ต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ครึ่งปีหลังจากที่วิกฤติโควิด-19 กระหน่ำจนปั่นป่วนไปทั่วโลก สถานการณ์ด้านผู้ติดเชื้อของประเทศไทยดูดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันเป็นเดือน ถึงแม้จะยังไม่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์และยังวางใจไม่ได้ สังคมอยู่ในภาวะอย่าการ์ดตกต้องระวังการระบาดระลอกสองอยู่ทุกเมื่อ ... ฉุกเฉินถูกขยายการบังคับใช้ออกไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งนั่นก็หมายถึงการขยายเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดใดๆ จากการใช้อำนาจภายใต้ ... นี้อีกเช่นกัน ท่ามกลางคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า รัฐบาลอยากควบคุมโรค หรืออยากควบคุมประชาชนกันแน่

จนถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากวิกฤตินี้กำลังแผ่ขยายเป็นวงกว้างและซึมลึกรุนแรง เพราะผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยกว่าร้อยละ 70 พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว สองหัวหอกเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างจังจากโควิด-19 และทำท่าจะซึมยาวไปอีก 1-2 ปี

วิกฤติเศรษฐกิจย่อมส่งผลให้ปัญหาหนี้ทวีความรุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะในเมื่อก่อนหน้าโควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็ไม่ดี หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว ล่าสุดหลังจากที่ออกมาตรการระยะแรก ระหว่างเดือนเมษายนมิถุนายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่สอง โดยให้สถาบันการเงินต่างๆ ขยายช่วงเวลาพักชำระหนี้ ลดค่างวด ลดดอกเบี้ย ฯลฯ ออกไปอีกอย่างน้อยสามเดือนจนถึงปลายเดือนกันยายน 2563 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นักเศรษฐศาสตร์การเงินผู้โด่งดัง ตั้งคำถามในบทความวิกฤติหนี้รายย่อย ระเบิดเวลาลูกใหญ่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ว่า 

ถ้าลองคิดเล่นๆ แค่ว่ามีเพียง 10% ของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือไปต่อไม่ได้ลูกหนี้จำนวนมากอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ยึดทรัพย์ บังคับหลักประกัน ขายทอดตลาด ลำพังเพียงแค่สถานการณ์ปกติ ระยะเวลา ต้นทุน และทรัพยากรที่ต้องใช้ในกระบวนการเหล่านี้ก็มีมากอยู่แล้ว ถ้านึกว่าต้องมีทรัพย์สินเข้ากระบวนการนี้พร้อมๆ กันมากๆ ต้นทุนคงเพิ่มสูงขึ้น เพราะหลักประกันอาจจะถูกยึดและเทขายมาพร้อมๆ กัน กลายเป็นภาระหนักหนาสาหัสทางการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยเจอวิกฤตหนี้รายย่อยในระดับนี้มาก่อน และเราอาจยังนึกไม่ออกว่าเรากำลังจะเจอกับอะไรบ้าง เพราะต้นทุนในการดำเนินการและการเจรจาคงสูงกว่าปัญหาสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่แบบเทียบกันไม่ได้

ในแง่หนึ่ง วิกฤติหนี้รายย่อยที่กำลังจะมาถึงนั้นอาจเป็นวิกฤติหนี้กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดย่อมจำนวนมากในไทยไม่ได้กู้เงินในนามบริษัท แต่กู้เงินในนามบุคคลธรรมดามาทำธุรกิจ ตั้งแต่การใช้บัตรเครดิต วงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล กู้หนี้นอกระบบ ฯลฯ

ผู้เขียนเห็นด้วยกับ ดร.พิพัฒน์ และนักการเงินอีกหลายท่านว่า เราจำเป็นจะต้องหาทางรับมือกับวิกฤติหนี้รายย่อยและ SMEs เสียตั้งแต่ตอนนี้ โดยเฉพาะการคิดหาเครื่องมือใหม่ๆ เพราะระบบและกลไกที่มีอยู่ดูไม่น่าจะเพียงพอต่อขนาดของปัญหา ไม่ควรจะรอให้ถึงปลายเดือนกันยายน หรือเมื่อไรก็ตามที่สิ้นสุดระยะเวลาช่วยเหลือตามมาตรการ ธปท. เพราะถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น คนยังตกงานขาดรายได้ ต่อให้มาตรการสิ้นสุดลง ลูกหนี้จำนวนมากก็จะยังคงชำระหนี้ไม่ได้อยู่ดี

ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าเราจะใช้กลไกอะไรก็ตามในการเตรียมรับมือกับวิกฤติหนี้รายย่อยและ SMEs กลไกทั้งหมดควรจะสอดรับกันและช่วยตอบสนองเป้าหมายสามข้อ ดังต่อไปนี้

1.บรรเทาความเดือดร้อนของคนให้ได้มากที่สุด และพยายามไม่ปล่อยให้วิกฤติหนี้ลุกลามเป็นวิกฤติการเงิน

ถ้าหากว่าเราไม่ทำอะไรเลย หรือกลไกต่างๆ ทำงานได้ไม่ดีพอ หรือทำงานแต่ว่าไม่ประสานงานกัน คนอาจเดือดร้อนแสนสาหัสและวิกฤติหนี้อาจสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นวิกฤติการเงิน ซึ่งก็จะไปซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากโรงงาน บ้านและที่ดินของคนจำนวนมากถูกยึดมาขายทอดตลาดพร้อมๆ กัน ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ในตลาดอาจตกฮวบทันที สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินและสถาบันการเงิน ยังไม่ต้องนับว่าคนจำนวนมากอาจกลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก ยากจนข้นแค้นในพริบตาถ้าหากว่าถูกยึดทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

2.หลีกเลี่ยงปัญหาจริยวิบัติ (moral hazard) และการกีดกันคนออกจากบริการทางการเงินในระบบ

ปัญหาหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการออกแบบและใช้กลไกแก้หนี้ต่างๆ ก็คือ ปัญหาจริยวิบัติ’ (moral hazard) ของลูกหนี้ นั่นคือ ลูกหนี้ที่ยังพอมีกำลังชำระหนี้ได้อาจฉวยโอกาสชักดาบเบี้ยวหนี้ หรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแล้วอ้างว่าไม่มีเงินจ่ายเจ้าหนี้ ด้วยเหตุนี้ มาตรการช่วยเหลือและกลไกต่างๆ จึงต้องได้รับการออกแบบอย่างระมัดระวัง เขียนเกณฑ์การช่วยเหลือให้รัดกุม ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกหนี้ที่น่าจะเดือดร้อนจริงๆ มากกว่าลูกหนี้ที่จ่ายได้แต่ไม่อยากจ่าย

ในแง่นี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะแรกของ ธปท. ดูจะเหวี่ยงแหเกินไป เปิดช่องให้เกิดปัญหาจริยวิบัติ เนื่องจากเปิดให้ลูกหนี้ทุกรายเข้ารับการช่วยเหลือตามมาตรการ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าอยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 หรือมาตรการของรัฐหรือไม่ (ผู้เขียนเคยเสนอในบทความมาตรการบรรเทาทุกข์ลูกหนี้ในวิกฤติโควิด-19 ที่ควรทำ” 

ไม่นานมานี้ ก่อนหน้าที่ ธปท. จะประกาศมาตรการว่า ธปท. ควรประกาศให้ธนาคารพักชำระหนี้อย่างน้อย 3 เดือน สำหรับหนี้ทุกประเภทของลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิงไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย SMEs หรือลูกจ้างในธุรกิจเหล่านี้ก็ตามและให้ธนาคารพิจารณายกหนี้บางส่วน (haircut) ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

อย่างไรก็ตาม มาตรการระยะที่สองของ ธปท. ดูจะเหวี่ยงแหน้อยลง ปัญหาจริยวิบัติน่าจะบรรเทาเบาบางลงได้ไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ กลไกต่างๆ ควรระวังที่จะดีดหรือกีดกันคนออกจากบริการทางการเงินในระบบ เพราะการผลักไสให้ลูกหนี้ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบอาจซ้ำเติมความเดือดร้อนของพวกเขา อีกทั้งประเทศไทยยังต้องการขยายบริการทางการเงิน (financial inclusion) อีกมาก ในภาวะที่คนและ SMEs จำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ 

ในแง่นี้ ผู้เขียนเห็นว่าการที่ ธปท. ประกาศให้สถาบันการเงินลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบางประเภท (เช่น การลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล จาก 28% เป็น 25%) อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะที่สอง อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ในแง่ที่จะกดดันให้สถาบันการเงินหลายแห่งตัดสินใจว่าไม่คุ้มอีกต่อไปที่จะให้บริการแก่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง กู้น้อยและไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการจัดการ ส่งผลให้ลูกหนี้เสี่ยงสูงต้องวิ่งหาเงินกู้นอกระบบ เพิ่มต้นทุนทางการเงินและความเดือดร้อน ทำให้การขยายบริการทางการเงินถดถอยลงแทนที่จะก้าวหน้า

