เมื่อปี 2000 เป็นปีที่ครบวาระหนึ่งร้อยปีของการเผยแพร่งานของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เรื่องการตีความความฝัน (The Interpretation of Dreams, 1900) หนังสือซึ่งปรับเปลี่ยนมุมมองที่ผู้คนมีต่อ ‘ความเป็นจริง’ ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในโลกกายภาพและความสัมพันธ์ของคน แต่ภาพมายาอันเพ้อฝันก็คือความจริงประเภทหนึ่ง

ความฝันเป็นทั้งภาษาและประตูที่เปิดไปสู่โลกของจิตใต้สำนึก ขณะเดียวกัน ยังมีลักษณะของการเป็นอุปลักษณ์ (Metaphor) ซึ่งเกิดจากการระเหิดของความจริงชุดต่างๆ ไปอยู่ในรูปของสัญลักษณ์ การตีความความฝัน ยุคสมัยของฟรอยด์จึงเป็นการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์กับความสนใจในพรมแดนอันลึกลับของสิ่งที่ไม่อาจพิสูจน์ด้วยตาเปล่า

อย่างไรก็ตาม อายุร้อยกว่าปีของหนังสือเล่มนี้ ความขรึมขลังของหนังสือเล่มนี้ก็ถดถอยลง ความนิยมของแนวความคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ถูกแทนที่ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่ม Cognitive Neurobiology (ประสาทชีวศาสตร์ว่าด้วยการรับรู้) ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่อธิบายจิตวิเคราะห์

นอกจากนี้ บทบาทของคลินิกทางจิตวิทยา (Psychiatric clinic) ที่เริ่มไม่ได้ใช้แนวคิดแบบฟรอยด์มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา ประกอบกับความยุ่งยากในการประยุกต์แนวคิดของฟรอยด์ที่เน้นแรงขับทางเพศของปัจเจคบุคคลมาพิจารณา ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเสื่อมถอยของแนวคิดจิตวิเคราะห์ในปัจจุบัน

แนวคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ล้าสมัยไปแล้วหรือ?

 

หวนคืนสู่ ‘ฟรอยด์’ ในมุมที่แม้แต่ฟรอยด์เองก็ไม่ได้ตระหนัก

สลาวอย ชิเชก (Slavoj Žižek) นักปรัชญาคนสำคัญชาวสโลวีเนียตั้งคำถามถึงวิธีการพิจารณาแนวคิดจิตวิเคราะห์เช่นกัน ชิเชกกลับเห็นว่า แนวคิดจิตวิเคราะห์เป็นสิ่งที่จะหวนกลับมา และมีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจระบอบการทำงานของอำนาจ

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้หยิบแนวความคิดของฟรอยด์มาใช้อย่างตรงไปตรงมา ในทางกลับกัน ชิเชกกลับเชื้อชวนให้พิจารณาการทำงานของ ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) ในประเด็นว่าด้วย ‘หวนคืนสู่ฟรอยด์’ (Return to Freud) ซึ่งเป็นชุดงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยลากองและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับความคิดจิตวิเคราะห์ ผ่านวิธีการอ่านด้วยแนวคิดโครงสร้างนิยมแบบฝรั่งเศส

สำหรับชิเชก สาระสำคัญของการหวนคืนสู่ฟรอยด์ของลากองมิใช่อยู่ที่การกลับไปหาฟรอยด์หรือพิจารณาว่าความคิดของฟรอยด์คืออะไรและมีคุณูปการอย่างไรกับปัจจุบัน การหวนคืนในความหมายนี้มีลักษณะของการเดินทางไปสู่ที่ตั้งทางความคิดในอดีต เพื่อการจุติใหม่จากปัจจุบัน (Wo es war, soll ich warden) ความยอกย้อนนี้บอกความหมายของ ‘การหวนคืน’ อันเป็นพลวัต มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะของการซ้ำรอยอดีต

ในทางตรงข้าม การหวนคืนในลักษณะนี้กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้า และการอ่านฟรอยด์ผ่านลากองทำให้เราเข้าใจจิตใต้สำนึกได้ในฐานะโครงสร้างการทำงานของ ‘ภาษา’ มันจึงมีไวยกรณ์และตรรกะของการสื่อสารของมันเอง ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์จิตใต้สำนึกจึงถูกเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองและอำนาจได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เงื่อนไขแรงขับทางเพศของปัจเจคบุคคลแบบที่เคยเข้าใจ

ในหนังสือเรื่อง How to Read Lacan (2007) ชิเชกนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ภายใต้แนวคิดโครงสร้างนิยมแบบฝรั่งเศส รวมไปถึงปรัชญาทางการเมืองอย่างคานท์ เฮเกล และไฮเดกเกอร์ ส่งผลให้การหวนคืนสู่ฟรอยด์ของลากองมีลักษณะที่ไม่ใช่คู่สำเนากับความคิดของฟรอยด์

