ขณะเอ็มม่า โกลด์แมน (Emma Goldman) เต้นรำอยู่ในปาร์ตี้ ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาตำหนิว่า “การเต้นรำไม่ใช่หน้าที่ของสหาย (ในการปฏิวัติ) มันทำให้การปฏิวัติโดยรวมดูไม่ดี” เหตุการณ์ (หรือตำนาน?) นี้ คือที่มาของประโยคที่ว่า “หากฉันไม่สามารถเต้นรำ ฉันก็ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิวัติของพวกคุณหรอก” (If I can’t dance, I don’t want to be part of your revolution.)
ความเคร่งครัดอันแข็งทื่อของชายในคณะปฏิวัตินี้ มีความหมายมากกว่าเรื่องบุคลิกหรือรสนิยมส่วนตัว แต่มันผูกอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ทิ้งพื้นที่ของชีวิตประจำวันไว้ภายนอกวิธีคิดวิพากษ์ ที่ควรต้องตรวจสอบและเรียนรู้ไปพร้อมกัน
อย่างนั้นก็ดี ข้อโต้แย้งพื้นๆ ว่าการเต้นรำเป็น ‘สิทธิส่วนบุคคล’ (ฉันเลือกจะเต้นหรือไม่ก็เรื่องของฉัน) ไม่ใช่ทางออก เพราะคำพูดเช่นนี้ปราศจากความเข้าใจว่าอาณาบริเวณที่ดูเหมือนเล็กน้อยในชีวิต เชื่อมโยงกับความคิดและจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ดังที่โกลด์แมนเชื่อว่า ความสยบยอมต่อระบบ (conformity) นั้นอยู่ทนทายาด แม้แต่ในหมู่นักเคลื่อนไหวที่ประกาศว่าตัวเองมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ก้าวหน้า เพราะหลายคนที่ว่า ละเลยความเข้าใจต่อแรงปรารถนาในตัวมนุษย์ที่ทำงานอย่างเงียบๆ กับมุมมองต่ออำนาจในระดับใหญ่
ประเด็นนี้ยังคงความร่วมสมัยแม้เวลาผ่านไปกว่าศตวรรษ เมื่อมองเจาะจงในบริบทของไทย ความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ผู้คน ส่งผลสำคัญต่อข้อถกเถียงที่ท้ายสุด ควรจะแตกตัวกลายเป็นมุมมองต่อชีวิตที่รุ่มรวย ทว่าข้อถกเถียงทางการเมืองส่วนใหญ่ กลับอยู่เพียงในมิติของการเมืองที่ร้องประกาศออกมาได้ แต่สามัญของชีวิตประจำวันยังกลับไม่ค่อยเป็นที่ถกเถียงในทางการเมือง
การละเลยนี้ สร้างมายาของความรู้ที่เชื่อไปเองว่า มาจากเพียงสิ่งที่มองเห็นและบ่งชี้ได้ ผลิตซ้ำมุมมองที่ไร้ความละเอียดอ่อนจนไม่สามารถลองกลับตาลปัตรความสัมพันธ์ของความเชื่อตัวเองต่อบริบทต่างๆ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ในชีวิตประจำวันที่ฝังอยู่ในระบบคุณค่าและสุนทรียศาสตร์บางอย่างไว้
บทสนทนานี้จึงเป็นความพยายามสำรวจแง่มุมต่างๆ ของร่างกายและการเคลื่อนไหวกับ ธนพล วิรุฬหกุล หรือ ‘ตั๋ม’ นักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นที่ตั้งคำถามทางการเมืองต่อร่างกาย ที่มักถูกทึกทักเอาว่าเป็นแค่เครื่องมือของการแสดงออก โดยเจาะจงผลงานกำกับล่าสุดในชื่อ The Retreat ที่ตั้งปัญหาอยู่บนระบบความสัมพันธ์ จนถึงความหมายเกี่ยวกับ ‘ตัวตน’ ผ่านร่างกายที่ไม่เคยเป็นแค่เสรีภาพในการแสดงออกและอัตลักษณ์ของปัจเจก บทสนทนาส่วนใหญ่รายล้อมอยู่กับความคิดเกี่ยวเนื่องผลงาน The Retreat ที่ธนพลใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีเพื่อวิจัยและทดลองผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมถึงตั้งคำถามต่อพรมแดนความรู้ของ ‘การเต้น’ ในบริบทของไทย
****
จุฑา: ในฐานะนักเต้น และนักออกแบบท่าเต้น มันมีที่ทางยังไงในวิธีคิดเกี่ยวกับศิลปะในไทย? เมื่องาน performing art เช่นพวกละครเวที หรือแดนซ์ แม้ว่าจะมีประวัติศาสตร์การทำงานต่อเนื่อง มีหลายกลุ่ม หลายจุดยืน แต่มันไม่ได้มีการเขียนบันทึกการมีอยู่อย่างเป็นกิจลักษณะเหมือนทัศนศิลป์ นี่ไม่ต้องพูดถึงองค์ความรู้แบบวิพากษ์เกี่ยวกับงาน
อีกประเด็นคือ แดนซ์ ในความเข้าใจโดยทั่วไปในบริบทนี้ มีเซนส์ของ ความบันเทิง (entertainment) อยู่มาก คืออาจอยู่ในคำว่า ‘ร้องรำทำเพลง’ จนกลายเป็นที่ทางของการเต้นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ซึ่งนับรวมถึงการดูการแสดงในความหมายทั่วไปด้วย คนดูมีความคาดหวังบางอย่าง เช่นต้องได้หัวเราะหรือร้องไห้ ต้อง ‘เร้าอารมณ์’ ด้วยแสง สี เสียง หรือไม่ก็ต้องมีเนื้อเรื่องที่เล่าต่อได้ ขณะที่งานของตั๋มทำอยู่มันเกิดจากวิธีคิดอื่นอยู่แล้วล่ะ เลยอยากรู้ว่าตั๋มมองเห็นแบบปฏิบัติของตัวเองยังไง ตั้งแต่ตอนแรกจนมาถึงตอนนี้ คิดว่าได้เรียนรู้และค้นพบอะไรบ้าง
ธนพล: มันเป็นคำถามที่ดีมากนะ เพราะเราก็กลับมาถามตัวเองอยู่ ว่าอะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้เราทำงาน แดนซ์ที่ไม่ได้อยู่แค่ความรู้เชิงเทคนิคที่เรียนมา ซึ่งแน่นอนว่าการฝึกฝนที่ผ่านมาที่มันอยู่ในร่างกายเรามันก็ตะวันตกมาก เช่นพวกเทคนิคของเมิร์ซ คันนิงแฮม (Merce Cunningham) หรือเทคนิคอะไรต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างโมเดิร์นและเข้าสู่โพสต์โมเดิร์น และพวกกาก้า (Gaga)
เทคนิค ในแดนซ์ร่วมสมัย (contemporary dance) เหล่านี้ ทำให้นึกภาพวันหนึ่งที่เรานั่งคุยกับวิ (วิทุรา อัมระนันท์ ) เราถามวิว่าคิดยังไงกับระบบสังคมการเมือง แล้วมันทำให้เรามองร่างกายที่มันอยู่ในบริบทนี้ยังไง คือมันไม่ใช่ร่างกายในฐานะสิ่งบันเทิง และมันคือร่างกายที่มีปฏิสัมพันธ์บางอย่างที่มันไม่ได้เป็นเรื่องของแดนซ์สวย ๆ บนเวที ด้วยคำถามนี้มันพาให้เรามีช่วงที่เริ่มสร้างงานกันเอง เริ่มค่อยๆ กลับมามองและตั้งคำถามว่าแด๊นซ์สำหรับเราคืออะไร
จุฑา: ช่วงที่เริ่มสร้างงานกันเองนี้คือเมื่อไหร่?
ธนพล: ที่จริงมันเป็นผลจากการเมืองเหมือนกัน จากการที่เราต้องอยู่ในสังคมที่กรอบมันเยอะมาก แล้วมันก็ค่อยๆ กระทบกับเรา คือแม้แต่ที่ทางของร่างกายเราในพื้นที่จริงของแดนซ์ที่นี่เองก็มีไม่เยอะ คือเราเอาร่างกายตัวเองในฐานะแดนเซอร์ไปอยู่บนเวทีก็มี อยู่ในโรงแรมก็มี ซึ่งมันก็ยังอยู่ในขอบเขตของสิ่งบันเทิงที่เราได้พูดกันไป และพื้นที่เหล่านั้นมันไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเราได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
เพราะเรากำลังสนองความต้องการบางอย่างของคนอื่นที่มันไม่ตรงกับเรา เช่น ในโรงแรม เราก็ต้องเต้นเพียงเพื่อเป็นวัตถุทางสายตา เค้าไม่ได้สนใจหรอกว่าเราทำอะไรนะ มันหมายถึงอะไร และมันทำให้เค้ารู้สึกอะไร เพราะบางครั้งเค้าก็มาคุยงานกัน ร่างกายที่เราใช้ในลักษณะนั้นมันจีงไม่สามารถตอบความสงสัยของเราที่มีกับโลกนี้ได้
อีกอย่างที่ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมามันยิ่งชัดขึ้น เราเองจึงตั้งคำถามต่อร่างกายเรามากขึ้น ไม่แค่เฉพาะในฐานะแดนเซอร์อย่างเดียว แต่ในฐานะพลเมืองด้วย เพราะเราต้องอาศัยอยู่ที่นี่ และมันมีผลกระทบกับเรา ดังนั้นเราจึงค่อย ๆ เชื่อมโยง จำได้ว่าเราเคยไปทดลองเต้นที่วัดพระแก้ว (กับวิ) เพื่อตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่มันคืออะไรนะ และเริ่มถามหาว่าจุดไหนในโครงสร้างนี้ที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจ เพื่อที่ว่าเราจะได้เห็นผลของมันอย่างชัดเจน
จุฑา: แล้วตอนนั้นเต้นอะไร?
ธนพล: คือเรามีกล้องหนึ่งตัว แล้วก็เข้าไปที่วัดพระแก้ว ถ้าเราเจอมุมไหนหรืออะไรที่น่าสนใจเราก็เคลื่อนไหวร่างกายตอบสนองต่อสิ่งนั้น มันเป็น improvisation กับพื้นที่นั้นๆ โดยคนหนึ่งถือกล้อง อีกคนก็ทำอะไรไป ผลัดกันถ่ายแบบนี้จนสุดท้ายกำลังจะออกจากประตู เราจึงเต้นคู่กันตรงหน้าประตูวัดพระแก้ว และขอให้นักท่องเที่ยวคนหนึ่งถ่ายให้หน่อย จำได้ใช่มั้ยว่าตรงหน้าประตูวัดพระแก้วจะมีทหารยืนอยู่ เราก็เต้นกันอยู่ตรงนั้น แล้วจากนั้นก็ค่อยๆ มีเสียงดังขึ้นมาว่า “คนไทยรึเปล่า?” “เอ้ย นี่มันทำอะไรกัน มันไม่เหมาะสมนะ!” แล้วเสียงโน่นนี่ก็ค่อยๆ เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทหารก็เลยลุกขึ้นมาตะโกนว่า “ทำอะไรๆ” สุดท้ายก็คือเค้าพาตัวเรากับวิไปร้านอัดรูปเพื่อจะลบสิ่งที่เราถ่ายออกให้หมด ขณะที่ลบอยู่ คนที่ร้านอัดรูปภาพก็พูดขึ้นมาว่า “โห นี่น้องเต้นกันขนาดนี้เลยเหรอ… แต่ที่จริงพี่ก็ว่ามันสนุกดีนะ” เค้าชอบแต่เค้าก็ต้องลบตามคำสั่ง
จากจุดนั้นมันถือเป็น try out อย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราเริ่มเห็นร่างกายในมุมใหม่ๆ ว่า dancing body มันไม่ได้แยกออกจากชีวิตเราขนาดนั้น คือมันไม่แยกออกจากเราในฐานะพลเมือง
จุฑา: เหตุผลที่ถามตั๋มว่ารับรู้ถึง ‘ที่ทาง’ ของ practice ตัวเองในบริบทนี้ยังไง สำหรับเรามันเป็นคำถามทางการเมือง เพราะมันคือการถามถึงกลไกการควบคุมสิ่งต่างๆ ที่มักจะทำให้การกระทำหรือกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์อยู่ในร่องในรอย เพราะว่านั่นมันง่ายต่อการควบคุม และหลายครั้งที่ศิลปะก็ดันไปอยู่ในร่องในรอยแบบนั้น คืออยู่ในประเภท อยู่ในขนบ และผลิตซ้ำรูปแบบนั้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่นำพาความคิดให้เดินทางเสียดทานกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไป ไม่กล้าทดลองที่เสี่ยงจะผิดพลาด
เรามองว่าศิลปะแบบนี้มันสูญเสียพลังของการวิพากษ์และการจินตนาการไปแล้ว ดังนั้น การเต้นในโรงแรมหรือบนเวที มันอยู่ในที่ในทางที่ถูกจัดไว้ มันอยู่ในรหัสทางสังคมที่คนเข้าใจ ที่ไม่รบกวนเค้า แต่พอตั๋มเอาร่างกายตัวเองและการเต้นไปอยู่ผิดที่ผิดทางมันไปรบกวนคนอื่น และเราคิดว่าหลายครั้งคนไม่ได้รู้ชัดว่ามันไปกวนอะไรเค้า เพราะบางทีเหตุผลที่คนเราพูดออกมาก็ไม่ใช่สาเหตุของมันจริงๆ
เราจึงมองว่า ‘ร่างกาย’ ไม่ได้เป็นแค่สื่อของการแสดงออกอย่างที่มักพูดกัน แต่โดยตัวมันเองยังเป็นกระบวนทัศน์ที่เปิดให้คนเราสำรวจสิ่งที่มันอยู่นอกเหนือดินแดนของภาษาและเหตุผล และแง่มุมนี้ยังจริงสำหรับศิลปะในสาขาอื่นด้วย คือต่อให้เราพูดเรื่องที่ฟังดู political หรือ radical ขนาดไหน แต่ละเลยมิติที่ว่า ‘สื่อ’ (ศิลปะและสุนทรียศาสตร์ที่ใช้) มีวิธีคิดและอุดมการณ์แฝงฝังอยู่ด้วย บทวิพากษ์ก็ออกมาแข็งกระด้าง กระทั่งไร้พลังทางความคิด และมันพบบ่อยมากในการพูดถึง ‘political art’ ที่มักทึกทักเอาว่ามันเป็นศิลปะที่พูดประเด็นทางการเมืองแล้วใส่รหัสอะไรต่างๆ เข้าไป เราเข้าใจว่า The Retreat พยายามที่จะไปแตะสิ่งที่เป็น paradignm ของร่างกาย คือสำรวจสำนึกของร่างกายที่มันเป็นสื่อสำหรับแดนซ์และตั้งคำถามทางการเมือง ตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จากตรงนั้น เลยอยากให้ตั๋มลองเล่าหน่อยว่าตอนนี้งานพัฒนามาถึงไหนแล้ว
ธนพล: สำหรับเราคำถามยังคงพยายามสำรวจสิ่งเดิมคือว่า เราจะ ‘เผชิญหน้า’ หรือ ‘โอบรับ’ ความเป็นอื่น หรือความไม่รู้อย่างไรบ้าง และมันเป็นความสนใจของเราว่า ความถูกต้องทางการเมืองของร่างกายมันคืออะไร คือปกติเวลาเราพูดถึงร่างกาย มันมักจะถูกมองว่ามันเป็น ‘เครื่องมือทางความคิด’ หรือว่าเป็น ‘พื้นที่ของการแสดงออก’ ที่กำกับผ่านความคิดทั้งหมด จึงฟังดูเหมือนร่างกายอยู่ในระดับที่ด้อยกว่า ทั้งที่เมื่อมองดีๆ ความรุนแรงหลายอย่างเกิดขึ้นในโลก มันเกิดขึ้นไม่ได้เลยโดยไม่มีร่างกาย การไม่ทำความเข้าใจร่างกายตัวเอง เป็นการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของเราเอง และผลักให้ตัวเองจมอยู่ในมายาว่าเรากำกับสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล พอไม่เผชิญหน้าตรงนั้น เราจึงไม่ได้จัดการมัน
ถ้าลองดูร่างกายที่อยู่บนแดนซ์ร่วมสมัย มันกลายเป็น ‘cold anatomy’ คือมันถูกทำให้เหมือนศพ ก็คือเราคิดถึงร่างกายตัวเราราวกับว่ามันถูกเข้าใจได้ผ่าน scientific anatomy เท่านั้น ดังนั้นร่างกายในมุมมองนี้ก็ประกอบด้วย กระดูก กล้ามเนื้อ เลือด การทำงานของแรงโน้มถ่วงกับน้ำหนักของร่างกาย และทั้งหมดนั้นมันวางอยู่บนร่างกายที่สูญเสียความสามารถในการเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นไปแล้ว มันจึงเป็นร่างกายที่คล้ายศพสำหรับเรา ดังนั้น excercise ในแล็บของ The Retreat คือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ใหม่ เป็นการจัดความสัมพันธ์ใหม่ด้วยการที่เราใช้มุมมองอีกมุมมองหนึ่งที่เราไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันปกติ
หรือแม้แต่พวกโยคะที่คนเรียนกันในฟิตเนตมันตัดขาดจากความเข้าใจปรัชญาของโยคะ แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นเรื่องของกล้ามเนื้อ ท่านี้มันทำให้ร่างกายเรามีกล้ามเนื้อแบบนี้ แต่สิ่งที่เค้าลืมไป ถ้าเรามองย้อนกลับไป ความเข้าใจในร่างกายมันมีหลายแบบ เช่น contemporary dance มันก็จะวางอยู่บนร่างกายของมนุษย์ในความเข้าใจของวิทยาศาสตร์ ในศาสตร์ของโยคะ มันก็คือการมองร่างกายที่ยึดโยงอยู่กับสิ่งแวดล้อม ลมหายใจ อาหารที่กิน รวมถึงความคิดของเราเองมีผลหมด หรือถ้าในแพทย์แผนจีน มันมีเส้น meridian ที่เป็นเส้นพลังชีวิตของร่างกาย การรับรู้เรื่องร่างกายเค้าเป็นอีกแบบ มันเป็นเรื่องการพลังงานชีวิต (chi) และถ้ามันติดขัด เราก็จะป่วย หรือร่างกายในอินเดียก็มีเรื่องจักระ ซึ่งมันไม่มีอยู่ใน scientific anatomy หรือจริง ๆ แล้วแม้แต่ในยุโรปยุคกลาง ร่างกายมันก็มีผังของดวงดาว (zodiac)
เราเลยอยากเอาร่างกายที่มีชีวิตกลับมาแทนที่ร่างกายที่เย็นชาในแดนซ์ปัจจุบัน โดยกลับไปดูมุมมองของร่างกายหลาย ๆ แบบ ทั้งหมดทั้งมวลมันทำให้เห็นว่ามนุษย์มันเชื่อมโยงอยู่กับอย่างอื่น คือมันทำให้เห็นว่ามนุษย์มันเป็น micro cosmos คือเราไม่เคยตัดขาดตัวเองออกจากสิ่งอื่นเลย แต่พอร่างกายแบบ cold anatomy เข้ามา เราจะเห็นเลยว่าขอบเขตของร่างกายเรามันชัดเจนมาก พื้นที่ไหนคือเรา ร่างกายเรามีเท่านี้ แล้วเราก็ไม่เคยจำเพาะได้ว่าความรู้สึกอยู่ไหนในร่างกาย การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มองไม่เห็นและไม่รู้สึกนึกมันอยู่ไหน คนส่วนใหญ่ก็จะอธิบายแบบแห้ง ๆ โดยอัตโนมัติว่าทุกอย่างเป็นเรื่องการทำงานของสมอง เป็นร่างกายที่ไม่รู้สึกยึดโยงอยู่กับอะไรเลย
จุฑา: ชอบประเด็นนี้มาก เราเห็นด้วยว่า scientific approach มีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถจับด้านอื่นที่มองไม่เห็นหรือวัดค่าโดยเครื่องมือไม่ได้ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ทำงานกับมนุษย์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นจุดที่เราเชื่อว่าการเคลื่อนไหวร่างกาย (body movement) ซึ่งรวมถึงแดนซ์ในบริบทของไทยมีศักยภาพที่จะพูดถึงความซับซ้อนของการควบคุมทางการเมืองได้ดีเพราะมันเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางความคิดที่คนยังเข้าใจน้อยมากๆ และเราควรถามว่า subjectivity ของคนในฐานะพลเมืองมันอยู่ที่ไหน แม้ว่าบางคนจะเปล่งออกมาในสาธารณะว่าสนับสนุนประชาธิปไตยและเชื่อในความเปิดกว้างทางเมือง แต่ร่างกายอาจยังไม่ได้หลุดจากวิธีคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย แล้วบางทีมันก็แสดงออกมาตรงกันข้ามกับการแสดงออกทางการเมืองด้วยคำพูด