3. ยกระดับการจัดการหนี้ ทั้งด้านประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม และการให้ความรู้ทางการเงิน (financial literacy)

เมื่อคำนึงถึงเป้าหมายสามข้อข้างต้น ผู้เขียนคิดว่าหลักการสามประการที่ควรใช้ได้แก่

1.ให้ความเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ – คุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และสิทธิของลูกหนี้อย่างเท่าเทียม ให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการแข่งขัน การบรรเทาปัญหาจริยวิบัติ และให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้โดยคำนึงว่าลูกหนี้มีสิทธิมี ‘ชีวิตใหม่’ หลังวิกฤติ แม้จะมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ตาม

2.ส่งเสริมนวัตกรรมและการแข่งขันกลไกที่ดีไม่ควรเป็นกลไกที่เราใช้ได้เพียงชั่วคราวหรือเฉพาะกิจ แต่ควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศหนี้ของประเทศไทยสืบไปอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงไม่ควรลิดรอนการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงิน ไม่ควรสร้างความได้เปรียบในสนามแข่งอย่างไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง และส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงิน

3.เสริมสร้างความรู้ทางการเงิน (financial literacy) – ความรู้ทางการเงิน โดยเฉพาะความรู้ในการบริหารจัดการหนี้ นับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับลูกหนี้ที่เจอปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้นกลไกต่างๆ ควรบรรจุการเสริมสร้างทักษะและความรู้ที่จำเป็น เข้าไปในหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และทางที่ดีก็ควรสร้างระบบนิเวศในการให้ความรู้ทางการเงินอย่างยั่งยืน เช่น ดึงนักการเงินจากสมาคมนักวางแผนการเงินไทยมาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ลูกหนี้ต้องเข้าหารือด้วยไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้ทักษะในการจัดการหนี้และรักษาวินัยทางการเงิน ถ้าหากยื่นฟ้องล้มละลายโดยสมัครใจ เป็นต้น (ดูหัวข้อถัดไป

ในส่วนของเครื่องมือ ผู้เขียนเห็นว่าเครื่องมือที่เราควรพิจารณานำมาใช้ประกอบกัน ในการเตรียมรับมือกับวิกฤติหนี้รายย่อยและ SMEs น่าจะมีอย่างน้อยสี่อย่าง ดังต่อไปนี้

1. ออกกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยเขียนถึงการออกกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลว่า เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นต่อการรับมือกับวิกฤติหนี้รายย่อย เพราะนอกจากจะเป็นการรับประกันสิทธิพื้นฐานในการมีชีวิตใหม่หลังโควิด-19 (อันเป็นวิกฤติที่ทำให้สูญเสียความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้) ยังเป็นวิธีรับมือกับวิกฤติที่มีประสิทธิภาพกว่าการปล่อยให้เจ้าหนี้ยื่นฟ้องล้มละลายฝ่ายเดียว อีกทั้งยังทำให้ลูกหนี้รายย่อยมีสิทธิทัดเทียมกับลูกหนี้บริษัท ซึ่งได้รับสิทธิในการยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ (ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ) มากว่าสองทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง .. 2540

นอกจากนี้ การเพิ่มสิทธิให้ลูกหนี้รายย่อยยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ ยังเป็นโอกาสให้เรายกระดับการให้ความรู้ทางการเงินในไทยอย่างเป็นระบบ เพราะสามารถกำหนดให้ลูกหนี้ที่ใช้ช่องทางนี้ต้องเข้ารับการอบรมและปรึกษาหารือระหว่างทำแผนฟื้นฟู อีกทั้งยังจะเปิดโอกาสให้มีการรวบรวมข้อมูลหนี้รายย่อยอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก เนื่องจากลูกหนี้ที่ยื่นล้มละลายโดยสมัครใจจะต้องเปิดเผยหนี้สินและทรัพย์สินทั้งหมดของตัวเองต่อศาล รวมถึงหนี้นอกระบบ เพื่อขอคุ้มครอง (เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าควรทำร่วมกับทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ’ (national collateral registry) – ดูหัวข้อถัดไป

