“แค่ได้ระบายก็ดีขึ้นแล้วครับ” เป็นคำพูดสุดท้ายที่คนไข้บอกกับผมก่อนจะเดินออกจากห้องไป

ผมหันกลับมาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ กดปุ่ม ‘ตกลง’ กลับสู่หน้าหลักรอคนไข้คนถัดไป ด้านขวามือของหน้าหลัก แสดงรายชื่อผู้ป่วยที่ผมตรวจไปทั้งหมดตั้งแต่เช้า ในวงเล็บท้ายชื่อคือระยะเวลาที่ผมใช้ตรวจคนไข้รายนั้นๆ ระบบน่าจะเริ่มจับเวลาตั้งแต่ผมกรอกเลขคิวของคนไข้ลงไป หันไปซักประวัติ และตรวจร่างกายคนไข้ แจ้งผลการวินิจฉัยและวิธีรักษา ให้คำแนะนำ เปิดโอกาสให้คนไข้ซักถามตอนท้าย จนกระทั่งกดปุ่ม ‘ตกลง’

17 นาที คือเวลาในวงเล็บท้ายชื่อคนไข้รายเมื่อตะกี้

ถ้าเทียบกับห้องที่อยู่ติดกัน ในเวลาเดียวกันนี้ เพื่อนหมอน่าจะตรวจคนไข้โรคทั่วไปเสร็จไปแล้วอย่างน้อยๆ 3-5 คน ส่วนถ้าเป็นห้องตรวจโรคเรื้อรัง ก็อาจตรวจเร็วกว่านั้นอีกเป็น 5-7 คน

แต่คนไข้รายที่เพิ่งเดินออกไปนี้ เป็นโรคปวดหัวจากความตึง/เครียด หรือ Tension-typed headache ซึ่งอาการปวดจะมีลักษณะเฉพาะ คือปวดบีบๆ บริเวณหน้าผาก หรือขมับ 2 ข้าง เหมือนแถบมารัดรอบหัว คล้ายกับที่หงอคงปวดเวลาพระถังซำจั๋งสวดมนต์ให้ห่วงที่สวมอยู่บีบรัดหัว ต่างกันตรงที่โรคนี้เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหดตัวมากกว่าปกติ มักเป็นผลมาจากความเครียด ความกังวล หรือท่าทางที่ไม่เหมาะสมอีกทอดหนึ่ง

หมอทุกคนที่ยังตรวจโรคทั่วไปอยู่จะคุ้นเคยกับโรคนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคปวดหัวทั้งหมดจนเคยชินกับการรักษาด้วยการจ่ายยาเพียงอย่างเดียว ชนิดที่ว่า ซักประวัติแล้วได้ลักษณะอาการปวดปุ๊บก็จ่ายยาปั๊บ แล้วเชิญรับยาที่ห้องจ่ายยาได้เลย อาจจะถามถึงปัจจัยกระตุ้นเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย เช่น “นอนพักผ่อนน้อยไหม” “เครียดอยู่รึเปล่า” ซึ่งเป็นคำถามเชิง ‘เช็คลิสต์’ ที่ขอคำตอบแค่ “ใช่-ไม่ใช่” ก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้ต้องการลงไปในรายละเอียดมากนัก เพราะถ้าคนไข้กินยาที่จ่ายให้ไป อาการปวดหัวก็จะดีขึ้นเอง

ผมเองก็เป็นหมอแบบนั้นด้วย

เมื่อราวปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมเริ่มหันมาให้เวลากับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคที่อาจมีปัญหามาจากจิตใจ ไม่เฉพาะโรคปวดหัวจากความตึง/เครียดอย่างเมื่อสักครู่ แต่รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับ ปวดท้องโดยไม่มีสาเหตุ และโรคทางจิตใจโดยตรงอย่างภาวะเครียด มากขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

หรือพูดอีกอย่างว่า ผมไม่ได้ให้คำปรึกษา (counselling) กับคนไข้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) มานานมากตั้งแต่ย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนเมื่อกลางปีที่แล้ว อย่างมากก็แค่ถามตอบสั้นๆ เนื่องจากต้องรีบตรวจคนไข้ให้ทันเวลาพักเที่ยงหรือเลิกงานตอนเย็น และถ้าไม่รีบตรวจก็จะรู้สึกว่าตัวเองกำลังเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานอยู่ เพราะไม่ได้เป็นข้อบังคับสำหรับหมอทั่วไปที่จะต้องให้คำปรึกษากับคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นโรคธรรมดาหรือโรคทางจิตเวชก็ตามแต่ ถ้าไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะฆ่าตัวตายจนต้องรับไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด ก็สามารถส่งต่อไปพบจิตแพทย์หรือพยาบาลที่ผ่านการอบรมด้านจิตเวชมาได้