ธนพล: นั่นเป็นคำถามของ The Retreat ว่าถ้าเราค่อยๆ เปิดประตูของร่างกายให้ลองเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นมากขึ้น เราจะเห็นอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะร่างกายที่เป็นแบบ cold anatomy เห็นร่างกายเป็นกระดูกและกล้ามเนื้อ มันก็จะมีผลกับเรื่อง self ของคนคนนั้นด้วย ก็คือเราไม่ได้เห็นว่าร่างกายมีชีวิต แต่เราคิดว่าเราคุมร่างกายเบ็ดเสร็จ อยากจะสร้างกล้ามเนื้อส่วนไหนก็ไปออกกำลังกาย นั่นคือนัยยะของความคิดว่าเรา ‘เป็นเจ้าของ’ และมีอำนาจบนร่างกายเราเองโดยสมบูรณ์ ดังนั้น “ฉันจะทำอะไรกับร่างกายของฉันก็ได้ เพราะมันเป็นของฉัน” เราจึงไม่สามารถสังเกตหรือเงี่ยหูฟังร่างกายที่อาจบอกสิ่งที่ต่างจากเรา
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเรามองร่างกายเป็น object และเราเป็นเจ้าของร่างกายเราเอง ไอเดียของอำนาจในการเป็นเจ้าของ หรืออำนาจของ self ที่มีต่อร่างกาย มันแนะเป็นนัยว่า ถ้าคุณคิดแบบนั้นกับร่างกายคุณได้ คุณก็มักจะใช้มุมมองนี้กับสิ่งอื่น ๆ ในโลกรอบ ๆ ตัวคุณด้วยเหมือนกัน
จุฑา: ใช่ จึงบอกว่าร่างกายไม่ได้เป็นแค่สื่อ แต่คือกระบวนทัศน์ ถ้าเราเห็นร่างกายเรายังไง เราก็จัดการความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกในแบบนั้นด้วย หรือบางคนอาจจะอธิบายในทางกลับ แต่เรามองว่าคนมักเริ่ม practice อำนาจจากสิ่งที่ใกล้ตัวเองและชีวิตประจำวัน แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้รับรู้มันก็ตาม
ธนพล: The Retreat จึงพยายามตั้งคำถามกับ body authority ว่าที่จริงเรามีอำนาจในความเป็นเจ้าของอยู่บนร่างกายเรามากน้อยขนาดไหน เพราะว่าถ้าเราพยายามจะออกจาก cold anatomy เราจะเริ่มเห็นอะไรบ้างนะ เรามี connection อื่นมั้ยที่เราเริ่มรู้ว่ามันอาจจะไม่ใช่ของเราคนเดียว 100% รึเปล่านะ และมันสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ ยังไง จากสังคม การเมือง หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ค้นพบผ่านการทำงาน The Retreat คือความเข้าใจเรื่องร่างกายของคนมันเชื่อมโยงกันสูงมาก นั่นคือปกติคนคิดว่าร่างกายเป็นของเรา เราจะขยับไปไหนก็ได้ เคลื่อนที่ไปไหนก็ได้ นี่เป็นสิทธิของชั้นบนร่างกายนี้
แต่พอเราเริ่มขอให้นักเต้นทำบางอย่างที่มันเลยจุดปลอดภัยของร่างกายบางอย่าง มันมีการเข้าไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่เค้าไม่รู้ บางทีเค้าจะจัดการมันไม่ได้ หรือเค้าไม่ยอมให้มันเดินต่อไป เพราะเค้าจะสูญเสียการควบคุมของร่างกายและมันทำให้เค้ากลัว สมมติเราขอให้เค้าทิ้งตัวเลย มันง่ายมากสำหรับแดนเซอร์ เพราะเค้าจะรู้ว่าจะต้องลงร่างกายยังไง อวัยวะไหนลงก่อน แล้วอะไรตาม คือทุกจังหวะของการเต้นมันมีการควบคุมสูงมาก เรารับรู้ไปหมด และเรารับรู้ด้วยว่าอนาโตมีเราเป็นยังไง น้ำหนักเราเป็นยังไง ทำยังไงร่างกายเราจะไม่บาดเจ็บ เพราะแดนเซอร์ถูกเทรนเรื่องพวกนี้มา ต่อให้เต้นที่ดูเหมือนเสี่ยงขนาดไหน สิ่งแรกที่เค้าระวังคือความปลอดภัยของร่างกาย
คำถามต่อมาคือ คุณจะทำได้มั้ย ที่จะยอมปล่อยให้ร่างกายมันไม่ต้องถูกควบคุมอยู่ในระบบความปลอดภัยนั้น? และให้มันไปในทิศทางที่คุณไม่รู้ว่าจะใช้ร่างกายส่วนใหญ่ก่อนหลัง นี่คือเรื่องยากของแดนเซอร์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เค้าสูญเสียอำนาจในการควบคุมร่างกายไป มันไปเจออีกภาวะหนึ่ง มันคือภาวะที่เค้าไม่วางใจในร่างกายแล้ว ดังนั้นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตัวตนและร่างกายเค้าเริ่มจะเปลี่ยนไป แล้วแดนเซอร์ยอมได้ยากมากที่จะให้ร่างกายตัวเองไปอยู่ในภาวะนั้น
ซึ่งความเสี่ยงไม่จำเป็นต้องหมายถึงความบาดเจ็บนะ แต่มันอาจเป็นความเสี่ยงที่ท่าเต้นเค้าจะไม่สวยในความคิดของเค้า ไม่ใช่สไตล์การเต้นของเค้า ไม่ใช่ตัวเค้า แล้วคำว่า ‘ตัวตน’ ของเค้ามันเชื่อมโยงอยู่กับร่างกายสูงมาก ดังนั้นเหตุผลที่เค้ายอมได้ยากเพราะมันไปกระทบกระเทือน self ของเค้าเอง และเค้าเริ่มรู้สึกเหมือนเค้าไม่รู้จักร่างกายตัวเอง เราจึงคิดว่า ‘self’ มันอยู่ในร่างกายเลย บางครั้งมันไม่ใช่ว่าเป็น ‘self’ ที่เรา ‘คิด’ เกี่ยวกับตัวเองว่าเป็นอย่างไร และนี่เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดมากผ่านการทำงาน
