มันเป็นยามเช้าที่ไม่ได้สดใสไปกว่าเช้าวันไหนของเธอ พีโคลา บรีดเลิฟ รู้สึกตัวตื่นขึ้นในบรรยากาศของความขมุกขมัวและคุกรุ่น เธอนอนนิ่งขบฟันสั่นเทาอยู่ใต้ผ้าห่มหลังจากรู้แน่ชัดแล้วว่าโทสะอันรุนแรงของ พอลีน บรีดเลิฟ แม่ของเธอ กำลังจะระเบิดใส่ ชอลลี บรีดเลิฟ พ่อของเธอ ซึ่งเมาหลับไม่ได้สติมาตั้งแต่เมื่อคืน แม้การลงไม้ลงมือตบตีและทะเลาะวิวาทกันระหว่างพ่อแม่จะกลายเป็นภาพชินชาประจำวัน แต่สำหรับเด็กหญิงผิวดำวัยสิบเอ็ดขวบผู้เงียบเชียบ เก็บงำ และเปราะบางอย่างเธอ ความรู้สึกหวาดผวาดังกล่าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่คอยโบยตีเธออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันคอยตอกย้ำความรู้สึกของคนที่ถูกโลกทอดทิ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

วิธีหนึ่งที่พีโคลาใช้รับมือกับความรู้สึกนี้คือการหลับตาอธิษฐานให้ตัวเองค่อยๆ อันตรธานหายไป เริ่มจากมือ เท้า เนื้อตัว อวัยวะทุกส่วนดูเหมือนจะค่อยๆ เลือนหายไปอย่างง่ายดาย แต่ก็เช่นเดียวกับทุกครั้ง เธอพบว่า ‘ดวงตา’ ไม่เคยหายไป มันเป็นอวัยวะเพียงอย่างเดียวที่ต้านทานแข็งขืนไม่ยอมหายไปตามแรงอธิษฐาน เป็นดวงตานี่เองที่ดึงทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิมและยืนยันว่าไม่มีทางที่เธอจะหายไปจากโลกอันรวดร้าวนี้ได้

จากนั้น เธอจึงคิดเอาว่าหากเธอเปลี่ยนดวงตาของเธอให้กลายเป็น ‘ดวงตาสีฟ้า’ ได้ เช่นเดียวกับภาพเด็กหญิงผิวขาวหน้าตาน่ารัก ผมบลอนด์ นัยน์ตาสีฟ้าที่อยู่บนซองขนม เช่นเดียวกับดวงตาสีฟ้าของเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกหลายคนที่ไม่เคยถูกตั้งแง่รังเกียจเดียดฉันท์ โลกคงต้อนรับเธอมากกว่านี้ ครอบครัวคงรักใคร่เธอมากกว่านี้ ความหวาดหวั่นจากการต้องห่มห่อตัวอยู่ภายใต้ความอัปลักษณ์ที่โลกของคนขาวยัดเยียดให้คงปลาสนาการไป

ข้างต้นคือฉากสำคัญฉากหนึ่งของนวนิยายเรื่อง ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye) หนังสือเล่มแรกของโทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1993 นักเขียนหญิงผิวดำผู้เป็นหัวหอกสำคัญอีกคนหนึ่งของขบวนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมของคนผิวดำและคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา 

โทนี มอร์ริสัน เขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นเพื่อทวงคืนพื้นที่ทางสุนทรียศาสตร์และอำนาจในการนิยาม ‘ความงาม’ ซึ่งถูกยึดครองโดยคนผิวขาวมาช้านาน พร้อมทั้งวิพากษ์ว่าการเหยียดสีผิวและการยัดเยียดความอัปลักษณ์ที่คนผิวขาวกระทำต่อคนผิวดำและคนผิวสีนั้นกลายเป็นอำนาจครอบงำที่คอยบ่มเพาะความรู้สึกชิงชังตนเองให้แก่คนผิวดำและคนผิวสีได้อย่างไร เหตุใดพวกเขาจึงอ้าแขนรับคุณค่าต่างๆ ที่ผู้กดขี่ยัดเยียดให้โดยไม่คิดตั้งคำถาม เหตุใดพวกเขาจึงเหยียดตัวเองและเหยียดกันเอง เหตุใดอคติทางชาติพันธุ์จึงกลายเป็นความชอบธรรมที่แม้แต่ผู้ซึ่งถูกเหยียดหยามยังยอมรับว่าตนสมควรถูกเหยียดหยาม ฯลฯ นี่คือประเด็นหลักๆ ที่นวนิยายเรื่องนี้จะพาไปสืบสาวและชำแหละออกมาให้เราได้เห็น

ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักสี่ตัวคือ พีโคลา พอลีน ชอลลี และ คลอเดีย (เด็กหญิงผิวดำเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับพีโคลา ผู้ใช้สรรพนามว่า ‘ฉัน’) ทุกคนอาศัยอยู่ในชุมชนคนผิวดำยากไร้แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา 

หากเราจัดลำดับชนชั้นและวรรณะอย่างหลวมๆ ตามที่ปรากฏในนวนิยาย โครงสร้างและลำดับชั้นทางอำนาจจะลดหลั่นกันลงไปดังนี้  เริ่มจากผู้มีอำนาจสูงสุดคือ คนขาว จากนั้นจึงเป็นชายผิวดำ ตามด้วยหญิงผิวดำ ตามด้วยเด็กชายผิวดำ และลำดับล่างสุดคือเด็กหญิงผิวดำ ตัวละครสำคัญที่สุดของเรื่องอย่างพีโคลาจัดอยู่ในลำดับล่างสุดนี้ เรียกได้ว่าเป็นคนชายขอบของคนชายขอบอีกทีหนึ่ง และดังนั้นจึงอยู่สถานะที่ถูกกดขี่ได้มากที่สุด

นอกเหนือจากนี้ ยังปรากฏตัวละครอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่นอกโครงสร้างและลำดับชั้นดังกล่าวนี้ นั่นคือ คนผิวสี (ลูกหลานของคนดำที่แต่งงานกับคนขาวจนสีผิวเริ่มเปลี่ยนไป) หญิงชราผิวดำ และโสเภณี กลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกแบบหนึ่งที่ช่วงชิงความเหนือกว่าบางอย่างมาเป็นของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นความเหนือกว่าในด้านสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนผิวสี (เหนือกว่าคนผิวดำ แต่อยู่ต่ำกว่าคนผิวขาว) ความเหนือกว่าในด้านความอาวุโสและประสบการณ์ของหญิงชราผิวดำ และความเหนือกว่าในด้านการไม่ยอมขึ้นต่อกรอบศีลธรรมทางเพศของหญิงโสเภณี

ความเก่งกาจอย่างหนึ่งของผู้เขียนคือการพาตัวละครที่อยู่ในโครงสร้างและสถานะแตกต่างกันเหล่านี้มาปะทะกันในหลายๆ ฉาก แล้วปล่อยให้ ‘ความแตกต่าง’ ของแต่ละคนกลายเป็นกระจกที่ส่องสะท้อนและวิพากษ์กันเอง ไม่ว่าจะเป็นฉากที่เด็กชายผิวดำรวมกลุ่มกันรังแกและล้อเลียนเด็กหญิงผิวดำ ฉากที่เด็กชายผิวสีโยนความผิดที่ตนก่อให้เด็กหญิงผิวดำจนเธอต้องรับโทษแทน ฉากที่เด็กหญิงผิวเหลืองผู้เป็นเหมือนดาวโรงเรียนแกล้งตีสนิทเป็นมิตรกับเด็กหญิงผิวดำแล้วตลบหลังด้วยการย้อนกลับมาเหยียดหยามเธอ ฉากที่หญิงผิวดำแสดงทัศนคติรังเกียจเหยียดหยามกลุ่มหญิงโสเภณี ฯลฯ

ใจความสำคัญของการปะทะระหว่างตัวละครในฉากเหล่านี้ ไม่ใช่การผลักให้ผู้อ่านเลือกข้างหรือตัดสินการกระทำของตัวละครใดตัวละครหนึ่ง แต่คือการแสดงภาพรายละเอียดอันซับซ้อนและยอกย้อนของการกดขี่เหยียดหยามในฐานะอำนาจอย่างหนึ่งที่แต่ละคนพยายามช่วงชิงให้ได้มาเป็นของตน ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำต่างก็ตกเป็น ‘เหยื่อ’ ด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยการสืบสาวกลับไปยังเงื่อนปมและชีวิตเบื้องหลังของแต่ละคนจนกระทั่งพบว่าไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำต่างก็อยู่ภายใต้โครงสร้างของการกดขี่เช่นเดียวกัน เราจึงมองเห็นทั้งภาพชีวิตของเหยื่อที่กลายเป็นผู้กระทำ และภาพชีวิตของเหยื่อที่กลายเป็นผู้ถูกกระทำ

กระนั้นก็ตาม แม้ใจความสำคัญจะอยู่ที่การมุ่งวิพากษ์ ‘โครงสร้าง’ และ ‘ระบบ’ แต่พร้อม ๆ กันนั้นผู้เขียนก็ค่อย ๆ พาเราเลาะตะเข็บชีวิตของตัวละครแต่ละตัวในฐานะปัจเจกบุคคลออกมาให้เห็นว่า พวกเขาแต่ละคนถูกหล่อหลอมกล่อมเกลามาอย่างไรภายใต้โครงสร้างกดขี่แบบเดียวกัน เราจึงได้เห็นเส้นทางชีวิตของตัวละครรองที่เป็นสตรีผิวสีผู้พยายามไต่เต้ายกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองขึ้นมาตามมาตรฐานค่านิยมของสังคมคนผิวขาว ประพฤติตนตามทำนองคลองธรรมด้วยการเป็นคนผิวสีที่ดี เป็นแม่และเมียที่ดีทุกกระเบียดนิ้ว แต่งแต้มความคิดจริตจะก้านทุกอย่างให้ดู ‘ศิวิไลซ์’ อย่างล้นเกินและน่าขัน อบอุ่นปลอดภัยอยู่ภายใต้คุณภาพชีวิตที่เธอไขว่คว้ามาได้ ชีวิตที่พยายามชะล้างและปกป้องตัวเองให้พ้นมลทินของการเป็นคนผิวสีและการถูกเหยียดหยาม 

ด้วยเหตุนี้ เราจึง ‘เข้าใจ’ ได้ว่าทำไมเธอถึงเกลียดกลัวเด็กหญิงผิวดำตัวเล็กๆ อย่างพีโคลาที่บังเอิญโผล่เข้ามาในบ้านของเธออย่างมากมายขนาดนั้น ทำไมเธอจึงตอกย้ำลูกชายอย่างหนักแน่นถึงความแตกต่างระหว่างคนนิโกรผิวดำกับคนผิวสีว่า “คนผิวสีนั้นสะอาดเนี้ยบและไม่ส่งเสียงเอะอะ ส่วนพวกนิโกรสกปรกเสียงดังและโฉ่งฉ่าง” (หน้า 113) 

ในแง่นี้ เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมบางครั้งความเกลียดชังในหมู่คนผิวสี/ผิวดำด้วยกันเองจึงรุนแรงกว่าความเกลียดชังที่คนขาวมีต่อคนดำ และรุนแรงกว่าความเกลียดชังที่คนดำมีต่อคนขาว นั่นก็เพราะว่ามันไม่ใช่ความเกลียดชังที่วางอยู่ตรรกะของ ‘ความต่าง’ ที่แบ่งเขาแบ่งเราอย่างชัดเจนในกรณีทั่วไป แต่เป็นความเกลียดชังที่วางอยู่บนตรรกะของ ‘ความเหมือนกัน’ ความเหมือนกันที่สลัดออกไปไม่พ้นและหนีไปไหนไม่ได้ ไม่อยากเป็นพวกเดียวกันแต่ก็ทำไม่ได้ ไม่อยากถูกนับรวมแต่ก็ทำไม่ได้ มันคือสิ่งเหล่านี้เองที่คอยตอกย้ำความรู้สึกว่าตนไร้เสรีภาพและทางเลือก ทั้งการไร้ทางเลือกจากการถูกกีดกันในโลกของคนขาว และการไร้ทางเลือกที่ต้องเกิดมาเป็นคนผิวสี/คนดำ

หรือในอีกทางหนึ่ง มันจึงทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมพอลีน แม่ของพีโคลา จึงภูมิใจนักหนากับการได้เป็นคนรับใช้ในบ้านของคนขาว การได้ครอบครองภาพฝันแฟนตาซีถึง ‘ชีวิตที่ดี’ ผ่านการเป็น ‘คนรับใช้ที่ดี’ ได้ทำอาหารรสเลิศที่ตัวเองก็ไม่กล้าชิม ได้เช็ดถูทำความสะอาดบ้านให้คนขาวจนเงาวับยิ่งกว่าบ้านของตน เลี้ยงดูเอาอกเอาใจเด็กหญิงผิวขาวยิ่งกว่าลูกในไส้ของตัวเอง ดังนั้นเอง เราก็จึงเข้าใจได้ว่าทำไมพอลีนจึงตบหน้าพีโคลาอย่างรุนแรงเมื่อเธอเผลอทำบ้านของคนขาวเลอะเทอะ และหันไปโอบกอดเด็กหญิงผิวขาวที่ตกใจจนขวัญเสีย

และดังนั้นเอง เราจึงเข้าใจว่าทำไมพีโคลาจึงปรารถนาอยากมีดวงตาสีฟ้าอย่างสุดหัวใจ

ด้วยการเสาะค้นเข้าไปในชีวิตเบื้องหลังของทั้งตัวละครหลักและตัวละครรอง ผู้เขียนค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ทีละชิ้น ไล่เรียงให้เห็นทั้งตรรกะทางการเมืองและอุดมการณ์ ตรรกะทางประวัติศาสตร์ และตรรกะภายในของตัวละครแต่ละตัว ขุดลึกลงไปทั้งระดับจิตสำนึก (consciousness) และจิตไร้สำนึก (unconsciousness) จนกระทั่งพบว่าตรรกะและโครงสร้างของการกดขี่นั้นทำงานอย่างไรผ่านตัวละครที่มีพื้นเพภูมิหลังแตกต่างกัน จากนั้นจึงใช้ตรรกะหรือชุดคำอธิบายดังกล่าววางทาบลงไปบนการกระทำและการตัดสินใจของตัวละครในเงื่อนไขแวดล้อมเฉพาะตัว และเมื่อโครงสร้างดังกล่าวนี้กดทับลงไปบนผิวเนื้อหลังไหล่ของแต่ละคน มันจึงเผยให้เห็นทั้งความอ่อนแอ ความเปราะบาง และความหวาดกลัวที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของแต่ละคน 

จริงอยู่ แม้ว่าจุดยืนของผู้เขียนจะอยู่ที่การตีไปที่โครงสร้างและระบบ แต่นั่นก็ยากจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน หากไม่ชำแหละออกมาให้เห็นว่าอำนาจนั้นแทรกซึม ไหลเวียน และสร้างบาดแผลขึ้นมาอย่างไรผ่านการกระทำและการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ดังเช่นที่ตัวละครแต่ละตัวรับมือกับวาทกรรม ‘ความอัปลักษณ์’ ที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยคนขาวด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ชอลลีแปรเปลี่ยนมันเป็นการใช้ความรุนแรงกับคนอื่น พอลีนสวมใส่ความอัปลักษณ์เหมือนนักแสดงที่สวมบทของตน พีโคลาหลบซ่อนตัวเองอยู่หลังความอัปลักษณ์นั้นและใช้มันเป็นเกราะกำบัง ดังนั้น บาดแผลของปัจเจกบุคคลจึงไม่อาจแยกออกจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์

ความร้ายกาจอย่างหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ตรงที่มันเป็นนวนิยายที่คนดำลุกขึ้นมาวิพากษ์คนดำด้วยกันเอง เราจึงได้เห็นการจิกกัดเสียดเย้ยด้วยน้ำเสียงอันจัดจ้านและเมามัน เราจึงได้เห็นการตีแผ่โลกของคนดำที่ลึกลงไปถึงโลกทัศน์ พฤติกรรม อุปนิสัยใจคอ หรือกระทั่งจริตจะก้านบางอย่างที่มีแต่ ‘คนใน’ ด้วยกันเท่านั้นจึงจะ ‘รู้ไต๋’ กันอย่างลึกซึ้งได้ขนาดนี้ และมันก็น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งตรงที่พอเป็นนวนิยายที่คนดำวิพากษ์คนดำด้วยกันเองแล้ว ประเด็นเรื่อง ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ (Political correctness) ดูจะไม่อยู่ในสมการนี้ตั้งแต่แรก ในทางกลับกันหากเป็นนักเขียนคนขาวเขียนนวนิยายขึ้นมาในลักษณะนี้ ประเด็นเรื่องความ PC ไม่ PC เหยียด ไม่เหยียด เหยียดในเหยียด ฯลฯ คงจะถูกหยิบยกมาเป็นข้อโจมตีจนถ้อยแถลงของนวนิยายถูกความรู้สึกผิดทางศีลธรรมของคนขาวปล้นชิงไป

