เมื่อรักข้างเดียวเดินมาถึงทางตัน ถ้าเจ้าของความรักที่ว่านั้นเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร?

ตีจากออกมาเงียบๆ แบบสวยๆ หล่อๆ ไม่ฟูมฟาย พักวางจิตใจ มองหารักใหม่ หรือธุระการงานอื่นๆ เพื่อไม่ให้ย้อนคืนไปคิดถึงความล้มเหลว หรือจะทำในทางตรงข้ามคือร้องไห้ ก่นด่า บ่นระบายกับใครที่ไว้ใจ ถึงตรงนี้มิตรสหายของผู้พลาดรักทั้งหลายพึงสังวรณ์ไว้ว่า อาจต้องเปลืองเวลา คาเฟอีน แอลกอฮอล์ อินเทอร์เน็ต และอารมณ์ ซึ่งแต่ละคนคงกินระยะเวลายาวสั้นไม่เท่ากัน บางกรณีก็ไม่กี่วัน บางกรณีนั้นหลายสัปดาห์ จะว่าไปเป็นเดือนเป็นปีก็มีให้เห็นมาแล้ว แต่เชื่อเถิดว่า สุดท้ายเราจะมีวิธีการรับมือกับความพลาดรักผิดหวังในแบบฉบับของแต่ละคน

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่คนอย่างเราๆ ท่านๆ จะทำได้ในที่สุด หากท่านเป็นนักเขียนก็อาจจะเก็บประสบการณ์ความเจ็บปวดนั้นมาแต่งเป็นเรื่องสั้น หรือนวนิยายตามความถนัด เรียกว่าไม่ได้หัวใจ แต่ก็ยังมีเรื่องให้เล่า และก็ไม่แน่ว่ามันอาจจะกลายเป็นสินค้าขายดีขึ้นมาได้เหมือนกัน

ทว่าบุคคลที่เราจะพูดถึงในครั้งนี้ ถือว่าแปลกและแตกต่างไปจากกรณีที่กล่าวมาพอสมควร เพราะเขาเป็นคนอกหักที่เลือกจะเขียนตำราออกมาอธิบายปรากฏการณ์ของความรักอย่างจริงจัง ซึ่งในเวลานั้นวิชาจิตวิทยา จิตวิเคราะห์ หรืออะไรที่เรารู้จักในปัจจุบันยังไม่ถือกำเนิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ ก็ต้องถือว่าล้ำยุคล้ำสมัยมากๆ

แต่เขาจำต้องอกหักซ้ำสอง เพราะตอนพิมพ์ออกมาครั้งแรกนั้นแทบจะขายไม่ได้ คนอ่านและแม้แต่บรรณาธิการเองแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เขาต้องการเขียนถึงอะไรกันแน่ และโดยรูปแบบมันก็ไม่เป็นทั้งความเรียงและเรื่องเล่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป หรือภายหลังจากเขาโด่งดังมีชื่อเสียงมากขึ้นแล้ว หนังสือที่ว่ากลับกลายเป็นผลงานคลาสสิกที่อธิบายถึงปรากฏการณ์ของความรักได้อย่างลึกซึ้งมากที่สุดเล่มหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

ชายอกหักผู้เขียนตำรารักมีนามว่า มารี-อ็องรี แบล (Marie-Henri Beyle) หรือที่เราคุ้นชื่อกว่าในนามปากกา สต็องดาล (Stendhal) และต่อจากนี้ไปก็จะเป็นเรื่องราวระหว่างเขากับมาทิลเด วิสคอนติ เดมบอฟสกี (Matilde Viscontini Dembowski) หรือ เมติลด์ (Métilde) หญิงผู้เป็นต้นกำเนิดของหนังสือ De l’amour หรือ ว่าด้วยความรัก (1822)

มารี-อ็องรี แบล (Marie-Henri Beyle) หรือที่เราคุ้นชื่อกว่าในนามปากกา สต็องดาล (Stendhal) ในวัยหนุ่ม