การได้เห็นข้อมูลหนี้สินและทรัพย์สินที่ครบถ้วนย่อมเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวลูกหนี้เองและเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะสามารถประเมินความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของลูกหนี้ได้อย่างเที่ยงตรงและสอดคล้องกับความจริงมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เจ้าหนี้อย่างมากก็มีเพียงข้อมูลหนี้ในระบบจากเครดิตบูโร ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าลูกหนี้มีหนี้นอกระบบจำนวนเท่าไรและมีเจ้าหนี้กี่ราย

ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าในการออกกฎหมายนี้ การนิรโทษกรรมเจ้าหนี้นอกระบบน่าจะเป็นขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ยอดหนี้ทั้งหมดมีจำนวนไม่มาก (เช่น สมมุติว่าสามแสนบาท) และพิสูจน์ได้ชัดว่าเหลือทรัพย์สินติดตัวน้อยมาก (เช่น ไม่มีบ้านส่วนตัว มีทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่าไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท) เราอาจพิจารณาใช้กลไกคำสั่งพักหนี้’ (debt relief order) คล้ายกับแบบที่ใช้ในอังกฤษ เพื่อประหยัดทรัพยากรและป้องกันคดีรกศาล กลไกนี้ให้ผู้ที่เข้าข่าย (ซึ่งต้องผ่านการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรตรวจสอบ) สามารถขอยื่นยกเว้นไม่ต้องชำระหนี้นานติดต่อกัน 12 เดือน จากนั้นถ้าหากสถานการณ์ทางการเงินยังไม่กระเตื้อง เจ้าหนี้ต้องตัดหนี้สูญทั้งจำนวน เพราะถือว่าลูกหนี้ไร้ซึ่งความสามารถใดๆ แล้วที่จะชำระหนี้ แต่ในฐานะผู้ด้อยโอกาสก็สมควรมีชีวิตใหม่เช่นกัน

บางคนอาจสงสัยว่า กฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดาจะไม่ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้แพงขึ้นหรือ และจะป้องกันปัญหาจริยวิบัติได้อย่างไร ผู้เขียนขอตอบสั้นๆ ก่อนว่า ประเทศไทยมีกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับนิติบุคคล (ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ) มานานกว่าสองทศวรรษแล้ว ไม่ปรากฎว่ากฎหมายนี้ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การให้สิทธิลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้มีชีวิตใหม่หลายกรณีเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ด้วย เพราะเมื่อลูกหนี้ฟื้นตัวได้แล้วก็จะกลับมาชำระหนี้ได้ อย่างน้อยก็บางส่วน แทนที่เจ้าหนี้จะต้องตัดหนี้สูญหรือยึดหลักประกันไปลุ้นราคาตลาดว่าจะขายได้คุ้มทุนหรือไม่

ส่วนการป้องกันปัญหาจริยวิบัติ ทำได้ด้วยการกำหนดเกณฑ์ของลูกหนี้ที่จะเข้าข่ายขอยื่นล้มละลายโดยสมัครใจอย่างชัดเจน และกำหนดบทลงโทษในกรณีที่แจ้งหนี้สินและทรัพย์สินเป็นเท็จ 

กลไกการจัดตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ (ดูหัวข้อถัดไป) อาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้อีกทางหนึ่ง เพราะทำให้ข้อมูลของลูกหนี้มีความโปร่งใสมากขึ้น

2. จัดตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ (national collateral registry) 

ทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ (national collateral registry) นับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ยังไม่เคยใช้ในประเทศไทย บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ในเครือธนาคารโลก (World Bank) ส่งเสริมมานานนับทศวรรษแล้ว ทะเบียนนี้เป็นระบบซอฟต์แวร์บนเว็บฯ ออกแบบโดยใช้มาตรฐานสากล ปกติเจ้าภาพจะเป็นธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ใช้เพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ (สินทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ อาทิ วัว ควาย คอมพิวเตอร์ รถไถ ฯลฯ) ที่ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้กับเจ้าหนี้

วิธีทำงานก็คือ ซอฟต์แวร์ของระบบทะเบียนจะกำหนดหมายเลขทะเบียน วันเวลาที่เจ้าหนี้ยื่นจดทะเบียนรายการทางการเงิน (financial statement) ที่ระบุสิทธิในทรัพย์สินนั้นๆ โดยอัตโนมัติ ลำดับความสำคัญของเจ้าหนี้ที่อ้างสิทธิในหลักประกันเดียวกันจะถูกจัดตามวันเวลาที่บันทึกไว้ เจ้าหนี้ที่ลงทะเบียนก่อนมีสิทธิเหนือกว่า ระบบนี้ปัจจุบันหลายประเทศใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) รับรองความปลอดภัยและความแท้’ (authentic) ของข้อมูล 