ตลอดการอ่านนวนิยายเรื่องนี้ เราจะพบว่าโทนี มอร์ริสันช่างเป็นนักเขียนที่รักใคร่ตัวละครของเธอเหลือเกิน เธอให้พื้นที่ ให้น้ำหนัก และให้ชีวิตกับตัวละครทุกตัวอย่างทัดเทียมกันทั้งตัวละครหลักและตัวละครรอง เธอเป่าลมหายใจให้พวกเขาได้ออกมาโลดแล่น ราวกับต้องการโอบกอดทุกชีวิตเอาไว้ให้พ้นจากความตาย (ทั้งความตายในทางประวัติศาสตร์และความตายในทางวรรณกรรม) 

ในแง่หนึ่งมันจึงเป็นการโต้ตอบกับโลกจริงนอกตัวนิยายที่มีแต่การกดขี่ เหยียดหยาม และไม่เท่าเทียม ด้วยการสร้างโลกในนิยายที่ให้ความสำคัญและฟังเสียงทุกตัวละครอย่างเท่าเทียมกัน หากโลกจริงนอกตัวนิยายคือประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นด้วยการลบเลือนเพื่อให้หลงลืม โลกในนิยายก็คือการคืนชีวิต คืนพื้นที่ คืนความเป็นธรรม และคืนเสียงให้พวกเขาเหล่านั้น เพื่อให้ผู้ถูกหลงลืมได้ถูกจดจำ ให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทรงพลังที่สุดของนวนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การชำระประวัติศาสตร์แห่งการถูกกดขี่ของคนดำด้วยการคืนพื้นที่และคืนความเป็นธรรมผ่านวรรณกรรม แต่คือการปลดแอกตัวละครให้เป็นอิสระด้วยประวัติศาสตร์ส่วนตัวของแต่ละปัจเจกบุคคล ผ่านการดิ้นรนไขว่คว้าแสงสว่างในชีวิตด้วยวิถีทางที่แตกต่างกันไป พวกเขาต่างกอบเก็บตัวเองจากความยับเยินสิ้นหวังจนกระทั่งได้ครอบครองแสงเรื่อเรืองอันเล็กจ้อยน้อยนิดที่ไม่มีใครพรากไปได้ มันคือการต่อสู้จนกระทั่งพบว่ายังพอมีที่ทางเหลือให้ตนอยู่บ้างในโลกที่ถูกคนอื่นปล้นชิงและยึดครองจนเกือบหมด

 ‘ชั่วขณะ’ ที่ตัวละครเป็นรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระนั้นทรงพลังอย่างยิ่ง มันคือชั่วขณะของการได้หลุดพ้นไปจากพันธนาการส่วนตัวและพันธนาการทางประวัติศาสตร์ มันคือชั่วขณะของการได้ลิ้มรสว่าอิสรภาพนั้นหวานล้ำและเอิบอาบเพียงใด อิสรภาพในแบบที่ไม่มีใครสามารถมอบให้หรือพรากมันไปจากพวกเขาได้

สุดท้าย หากจะมี ‘ถ้อยแถลงทางการเมือง’ ที่สำคัญและแหลมคมที่สุด สิ่งนั้นก็คือการตระหนักรู้ของ ฉัน (คลอเดีย) ในตอนจบของนวนิยายว่า แม้เธอจะเป็นเพื่อนกับพีโคลา แต่เธอก็ไม่อาจปกป้องเพื่อนได้มากพอและสุดท้ายแล้วเธอเองก็เป็นส่วนหนึ่งในชุมชนและสังคมที่ร่วมกันพิพากษาลงโทษพีโคลาด้วย มันคือการย้อนกลับมาทบทวนและเผชิญหน้ากับตัวเองว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความชั่วร้าย แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำตัวเป็นปีศาจร้ายก็ตาม เพียงรอวันที่จะลุกขึ้นมาเป็น ‘ผู้กระทำ’ หรือกลายเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ เท่านั้น แต่ในระหว่างนั้น ในความเพิกเฉยไม่รู้สึกรู้สา ในระหว่างยังไม่กลายเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ เราก็อาจจะกลายเป็น ‘ผู้สมรู้ร่วมคิด’ ไปก่อนแล้ว

Fact Box

ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye)
โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) เขียน
จุฑามาศ แอนเนียน แปล
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์

หมายเหตุ : ผลงานของโทนี มอร์ริสัน อีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วคือนวนิยายชิ้นเอกของเธอเรื่อง บีเลิฟด์ (Beloved) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์

Tags: , , , ,