ออกรบและพ่ายแพ้

สต็องดาลพบกับเมติลด์ครั้งแรกในปี 1818 เขามีอายุได้ 35 ปี เสน่ห์ในวัยหนุ่มเริ่มหดหายไปจากผมที่แทรกแซมด้วยสีขาว รูปร่างท้วม ใบหน้าบวมฉุ ผิวคล้ำดำไหม้ ส่วนเมติลด์นั้นมีอายุ 28 ปี เธอเป็นแม่ม่ายลูกติดสองคน เมติลด์แต่งงานกับฌาน เดมบอฟสกี เจ้าหน้าที่รัฐชาวโปแลนด์ที่โอนสัญชาติเป็นอิตาลีตั้งแต่เธออายุได้ 17 ปี แต่ด้วยความที่ฌานเป็นคนอารมณ์ร้อน ชอบทุบตีทำร้ายร่างกาย เลยทำให้เธอและลูกชายคนเล็กต้องหลบหนีไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์นานถึง 2 ปี เธอกลับมามิลานอีกครั้งหลังจากที่อดีตสามีให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวข้องแวะกับเธออีก

ภาพของสต็องดาลที่เรารู้จักและจดจำได้คือชายรูปร่างท้วม ใบหน้าบวมฉุ ผิวคล้ำดำไหม้

ก่อนจะมาพบกับเมติลด์นั้น สต็องดาลถือว่ามีประสบการณ์รักโลดโผนพอสมควร เขาเคยมีสัมพันธ์สวาทครั้งแรกกับเมลานี ฌีลแบรต์ (Mélanie Guilbert) นักแสดงสาว ตั้งแต่เขาอายุได้ 22 ปี และภายหลังจากนั้นไม่กี่เดือนเขาก็เปลี่ยนไปควงนักแสดงสาวอีกคน อ็องเฌลินา แบริแตร์ (Angelina Beryter) และแม้แต่ศรีภรรยาของปิแยร์ ดารู (Pierre Daru) ก็ยังเคยถูกจีบมาแล้ว (ปิแยร์ ดารู คือแม่ทัพผู้โด่งดัง ญาติของสต็องดาลที่คอยอุปถัมภ์ค้ำชูและชักนำเขาเข้ากองทัพ) แต่ถึงจะมีประสบการณ์มาอย่างโชกโชนมากมายเพียงใด การได้ครอบครองหัวใจของเมติลด์กลับเป็นเรื่องยากถึงขั้นเป็นไปไม่ได้  

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ในช่วงที่สต็องดาลพำนักอยู่ที่มิลานระหว่างปี 1818-1821 เขารู้จักสมาชิกในกลุ่มองค์กรใต้ดินที่มีชื่อว่า คาร์โบนารี (Carbonari) ที่แปลว่า ‘คนเผาถ่าน’ องค์กรคาร์โบนารีก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี 1800 โดยมีเป้าหมายเพื่อการปฏิวัติ ซึ่งบางคนเห็นว่าคลุมเครือและไม่มีความแน่ชัด และองค์กรนี้ก็เหมือนถอดแบบมาจากกลุ่มฟรีเมสัน (Freemason) ที่เน้นพิธีกรรม การชุมนุมลับ และสมาชิกต้องเข้าร่วมสาบานตนว่าจะไม่แพร่งพรายความลับขององค์กรจนกว่าชีวิตจะหาไม่

อย่างไรก็ตาม คาร์โบนารีก็มีการเคลื่อนไหวจริงๆ เช่นในช่วงที่นโปเลียนยึดครองอิตาลี คาร์โบนารีก็เคยออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่สนับสนุนนโปเลียน และเมื่อนโปเลียนสิ้นอำนาจ คาร์โบนารีก็หันไปต่อสู้กับราชวงศ์ออสเตรียที่เข้ามายึดครองอิตาลี สมาชิกที่โด่งดังของกลุ่มก็เช่น กาเบรียเล รอสเซตตี (Gabriele Rossetti) ลอร์ดไบรอน (Lord Byron) และ จูเซปเป การิบัลดี (Giuseppe Garibaldi) เป็นต้น

บางคนมองว่าความหลงใหลได้ปลื้มในตัวของเมติลด์นั้นน่าจะมาจากการที่เธอเป็นสมาชิกคาร์โบนารีที่มีใจเพื่อการปฏิวัติ ซึ่งก็น่าจะถูกจริตตรงใจสต็องดาลไม่น้อยไปกว่ารูปร่างหน้าตา แต่บ้างก็ว่าสต็องดาลมองเห็นความเข้มแข็งและห้าวหาญของเธอเป็นเสน่ห์ของผู้หญิงแบบชาวลอมบาร์ดีเพียงเท่านั้น

เมติลด์ (Métilde) หญิงผู้เป็นต้นกำเนิดของหนังสือ De l’amour หรือ ว่าด้วยความรัก (1822)

ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด สต็องดาลก็ตกหลุมรักเธอเข้าอย่างจัง แต่ผ่านพ้นไปหนึ่งเดือน เขาก็เขียนถ้อยคำซึ่งบ่งบอกถึงความปราชัยในเกมรัก ลงไปในสมุดบันทึกว่า “ออกรบและพ่ายแพ้”