ด้วยความที่ระบบนี้อยู่บนเว็บฯ ใครๆ ก็เข้าถึงได้จากออนไลน์โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปจดทะเบียน ทุกฝ่ายจึงประหยัดเวลาและทรัพยากรได้มาก และความที่สินทรัพย์แทบทุกชนิดสามารถนำมาจดทะเบียนได้ ระบบนี้จึงจะช่วยขยายโอกาสได้อย่างมหาศาลในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับ SMEs 

ผู้เขียนเห็นว่าในเมื่อไทยก็มีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ’ (บังคับใช้ปี .. 2559) อนุญาตให้นำสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้อง ทรัพย์สินทางปัญหา และทรัพย์สินอื่นๆ มาเป็นหลักประกันเงินกู้แล้ว การจัดตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติก็นับเป็นขั้นตอนถัดไปที่ควรทำอยู่แล้วในภาวะปกติ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงเงินกู้และลดต้นทุน 

ในภาวะวิกฤติหนี้ครัวเรือนและ SMEs การจัดตั้งทะเบียนหลักประกันอย่างเร่งด่วน (โดยเฉพาะถ้าทำควบคู่ไปกับกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา ที่จะกำหนดให้ลูกหนี้ต้องเปิดเผยหนี้สินและทรัพย์สินทั้งหมดรวมถึงหลักประกัน) น่าจะช่วยให้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย การยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ และการประนอมหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังจะวางรากฐานสู่การขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระยะยาวด้วย

3. ซื้อสินทรัพย์ที่ยังมีคุณภาพดีมาพักชั่วคราว (asset warehousing) 

เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทจำนวนมากที่ทำธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่นๆ ขาดรายได้อย่างรุนแรง ส่งผลให้มีปัญหาในการชำระหนี้ ทั้งที่ตัวธุรกิจเองยังมีศักยภาพดี สินทรัพย์หลักยังมีคุณภาพดีอยู่ ถ้าปล่อยให้บริษัทเหล่านี้ล้มหายตายจากไปเพียงเพราะสายป่านไม่ยาวพอที่จะรับมือกับมรสุมในช่วง 1-2 ปี เราอาจสูญเสียผู้เล่นและทรัพยากรมีค่าในระบบเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น ลูกจ้างและคู่ค้าของบริษัทเหล่านั้นก็จะเดือดร้อนเป็นทอดๆ ยังไม่นับว่าวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก คาดหวังไม่ได้ง่ายๆ ว่าใครจะมีกำลังมาซื้อของดี ต่อให้มีราคาถูก ด้วยเหตุนี้ รัฐ (หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ โดยความช่วยเหลือของรัฐ) จึงอาจต้องยื่นมือมาช่วยเหลือชั่วคราวด้วยการจัดตั้งกองทุนมาซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีจากเจ้าหนี้ไปเก็บไว้ชั่วคราว เช่น เป็นเวลา 6-12 เดือน ต่อเมื่อลูกหนี้สามารถชำระคืนหนี้ได้แล้วจึงค่อยคืนกลับไป โดยอาจใช้โครงสร้างทางการเงินที่คำนึงถึงโอกาสการได้ผลตอบแทนในอนาคต เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น

4. ปรับปรุงกลไกเดิม อาทิ ซอฟท์โลน 5 แสนล้าน กระบวนการไกล่เกลี่ย การบังคับคดี และบริษัทบริหารสินทรัพย์

ผู้เขียนเห็นว่า สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนของ ธปท. ห้าแสนล้านที่ให้ธนาคารไปปล่อยต่อให้กับ SMEs ควรได้รับการปรับปรุงให้ SMEs สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเฉพาะการแก้เงื่อนไขที่ว่าลูกหนี้รายนั้นต้องเป็นลูกค้าเดิมของธนาคารอยู่แล้ว และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยความเสียหาย ซึ่งธนาคารบางแห่งอาจมองว่าไม่จูงใจมากพอ

นอกจากนี้ รัฐควรเจียดเงินบางส่วนในงบประมาณฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท หรืองบประมาณแผ่นดินปี 2564 มาเติมทรัพยากรและยกเครื่องกลไกเดิมในองคาพยพที่เกี่ยวกับหนี้รายย่อยและ SMEs ของไทย ให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการไกล่เกลี่ยทั้งในและนอกศาล กระบวนการบังคับคดี หรือขอบเขตการทำงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์ 

Tags: ,