ช่วงปี 1920 และ 1930 ถือเป็นยุคทองของนวนิยายสืบสวนสอบสวน ทางฝั่งอังกฤษนำโดยนักเขียนมีชื่ออย่าง มาร์เจอรี อัลลิงแฮม, จี.เค.เชสเตอร์ตัน, อกาธา คริสตี้ และอีกหลายๆ คน ส่วนทางฝั่งอเมริกาก็จะมีนักเขียนในสไตล์ที่คล้ายกันอยู่อย่าง เอิร์ล เดอร์ บิกเกอร์ส, เอลเลอรี่ ควีน และเอิร์ล สแตนลีย์ การ์ดเนอร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวนักเขียนแต่ละคนต่างมีผลงานออกมากันมากมาย และเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นต่อๆ มา ไม่เว้นแม้แต่ ‘โยโกมิโซ เซชิ’ นักเขียนนิยายชาวญี่ปุ่น ผู้สร้างตัวละคร ‘คินดะอิจิ’ ยอดนักสืบ นอกจากนักเขียนฟากตะวันตกที่เป็นแรงบันดาลใจให้เซชิแล้ว นักเขียนเชื้อชาติเดียวกันกับเขา ‘เอโดงาวะ รัมโป’ ก็มีส่วนสำคัญทั้งยังเป็นแรงสนับสนุนการทำงานของเซชิด้วยเช่นกัน
ในประเทศญี่ปุ่น งานของเซชิเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่าน เพราะไม่ใช่แค่เป็นเรื่องฆาตกรรมที่ได้รับการไขคดี แต่เบื้องหลังเรื่องราวยังเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ต่างๆ ของญี่ปุ่น
คดีแรกของคินดะอิจิคือ The Honjin Murders หรือ ‘ในห้องที่ปิดตาย’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 แต่ผ่านไปประมาณ 73 ปี กว่าผลงานของเซชิจะได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนหน้านี้ The Inugami Clan หรือ ‘ฆาตกรรมในตระกูลอินุงามิ’ เป็นเพียงเล่มเดียวที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ล่าสุด Pushkin Vertigo Series นำทั้งคดี ‘อินุงามิ’ และ ‘ในห้องที่ปิดตาย’ ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับเรื่องชุด ‘คินดะอิจิยอดนักสืบ’ ในบ้านเรา แปลออกมาแล้ว 33 ตอนตั้งแต่เกือบยี่สิบปีก่อน ก่อนจะห่างหายไปจากชั้นหนังสือนานพอสมควร และหาอ่านได้เฉพาะจากหนังสือมือสอง ล่าสุด มีการจัดพิมพ์คดีเก่าที่เคยตีพิมพ์มาแล้วและคดีใหม่อีกหนึ่งตอนมาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้ง (คดีฆาตกรรมบนเกาะโกะกุมง / ลูกรักของปีศาจ) The List สัปดาห์นี้ ขอแนะนำ 5 คดีเด่นของคินดะอิจิที่ตีพิมพ์มาแล้วทั้งเรื่องเก่าและใหม่
ฆาตกรรมในตระกูลอินุงามิ
“การฆ่าตัดคอก็ใช่ว่าไม่เคยเกิดมาก่อน คดีฆาตกรรมไร้หัว…ยังพอมีให้เห็นบ้าง แต่ถ้าเป็นกรณีนั้น คนร้ายมักจะเอาหัวไปซ่อนที่ไหนสักแห่งเพื่ออําพรางศพ แต่ว่า…แต่ว่าทําไมฆาตกรถึงได้เอาหัวมาตั้งตระหง่านในที่แบบนี้ล่ะ”
ฆาตกรรมในตระกูลอินุงามิ เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เคยสร้างเป็นภาพยนตร์สามครั้ง และละครโทรทัศน์อีกเจ็ดครั้ง ความสยดสยองที่เรียกว่าติดตามากกว่าตราตรึงนี้เกิดขึ้นกับตระกูลอินุงามิ ในช่วงประมาณปีโชวะที่สอง
