วันนี้ (6. พ.ค.) เวลา 16.55 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ถวายพระพรชัยมงคลแทนราษฎรทุกหมู่เหล่า
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอบความว่า
“ข้าพเจ้าและพระราชินีรู้สึกยินดีและปลื้มใจมากที่ได้เห็นประชาชนทั้งหลายมีไมตรีจิตพร้อมเพรียงกันมาร่วมแสดงความปรารถนาดีในวาระบรมราชาภิเษกของข้าพเจ้าครั้งนี้
“ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลายผู้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี่ เพื่ออวยชัยให้พรแก่ข้าพเจ้าด้วยน้ำใจไมตรีและความปรารถนาดีอย่างจริงใจนั้น เป็นที่จับตาจับใจ และทำให้ข้าพเจ้าอิ่มใจอย่างยิ่ง
“ขอให้ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลายในการแสดงไมตรีจิตแก่ข้าพเจ้าครั้งนี้จงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนทุกฝ่ายจะพร้อมกันบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติของเราต่อไป
“ขอขอบใจในคำอำนวยพร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในนามของทุกคนและขอสนองพรให้ทุกท่านมีความผาสุกสวัสดีพร้อมทั้งความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนาจงทั่วกัน”
โดยเป็นสีหบัญชรเดียวกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคลภายหลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ 69 ปีที่แล้ว ในวันที่ พฤษภาคม 2493 ภายหลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นพระที่นั่งตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ สร้างในรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ในพระราชพิธีสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถง ทำด้วยเครื่องไม้ มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและทิศใต้ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท ต่อมา พ.ศ.2492 มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ด้านตะวันออกเป็นสีหบัญชร