นับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม 2475 และเรื่องราวของคณะราษฎรกลับมาเล่าใหม่อีกครั้งในสังคมไทย คำถามข้อหนึ่งที่มักถูกตั้งขึ้นเสมอคือราษฎร/ประชาชนหายไปไหน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักประวัติศาสตร์สำนัก ‘Anti-คณะราษฎรมักใช้คำถามนี้โจมตี ลดทอนคุณค่าการปฏิวัติ 2475’ เพื่อบอกเป็นนัยว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรเป็นการยึดอำนาจของคนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ในตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีงานวิชาการหลายชิ้นที่ศึกษาการปฏิวัติ 2475’ อย่างลงลึกและแตกประเด็นไปมากมาย ทั้งศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร, การเคลื่อนไหวของราษฎรในระบอบใหม่, หรือแม้กระทั่งการโต้กลับการปฏิวัติของฝ่ายอนุรักษนิยม งานหลายชิ้นได้ตอบคำถามและตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ลดทอนการปฏิวัติ 2475 ไปมากแล้วว่า การปฏิวัติคณะราษฎรไม่แต่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น แต่ยังได้วางรากฐานทางความคิดให้กับราษฎร และราษฎรในเวลานั้นก็ไม่ได้ซื่อบื้อไม่สนใจการเมืองอย่างที่นักประวัติศาสตร์สำนัก Anti-คณะราษฎร ยกขึ้นมาตอบโต้

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอขยายประเด็นประวัติศาสตร์คนตัวเล็กตัวน้อยหลังวันปฏิวัติ 2475 โดยมุ่งเน้นไปที่การเคลื่อนไหวของราษฎรผ่านเรื่องการชุมนุมของคณะนักเรียนหลังการปฏิวัติ 2475 ที่จะช่วยเปิดพื้นที่ศึกษาและสร้างความเข้าใจใหม่ต่อการปฏิวัติ 2475 มากขึ้นไปอีก

ไล่เจ้าเข้าป่า เอาหมาครองเมืองคำบรรยายแห่งยุคสมัยจากปากคำของชนชั้นสูงหลังการปฏิวัติ

ข้อความแรกของคำประกาศคณะราษฎรกล่าวไว้ว่าราษฎรทั้งหลายพึงรู้ไว้เถิดว่าประเทศนี้เป็นของราษฎรอันเป็นหัวใจหลักของการปฏิวัติ 2475 ถือเป็นคำที่สั่นสะเทือนมโนสำนึกของชนชั้นสูงและเจ้านายบางกลุ่มที่สูญเสียสถานะของตนหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

ในขณะที่ถ้อยคำไล่เจ้าเข้าป่า เอาหมาครองเมืองที่ปรากฏในบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิศกุล สะท้อนให้เห็นถึงทัศนะการมองยุคสมัยของชนชั้นสูงแบบโลกาวินาศ เพราะระเบียบทางสังคมแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกพลิกกลับ ความเป็น ‘เจ้านายและชนชั้นสูงหมดคุณค่าในสังคมหลังการปฏิวัติ เพราะรัฐบาลคณะราษฎรให้คุณค่าแก่ความเสมอภาคของประชาชน ดังนั้นการมีลำดับชั้นทางสังคม การถือยศถืออย่างจึงไม่ใช่คุณค่าที่สังคมหลังการปฏิวัติยึดถือ ส่งผลให้ เจ้านายและชนชั้นสูง ที่แต่เดิมมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมจากการมียศมีอภิสิทธิ์ถูกเบียดขับออกไป และเปิดทางให้กับประชาชนหมู่มากได้เข้ายึดกุมพื้นที่ทางสังคมแทน 

นัยของประโยคไล่เจ้าเข้าป่า เอาหมาครองเมืองจึงแสดงให้เห็นถึงความสั่นสะเทือนของชนชั้นสูงและเจ้านายที่ปรับตัวไม่ทันกับการที่โครงสร้างทางการเมืองสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เจ้านายหรือชนชั้นสูงถูกเบียดขับออกไปจากโครงสร้างอำนาจให้อยู่ในป่าอันเป็นสถานที่แห่งความชั่วร้าย และหมาที่มีนัยของเดรัจฉานซึ่งชนชั้นสูงใช้มองประชาชนหมาครองเมืองจึงเป็นคำบรรยายอันเคียดแค้นของชนชั้นสูงที่ทนไม่ได้ เมื่อเห็นประชาชนกำลังเข้ายึดครองเมืองอันเป็นสถานที่แห่งความเจริญ กล่าวให้ถึงที่สุด ประโยคเปรียบเปรยจิกกัดและเคียดแค้นคำนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในยุคสมัยการปฏิวัติ ประชาชนกลายเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง และมีอำนาจมากเสียจนเจ้านายชนชั้นสูงต้องหลีกทางให้

สไตรค์คำศัพท์การเมืองของชนชั้นล่างไทย

ราษฎรไม่สนใจการเมือง, คนไทยเพิ่งตื่นตัวทางการเมือง ข้อครหาของนักประวัติศาสตร์สาย Anti-คณะราษฎร เป็นเรื่องที่ผิดจากข้อมูลในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปมาก เพราะแท้ที่จริงแล้ว การเมืองเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของผู้คน เพียงแต่ในระบอบการเมืองหนึ่งๆ มีปัจจัยหรือเงื่อนไขหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในการปกครองแบบจารีต เราอาจเห็นความเคลื่อนไหวของประชาชนผ่านกบฏไพร่, ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งมีอายุสั้นมาก) เราก็จะเห็นการก่อการของคณะ .. 130, กบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน, การถวายฎีกา แม้กระทั่งการสไตรค์หยุดงาน 

คำว่า ‘สไตรค์เป็นคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ ‘Strike’ ซึ่งเป็นศัพท์การเมืองยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ใช้เรียกการนัดหยุดงานของกรรมกรในโรงงานเพื่อเรียกร้องหรือกดดันรัฐบาลและเจ้าของโรงงานให้ปรับปรุงแก้ไขนโยบายบางอย่าง การสไตรค์เกิดขึ้นได้เนื่องจากในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กรรมกรกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ฉะนั้นการที่กรรมกรนัดหยุดงานพร้อมกันจึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกิจการของนายทุนและระบบเศรษฐกิจ การสไตรค์จึงเป็นอาวุธสำคัญของชนชั้นล่างในการต่อรองกับนายทุนและรัฐบาล

ในไทยพบว่ามีการเริ่มสไตรค์ ครั้งแรกๆ ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในงานเรื่อง ‘กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย’ ของ พรรณี บัวเล็ก ได้กล่าวไว้ว่า มีการสไตรค์หยุดงานกันบ่อยครั้งจากชาวจีนที่เข้ามาเป็นแรงงานในไทยในเวลานั้น การสไตรค์หยุดงานของแรงงานเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 จนถึงหลังการปฏิวัติ 2475 จึงทำให้ศัพท์การเมือง เรื่องการ ‘สไตรค์ของกรรมกร ถูกใช้อย่างต่อเนื่องในรายงานตามหน้าหนังสือพิมพ์และกลายเป็นคำที่ใช้ติดปากของคนไทยสมัยนั้น ว่าหมายถึงการชุมนุมของราษฎรหรือกรรมกร แม้ความหมายดั้งเดิมของมันจะหมายถึงการนัดหยุดงานของกรรมกรในโรงงานก็ตาม

การ สไตรค์ครั้งแรกของคนรุ่นใหม่หลังการปฏิวัติ 2475

จากที่กล่าวมาข้างต้น การสไตรค์หยุดงานถือว่าไม่ใช่ของใหม่ในสังคมหลังการปฏิวัติ 2475 เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชนชั้นล่างในเมือง (ชาวจีน) ใช้การ สไตรค์เป็นอาวุธในการต่อรองกับนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของนายทุน ขุนนาง และชนชั้นสูง แต่ยังไม่เคยปรากฏว่ามีราษฎรกลุ่มอื่นๆ ใช้การสไตรค์เป็นเครื่องมือด้วยเช่นกัน 

จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 2 เดือน หนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2475 ลงข่าวเรื่องการเดินขบวนของนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาโดยต้นเรื่องการเดินขบวนครั้งนี้ เกิดขึ้นจากข้าราชการกระทรวงธรรมการ พระนิพิฐนิติสาสน์ (เชย สิงหเสนี) ได้พูดจาดูถูกนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาในที่ประชุมเรื่องเพิ่มชั้นเรียนของโรงเรียนสตรีวิทยา โดยพระนิพิฐนิติสาสน์ได้กล่าวหานักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาว่า 

การที่นักเรียนพยายามยื่นคำร้องครั้งนี้เป็นการตะเกียกตะกายเกินกว่าภาวะของตน ความจริงหน้าที่ของผู้หญิงก็มีแต่การเหย้าการเรือน การที่กระทรวงธรรมการได้ให้การศึกษามาได้เพียงเท่านี้ก็เป็นการดีเกินอยู่แล้ว ไม่ควรทำตาแหกตาปลิ้นตะเกียกตะกายขึ้นไปอีก ไม่นึกหรือว่าทางบ้านกะปิจะเป็นหนอน ฯลฯ

ข้อความดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาเป็นอย่างมาก ทำให้กลุ่มนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาราว 10 คน รวมตัวกันเดินขบวนไปกระทรวงธรรมการเพื่อเรียกร้องให้เอาผิดกับพระนิพิฐนิติสาสน์ โดยกลุ่มนักเรียนหญิงได้ให้สัมภาษณ์ถึงจุดมุ่งหมายในการเดินขบวนครั้งนี้ไว้ว่า 

เรื่องนี้พวกดิฉันได้รับความไม่เป็นธัมม์ จำเป็นต้องพยายามให้ได้รับความยุตติธัมม์จนได้ ฉะนั้นแม้ท่านผู้ปกครองจะดุว่าประการใดก็จะยอมรับโทษ 

แม้ผู้เขียน จะไม่ได้สืบข้อมูลต่อว่า การเดินขบวนเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาจบลงเช่นใด แต่เหตุการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเมื่อระบอบการเมืองเปิด ให้คุณค่ากับความเสมอภาค ความเป็นมนุษย์ การเดินขบวนเรียกร้องทางการเมืองจึงเปิดกว้างให้กับประชาชน ซึ่งแตกต่างจากสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แม้จะมีการสไตรค์ของกรรมกรเป็นระยะๆ แต่ก็ถูกปราบปรามด้วยกำลังอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของกลุ่มนักเรียนสตรีวิทยา อาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีครั้งแรกของไทยในระบอบใหม่อีกด้วย

ในเดือนถัดมาก็ได้มีกลุ่มนักเรียนอัสสัมชัญก่อการสไตรค์ (คำเดิมคือ ‘สไตร๊ค’) หยุดเรียนเพื่อให้โรงเรียนเปลี่ยนวัดหยุดเรียนและขอให้รับนักเรียนที่ถูกไล่ออกให้เข้าเรียนตามเดิม โดยการก่อการครั้งนี้มีนักเรียนโรงเรียนเซนต์กาเบรียลเข้าร่วมด้วย  

การก่อการสไตรค์ของนักเรียนอัสสัมชัญเข้มข้นขึ้นเมื่อกลุ่มนักเรียนได้ขอให้ นาย ซุนต๋อง ตันติเวชกุล เป็นคนกลางในการเจรจากับกระทรวงธรรมการและคณะราษฎรช่วยกดดันโรงเรียนให้ทำตามข้อเรียกร้องของนักเรียน โดยกลุ่มนักเรียนราว 65 คนได้เดินทางไปยังบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แต่ได้รับการปฏิเสธและขอร้องให้กลับเข้าเรียนตามปกติ 

เมื่อไม่ได้ตามที่ร้องขอกลุ่มนักเรียนอัสสัมชัญได้ขยายการเคลื่อนไหวมากขึ้นโดยในวันรุ่งขึ้นได้จัดกลุ่มเดินขบวนกันไปที่สวนลุมพินี โดยที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังป้องกันตั้งแต่ปากตรอกโอเรียนเตลสโตร์ถึงสะพานสีลม  อย่างไรก็ดีนายมังกร สามเสน ซึ่งเป็นพ่อค้านายทุนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ปรากฏตัวและพูดกับนักเรียนอัสสัมชัญที่ชุมนุมที่สวนลุมพินีว่า 

การพร้อมใจกันหยุดงานเป็นการกระทำของกรรมกรไม่ใช่สมบัตินักเรียน  และนายซุนต๋องได้แถลงว่า ครูจะปฏิบัติตามความประสงค์ของนักเรียนทุกประการไม่ได้ เมื่อต้องการเรียนอีก จงให้ผู้ปกครองไปมอบหมายตัวต่อครูเป็นคนๆ ไป  

แต่กลุ่มนักเรียนที่มาร่วมชุมนุมไม่ยอม โดยนายสมจิตต์ได้ลุกขึ้นยืนถามนักเรียนที่มาชุมนุมด้วยกันว่าใครยอมบ้าง นักเรียนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ยอม ไม่เรียน แล้วนายสมจิตต์ได้แจกกระดาษลงนามนักเรียนแก่หัวหน้าห้องทุกๆ ห้องแล้วต่างแยกกันไป 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การสไตรค์ของนักเรียนอัสสัมชัญได้จบลงแบบเงียบๆ แต่ได้ทำให้โรงเรียนอัสสัมชัญต้องหยุดสอนไปเป็นเวลาหลายวัน เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ากลุ่มนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้สึกร่วมไปกับระบอบการเมืองใหม่และมีสำนึกในทางการเมืองแบบใหม่จึงได้มีการชุมนุมเดินขบวนกันจนต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีดูแลสถานการณ์

พาดหัวหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2476 รายงานข่าวเรื่องนักเรียนจีนโรงเรียนป้วยเอง (หรือโรงเรียนเผยอิง ก่อการสไตรค์) 

ต่อมาใน เดือนมกราคม 2476 (ปฏิทินเก่า) ได้เกิดการสไตรค์หยุดเรียนของนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นนักเรียนโรงเรียนจีนป้วยเอง ราว 400 คน พร้อมใจกันหยุดเรียนก่อการสไตรค์ นำเอาป้ายประกาศติดตามผนังโรงเรียน เรียกร้องให้ไล่ครูใหญ่และครูรอง 2 คน ออกจากตำแหน่ง โดยกลุ่มนักเรียนเห็นว่าครูใหญ่มีความประพฤติไม่เหมาะสม เช่น พูดจาว่าร้ายนักเรียนชาย พูดจาเสียดสีนักเรียนหญิง รวมทั้งปลดครูบางคนออกแบบไม่มีเหตุผล

ในการสไตรค์ครั้งนี้ กลุ่มนักเรียนได้มีการระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย โดยการให้นักเรียนรุ่นใหญ่เป็นกองรักษาการณ์ และเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเป็นพยานในการชุมนุมสไตรค์ของนักเรียน 

เมื่อกลุ่มนักเรียนเริ่มรวมตัวกันหนาแน่นขึ้น ทางโรงเรียนจึงได้ส่งผู้แทนมาเจรจากับกลุ่มนักเรียนที่ก่อการสไตรค์ กลุ่มนักเรียนโรงเรียนจีนป้วยเอ้ง จึงได้ทำหนังสือยื่นให้แก่ นายตันซิวเม้ง นายกกรรมการจัดการโรงเรียนพาณิชย์จีน เพื่อให้ดำเนินการปลดครูทั้ง 3 สามคนออกไป ผู้แทนของโรงเรียนรับเรื่องไว้และบอกแก่กลุ่มนักเรียนว่าจะให้คำตอบภายในวันที่ 11 มกราคม 2476 อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการไม่ยอมปลดเพราะเกรงว่าจะเสียระบบการปกครองระหว่างครูกับนักเรียน 

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กลุ่มนักเรียนจีนจึงงัดไม้ตายออกมาใช้คือการเตรียมทำหนังสือถึงกระทรวงธรรมการ (หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ให้ลงมาตรวจสอบ และขอพบพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีด้วย 

ต่อมาในเย็นวันที่ 11 มกราคม 2476 หัวหน้าคนหนึ่งของกลุ่มนักเรียนโรงเรียนจีนป้วยเอง ถูกตำรวจตามจับตัวถึงบ้าน โดยคณะครูโรงเรียนเป็นผู้แจ้งความ แต่โชคดีที่นักเรียนคนดังกล่าวไม่ได้อยู่บ้าน การสไตรค์ ยังสามารถดำเนินต่อไปได้

เช้าวันถัดมา กลุ่มนักเรียนโรงเรียนจีนป้วยเอง ได้เดินทางมารอบฟังคำตอบของทางคณะกรรมการโรงเรียน แต่กลับพบกำลังตำรวจที่ทางโรงเรียนเรียกมาขัดขวางไม่ให้กลุ่มนักเรียนเข้าโรงเรียน และคณะครูโรงเรียนได้พยายามบังคับให้นักเรียนเข้าห้องเรียนโดยการใช้กำลังบังคับ ซึ่งมีเพียงนักเรียนรุ่นเล็กเท่านั้นที่ยอมเข้า พวกนักเรียนรุ่นใหญ่ยังคงประท้วงกันต่อไป 

รายงานข่าวเรื่องนักเรียนโรงเรียนป้วยเองก่อการสไตรค์ได้รับการติดตามจากหนังสือพิมพ์อยู่เรื่อยๆ ในวันที่ 19 มกราคม 2476 เป็นเวลา 10 วันแล้วที่นักเรียนจีนยังก่อการสไตรค์อยู่

ในช่วงของการสไตรค์อันดุเดือดของนักเรียนจีนนั้น ได้มีการแจกใบปลิวกล่าวหา นายตันซิวเม้ง นายกกรรมการโรงเรียนด้วยว่าเป็นพวก ‘นาซีจีน’ (Blue Shirts Society) ซึ่งถูกส่งเข้ามาเผยแพร่ลัทธินี้ในสยาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มจับตาอย่างเข้มงวดมากขึ้นป้องกันเหตุการณ์บานปลาย