ไม่น่าเชื่อว่านักรักผู้มากประสบการณ์จะตกอยู่ในสภาวะอับจนหนทาง เพราะว่าไปเมติลด์ก็ไม่เคยเปิดโอกาส หรือแสดงออกว่าเธอเคยมีใจให้เขาแม้สักครั้งเดียว

อย่างเช่นสิทธิ์ในการเข้าพบเมติลด์ของสต็องดาลนั้นถือว่าต่ำมาก นั่นคือ 15 วันต่อครั้ง ในหนึ่งเดือนเขาจะมีโอกาสได้คุยกับเธอแค่สองครั้งเท่านั้น และถ้าหาก มาดามบิกนามี ในนวนิยาย Souvenirs d’égotisme (1832 —นวนิยายที่สต็องดาลใช้เวลาเขียน 13 วัน) คือตัวละครที่ถอดแบบมาจากเมติลด์แล้ว บทสนทนาระหว่างตัวเอกกับมาดามบิกนามีก็น่าจะสะท้อนให้เห็นว่าเมติลด์นั้นร้ายกับเขาไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อมาดามบิกนามีได้เล่าให้ตัวเอกฟังว่า บรรดาเพื่อนๆ ที่เธอรู้จักแต่ละคนนั้นเมื่อได้พบหน้าหรือพูดกับหญิงที่ตนปรารถนาแต่เอื้อมไม่ถึงแล้ว จากนั้นพวกเขาก็จะรีบรุดไปแสดงออกกับหญิงโสเภณี และตัวเอกในเรื่องนี้ก็เพิ่งจะมาระลึกได้ในภายหลังว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเล่าธรรมดา แต่เป็นคำแนะนำสำหรับเขา ซึ่งแน่นอนว่า สต็องดาลแตกต่างจากตัวละครเอกใน Souvenirs d’égotisme ตรงที่เขาไม่เคยไปกับใคร แม้ในเวลานั้นเขาจะมีความสนิทสนมกับนักร้องโอเปร่า นีน่า วีกาโน่ ถึงขนาดได้อยู่เพียงลำพังกันจนเช้า แต่เขาก็ไม่เคยมีสัมพันธ์กับเธอแม้สักครั้ง เรียกได้ว่าสต็องดาลในเวลาดังกล่าวทุ่มเทความหมกมุ่นสนใจจนเกือบจะเรียกได้ว่า สัตย์ซื่อต่อเมติลด์เพียงคนเดียว (เขากลายเป็นมนุษย์โรแมนติกอย่างชนิดสิ้นหวังเลยทีเดียว)

เมติลด์ สนิทสนมชอบพอกับใครในห้วงเวลานั้น ดูจะยังคงเป็นปัญหาที่สต็องดาลแก้ไม่ตก เธอใกล้ชิดกับกวีชาวอิตาลี อูโก ฟอสโคโล (Ugo Foscolo) แต่ก็เป็นไปในแบบเพื่อนเสียมากกว่า และหากจะมีความเป็นไปได้ก็คงจะเป็นเคาน์ จูเซปเป เพคชิโอ (Count Giuseppe Pecchio) นักเคลื่อนไหวฝ่ายเสรีนิยมที่เธอดูจะนิยมชมชอบมากกว่าใคร ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าว่าไปตามความเป็นจริงทางสังคมแล้ว ภายหลังจากเลิกร้างกับอดีตสามี เมติลด์ไม่เคยมีคู่รักเป็นตัวเป็นตนจวบจนเธอสิ้นชีวิต

เขามีชีวิตอยู่ เขาเขียน เขามีรัก

ปี 1819 เป็นปีที่ความทุกข์ระทมของสต็องดาลดำเนินมาสู่สูงสุด เรียกว่าใกล้จะหมดสิ้นความหวังลงทุกที หนทางหนึ่งนั้นคือเขาตั้งใจว่าจะเขียนมันออกมา ดังที่เราทราบว่าในช่วงที่เขาอาศัยอยู่ในมิลานเขามีคำขวัญนำชีวิตที่เขียนด้วยภาษาอิตาเลียนว่า Visse, scrisse, amò

