , , ,