เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการเสียบบัตรลงคะแนนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 ของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย นายสมบูรณ์ ชารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย และ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สุมทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ โดยฉลองนั้นไม่เข้าร่วมประชุมเพราะเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อร่วมงานวันเด็ก ส่วนทางด้านสมบูรณ์และภริมนั้น สื่อมวลชนจับภาพขณะเสียบบัตรลงคะแนนซ้ำได้พอดี 

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 เป็นโมฆะ แต่ระบุให้โหวตวาระ 2 และ 3 ใหม่อีกครั้ง โดยให้เหตุผล 3 ประการ ดังนี้

  1. การลงคะแนนแทนกันมีปัญหาที่ ‘กระบวนการตราร่าง’ เท่านั้น ไม่ได้มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาภายในร่างรัฐธรรมนูญ 
  2. การพิจารณาออกเสียงของสภาในวาระ 1 รับหลักการ และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ก่อนเสนอสภาพิจารณาวาระ 2 ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ และถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อนแล้ว (การลงคะแนนแทนเกิดขึ้นหลังวาระ)
  3. ประเทศชาติต้องการ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาในการเบิกง่ายงบประมาณแผ่นดิน

ศาลรัฐธรรมนูญจึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิถีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 ให้สภาดำเนินการลงมติใหม่เฉพาะในวาระ 2 และ 3 และให้ส่งให้วุฒิสภาลงคะแนนเห็นชอบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ ศาลระบุให้รายงานผลแก่ศาลภายใน 30 วัน นับจากวันที่คำวินิจฉัยออกมา

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีประเด็นการเสียบบัตรแทนของสมาชิกสภา 

ในปี 2556 ช่วงที่การเมืองไทยกำลังคุกรุ่นอย่างหนัก พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องการผลักดันร่าง พ.ร.บ เงินกู้สองล้านล้านบาทเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ แต่กาลกลับพลิกผัน เมื่อวีดีทัศน์ที่จับภาพของ นายนริศร ทองธิราช ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทยในเวลานั้น ทำการเสียบบัตรแทน ส.ส. คนอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา จนนำไปสู่การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดย นริศรให้เหตุผลกับศาลรัฐธรรมนูญว่า บัตรที่ตนพกมี 3 ใบ ซึ่งเป็นบัตรประจำตัว ส.ส. บัตรลงคะแนนเสียง และบัตรลงคะแนนเสียงสำรอง อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้ใช้บัตรทั้งหมดเพื่อลงคะแนนเสียงให้ ส.ส. คนอื่น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญในตอนนั้นวินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งของ นริศร ไม่มีเหตุผล ผิดวิสัยของผู้ที่มีฐานเป็นปวงชนชาวไทย และขัดต่อพฤติกรรมโดยปกติของวิญญูชน ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกระทำของนริศรละเมิดหลักการพื้นฐานของการ ส.ส. ที่ต้องเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและไม่อยู่ในอาณัติหรือการครอบงำใดๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยปราศจากการขัดแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ  2550 มาตรา 122 นอกจากนี้ศาลยังลงความเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ ส.ส. ได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน

ดังนั้น มีผลให้การลงคะแนนเสียงร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนประชาชนไทย ดังนั้นร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจึงถูกตีตกลงไป 

เปรียบเทียบคำตัดสินการเสียบบัตรแทนทั้งสองครั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีลงคะแนนแทนใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 ดังนี้ 

“….. เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๓ เวลาประมาณ ๑๙.๓๐ นาฬิกา ถึงวันที่ ๑๑ มกราคมที่เป็นการพิจารณาวาระที่สอง และวาระที่สาม ปรากฎการแสดงตนและลงมติของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ รับเองว่าตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้อยู่ในห้องประชุม แต่ปรากฎว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตน และลงคะแนนแทน ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงละคะแนนที่ไม่สุจริต …..”

ขณะที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕–๑๘/๒๕๕๖ มีข้อความระบุถึงการเสียบบัตรแทนไว้ว่า 

“… การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งถือได้ว่า เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือการครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๒๒ ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๓ และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามบทบัญญัติมาตรา ๑๒๖ วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนของรัฐสภาในการประชุมนั้น ๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย …”

เมื่อเราดูเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ในกรณีเสียบบัตรลงคะแนน พ.ร.บ. 2563 แทน และนำมาเทียบกับเหตุการณ์คล้ายกันที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 จึงกลายเป็นประเด็นที่น่าคิดต่อว่า ทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 ไม่เป็นโมฆะ 

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ยกพระราชราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74 ที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ ซึ่งเปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้สภาลงมติในวาระ 2 และ 3 ใหม่ รวมถึงต้องส่งผลรายงานกลับมาภายใน 30 วัน โดยให้เหตุผลว่าประเทศต้องการ พ.ร.บ. งบประมาณดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลนำไปเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประเทศ

หรือกล่าวคือ เป็นอำนาจพิเศษของศาลรัฐธรรมนูญที่จะหาทางลงให้แก่ปัญหาดังกล่าว โดยไม่ต้องรื้อทั้งกระบวนการโหวต พ.ร.บ. ของสภาทิ้ง ซึ่งอำนาจดังกล่าวไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น กล่าวได้ว่ามันเป็นอำนาจใหม่ที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้สามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการพิจารณาคดี 

และเป็นอำนาจที่น่าสนใจ เพราะเท่ากับมันขยายเส้นที่เคยจำกัดอำนาจของกระบวนการยุติธรรมให้กว้างไกลขึ้น และมีอิทธิพลเหนือภาคบริหารและนิติบัญญัติมากยิ่งขึ้น

หากเรามองเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญยกขึ้นมาเรื่อง ‘ความจำเป็นของประเทศ’ และเปรียบเทียบความสำคัญของ พ.ร.บ. เงินกู้สองล้านล้าน และ พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 

พ.ร.บ. งบประมาณเป็นกฎหมายหลักที่รัฐบาลต้องดันให้ผ่านสภาเนื่องจากเนื้อหาการใช้งบประมาณทั้งหมดจะถูกอัดแน่นอยู่ภายใน งบประมาณในการดำเนินนโยบาย การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐและวิสาหกิจทั้งหมด และที่สำคัญการลงทุนของรัฐบาลระดับเมกะโปรเจ็กต์ที่ปลุกปั้นมานาน อย่าง เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) รวมไปถึงเงินเดือนของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจล้วนอยู่ในพระราชบัญญัติฉบับนี้

กล่าวคือ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่แค่สำหรับการพัฒนาในอนาคต หากจำเป็นต่อการหมุนของฟันเฟืองระบบราชการทั้งระบบให้ทำงานเป็นปกติ

ในขณะที่ พ.ร.บ. เงินกู้สองล้านล้านเรียกได้ว่าเป็นนโยบายเสริมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ต้องการให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อมาลงทุนในสาธาณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ซึ่งถ้าหากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีการบังคับใช้ นอกจากมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังเป็นไพ่ตายให้กับพรรคเพื่อไทยในการโกยคะแนนเสียงเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทการเมืองในขณะนั้น ภายในสภากำลังร้อนเป็นไฟ ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ต้องการตัดขาฝ่ายรัฐบาลทุกด้าน เพื่อกลับมากุมอำนาจบริหารในการเลือกตั้งครั้งหน้า และภายนอกสภาประชาชนมีความคิดแตกออกเป็นสองขั้วการเมือง ฝ่ายหนึ่งมองว่ารัฐบาลไม่โปร่งใส และดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของอดีตหัวหน้าพรรค หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่อีกฝ่ายเชื่อมั่นในแนวทางการทำงานของพรรครัฐบาลอย่างสุดหัวหัวจิตหัวใจ

เหตุผลอีกประการ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยกขึ้นมาว่าเนื้อหาของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 63 ไม่มีใจความขัดต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ และการลงคะแนนเสียงแทนกันของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องต่อกัน และการออกเสียงของสภาในวาระรับหลักการ และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก่อนเสนอสภาพิจารณาวาระ 2 ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ และถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อนแล้ว จึงไม่มีความผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ออกความเห็นเรื่องการลงคะแนนเสียงแทนกัน เพียงแต่บอกว่า พ.ร.บ. งบประมาณปี 63 ไม่มีเนื้อความขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไปทั้งฉบับ ซึ่งในทางกลับกัน การลงคะแนนเสียงแทนกันของ ส.ส. พรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2556 คนเดียว กลับทำให้ร่าง พ.ร.บ. ทั้งฉบับขาดความชอบธรรม ขณะที่กรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันครั้งล่าสุดมีถึง 3 คน และยังไม่รวมถึงกรณีของ นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ที่ตกหล่นไประหว่างการยื่นคำร้อง