จุฑา: เราคิดว่าร่างกายโกหกไม่ได้ แต่เราพูดในสิ่งที่เราไม่เชื่อได้ บางครั้งมันจึงเป็นมายาของคนที่เชื่อว่าตัวเองเลือกที่จะพูดถึง self ตัวเองได้โดยสมบูรณ์ ทั้งที่ความจริงแล้ว self มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย มันมีการกระทำและถูกกระทำกับอำนาจ นอกจากนี้ร่างกายมันยังเป็น ‘ความทรงจำ’ และ ‘ประสบการณ์’ ในตัวมันเองด้วย
ธนพล: มันน่าสนใจที่ว่า ต่อให้เราประกาศว่าเราเป็นคนเปิดกว้างขนาดไหน นั่นมันเป็นแค่ความคิด หรือไอเดียที่เรามีต่อตัวเอง ที่เราพยายามยึดไว้ และเราอยากที่จะเป็น แต่พอลองดูกันให้ละเอียด ร่างกายมันอาจพูดไปอีกทางหนึ่ง มันเป็นพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่ยังไม่ค่อยถูกสำรวจในบ้านเรา
ดังนั้น The Retreat คือการตั้งคำถามผ่านร่างกายว่ามันยึดโยงอยู่กับสิ่งอื่น ๆ อย่างไร ความสัมพันธ์ของมันคืออะไร ซึ่งกรณีนี้เป็นการทดลองผ่านการทำงานกับแดนเซอร์ซึ่งเทรนตัวเองมาด้วยการใช้ร่างกายอย่างดีที่สุด กระบวนการทำเค้าเข้าใจ self ที่สลักหรือแฝงฝังอยู่ในร่างกายนี้ ทำให้เข้าใจการทำงานทางการเมืองของอำนาจ แล้วทีนี้ตั๋มคิดว่างานครั้งนี้มันจะพาไปถึงจุดไหน
สำหรับเรา มันพาไปถึงจุดที่แดนเซอร์พบแง่มุมของร่างกายที่เค้าเองก็ไม่รู้จักมัน เป็น unknown แบบที่เราเคยคุยกัน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เค้าเริ่มเปิดให้สิ่งต่าง ๆ ต่อสิ่งรอบตัวผ่านร่างกายเค้าเอง มันคือการยอมให้ร่างกายเป็นหนึ่งในเครือข่ายของสิ่งต่าง ๆ มันพาเค้าไปยังจุดที่เค้าเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในภาวะนั้นร่างกายเค้าคืออะไร ในบางครั้งการเคลื่อนไหวมันออกจากตรรกะที่เค้ามีอยู่เดิม พร้อม ๆ กันนั้น มันก็ออกจากกฎการเคลื่อนไหวร่างกายที่เค้าเรียนรู้มาด้วย
อีกเรื่องคือนักเต้นยังติดอยู่ใน morality แบบหนึ่งอยู่ อย่างเช่น ถ้าเป็นนักเต้นผู้ชายกับผู้ชาย เค้าก็จะไม่จับก้นอีกคนหนึ่ง เพราะการจับก้นมันอาจให้ภาพของ homosexual ที่เค้าก็กั้นตัวเองเอาไว้ไม่ให้ทำ หรือการดูดนิ้วกัน แบบเจอนิ้วอีกคนแล้วดูดเข้าไปเลย มันก็จะมี แต่ก่อนหน้านั้นมันจะไม่มีเลย
จุฑา: แล้วอะไรที่ทำให้เค้าเริ่มกล้าทำ
ธนพล: เค้าอยู่กับมันเยอะขึ้น ค่อยๆ เปิดร่างกายตัวเองไปสู่ดินแดนที่ตัวเองไม่รู้ทุกวันด้วยการปฏิบัติ เราเองก็จะคอยลอบมองการเปลี่ยนแปลงของเค้า หรือกระทั่งหาวิธีการในการให้เค้าเปิดให้สิ่งต่างๆ หรือให้เค้ายอมรับความรู้สึกของเค้าที่มีต่อวัตถุหรือต่อบุคคลอื่นมากขึ้น ซึ่งมันอาจเป็นความสัมพันธ์ที่ธรรมดา แต่เราไม่ได้อนุญาตให้มันเกิดขึ้น บางทีมันก็กลายเป็นเรื่องของเฟติช (fetish)
จุฑา: แต่เฟติชไม่ใช่สิ่งที่งานต้องการใช่มั้ย เพราะเฟติชมันคือการทำให้ส่วนหนึ่งของร่างกายหรือวัตถุหนึ่งๆ เป็น object of desire มันไม่ได้ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นในเซนส์ที่เราคุยกันตอนแรกที่จะเปิดไปสู่มุมมองความเข้าใจต่อโลกแบบอื่น เพราะหลายครั้งที่เรื่องจิตวิญญาณ (spiritual) หรืออะไรที่เกินขอบเขตของภาษานี้ก็ถูก fetishize โดยศิลปินจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน เค้าไม่ได้มองมันในฐานะ thinking subject แต่ในฐานะ passive object เพื่อสนองโลกทัศน์เดิม อันนี้จึงเป็นปัญหา กระทั่ง political art ก็อาจ fetishize ปัญหาทางการเมือง คือไม่ได้ตั้งคำถามแบบเชื่อมโยง แต่เลือกส่วนหนึ่งมา แล้วตัดตอนมันใช้ในฐานะ object of desire เพื่อที่จะไปถึงจุดที่ตัวเองต้องการ ท้ายสุดมันดูคล้ายกับตัวบทอ้างอิง แต่มันกับไร้พลังในทางความคิด