ซาเฮ อินุงามิ เป็นเจ้าพ่อวงการผลิตไหมของญี่ปุ่น เขาประสบความสำเร็จอย่างสูง แม้จะกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก และไม่รู้แม้กระทั่งบ้านเกิดของตัวเอง แต่โชคดีที่ได้มาเจอกับ ไดนิ โนโนมิยา ซาเฮจึงเติบโตขึ้นมาได้ด้วยการอุปการะของเขาและภรรยา ซาเฮจึงไม่เคยลืมบุญคุณนี้เลย ต่อให้ตัวเองมีฐานะมั่งคั่งและมีครอบครัวแล้วก็ตาม
ซาเฮมีลูกหลานรวมทั้งหมดเก้าคน ในจำนวนนั้นมีหลานชายอยู่สามคน ตลอดชีวิตที่ผ่านมาซาเฮไม่ยอมยกกิจการให้ใครเลย จนเมื่อเขาถึงแก่ความตายในวัย 81 ปี และทิ้งพินัยกรรมไว้เป็นตัวตายตัวแทน อันเปรียบได้กับจุดเริ่มต้นของการฆาตกรรมในตระกูล
พินัยกรรมเจ้าปัญหาระบุไว้ว่า โยคิ–โคโต–คิขุ วัตถุสามสิ่งประจำตระกูล และทรัพย์สินทั้งหมดจะตกไปเป็นของ ทามาโยะ โนโนมิยา (ลูกสาวของไดนิ) มีเงื่อนไขเพียงว่าเธอจะต้องแต่งงานกับหลานชายคนใดคนหนึ่งของซาเฮภายในสามเดือน แต่ถ้าไม่แต่งก็ถือว่าสละสิทธิ์ และถ้าหากว่าหลานชายทั้งสามของซาเฮมีอันเป็นไปก่อนภายในสามเดือน ทามาโยะมีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกับใครก็ได้ โดยยังได้สิทธิ์ในทรัพย์สินเหล่านั้นอยู่
โหมโรงของโชคร้ายและโชคดีเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ย่อมมีคนที่ต้องตาย อยู่ที่ว่าจะเป็นใคร และใครกันที่จะได้รับผลประโยชน์ทั้งหมดนั้น
คดีฆาตกรรมเพลงเล่นลูกบอลปีศาจ
“ช่วงร้องซ้ำในตอนท้ายของแต่ละท่อนที่ว่า ‘เลยถูกส่งตัวกลับไป ส่งตัวกลับไป’ ความจริงน่าจะหมายถึง ‘เลยถูกฆ่าตาย ถูกฆ่าตาย’ มากกว่า”
เคยไหมเวลาที่ตั้งใจไปพักผ่อน แต่ไม่แคล้วที่จะมีงานติดสอยห้อยตามไปด้วยไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การเดินทางครั้งนี้ของคินดะอิจิเองก็เช่นกัน เขาตั้งใจจะปลีกวิเวกที่จังหวัดโอคายามะ แต่ก่อนจะตัดสินใจ เขาก็แวะหาสารวัตรอิโซคาวะ เพื่อทักทายและขอคำแนะนำ
สารวัตรเขียนจดหมายแนะนำตัวให้คินดะอิจิไปที่หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาชื่อโอนิโคะเบะ ที่มีสองตระกูลทรงอิทธิพลอาศัยอยู่ และเคยเกิดเหตุการณ์นองเลือดมาแล้วในอดีต ถึงกระนั้นสารวัตรก็ย้ำว่าเป็นอดีตที่ผ่านไปนานแล้ว เขาแนะให้คินดะอิจิพักที่บ้านของ อาโออิเกะ ริกะ หญิงอาภัพที่สามีถูกฆาตกรรม และยังเป็นคดีที่ปิดไม่ลง
ในช่วงสิบวันแรก คินดะอิจิได้ใช้ชีวิตสงบสุขสมใจหวัง แช่บ่อน้ำพุร้อน เดินเล่นตามไร่องุ่น ได้พบปะคนในหมู่บ้านบ้าง และได้รับฟังความเป็นมาและเรื่องราวต่างๆ ของหมูบ้านแห่งนี้เพิ่มเติม
แต่ไม่นานนักความเงียบสงบก็หายไป และแทนที่ด้วยเงามืดของปีศาจ คินดะอิจิต้องเผชิญการฆาตกรรมหญิงสาวอย่างโหดเหี้ยม สภาพศพพิสดาร ซ้ำยังมีสิ่งของแปลกๆ ถูกทิ้งไว้เป็นสัญลักษณ์ เป็นนัยที่ผนวกเข้ากับเพลงเล่นลูกบอลของหมู่บ้าน ซึ่งชวนให้ขนหัวลุกขึ้นไปอีก แต่เมื่ออ่านจบแล้วหลายคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าฆาตกรนั้นชวนให้นึกสงสารเสียมากกว่าที่จะน่าชิงชัง