การเขียนหลังจากรักพังทลายจึงอาจเป็นทางเลือกเดียวสำหรับตอนนั้น เขาเริ่มเขียนตั้งแต่เดือนกันยายน 1819 ตั้งชื่อผลงานดังกล่าวว่า Le Roman de Métilde แต่เพราะขาดประสบการณ์ด้านงานเขียนประเภทนวนิยาย บวกกับเขาอาจอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลในเรื่องมากเกินไป เลยทำให้ปราศจากพื้นที่ให้ใช้จินตนาการ สุดท้ายเขาก็ล้มเลิกโครงการดังกล่าวภายหลังจากเขียนไปได้ไม่กี่หน้า

จนถึง 29 ธันวาคมของปีเดียวกัน สต็องดาลก็ได้ความคิดใหม่ในการประพันธ์ และดีอกดีใจถึงขนาดเขียนคำหนึ่งไว้ตรงชายขอบของหนังสือที่เขาอ่านเป็นคำภาษาอังกฤษว่า ‘วันแห่งอัจฉริยภาพ’ แล้วเขาก็เริ่มต้นเขียน De l’Amour ผลงานที่เขาประพันธ์ด้วยดินสอ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

สำหรับสต็องดาลแล้ว De l’Amour เป็นหนังสือที่ส่งผลต่อชีวิตและความคิดของเขาอย่างมากมาย ไม่ว่าใครจะยกย่องนวนิยายของเขาอย่าง Le Rouge et le Noir (1830) หรือ La Chartreuse de Parme (1839) แต่ถ้าถามเขาว่าหนังสือเล่มใดสำคัญมากที่สุด เขาก็จะตอบอย่างภาคภูมิใจว่า De l’Amour ด้วยเพราะมันไม่เพียงเป็นการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ความรักในห้วงที่เขาสิ้นหวัง แต่ยังเป็นเครื่องมือนำทางในการสร้างสรรค์ตัวละครในนวนิยายเรื่องเล่มสำคัญทั้งหลายในกาลต่อมา

ความรักที่เขียนด้วยดินสอ

De l’Amour นำเสนอแนวคิดสำคัญที่เรียกว่า Crystallization หรือ ‘การก่อผลึก’ เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงกระบวนการก่อตัวของความรัก โดยเขาได้เปรียบเปรยกระบวนการนี้กับการโยนกิ่งไม้ลงไปในเหมืองเกลือที่ซอลซบูร์ก (Salzburg) เมื่อสองสามเดือนผ่านไป กิ่งไม้นั้นจะไม่ใช่กิ่งไม้เดิมอีกต่อไป แต่จะเต็มไปด้วยผลึกแก้วทอประกายแสงระยิบระยับจับใจ แม้แต่แขนงที่เล็กที่สุดก็จะถูกผลึกหุ้มห่อเอาไว้

การก่อผลึกนี้เสริมสร้างความสมบูรณ์แบบให้คนที่เรารัก โดยสต็องดาลได้แบ่งกระบวนการเกิดของความรักไว้เป็นขั้นตอนต่อไปนี้

1) ความนิยมชมชอบ เราชื่นชอบเธอ

2) การได้สัมผัส จะเป็นอย่างไรหนอ หากเราได้จุมพิตเธอ หรือเธอได้จุมพิตเรา

3) ความหวัง เรามองหาความสมบูรณ์แบบในตัวเธอ และในห้วงขณะนั้นเองที่เธอก็พร้อมจะยินยอม จากความสุขทางกายที่เธอได้รับ แม้แต่สตรีที่สงวนทีท่าก็ยังอาจต้องทรยศต่อตัวเองได้ง่ายๆ

4) ความรักถือกำเนิดขึ้นจากการได้เห็น สัมผัส และการรับรู้ คนที่เรารักพร้อมจะรักเราตอบ

5) กระบวนก่อผลึกครั้งแรก เมื่อเราแน่ใจแล้วว่า เธอคือคนที่เรารัก นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำให้เธอสมบูรณ์แบบ แน่นอนว่าทุกอย่างที่เกิดอาจเป็นเพียงการประเมินค่าที่มากเกินจริงของเราเอง เธอไม่ต่างจากนางฟ้าหรือเทพธิดาที่ตกลงมาจากสรวงสวรรค์ การปล่อยให้คนที่มีรักอยู่กับความคิดของตัวเองเพียง 24 ชั่วโมงก็จะเกิดความฟุ้งซ่านเช่นนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

6) ความสงสัยคืบคลานเข้ามา เราเริ่มกังวลใจว่า เธอจะรักเราจริงไหม เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเธอรักเราจริง เขาตกอยู่ในภาวะสับสนงุนงงและขาดความเชื่อมั่น