อย่างน้อยที่สุด ฟรอยด์ไม่เคยเอ่ยถึงองค์ประกอบสำคัญสามประการในการทำความเข้าใจปัญหาของความเป็นอัตบุคคล (Subjectivity) อันได้แก่ มโนภาพหรือจินตนาการ (The Imaginary) สัญลักษณ์ (The Symbolic) และ ความจริง (The Real) เขาไม่เคยอภิปรายเกี่ยวกับ คนอื่น (the big Other) ในฐานะการจัดลำดับเชิงสัญลักษณ์ นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังพูดถึงอีโก (Ego) ในขณะที่ลากองเน้นย้ำถึงซับเจค (Subject) ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากการที่ลากองเองนำเข้าคำจำกัดความมาจากสาขาวิชาอื่นๆ ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยสร้างความแตกต่างและโดดเด่นออกไปจากฟรอยด์

สิ่งเหล่านี้ทำให้การหวนคืนสู่ฟรอยด์คือการดำเนินไปสู่สิ่งที่แม้แต่ฟรอยด์เองก็ยังไม่ได้ตระหนักถึงนัยสำคัญของความคิดตนเองอย่างถ้วนทั่ว สำหรับชิเชก ลากองสร้างตัวแบบในการทำความเข้าใจความเป็นอัตบุคคล ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วย ‘แรงปรารถนา’ (Desire) เป็นอันดับแรกเริ่ม แรงปรารถนานี้เองคือสิ่งที่เชื่อมซับเจค (Subject) ให้ยึดโยงกับวัตถุ (Object) รายรอบตัว ผ่านตัวกลางคือภาษา

ในมุมมองเช่นนี้เอง กระบวนการสร้างตัวตน (Identification) ของคนจึงมีลักษณะของภาพแฟนตาซี ซึ่งว่ายเวียนสัมพันธ์ไปมาในเชิงวิภาษวิธี ระหว่างซับเจคของเรากับวัตถุต่างๆ รอบตัว ซึ่งอาจประกอบไปด้วยความไม่แน่นอนและความคงที่ในตัวตนของเรา

จิตวิเคราะห์แบบลากองในความคิดของชิเชก จึงมีลักษณะของการพาบุคคลไปเผชิญหน้ามิติอันถึงรากถึงโคนในการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ เขามองว่าเป้าหมายของการวิเคราะห์แบบลากองไม่ใช่การพาผู้ป่วยไปสู่การมีสุขภาพจิตที่ดีหรือประสบความสำเร็จในชีวิตทางสังคม แต่คือการพาผู้ป่วยไปเผชิญหน้ากับองค์ประกอบของแรงปรารถนา ที่ทำให้เกิดกระบวนการก่อร่างสร้างตัวเอง ตลอดจนความเจ็บป่วยทางจิต อันเนื่องมาจากการหยุดนิ่งหรือหมดสิ้นหนทางของแรงปรารถนา

ลากองพูดถึงความฝันไว้น้อยมาก ทว่าเมื่อพิจารณาจากฐานคิดนี้ เขาเปลี่ยนฐานความสนใจพรมแดนลี้ลับซึ่งมิอาจพิสูจน์ได้ด้วยตาเปล่าอย่างความฝันมาสู่แรงปรารถนา และมันได้กลายเป็นแกนกลางซึ่งเชื่อมโยงจิตใต้สำนึกของคนให้เข้ากับโครงสร้างทางการเมืองและอุดมการณ์ ตลอดจนการก่อรูปของตัวตนและ (ความไร้) สำนึกในชีวิตและการเมืองที่ผู้คนในสังคมมีร่วมกัน ไม่แปลกใจเลยที่จะมีคนเรียกขานลากองว่า “ฟรอยด์แบบฝรั่งเศส” (the French Freud)

ขณะเดียวกัน ฟรอยด์แบบฝรั่งเศสก็ไม่ใช่ฟรอยด์และไม่มีวันย่ำเท้าซ้ำรอยแนวคิดฟรอย์ด์ หากกล่าวในภาษาของลากองเอง การหวนคืนในลักษณะนี้เปรียบเสมือนเป็นการย้อนกลับไปหาอีโกในอุดมคติ หรือต้นธารทางความคิดที่พวกเขามีและต้องการเป็น ทว่า มันเป็นการกลับไปเพื่อสร้างอุดมคติของอีโก หรือหนทางในการนำไปสู่ต้นธารทางความคิดที่แตกต่างออกไปจากเดิม และแยกตนออกมาอย่างเป็นอิสระจากฟรอยด์หรือต้นแบบทางความคิด

การหวนคืนในลักษณะนี้มีความย้อนแย้งและไม่ใช่การหวนคืนไปสู่จุดเริ่มต้น ในทางกลับกัน ทุกครั้งที่มีการหวนคืน เราจะค้นพบเส้นทางสายใหม่ที่ทั้งต่อยอดและพัฒนาให้ความคิดแบบจิตวิเคราะห์สนทนากับปัญหาในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น