กระดิ่งลมหัวคน
“เขายืนสงบนิ่งแหงนคอมองหัว…หัวนั้นเป็นสิ่งเดียวที่แขวนห้อยอยู่ที่ปลายโซ่ซึ่งห้อยลงมาจากโคมระย้า ด้วยความรู้สึกเคารพต่อผู้ตาย แทนที่จะรู้สึกเกรงกลัว”
หากนับตามไทม์ไลน์ของคินดะอิจิ คดีนี้ถือเป็นคดีสุดท้ายของเขาก่อนที่จะหายตัวไปและยุติอาชีพนักสืบ มันเป็นคดีที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลาสะสางเงื่อนปมต่างๆ นานเกือบยี่สิบปี คดีถึงจะปิดลงอย่างสมบูรณ์
ในปี พ.ศ. 2496 เป็นปีที่มีลมไต้ฝุ่นพัดเข้ามาน้อยกว่าปกติ ดังนั้นอากาศของกรุงโตเกียวในเดือนกันยายนจึงนับว่าร้อนอยู่ ในวันแบบนั้นเองที่ ฮนโจ นาโอกิจิ เดินทางมาหาคินดะอิจิ เพราะเขารู้สึกไม่ชอบมาพากลกับเรื่องเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อไปแจ้งความ ตำรวจกลับไม่ยอมรับเรื่องไว้
ฮนโจเป็นช่างภาพที่มีห้องภาพเป็นของตัวเอง รับจ้างถ่ายภาพทั้งในและนอกสถานที่ เขาถูกจ้างวานให้ไปถ่ายภาพบ่าวสาวคู่หนึ่ง สถานที่คือบริเวณ ‘เนินโรงพยาบาล’ ซึ่งไม่ไกลจากร้านของเขามากนัก
บ้านที่เขาต้องแวะไปนั้น เป็นที่รู้จักอีกชื่อว่า ‘บ้านคนผูกคอตายที่เนินโรงพยาบาล’ ฮนโจนึกกังวล จึงพยายามสืบเรื่องราวเกี่ยวกับบ่าวสาวคู่นั้น ขณะเดียวกันคินดะอิจิเพิ่งรับงานมาอีกคดีหนึ่ง ผู้ว่าจ้างเป็นหญิงชราชื่อยาโยอิ เธอบอกว่า ยุคาริ หลานสาวเพียงคนเดียวถูกลักพาตัวไปโดยชายที่อ้างชื่อว่า เทนจิขุโรนิน — ผู้แต่งหนังสือ รวมบทกวีบ้านคนผูกคอตายที่เนินโรงพยาบาล
จู่ๆ ไม่กี่วันให้หลัง ยาโยอิก็โทรมายกเลิกการสืบสวน และบอกว่าหลานสาวกลับมาถึงบ้านแล้วอย่างปลอดภัย แม้คินดะอิจิจะนึกติดใจอยู่บ้าง แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วนฮนโจ เขาถูกจ้างให้ไปถ่ายรูปอีกครั้งที่บ้านหลังเดิม ปลายสายบอกว่าให้ถ่ายภาพกระดิ่งลม เขาจึงตกปากรับคำ โชคร้ายที่มันไม่ใช่กระดิ่งธรรมดา แต่เป็นกระดิ่งลมหัวมนุษย์ที่สร้างความสยองขวัญถึงขีดสุด และนี่คือปฐมบทของความยืดเยื้อที่นึกไม่ออกว่าทั้งสองคดีมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร และจะลงเอยแบบไหนกันแน่
คดีฆาตกรรมบนเกาะโกะกุมง
“…เบื้องหน้าทางเดินเชื่อมระหว่างโบสถ์กับหอนั่งสมาธิมีต้นบ๊วยเก่าแก่…แน่นอนว่าทั้งดอกและใบร่วงไม่เหลือติดต้นเพราะตอนนี้เป็นฤดูใบไม้ร่วง ทว่ากลับมีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเหลือแสนห้อยลงมาจากกิ่งซึ่งชี้ไปทางทิศใต้”
หากว่ากันตามจริง เกาะโกะกุมงคงไม่ใช่สถานที่ที่ใครอยากเดินทางไปเยือนนัก ไม่ว่าจะด้วยเรื่องราวความเป็นมา หรือนิสัยของชาวเกาะที่ไม่สู้จะสุงสิงกับคนภายนอก ผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ได้ชื่อว่ามีเลือดเนื้อเชื้อไขของโจรสลัดและนักโทษปล่อยเกาะ นั่นก็เพราะเกาะแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของหมู่โจร ซึ่งในเวลาต่อมาไดเมียวแถบชูโงกุก็นำนักโทษมาปล่อยที่เกาะทุกๆ ปี