นอกจากนี้ การเลือกใช้คำในผลวินิจฉัยของคดีดังกล่าวยังแตกต่างกันอีกด้วย โดยในกรณีปี 2556 ศาลรัฐธรรมนูญได้เลือกใช้คำว่า การกระทำดังกล่าวของนายนริศร เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ ‘ทุจริต’ ขณะที่การลงคะแนน พ.ร.บ. งบประมาณที่ผ่านมาเป็น ‘การไม่สุจริต’ ซึ่งทั้งสองคำมีความรุนแรงของพฤติการณ์แตกต่างกัน 

ซึ่งอาจทำให้สันนิษฐานได้ว่า การกระทำหนึ่งแม้จะกระทำด้วยความ ‘ไม่สุจริต’ แต่เมื่อเป็นการกระทำในเรื่องที่เป็น ‘ความจำเป็นของประเทศ’ ก็ทำให้ความไม่สุจริตนั้น ไม่ทำให้ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นเป็นโมฆะ ในขณะที่การกระทำอีกอย่างนั้นนั้นกระทำด้วยความ ‘ทุจริต’ ก็เพียงพอแล้วที่จะวินิจฉัยว่าผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นเป็นโมฆะ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็น ‘ความจำเป็นของประเทศ’ หรือไม่ 

อีกโค้งหวาดเสียว ป.ป.ช. ตรวจสอบและไต่สวน

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินก็ต้องถือว่าเป็นการสิ้นสุดคดีความ และไม่สามารถจะโต้แย้งใดๆ ได้ สิ่งที่น่าลุ้นต่อไปคือ การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อไป

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญก็ได้เข้ายื่นคำร้องเอาผิด ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลทั้ง 3 คน ที่สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. นนทบุรีว่าอาจมีพฤติการณ์และการกระทำที่ผิด ดังนี้

  1. รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185 มีพฤติการณ์การก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่น 
  2. พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 และเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในข้อ 7 และข้อ 8 ในประเด็นที่ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และต้องไม่มีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตํ่าแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ฯลฯ 

ซึ่งหาก ป.ป.ช. วินิจฉัยว่ามีความผิดตามข้อห้ามข้างต้น ก็อาจนำไปสู่การสิ้นสุดลงของตำแหน่ง ส.ส. ตามมาตรา 101(7) ของรัฐธรรมนูญ 2560 และอาจมีความผิดตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561 ม.28(1) และ ม.30 วรรคแรก ประกอบ ม.172 ได้  

โดยหากเปรียบเทียบการชี้มูลความผิดในกรณีการเสียบบัตรแทนของนริศรของ ป.ป.ช. ในปี 2559 จะพบว่า ป.ป.ช. ระบุนริศรมีมูลความผิด ดังนี้ 

  1. ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 
  2. ผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123  และ 123/1 
  3. จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ ทั้งที่ไม่ได้มีตำแหน่งเช่นที่ว่า แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้การลงคะแนนเสียงถูกบิดเบือน 

ต่อมา ในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้เป็นโจทย์ร่วมกันยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายนริศร กรณีเสียบบัตรแทนกันในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123 นอกจากนี้ยังมี ยังมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. คดีกล่าวหานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีไม่ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญว่าสมาชิกดำเนินการถูกระเบียบหรือไม่ ทั้งที่มีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณาเอกสารให้ครบถ้วน รวมถึงภายหลังการรับหลักการแล้วก็ขาดความชัดเจนในการแปรญัติ จนทำให้เหลือเวลาในการแปรญัติน้อยกว่าที่ควร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่ากระทำไปโดยมิชอบ และนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กรณีสลับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1

การวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอีกโค้งหนึ่งที่ฝ่ายรัฐบาลคงต้องลุ้นกันอย่างใจหายใจคว่ำต่อไป เพราะหาก ป.ป.ช. ชี้ว่ามีความผิด พวกเขาต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และ ส.ส. รัฐบาลที่เสียงปริ่มน้ำอยู่แล้วก็อาจจะมีความไม่มั่นคงมากขึ้นไปอีก และยังไม่รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่นับวันยิ่งมีเสียงแว่วว่าจะถดถอยลงไปเรื่อยๆ 

 

อ้างอิง:

https://www.isranews.org/isranews-scoop/84753-isranews-84753.html

https://www.isranews.org/isranews-news/79397-isranews-79397.html

https://www.prachachat.net/politics/news-418873

Tags: , , , ,