7) กระบวนการก่อผลึกครั้งที่สอง เกิดขึ้นระหว่างความสงสัยและความสุขใจที่ได้รับยามที่เรานึกถึงคนที่เรารัก กระบวนการนี้จะเป็นยิ่งกว่าการก่อผลึกครั้งแรก ความนึกคิดของคนที่มีรักจะรวนเรไปมาระหว่าง ก. เธอเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ ข. เธอรักเรา ค. เราจะพิสูจน์ความรักที่เธอมีให้เราได้อย่างไร หากผ่านขั้นตอนนี้ไป คนที่เรารักก็จะกลายเป็นสิ่งที่สมบูรณ์สำหรับเราอย่างแท้จริง

ระหว่างขั้นที่ 1 ถึง 2 สต็องดาลเห็นว่าอาจต้องใช้เวลาเป็นปี ระหว่าง 2 กับ 3 อาจกินระยะเวลาเป็นเดือน ส่วน 3 กับ 4 อาจเพียงแค่พริบตาเดียว ในขณะที่ 4 กับ 5 อาจไม่ช่องว่างระหว่างกันเลย 5 กับ 6 อาจขึ้นกับความอดทนและอุปนิสัยของแต่ละคน แต่ 6 กับ 7 นั้นถือว่าไม่มีช่องว่างระหว่างกันด้วยเช่นกัน

สำหรับสต็องดาลแล้วกระบวนการก่อผลึกคือประสบการณ์ทางจิตใจที่นำพาทุกความคิด ทุกความเป็นไปได้ต่างๆ ในการสร้างให้คนที่เรารักหลายเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ (เขายังได้อธิบายอีกด้วยว่าการรักชอบผู้หญิง/ผู้ชายที่สวยหล่อมากๆ ทำให้เราขาดช่องว่างในการสร้างกระบวนการก่อผลึก) เพียงแต่ถ้ากระบวนการนี้ล้มเหลวในขั้นตอนที่ 7 ก็อาจนำไปสู่การพังทลายของสิ่งที่สร้างมาทั้งหมด

De l’Amour ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือครั้งแรกในปี 1822 หรือภายหลังจากเขาเดินทางออกจากมิลานไปแล้ว และถ้าจะเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างสต็องดาลกับเมติลด์เข้ากับกระบวนการก่อเกิดของความรักก็อาจจะพบว่าอยู่ที่ขั้นตอนแรกเท่านั้น ถ้าพูดในภาษาปัจจุบันก็คงต้องบอกว่าสต็องดาลอดีตราชสีห์ล่าความรักกลับเป็นได้แค่ ‘นก’ เท่านั้น

De l’amour ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี 1822

สต็องดาลได้พบกับเมติลด์ครั้งสุดท้ายในปี 1821 ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับไปฝรั่งเศส แต่ก็ไม่มีสัญญาณเสน่ห์หาใดๆ จากเธอ เขาไม่ได้พบเธออีกหลังจากนั้น ภายหลังจากทราบข่าวการจากไปของเธอ ในวันที่ 1 มิถุนายนปี 1825 เขาได้เขียนลงข้อความหนึ่งลงไปบนหนังสือที่เธอชื่นชอบเป็นคำภาษาอังกฤษว่า ความตายของผู้ประพันธ์ (death of the author)

สิ่งที่ผู้อ่านอย่างเราๆ อาจจะพอระแคะระคายอยู่บ้าง หากได้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะพบว่า หนังสือที่ดูเหมือนไม่ได้แทรกใส่เรื่องส่วนใดๆ อย่าง De l’Amour นั้นกลับเต็มไปด้วยเสี้ยวส่วนของอารมณ์และความทรงจำมากมายระหว่างที่สต็องดาลอยู่ในมิลาน ความพลาดรักผิดหวังถูกซ่อนไว้ในตัวละครซาวิเอทิ (Saviati) ที่ประเดี๋ยวก็โผล่เข้ามาใน De l’Amour บทตอนต่างๆ (ผ่านบทบันทึกที่เขาเขียน) แม้จะเป็นผลงานขึ้นชื่อว่าเป็นตำราว่าด้วยรัก แต่เบื้องหลังและแรงผลักดันนั้นกลับเป็นความอกหักรักพัง แทบจะเรียกว่า เพียวๆ เลยก็ว่าได้

อ้างอิง

  • Stendhal, Love, translated by Gilbert and Suzane Sale, (London: Penguin Books, 2004)
  • Robert Alter & Carol Cosman, A Lion for Love: A Critical Biography of Stendhal, (New York: Basic Books, 1979)
Tags: , , , ,