วันนี้ 21 เมย. เวลา 10.30 น. ณ บริษัท จรูญรันต์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยคณะก้าวหน้า พาสื่อมวลชนเข้าชมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือของคณะก้าวหน้า บริษัทจรูญรันต์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมแพทย์ โดยจะมอบอุปกรณ์ให้แก่โรงพยาบาลที่แสดงความต้องการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับอุปกรณ์ที่มีการผลิตขึ้นในโครงการนี้มี 2 รายการ ดังนี้
- Modula ARI Clinic ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการแรงดันบวกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด้านหนึ่งและห้องความดันลบสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ หรือผู้ที่มารับการตรวจเชื้อในอีกด้านหนึ่งอันเป็นห้องปฏิบัติการที่สามารถยกมาติดตั้งและถอดถอนออกได้อย่างสะดวก
- Patient Transportation Chamber อุปกรณ์เสริมติดเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้ระบบแรงดันลบเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในระหว่างการเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง
อุปกรณ์ทั้ง 2 รายการ ได้ใช้ข้อมูลจากเพจ Open Source Covid Thailand และจากคณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เปิดให้สาธารณะผลิตและออกแบบได้ โดยการผลิตและออกแบบในครั้งนี้ได้ทีมงานวิศวกรรมบริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ร่วมกับศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมระดับโลกมาเป็นผู้ร่วมดำเนินการ ทั้งนี้อุปกรณ์ทั้งหมดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล
อุปกรณ์ทั้ง 2 รายการ ที่ทำขึ้นนี้มีเป้าหมายในการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในพื้นที่โรงพยาบาล และในระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับญาติมิตร ผู้เดินทางสัญจรทั่วไป ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ รวมถึงเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวยังมีความแข็งแรง สามารถติดตั้งถาวร เพื่อรับรองการรักษาโรคอื่นๆ ที่เป็นโรคติดต่อทางทางเดินหายใจเช่น โรคโควิด-19 หรือวัณโรค เป็นต้น
ทั้งนี้คณะก้าวหน้าและทีมผู้ผลิตจะส่งมอบ Modula ARI Clinic จำนวน 10 ชิ้น และ Patient Transportation Chamber จำนวน 30 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน และวันที่ 2-3 เดือนพฤษภาคม 2563
หลังพาเยี่ยมชมการผลิตแล้ว ธนาธรระบุว่านี่เป็นสปิริตของสังคมไทย ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าเราจะอยู่จุดไหนของสังคม เราต่างคนก็ร่วมไม้ร่วมมือกันช่วยกันทำเท่าที่ตนเองทำได้ และนอกจากอุปกรณ์สองอย่างนี้แล้ว หากมีโรงพยาบาลใดมีความต้องการอุปกรณ์อย่างอื่นที่เราสามารถผลิตให้ได้โดยทางโรงพยาบาลร่วมออกแบบตามวัตถุประสงค์ ทางเราก็ยินดีที่จะทำ
Tags: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, โควิด-19, คณะอนาคตใหม่, อุปกรณ์ทางการแพทย์