คำกล่าวที่ว่าโลกเป็นของคนหนุ่มสาวดูจะล้าสมัยไปแล้ว ในเมื่อคนสูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนร่วมเป็นเจ้าของโลกอีกกลุ่มหนึ่ง การก้าวสู่สังคมสูงวัยเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่แวดวงกีฬา

ไม่กี่ปีมานี้ มีฟุตบอลสายพันธุ์ใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้บริบทข้างต้น เป็นฟุตบอลแบบที่พยายามทำให้คนสูงวัยได้สนุกกับกีฬาอีกครั้ง มันคือ ‘walking football’ หรือ ฟุตบอลที่ห้ามวิ่ง

คงไม่มีใครที่ไม่ยอมรับว่าฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมอันดับต้นๆ แต่เอาเข้าจริง คนจำนวนมากก็ไม่ได้สัมผัสกับฟุตบอลผ่านการเล่นด้วยตัวเอง มันกลายเป็นกีฬาที่มีไว้สำหรับดูมากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะเตะบอลได้เช้ายันเย็นในวัยเด็ก แต่พอโตขึ้นมา การเตะบอลสักครั้งหนึ่งก็ทำเอารวดร้าวทั้งตัวไปหลายวัน กีฬาอย่างฟุตบอลเรียกร้องร่างกายที่ต้องแข็งแรงอยู่ไม่น้อย ยิ่งกับคนสูงวัยหรือคนที่มีปัญหาสุขภาพ การเตะฟุตบอลกลายเป็นแค่กิจกรรมที่อยู่ในความทรงจำเท่านั้น

ด้วยเป้าหมายเพื่อนำฟุตบอลกลับมาสู่คนสูงวัย walking football ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้คนสูงวัยได้สัมผัสกับความสนุกบนผืนหญ้าอีกครั้ง

walking football เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางกีฬาที่ตอบสนองต่อสังคมสูงวัยโดยเฉพาะ มันถูกคิดค้นขึ้นมาโดย community trust ของสโมสรเชสเตอร์ฟิลด์ในอังกฤษเมื่อปี 2011 เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่อายุมากกว่า 50 ปีได้กลับสู่สนามอีกครั้ง (community trust คือหน่วยงานย่อยที่เป็นส่วนหนึ่งของสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ มีบทบาทในการสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้กับชุมชน)

แนวคิดของ walking football วางอยู่บนฐานของการให้โอกาสกับคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงได้เล่นฟุตบอล โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังมากๆ และหลีกเลี่ยงการปะทะที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บ

กติกาพื้นฐานของ walking football สรุปสั้นๆได้สามข้อ

  1. ‘no contact’ ห้ามไม่ให้มีการปะทะกันระหว่างผู้เล่น ห้ามเข้าสกัดอย่างรุนแรง ห้ามเข้าบอลด้วยการสไลด์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ (ใครที่พ้นวัย แต่ใจยังรักฟุตบอล คงรู้ดีว่าการบาดเจ็บแต่ละครั้งมันไม่ได้หายง่ายๆ อย่างแต่ก่อนอีกแล้ว)
  2. ‘walk, don’t run’ ข้อนี้เป็นกติกาที่ทำให้กีฬาชนิดนี้ได้ชื่อว่า ‘walking football’ คือห้ามวิ่ง ผู้เล่นเคลื่อนที่ด้วยการเดินเท่านั้น คิดแบบง่ายๆ ก็แบบเดียวกับกติกาของการเดินเร็ว คือต้องมีเท้าข้างใดข้างหนึ่งสัมผัสพื้น ห้ามยกสองข้างลอยจากพื้นพร้อมกัน ความสำคัญของกติกานี้คือมันจะช่วยลดความเร็วของเกม เล่นกันแบบช้าๆ ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องปวดกล้ามเนื้อกันข้ามวันข้ามคืน และก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้เกมจืดลงไป แต่กลับขับเน้นให้ความเก๋าของผู้เล่นโดดเด่นขึ้นมา
  3. ‘head height restriction’ ห้ามเตะลูกบอลสูงเกินหัวและห้ามโหม่งบอล

ถ้าผู้เล่นทำผิดกติกาเหล่านี้จะถูกจับฟาวล์แล้วให้ฝ่ายตรงข้ามได้ฟรีคิก และถ้าใครทำผิดกติกาสามครั้ง จะถูกพักการเล่นสองนาที

walking football ให้โอกาสกับคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงได้เล่นฟุตบอล โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังมากๆ และหลีกเลี่ยงการปะทะที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บ

หลังจากคิดค้นได้ไม่นาน walking football ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันในอังกฤษมีสโมสรสำหรับ walking football มากกว่า 1,000 แห่ง และมีผู้เล่นหลายหมื่นคน (สโมสรแมนฯ ซิตี้ ก็เป็นหนึ่งในนั้น) และเมื่อต้นปี 2017 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ก็ออกกฎอย่างเป็นทางการของ walking football

นอกจากอังกฤษ ความนิยมใน walking football ยังแพร่หลายไปในอีกมากกว่า 25 ประเทศ และมีแผนจะจัดฟุตบอลโลกของ walking football ในปี 2020

ฟุตบอลที่ห้ามวิ่งทำให้คนสูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพมีโอกาสออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาที่พวกเขาชื่นชอบอีกครั้ง มันช่วยทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยหลังจากที่ walking football ได้รับความนิยมมากขึ้น ก็เริ่มมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาถึงผลดีของมัน

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอสตัน ศึกษาคนอายุ 48 ปีขึ้นไปที่เล่น walking football สัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 12 สัปดาห์ และพบว่าพวกเขา (และเธอ) มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน การเต้นของหัวใจ น้ำตาลในเลือด และความหนาแน่นของมวลกระดูกไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงในกลุ่มตัวอย่างเพศชายยังมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น จากความสุขที่ได้เล่นกีฬาที่พวกเขาชื่นชอบอีกครั้ง

ผลการศึกษาของทีมวิจัยจากเซาแทมป์ตัน ก็ชี้ให้เห็นว่าชายอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เล่น walking football ครั้งละสองชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเวลา 12 สัปดาห์ จะมีไขมันลดลงและสุขภาพดีขึ้น

เสียงตอบรับจากผู้เล่น walking football ก็เป็นไปในทางที่ดี คีท แซลมอน (Keith Salmon) อดีตช่างไฟฟ้าวัย 73 ปี บอกกับ The Guardian ว่าเขาเลิกเล่นฟุตบอลตอนอายุ 50 เพราะตามความเร็วของเกมไม่ไหว เขาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน อ่านหนังสือพิมพ์และดูทีวีไปวันๆ แต่ฟุตบอลที่เล่นด้วยการเดินทำให้เขากลับมาคึกคักอีกครั้ง และนับวันรอที่จะได้ลงสนามกับเพื่อนๆ “การได้เอาชนะคนหนุ่ม (กว่า) สักคน มันทำให้ผมอยู่ต่อไปได้อีกสัปดาห์…ผมเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา หมอบอกให้ผมเล่นไปเถอะ ผมแทบรอให้วันเสาร์มาถึงไม่ไหว”

“การได้เอาชนะคนหนุ่ม (กว่า) สักคน มันทำให้ผมอยู่ต่อไปได้อีกสัปดาห์” คีท แซลมอน (Keith Salmon) อดีตช่างไฟฟ้าวัย 73 ปี

อันที่จริง นอกจากเด็ก กลุ่มคนที่มีเวลาให้กับกิจกรรมนอกเหนือการทำงานก็เป็นผู้สูงวัยนี่แหละ โลกอาจมีกิจกรรมให้ผู้สูงวัยทำน้อยเกินไปเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับ ‘เวลาว่าง’ ที่ล้นเหลือของพวกเขา ยิ่งกิจกรรมทางกายก็มีน้อยเสียยิ่งกว่า การส่งเสริมให้ผู้สูงวัยได้ออกกำลังกายด้วยกีฬารูปแบบใหม่ๆ จึงน่าจะเป็นอะไรที่ต้องคิดถึงให้มากขึ้น

ในแง่จิตใจก็เหมือนกัน ใครที่มองว่าผู้สูงวัยต้องเฝ้าบ้านและใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบกับครอบครัวเพียงอย่างเดียวคงต้องคิดใหม่ เอาเข้าจริง พวกเขาก็อาจไม่ต่างจากคนหนุ่มสาว พวกเขาอยากสนุก อยากตื่นเต้น และคงไม่ได้อยากแค่เข้าวัดเข้าโบสถ์

ถ้ามองว่ากีฬาเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง walking football ก็น่าจะเป็นหนึ่งในสุดยอดนวัตกรรมที่ทำให้ผู้สูงวัยได้กลับมามีส่วนร่วมกับกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอลอีกครั้ง

ในโลกที่เต็มไปด้วยผู้สูงวัยและกำลังจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ความฝันของวงการกีฬาที่อยากผลักดันให้เกิด sport for all ก็เริ่มต้นได้ด้วยการให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยนี่แหละ ไม่แน่ว่าต่อไปเราอาจได้เห็นกีฬายอดฮิตอื่นๆ กลายพันธุ์เข้าหาผู้สูงวัยอย่าง walking football มากขึ้นก็ได้

จะว่าไป บางทีฟุตบอลที่ห้ามวิ่งอาจไม่ใช่กิจกรรมที่เหมาะกับผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น สำหรับคนวัยทำงานที่ใจรักแต่กายไม่รักไปแล้ว ก็อาจกลับมาสนุกกับฟุตบอลได้อีกครั้ง ไม่ต้องโดนเพื่อนร่วมทีมตะโกนด่าว่า “เฮ้ย วิ่งสิวิ่ง!” อีกต่อไป

ก็นี่มันฟุตบอลสำหรับคนชอบเดิน

 

 

ชม You’ll Never Walk Alone สารคดีว่าด้วย walking football จาก Sky Sports ได้ที่ https://thewfa.co.uk/#fvp_WFA-Sky

Tags: , , , ,