การสไตรค์ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 18 มกราคม 2476 คณะผู้แทนนักเรียนโรงเรียนจีนป้วยเอง 10 คนได้ลงนามในหนังสือคำร้องขอความยุติธรรม และนำไปยื่นให้พระยาพหลพลหยุหเสนา ที่วังปารุสกวัน โดยรอคำตอบจากพระยาพหลฯ ภายในวัน 23 มกราคม 2476

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องดังกล่าวจะเงียบหายไป โดยหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2476 ได้รายงานข่าวสั้นๆ ไว้ว่า โรงเรียนป้วยเองเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติแล้ว โดยมีนักเรียนเข้าเรียนเกือบครบ ขาดแต่พวกนักเรียนคณะก่อการซึ่งทางโรงเรียนก็ไม่มีความประสงค์จะรับเข้าเรียนต่อไปแล้ว พร้อมทั้งทางโรงเรียนยังชี้แจงอีกว่าข้อกล่าวหาที่คณะนักเรียนประกาศไว้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะโรงเรียนพร้อมชี้แจงให้คำตอบแก่นักเรียนเสมอ หากนักเรียนต้องประพฤติตัวให้สุภาพ แต่ที่ผ่านมานักเรียนไม่ยอมมาพบทางโรงเรียนจึงไม่มีโอกาสชี้แจง

ภาพถ่ายหมู่นักเรียนโรงเรียนป้วยเอง ในพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. 2463 ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_22371

จะเห็นได้ว่า แม้การก่อการสไตรค์ของนักเรียนจีนโรงเรียนป้วยเองจะจบลงที่ความพ่ายแพ้ของกลุ่มนักเรียนที่ไม่สามารถกดดันให้คณะผู้บริหารโรงเรียนหรือรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มตนเองได้ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ชี้ให้เห็นความสนใจตื่นตัวทางการเมืองจากประชาชน เพราะเมื่อระบอบการเมืองเปิดกว้าง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนจึงทำได้มากขึ้นโดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นข้อดีของระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถเปล่งเสียงดังให้กับผู้มีอำนาจได้รับรู้ถึงความทุกข์ร้อนของพวกเขา 

ท้ายสุด การก่อการสไตรค์ของคณะนักเรียนหลังการปฏิวัติ 2475 อาจเป็นเพียงเรื่องเล่าเกร็ดเล็กน้อยในประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหญ่ของไทย แต่ก็ช่วยสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่หยัดยืนกล้าประจันหน้ากับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและกู่ร้องเปล่งเสียงความต้องการของตน แม้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ก็ตาม 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดของเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผู้เขียนได้ร้อยเรียงขึ้นนี้ คือการยืนยันและตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ปราศจากข้อเท็จจริงที่ว่า ‘ราษฎรไทยไม่สนใจการเมือง’ ‘คนไทยเพิ่งจะตื่นตัวทางการเมืองเพราะข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่เปล่งเสียงออกมานี้ได้ช่วยยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง

อ้างอิง

พรรณี บัวเล็ก. กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : พันธกิจ, 2546.

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

โรงเรียนจีนป้วยเอ็งเปิดสอนเปนปกติแล้ว ไทยใหม่ (21 มกราคม 2476).

คณะกรรมการโรงเรียนจีนจะไม่ยอมตามคำขอร้องนักเรียนที่จะให้ปลดครูใหญ่ออก.” ประชาชาติ (10 มกราคม 2476).

นักเรียนจีนกับครูยังตกลงกันไม่ได้ประชาชาติ (15 มกราคม 2476).

นักเรียนจีนร้องทุกข์ต่อเจ้าคุณพหลฯประชาชาติ (19 มกราคม 2476).

นักเรียนจีนราว 400 คนก่อการสไตรค์.” ประชาชาติ (9 มกราคม 2476).

นักเรียนป้วยเองจะร้องทุกข์ต่อธรรมการ เพราะกรรมการร.. ไม่รับพิจารณาคำขอร้อง.” ประชาชาติ (12 มกราคม 2476).

นักเรียนสตรีวิทยาไปหาพระยาประมวญฯ.” สยามหนุ่ม (20 สิงหาคม 2475).  

นักเรียนอัสสัมชัญไม่เข้าห้องเรียน.” สยามหนุ่ม (10 กันยายน 2475).  

พระนิพิฐฯไม่ใช่พระพิพิธฯ.” สยามหนุ่ม (22 สิงหาคม 2475,).  

พระพิพิธฯ ประชุมนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา.” สยามหนุ่ม (19 สิงหาคม 2475). 

Tags: