เพดานทุกแห่งเมื่อเอื้อมถึงแล้ว จักกลายเป็นพื้นดิน” (Every ceiling reached becomes a floor)

  ผู้กล่าววาทะอมตะนี้คือ อัลดุส ฮักซ์เลย์ ผู้ประพันธ์อมตนิยายเรื่อง Brave New World

  ผู้เขียนนึกถึงคำคมนี้ทันทีที่ฟังข้อเสนอ 10 ข้อว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ของนักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

  เมื่อเพดานถูกเอื้อมถึงแล้ว แน่นอนว่าคนจำนวนมากที่เคยชินกับการมีเพดานมาตลอดชีวิตจะรู้สึกไม่สบายใจและหวาดกลัว หลายคนว่าจะตราหน้านักศึกษาว่าจาบจ้วง’ ‘ล่วงเกิน’ ‘ล้ำเส้นฯลฯ และคำอื่นๆ ที่สะท้อนค่านิยมและความเคยชินของคนจำนวนมากในสังคม

  ในประเทศอื่นๆ ที่มีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การอภิปรายถกเถียงประเด็นทำนองนี้ทำกันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผู้มีอำนาจรัฐจะไม่อ้างกฎหมายมาขู่เล่นงานผู้นำเสนอ ปิดปากให้เขาไม่ได้พูด หรือข่มขู่ว่าโศกนาฏกรรมในอดีตจะวนกลับมาใหม่

  คนรุ่นใหม่ในไทยจำนวนมากทุกวันนี้ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในโลกออนไลน์ไร้พรมแดน พวกเขาไม่เชื่อว่าโลกนี้มีสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ พวกเขามองไม่เห็นเส้นแบ่ง มองไม่เห็นเพดาน เห็นแต่ท้องฟ้ากว้างไกล พวกเขาเชื่อในพลังของการวิจารณ์ การนำเสนอสิ่งที่พวกเขาเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าจะเป็นทางออกของปัญหา และไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เท่ากับการจาบจ้วงล่วงเกินหรือล้มล้างอะไรทั้งนั้น

  ข้อเสนอเรื่องนี้ของนักศึกษาก็ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ตรงที่เราเห็นต่างกันได้ ผู้เขียนเองเบื้องต้นก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอหลายข้อ แต่เห็นว่าสังคมควรได้ถกกัน เช่นเดียวกับประเด็นสาธารณะอื่นๆ ในสังคม

ในเมื่อเรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ บทบาทของสื่อมวลชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีความกล้าหาญที่จะนำเสนอมุมมองของนักศึกษา เสนอข้อเท็จจริงว่านักศึกษาเสนออะไร ถ้าให้ดีกว่านั้นควรจัดเวทีสาธารณะเพื่อการอภิปรายอย่างมีเหตุมีผล

  อย่างไรก็ดี เราต้องยอมรับกันตรงไปตรงมาอย่างน่าเศร้าว่า สื่อมวลชนไทยเซ็นเซอร์ตัวเองมานานจนเคยชิน หลายค่ายวันนี้ได้กลายร่างเป็นหน่วยพีอาร์หรือประชาสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจทางเศรษฐกิจ จรรยาบรรณที่เคยมีในการแปะป้ายเนื้อหาที่ถูกซื้อว่า ‘advertorial’ หายไปนานแล้ว การลงโฆษณาในรูปแบบบทความเนียนๆ ไปกับเนื้อหา หรือ native advertising กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในวันที่สื่อต้องดิ้นรนรับรายได้ทุกช่องทางเพื่อเอาตัวรอด ผู้บริโภคอ่านแล้วต้องพยายามรู้ทันกันเองว่าเนื้อหาไหนถูกซื้อ เนื้อหาไหนสื่อนำเสนอเอง 

วันนี้ กำแพงที่ควรจะกั้นกลางระหว่างทีมบรรณาธิการกับทีมโฆษณาเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและพิทักษ์ความเป็นอิสระของสื่อ ได้ปลาสนาการไปนานแล้ว

  แต่สุดท้ายไม่ว่าเนื้อหาจะถูกซื้อหรือไม่ซื้อ สุดท้ายข่าวก็ออกมาไม่ต่างกันนักอยู่ดี เพราะทุกวันนี้สื่อหลายค่ายนำเนื้อหาพีอาร์จากรัฐและเอกชนมาลงเป็นข่าวกันเป็นเรื่องปกติ สื่อออนไลน์บางค่ายทันทีที่นายกรัฐมนตรีดำริว่าจะมาเยี่ยมก็เปิดบ้านต้อนรับ ทำข่าวให้อย่างเอิกเกริก แถมนักข่าวยังทำตัวพินอบพิเทา ยื่นข้อเสนอแกนๆ ทั้งที่ไม่เห็นแนวโน้มใดๆ ว่ารัฐบาลจะรับฟังหรือทำตาม

  ผู้เขียนเห็นว่าการเปิดบ้านลักษณะนี้ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนระดับนายกฯ มีพื้นที่สื่อมากมายอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่สื่อจะต้องเปิดพื้นที่เพิ่ม อย่างมากถ้าเลี่ยงไม่ได้ มีความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องตอบรับการมาเยือน ก็ไม่ควรปิดห้องคุยกันลับๆ หรือยื่นข้อเสนออะไรก็ตาม การทำข่าวพีอาร์ให้ยิ่งไม่ควรใหญ่ แต่สื่อควรยื่นเงื่อนไขว่า นายกฯ จะมาเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ออกอากาศสดๆ แบบตรงไปตรงมา หรือที่เรียกว่า hard talk เท่านั้น โดยสื่อจะรับหน้าที่ถามคำถามแทนประชาชน (และสามารถเปิดให้คนมีส่วนร่วมได้ทางออนไลน์)

  ความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนอยู่ที่การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา สื่อสารความจริงให้ประชาชนรับรู้โดยปราศจากความกลัวหรือเข้าข้างใคร ดังนั้น การรักษาระยะห่างจากแหล่งข่าวทุกคนทุกระดับจึงจำเป็น เพื่อให้สังคมเห็นว่าสื่อยังสามารถทำงานอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลทางธุรกิจและการเมือง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่อันตรายและน่าเศร้ายิ่งกว่าการทำตัวเป็นพีอาร์ของสื่อก็คือ การที่สื่อหลายค่ายวันนี้กลายร่างเป็นสื่อเสี้ยมเต็มรูปแบบ รับรายได้มากมายจากหน่วยงานภาครัฐ วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากผลิตเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อ ใส่ร้ายป้ายสีคนที่มองว่าเป็นศัตรูของฝ่ายผู้มีอำนาจ ผลิตเนื้อหาที่บรรดาเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอ (IO – Information Operations) นำไปใช้กระพือความเกลียดชังในโซเชียลมีเดีย

  การกระพือความเกลียดชังนักศึกษาของสื่อเสี้ยมและไอโอวันนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะผลักดันสังคมไปสู่ความรุนแรง ดังที่เราได้เห็นบทเรียนมาแล้วมากมายในอดีต อาทิ บทบาทของสื่อขวาจัดอย่างดาวสยามและวิทยุยานเกราะ ในโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519

  ในภาวะเช่นนี้ ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่สื่อมวลชนทุกค่ายที่ยังอยากเป็นสื่อมืออาชีพ อยากทำหน้าที่สื่ออย่างถูกต้อง จะยกระดับการทำงานของตัวเอง จะนำเสนอข้อเสนอของนักศึกษาและพยายามเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนอภิปรายอย่างปลอดภัย

ผู้เขียนอยากทิ้งท้ายด้วยการแปลเนื้อหาบางตอนในบทที่ 2 ของ On Liberty (ว่าด้วยเสรีภาพ) ของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ นักปรัชญาคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 19 ผู้อธิบายอย่างเรียบง่ายเป็นเหตุเป็นผลว่า การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกที่ไม่มุ่งทำร้ายคนอื่นนั้น ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตยอย่างไร

  “…สิ่งที่เลวร้ายหาใช่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างส่วนเสี้ยวต่างๆ ของความจริง หากคือการกดทับความจริงครึ่งเดียวอย่างเงียบเชียบ เรามีความหวังเสมอเมื่อคนถูกบังคับให้ฟังทั้งสองฝ่าย เมื่อพวกเขาได้ฟังแต่เพียงฝ่ายเดียว ความผิดพลาดก็จะแข็งตัวกลายเป็นอคติ และความจริงในตัวมันเองก็จะปราศจากผลแห่งความจริง เพราะถูกขยายความกลายเป็นความเท็จ

  เราได้ตระหนักแล้วว่าเสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นขาดไม่ได้สำหรับสุขภาวะทางจิตใจของมนุษยชาติ (ซึ่งสุขภาวะด้านอื่นๆ ล้วนพึ่งพา) ด้วยเหตุผลสี่ประการด้วยกัน

  ประการแรก ถ้าหากความเห็นใดถูกปิดกั้นให้เงียบ ความเห็นนั้นอาจเป็นความจริงก็ได้ การปฏิเสธไม่ให้เรารู้เรื่องนี้จึงเท่ากับทำให้เราหลงผิด

  ประการที่สอง ถึงแม้ความเห็นที่ถูกปิดกั้นให้เงียบอาจเป็นความผิดพลาด มันก็อาจมีส่วนเสี้ยวของความจริงอยู่ก็ได้ และโดยมากก็มักเป็นเช่นนั้น ในเมื่อความเห็นทั่วไปหรือความเห็นกระแสหลักไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามแทบไม่เคยเป็นความจริงทั้งหมด ก็มีแต่การปะทะกันของความคิดที่แตกต่างเท่านั้นที่จะเปิดทางให้ความจริงที่เหลืออยู่เผยออกมา

  ประการที่สาม ต่อให้ความเห็นที่คนยอมรับจะเป็นความจริงอย่างครบถ้วน แต่ถ้าหากว่ามันไม่ได้ถูกทดสอบอย่างเข้มข้นจากการต่อสู้ทางความคิด [จากการถูกตั้งคำถาม การได้ปะทะสังสรรค์กับความคิดอื่น] ความเห็นนั้นๆ ก็จะมีผู้เชื่อเพียงเพราะเขามีอคติ โดยขาดความเข้าใจหรือการรับรู้บนฐานของเหตุผล

  ประการสุดท้าย [เมื่อความเห็นอื่นถูกปิดกั้น] ความหมายของความคิดที่ได้รับการยอมรับนั้นก็จะตกอยู่ในอันตรายที่จะสูญหายหรืออ่อนพลังการอธิบายลง ไม่อาจส่งผลต่อลักษณะและพฤติกรรม ความคิดนั้นจะกลายเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้ กลับจะกลายเป็นภาระและปิดกั้นการเติบโตของความเชื่อมั่นที่แท้จริงและจริงใจ อันจะเกิดจากเหตุผลหรือประสบการณ์ส่วนตัว

  ด้วยเหตุผลข้างต้น การคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพการแสดงออกจึงสำคัญต่อการสร้างตลาดความคิดที่จำเป็นต่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยสังคมที่ประชาชนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการที่อยากปิดกั้นความจริงเพราะอยากเถลิงอำนาจต่อไป และเพราะรู้ว่าการเปิดให้มีตลาดความคิดอาจสั่นคลอนอำนาจของตนเอง

  ถ้าหากสื่อมวลชน ไม่ว่ากระแสหลักหรือกระแสรอง ในสังคมที่ประกาศว่าใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาของสังคมในการรายงานข้อ เท็จจริง ไม่สามารถคุ้มครองและช่วยสร้างตลาดความคิดให้เกิดขึ้นได้ สื่อคนนั้นหรือค่ายนั้นก็ควรพิจารณาตัวเองว่า กำลังทำหน้าที่สื่อเพื่อประชาชน หรือว่ากำลังหมดความสำคัญเพราะไม่กล้านำเสนอข้อเท็จจริง หรือที่อันตรายร้ายแรงกว่านั้นคือ กำลังทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจ กระพือความเกลียดชังเพื่อรักษาอำนาจ เพียงแต่ใช้สถานะของสื่ออำพรางเจตนาที่แท้จริง

 

Tags: ,