คดีนี้เกิดขึ้นหนึ่งปีหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คินดะอิจิต้องเดินทางไปยังเกาะโกะกุมงตามคำขอร้องของชิมาตะ เพื่อนที่รอดชีวิตมาจากสงครามมาได้ แต่กลับมาตายตอนปลดประจำการ แต่ก่อนชิมาตะจะสิ้นลม เขาได้ฝากชีวิตน้องสาวของเขาไว้กับคินดะอิจิ เพราะรู้ว่าพวกเธอกำลังตกอยู่ในอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิต
เมื่อมาถึงเกาะโกะกุมง คินดะอิจิได้พบกับครอบครัวของชิมาตะ รวมถึงน้องสาวของชิมะตะทั้งสามคน เขาเริ่มตระหนักได้ว่าคนบนเกาะนี้กำลังซุกซ่อนความลับบางอย่างจากบุคคลภายนอกอยู่ แล้วในไม่ช้าการฆาตกรรมก็เกิดขึ้นทีละรายๆ อย่างน่าสยดสยอง บรรยากาศหม่นหมองปกคลุมไปทั่วเกาะ ฆาตกรเปิดม่านแล้ว สิ่งที่คินดะอิจิต้องทำคือหยุดยั้งความตายที่อาจตามมาอีก และกระชากหน้ากากคนร้ายบนเกาะแห่งนี้
การบรรยายจะพาผู้อ่านค่อยๆ ขบคิดไปพร้อมกับตัวละคร เผยทุกตัวอักษรออกมาเป็นภาพ แต่ละก้าวย่างที่เดินไป สภาพแวดล้อม สภาพการตาย ความคับข้องใจ และการดึงความสนใจที่ชักจูงให้ผู้อ่านเดินไปตามเส้นทางที่กำหนด ก่อนที่จะเฉลยว่าเส้นทางใดแน่คือเส้นทางที่จะนำไปสู่คำตอบอย่างแท้จริง
ลูกรักของปีศาจ
“การที่มีแต่เสียงครางและคำรามของผู้ชายโดยไม่มีเสียงของฝ่ายหญิงขณะกามกิจดำเนินไป คือความน่าพรั่นพรึงที่แท้จริงของคดีนี้”
เวลาฝนตก อากาศฉ่ำชื้น ท้องฟ้ามัวหม่น ทำให้คุณนึกถึงอะไร? เครื่องดื่มอุ่นๆ สักแก้ว? หรือใครสักคน? สำหรับคาซามะ คิงโงะ ทุกครั้งที่ฝนตกเขากลับรู้สึกหวาดผวาว่าจะต้องมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแน่ๆ
คดีนี้เริ่มต้นในช่วงหน้าฝน คาซามะ—ชายที่ขึ้นชื่อว่าร่ำรวยที่สุดคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่เงินทอง แต่รวมถึงผู้หญิงรอบกาย แต่จู่ๆ วันหนึ่ง มิกิโกะ เมียหลวงของเขาหายตัวไป วันถัดมาก็พบว่าเธอสวมเพียงชั้นในบางๆ และกลายเป็นศพนอนอยู่กับฮิโรชิ หนุ่มจิตรกร คนพบศพได้แก่ ผู้หญิงทั้งสามคนของคาซามะ ซานาเอะ—พี่ชายของฮิโรชิ และซันตะ—นักข่าวที่แอบตามมาด้วย ส่วนฮิโรชินั้นแม้ยังไม่ตายแต่ชีพจรก็อ่อนแรงมาก…และนี่เป็นแค่คืนแรกของฝันร้ายที่จะติดตามมา
การตายของมิกิโกะไม่ใช่แค่การตายตามปกติ เพราะย่อมมีคนได้ผลประโยชน์จากการตายของเธอ แต่ก่อนจะฟันธงสาเหตุการตายของเธอ คดีก็ชวนวุ่นยิ่งขึ้นเนื่องจากศพของมิกิโกะหายไป ปริศนาของคดีเริ่มผุดขึ้นมาเรื่อยๆ คาซามะจึงต้องว่าจ้างคินดะอิจิเข้ามาช่วยไขคดีให้ทันการณ์ก่อนที่ฝนจะกระหน่ำลงมาอีก และอาจหมายถึงจำนวนศพที่อาจจะเพิ่มขึ้น…และเพิ่มขึ้น
Tags: The list, คินดะอิจิยอดนักสืบ, โยโกมิโซ เซชิ