การเดินทางไปสู่ที่ตั้งทางความคิดในอดีต เพื่อการจุติใหม่จากปัจจุบันของลากองในมุมมองของชิเชก มีความสำคัญยิ่งต่อการพยายามตอบคำถามกับตัวเองของผมที่ว่า ความฝันและจิตไร้สำนึกยังมีความสำคัญหรือจำเป็นหรือไม่ต่อการใช้ชีวิตเยี่ยงเสรีของผู้คน

คำตอบคือ สิ่งเหล่านั้นยังคงจำเป็นอยู่แน่นอน แต่ทั้งความฝันและจิตไร้สำนึกเองมิใช่ตัวแทนของเสรีภาพ ในทางกลับกัน จิตไร้สำนึกต่างหากที่กลายเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างพันธนาการและเสรีภาพ ใน ‘แรงปรารถนา’ ของลากองที่เข้ามาแทนที่ ‘ความฝัน’ ของฟรอยด์ กลับปรากฏความฝันในความหมายของ ‘เจตจำนง’ ขึ้นมาเพื่อกำหนดพลังทะยานชีวิตใหม่ให้กับผู้คน ทั้งในฐานะของการเปลี่ยนแปลงและครอบครองอำนาจ

การเมืองของแรงปรารถนาจึงปรากฏขึ้นเพื่อพิสูจน์และท้าทายเสรีภาพ ที่ผู้คนผูกชีวิตตัวเองไว้กับอุดมการณ์ทางการเมืองในฐานะวัตถุแห่งแรงปรารถนา (Object of desire) เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตจริง

 

ฟื้นแนวคิดจิตวิเคราะห์ ผ่านระบบคิดแบบ ‘ภาษา’

แน่นอน ในจิตไร้สำนึกหรือแรงปรารถนานั้นมีสิ่งมากมายที่ไม่สามารถเรียบเรียงขึ้นมาได้ผ่านภาษาและไวยกรณ์ ทว่าความปั่นป่วนเชิงรูปสัญลักษณ์เหล่านี้นี่เอง คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองว่าด้วยการครอบงำ

ภาษาไม่ใช่เป็นเพียงแค่การสื่อสาร ทว่ามันคือการจัดระเบียบและกำกับนำทางวิธีคิดและชีวิตของเรา ดังนั้น การปลดปล่อยสัญลักษณ์หรือถ้อยคำต่างๆ ให้หลุดออกจากรูปไวยกรณ์ จึงเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยวิธีคิดและการต่อสู้ทางการเมืองที่เคยครอบครองพื้นที่ในจิตไร้สำนึกของเราเอง

เมื่อเราคิดผ่านคำกล่าวของ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ที่ว่า ภาษาเปรียบเสมือนเป็นบ้านแห่งการดำรงอยู่ บ้านที่ผู้คนพำนักอาศัย เช่นนี้แล้ว การปลดปล่อยตัวเราเองออกจากชุดของภาษานั้นจะทำให้เรากลายเป็นชนผู้ไร้บ้านทางภาษาหรือไม่?

ผมคิดว่าคำตอบคือ ไม่ การปลดปล่อยตนจากชุดของภาษาเดิม เกิดขึ้นเพื่อให้ถ้อยคำและสัญลักษณ์เป็นอิสระต่อไวยกรณ์ทางความคิดที่ถูกครอบงำ เพื่อรอคอยการสร้างภาษาอีกชุดหนึ่งที่เหมาะสมกับแรงปรารถนาของตนเอง และสามารถเปล่งเสียงของมันออกมาได้ในสำนวนและสำเนียงของตนเอง

ในย่อหน้าสุดท้ายของบทนำที่ชิเชกเขียนถึง ว่าด้วยการอ่านงานของลากอง เขาสะท้อนถึงการหวนคืนสู่ฟรอยด์ของลากองได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการตัดตัวเองออกจากซากศพที่ค่อยๆ ผุพัง ในนามสมาคมจิตวิเคราะห์นานาชาติ (International Psycho – Analytic Association) และนำตัวเองมาสู่งานของฟรอยด์ด้วยวิธีการของตนเอง

สิ่งเหล่านี้เองคือการทำให้แนวคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ยังมีชีวิต ชิเชกก็ทำในรูปแบบเดียวกันคือ การหวนคืนไปสู่ลากองในแนวทางของเขานั้น ได้ทำให้พลังของแนวคิดจิตวิเคราะห์ยังดำรงอยู่

แม้จะมีกลิ่นอายของฟรอยด์และลากองแฝงฝังอยู่ ทว่า ชิเชกก็ได้วาดพรมแดนและขีดเส้นทางของตนเองขึ้นมาใหม่แล้ว

 

อ้างอิง:

  • Žižek, Slavoj. HOW to READ LACAN. New York: W.W. Norton & Co. 2007.