ธนพล: เข้าใจจุดนั้น แต่สิ่งหนึ่งสำหรับเราที่ fetish มันให้คือ มันต้องอยู่กับ sensation โดยเฉพาะในงานนี้ บางครั้งการที่เราเห็นขา มันดึงดูดเราให้ทำอะไรบางอย่าง แต่เค้าไม่ได้ลืมหรอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ แต่ว่าที่สิ่งมันก้าวข้ามได้คือมันก้าวข้ามเรื่องเพศ เค้าไม่ได้สนใจอีกต่อไปว่าคนนั้นจะเป็นเพศอะไร และมันยังก้าวข้ามเรื่อง identity ว่าคนนั้นแก่กว่า คนนี้เด็กกว่า คนนี้เป็นผู้หญิงทำไม่ได้ มันจึงทำให้การเชื่อมต่อระหว่างคนมันใกล้ขึ้นนะ แต่เค้าไม่ได้มีมุมมองกับร่างกายในแบบที่มันแยกส่วนในแบบ fetish นะ ณ ปัจจุบันที่เค้าเปิดมากขึ้น เค้าก็ปฏิบัติกับวัตถุเหมือนกับร่างกายของคนเหมือนกัน และก็มีบางครั้งที่เค้ามองร่างกายคล้ายวัตถุ มันจะสลับไปมาอย่างนี้ แต่คำว่า ‘ปฏิบัติเหมือนวัตถุ’ สำหรับเรา ไม่ได้หมายความว่าเค้ารู้สึกเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจเหนือมันแล้วเค้าจะทำอะไรกับมันก็ได้นะ แต่มันเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะเท่ากันระหว่างมนุษย์และสิ่งของ โดยนัยว่าโลกนี้ไม่ใช่เป็น ‘โลกของฉัน’ แต่ ‘ฉันเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้’ คือเมื่อ presence เปลี่ยน ความสัมพันธ์ที่เรามีกับโลกนี้มันก็เปลี่ยน
จุฑา: ตามที่ตั๋มเล่ามา ร่างกายมันเป็นพื้นที่ในการยื้อแย่งและเปลี่ยนแปลง ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ว่าในพื้นที่ไหน มันก็ไม่เคยมีเส้นพรมแดนชัดเจน ร่างกายมนุษย์ที่สมบูรณ์ควรต้องมีอะไรบ้างมันก็อาจไม่ได้ชัดเจน เนื้อหนังที่ผนวกเข้ากับวัตถุต่าง ๆ ทำให้เรานึกถึงอวัยวะของคนพิการที่มีการรวมกับวัสดุอื่นเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ได้ง่ายขึ้นก็ควรถูกมองว่าเป็นอีกแบบของร่างกายมนุษย์ ไม่ใช่ความบกพร่อง และที่จริงมันก็พ้องกับไอเดียเรื่อง cyborg อะไรพวกนั้น เราจึงสนใจว่าถ้า self ของนักเต้นมันถูกท้าทาย พื้นที่ในชีวิตจริงของนักเต้นพวกนี้มันถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยมั้ย
ธนพล: เราไม่ได้ไปเก็บข้อมูลหรือถามนักเต้นอย่างจริงจังกับเรื่องนี้นะ แต่ที่สังเกตเห็นก็คือการเคลื่อนไหวโดยทั่วไปของเค้าเปลี่ยนไป คือปกตินักเต้นจะมีรูปแบบคล้าย ‘ลายเซ็น’ ของเค้าอยู่ แล้วความเป็นรูปแบบนั้นค่อย ๆ คลายตัวลง และนั่นทำให้เราเริ่มเจอกับเค้าในแบบที่เราไม่เคยได้รู้จักมาก่อน หรือเป็นเค้าในแบบที่พยายามจะไม่ให้เรารู้จักในตอนแรก
แดนซ์ที่นี่มันไม่เคยถูกวางในชีวิตประจำวัน แต่มันกลายเป็นช่วงเวลาหนึ่งในห้องซ้อมเต้นที่ตัดขาดจากความคิดส่วนอื่นของชีวิต ทั้งที่การจัดวางความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวร่างกายลงไปใหม่ในพื้นที่ของชีวิตประจำวันนั้นมันจะสร้างความหมายทางการเมือง เพราะมันคือการตรวจสอบตัวตนที่สร้างขึ้นมา และกระบวนการสร้างนั้นมันเป็นแบบปฏิบัติของอำนาจที่มีต่อคน ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในงานนี้เราทำจนไม่มีมี ‘symbolic’ อะไรในงานอีกเลย คือมันไม่ใช่การ encode แล้วให้คนดู decode เราไม่ค่อยเชื่อในวิธีการนั้น
จุฑา: ใช่ การดำเนินไปของชีวิตประจำวันมัน symbolize ได้ยาก เพราะมันเปลี่ยนแปลงและมันโกลาหล มันจึงจับให้นิ่งแล้วหาทาง represent มันด้วยระบบสัญลักษณ์ไม่ได้เสมอไป การทำให้ศิลปะมันเป็น ‘representation’ คือเป็นภาพแสดงแทนหรือสะท้อนสิ่งต่าง ๆ มันจึงมีปัญหา เราคิดว่าทางเดียวที่เราจะเข้าใจคนหรือสิ่งนั้นได้คือตัวคนมองต้องท้าทายความจริงและตัวตนของตัวเองไปด้วยพร้อมกัน ศิลปะจึงต้องท้าทายร่างกายตัวเอง (สื่อ/เครื่องมือ) พร้อม ๆ กับการพูดถึงสิ่งอื่น
ธนพล: ดังนั้นเราจึงวางแผนภาคต่อไปของงาน retreat ที่จะเดินทางและทำงานกับผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ขณะเดียวกันเราก็สะสมบางอย่างไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยการเดินทางนี้จะมีตัวหนังสือเป็นหนึ่งในผลผลิตท้ายสุดของ Retreat ให้อธิบายก็คือ มันเป็นการเรียบเรียงออกมาจากในแล็บที่เป็นกระบวนการค้นหา ผลงานแสดงก็เป็นผลของการเรียนรู้จากแล็บ ส่วนหนังสือเป็นเหมือนการเรียบเรียงอย่างครบถ้วนที่สุด มันจึงถูกมองว่าเป็นตัวหลักของงานด้วยซ้ำ
จุฑา: แล้วความสัมพันธ์ระหว่างงานเขียน ตัวหนังสือ กับแดนซ์ของตั๋มมันคืออะไร?