การให้คำปรึกษาจึงเป็นทางเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้

‘การให้คำปรึกษา’ ต่างจาก ‘การให้คำแนะนำ’ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย ตรงที่ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวโรคหรือมิติทางชีวภาพ (biological) เพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งทำความเข้าใจคนไข้ในมิติจิตใจ (psychological) สังคม (social) และจิตวิญาณ (spiritual) ด้วย นั่นคือ เป็นกระบวนการที่หมอไม่ได้เป็น ‘ผู้พูด’ อยู่คนเดียว

ยกตัวอย่างโรคปวดหัวเมื่อตะกี้ หมออาจแนะนำให้คนไข้เลิกเครียด! ตรงกันข้าม ในบางจังหวะของการให้คำปรึกษา หมออาจต้องเป็น ‘ผู้ฟัง’ ที่ดีเพื่อให้โอกาสคนไข้ได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมา ซึ่งจะทำให้หมอเข้าถึงความคับข้องใจของคนไข้มากขึ้น ขณะเดียวกัน คนไข้ก็รู้จักตัวโรคที่ตัวเองป่วยมากขึ้น เช่นตอนแรกคนไข้อาจไม่คิดว่าตนเองเครียด แต่เมื่อได้พูดคุยกันไปสักพัก คนไข้ก็พบว่าตัวเองมีแรงกดดันจากครอบครัวทำให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว

การให้คำปรึกษาที่หมอส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีคือ ‘การแจ้งข่าวร้าย’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนไข้หรือญาติรับมือกับโรคที่เจ็บป่วยอย่างไม่ทันตั้งตัว เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็ง ได้อย่างไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนล้มทั้งยืน เพราะหมอจะประเมินความพร้อมของคนไข้จากระยะของจิตใจที่ตอบสนองต่อความสูญเสีย (5 stages of grief) ก่อน ถึงจะแจ้งผลการวินิจฉัย จากนั้นก็ค่อยๆ ประคับประคองความรู้สึกไปจนกระทั่งคนไข้ได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษาทั้งหมด โดยยังไม่จำเป็นต้องแจ้งทั้งหมดภายในครั้งเดียว อาจนัดมาให้คำปรึกษาต่อในครั้งถัดไปแทน เนื่องจากคนไข้ยังไม่พร้อมที่จะรับฟัง บางครั้งคนไข้ก็ไม่พร้อมที่จะบอกหมอ เพราะยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ในครั้งแรก

“แค่ได้ระบายก็ดีขึ้นแล้วครับ” เป็นคำพูดสุดท้ายที่คนไข้บอกกับผมก่อนจะเดินออกจากห้องไป แต่กลับเป็นผมเองด้วยซ้ำที่รู้สึกดีขึ้นอย่างบอกไม่ถูก ผลการตัดสินใจที่จะให้คำปรึกษาคนไข้แทนที่จะจ่ายยาให้จบๆ ไปนั้นเกินคาด เพราะได้ช่วยให้คนๆ หนึ่งหายจากอาการปวดหัว โดยที่เขาอาจไม่ต้องกลับไปกินยาที่ผมจ่ายให้เลยด้วยซ้ำ

17 นาที คือเวลาที่ล่วงไปโดยไม่สูญเปล่า

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการเสียชีวิตของนักศึกษาแพทย์สถาบันแห่งหนึ่งสร้างความสะเทือนใจไปทั้งวงการแพทย์ แม้ข่าวร้ายนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก และผู้ที่เกี่ยวข้องในสถาบันนั้นต่างก็พยายามหาวิธีป้องกันแล้ว แต่โรคซึมเศร้าก็ได้พราก ‘ว่าที่’ หมอไปอีกหน

หลังเหตุการณ์นี้ไม่นาน ผมได้เจอกับคนไข้รายหนึ่งซึ่งมาตรวจที่ OPD ด้วยเรื่อง “นอนไม่หลับ”

เป็นเรื่องง่ายอีกเช่นกันที่ผมจะซักถามคนไข้สั้นๆ สองสามประโยค จากนั้นก็จ่ายยานอนหลับให้คนไข้กลับไปกิน แต่ข่าวการเสียชีวิตของน้อง ‘ว่าที่’ หมอ ยังสะเทือนใจไม่หาย และข่าวนี้นี่เองที่น่าจะกระตุ้นให้ผมให้เวลากับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคที่อาจมีปัญหามาจากจิตใจมากขึ้นกว่าทุกครั้ง ผมจึงเลือกที่จะค่อยๆ คลี่คลายสาเหตุของการนอนไม่หลับ และปรับความเข้าใจแก่คนใกล้ชิดของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเสียใหม่ผ่านกระบวนการให้คำปรึกษา

ข่าวการเสียชีวิตของนักศึกษาแพทย์สถาบันแห่งหนึ่งสร้างความสะเทือนใจไปทั้งวงการแพทย์ แม้ข่าวร้ายนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก และผู้ที่เกี่ยวข้องในสถาบันนั้นต่างก็พยายามหาวิธีป้องกันแล้ว แต่โรคซึมเศร้าก็ได้พราก ‘ว่าที่’ หมอไปอีกหน

ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่รู้จักโรคจิตเวชมากที่สุดอาชีพหนึ่ง แต่หลายต่อหลายครั้ง ที่การวินิจฉัย/ทึกทักเบื้องต้นว่าคนไข้น่าจะเป็นโรคทางจิตเวช ก็เป็นการตีตรา (stigmatization) คนไข้บางคนโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเวลาส่งเคส-เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วยของคนไข้ระหว่างหมอด้วยกัน หรือพูดคุยกับพยาบาลในเวรเดียวกันฟังว่า “เคสนี้น่าจะไซไค” (“ไซไค” ย่อมาจาก psychiatry แปลว่า “จิตเวช”)

การพูดทำนองนี้มักสื่อความหมายไปในทาง ‘ไม่ต้องใส่ใจมาก’ มากกว่าที่จะสื่อว่า ‘ต้องให้ความสำคัญ’ เพราะโรคจิตเวชเป็นโรคที่ละเอียดอ่อน ตรงกันข้ามกลับทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่จะได้ยินจากคนไข้นั้น ‘หาสาระไม่ได้’ เพราะเป็นอาการทางกายที่แสดงออกมาจากความผิดปกติทางจิตใจซึ่งไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต จึงค่อยแนะนำให้คนไข้ไปพบจิตแพทย์อีกที หรือแค่จ่ายยารักษาตามอาการไป เช่น คนไข้โรคแพนิก (panic) มาด้วยอาการใจสั่นก็เพียงแต่จ่ายยาแก้ใจสั่นเท่านั้น

นอกจากนี้ คำว่า ‘ไซไค’ ในบางบริบทยังหมายถึงคนไข้เสแสร้งแกล้งทำทั้งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆ เช่น แกล้งทำเป็นไม่พูด หรือแสร้งเป็นแขนขาอ่อนแรง ซึ่งหากหมอยังรับรู้นัยยะของคำนี้ในแบบเดิมจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปเรื่อยๆ คนไข้ไซไคก็จะถูกเพิกเฉยมากขึ้นๆ สุดท้ายเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็กลับเกิดขึ้นกับคนในวงการแพทย์เสียเอง

แน่นอนว่าหมอแต่ละคนไม่สามารถให้คำปรึกษากับคนไข้ได้ทุกคน บางกาละและเทศะก็ไม่เอื้ออำนวย เช่น หมอเพิ่งลงเวรดึก ความคิดและอารมณ์ยังไม่แจ่มใส คนไข้ปะปนอยู่กับคนไข้รายอื่นในห้องฉุกเฉิน ทำให้ต้องตรวจคนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตก่อน แต่ความเป็นไปได้คือเพิ่มจำนวนคนไข้ให้ได้รับการให้คำปรึกษาที่ OPD มากขึ้น กล่าวคือหมอควรเพิ่มความไว (sensitivity) ในการเลือกคนไข้ของตนที่น่าจะได้รับประโยชน์จากกระบวนการนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ให้คำปรึกษาเอง แต่ก็สามารถส่งให้พยาบาลที่อบรมด้านจิตเวชมาช่วย หรือส่งต่อไปพบจิตแพทย์ โดยที่ต้องให้คำปรึกษาเบื้องต้นเพื่อให้คนไข้ยอมรับโรคที่ตัวเองป่วยก่อน

คำว่า ‘ไซไค’ ในบางบริบทยังหมายถึงคนไข้เสแสร้งแกล้งทำทั้งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆ เช่น แกล้งทำเป็นไม่พูด หรือแสร้งเป็นแขนขาอ่อนแรง ซึ่งหากหมอยังรับรู้นัยยะของคำนี้ในแบบเดิมจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปเรื่อยๆ คนไข้ไซไคก็จะถูกเพิกเฉยมากขึ้นๆ

สำหรับผู้ที่สนใจการให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือคนทั่วไปที่มีคนใกล้ชิดกำลังเครียดหรือป่วยเป็นโรคจิตเวช ผมอยากแนะนำให้ฟังคลิป ‘เป้ อารักษ์ กับการฟังที่จะเปลี่ยนชีวิตที่เหลือของเขา’ ซึ่งจัดทำโดยสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2558 บริบทในตอนนั้นโรคซึมเศร้าได้พรากสิงห์ มือกีตาร์วง Sqweez Animal ไปจากวงการเพลง ซึ่งถ้าย้อนเวลากลับไปได้ “การฟังด้วยใจ” ของเป้-เพื่อนสนิทก็อาจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

ที่สำคัญ ใครๆ ก็ฟังด้วยใจได้

ไม่จำกัดเฉพาะในกระบวนการให้คำปรึกษา เพราะ “บางทีแค่ได้ระบายก็ดีขึ้นแล้ว”

Tags: , , , , ,