ธนพล: คือตัวหนังสือนี้มันจะเป็น ‘dance score’ ที่มาจากของการได้เฝ้าดู การได้ทดลอง การได้ค้นหา ในกระบวนการเต้น ถ้าให้เห็นภาพมากที่สุด ลองนึกถึงนักดนตรีที่เล่นเพลง เหมือนโน้ตเพลงจะเป็นตัวกำหนดว่าเค้าจะเล่นอะไร และเกิดอะไรขึ้นต่อไป เสียงเป็นอย่างไร ไอ้ dance score ช่วงแรกๆ มันก็ผูกกับดนตรีเลยล่ะ คือมันก็เป็นการบ่งชี้ว่า ท่าเต้นนี้เราจะเริ่มกันอย่างไร ด้วย movement ไหน มันเหมือนการที่เราบันทึกเพลงเป็นโน้ตเลย สิ่งที่สำคัญของมันคือสิ่งนี้สามารถส่งผ่านไปได้ จากนักดนตรีคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง
จุฑา: นั่นหมายความว่าต้องการจะส่งผ่านให้นักเต้นคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้?
ธนพล: ใช่ และนี่คือจุดประสงค์ด้วย เพราะด้วยกระบวนการ The Retreat เนี่ยมันพยายามจะพาคนไปเผชิญหน้ากับความเป็นอื่น ที่อาจเป็นบางอย่างที่เราไม่รู้จัก ไม่คุ้นชิน ไม่เคยสนใจมองหรือคิดกับมัน แล้วเราสนใจให้หนังสือตัวนี้ซึ่งเป็น dance score เพื่อว่าเค้าจะสามารถฝึกมันหรืออยู่กับมันได้ คือหนังสือมันถูกทำให้เป็น ‘retreat’ ของชีวิตประจำวันด้วย เพราะเราคิดว่าแดนซ์ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่มันลิ้งค์ไปถึงทัศนคติของคนนั้นที่ต่อร่างกายเค้าเอง ไปจนถึงทัศนคติของเค้าที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย ดังนั้นเราจึงคิดว่ามันก็สำคัญมากเหมือนกันที่แดนซ์มันต้องไม่อยู่แต่ในห้องซ้อม และนั่นคือความสำคัญของตัวหนังสือ
จุฑา: ก็คือเป็นการแปลงพื้นที่ของโรงละคร เวที ให้กลายเป็นพื้นที่ในหนังสือ และกระทั่งพื้นที่ในหัวของคนเอง แล้วเราก็สามารถพกตัวหนังสือมันไปไหนก็ได้ และเส้นแบ่งระหว่าง professional dancer กับคนอื่นก็อาจจะไม่ชัดเหมือนเดิม?
ธนพล: คือแดนเซอร์ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เค้าก็จะมีภาคกินข้าว ภาคที่ก็ทำอะไรปกติทั่วไป ดังนั้นเส้นบางๆ ของ performing art และการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันที่มันก็เรียกร้องการ perform เหมือนกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเบลอตัวเองออกมา
เชิงอรรถ:
- Emma Goldman (1869-1940) เป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในอเมริกาเหนือและยุโรป
- Carla Bergman and Nick Montgomery, “Stifling Air of Rigid Radicalism: Can radical politics harbor a deadening conservatism?” in The New Inquiry, March 2, 2018.
- Merce Cunningham (1919-2009) นักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นชาวอเมริกัน ที่มีอิทธิพลอยู่ในช่วง Modern Dance ของอเมริกา คันนิ่งแฮมยังถูกรู้จักในฐานะผู้ที่ร่วมทำงานกับศิลปินสาขาอื่นเช่น Bruce Nauman, Robert Rauschenberg, John Cage, และ David Tudor
- Gaga เป็นเทคนิคที่สร้างและพัฒนาโดย Ohad Naharin นักออกแบบท่าเต้นและผู้อำนวยการ Batsheva Dance Company. การเคลื่อนไหวในเทคนิคแบบ Gaga เน้นสร้างความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของร่างกาย ขณะที่เปิดทางให้กับผัสสะและจินตนาการไปพร้อม ๆ กัน งานลักษนะนี้ช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวตามสัญชาตญาณและการเคลื่อนไหวในแบบที่ไม่รู้สำนึก