“เพดานทุกแห่งเมื่อเอื้อมถึงแล้ว จักกลายเป็นพื้นดิน” (Every ceiling reached becomes a floor)
ผู้กล่าววาทะอมตะนี้คือ อัลดุส ฮักซ์เลย์ ผู้ประพันธ์อมตนิยายเรื่อง Brave New World
ผู้เขียนนึกถึงคำคมนี้ทันทีที่ฟังข้อเสนอ 10 ข้อว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ของนักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
เมื่อเพดานถูกเอื้อมถึงแล้ว แน่นอนว่าคนจำนวนมากที่เคยชินกับการมี ‘เพดาน’ มาตลอดชีวิตจะรู้สึกไม่สบายใจและหวาดกลัว หลายคนว่าจะตราหน้านักศึกษาว่า ‘จาบจ้วง’ ‘ล่วงเกิน’ ‘ล้ำเส้น’ ฯลฯ และคำอื่นๆ ที่สะท้อนค่านิยมและความเคยชินของคนจำนวนมากในสังคม
ในประเทศอื่นๆ ที่มีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การอภิปรายถกเถียงประเด็นทำนองนี้ทำกันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผู้มีอำนาจรัฐจะไม่อ้างกฎหมายมาขู่เล่นงานผู้นำเสนอ ปิดปากให้เขาไม่ได้พูด หรือข่มขู่ว่าโศกนาฏกรรมในอดีตจะวนกลับมาใหม่
คนรุ่นใหม่ในไทยจำนวนมากทุกวันนี้ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในโลกออนไลน์ไร้พรมแดน พวกเขาไม่เชื่อว่าโลกนี้มีสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ พวกเขามองไม่เห็นเส้นแบ่ง มองไม่เห็นเพดาน เห็นแต่ท้องฟ้ากว้างไกล พวกเขาเชื่อในพลังของการวิจารณ์ การนำเสนอสิ่งที่พวกเขาเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าจะเป็นทางออกของปัญหา และไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เท่ากับการจาบจ้วงล่วงเกินหรือล้มล้างอะไรทั้งนั้น
ข้อเสนอเรื่องนี้ของนักศึกษาก็ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ตรงที่เราเห็นต่างกันได้ ผู้เขียนเองเบื้องต้นก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอหลายข้อ แต่เห็นว่าสังคมควรได้ถกกัน เช่นเดียวกับประเด็นสาธารณะอื่นๆ ในสังคม
…
ในเมื่อเรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ บทบาทของ ‘สื่อมวลชน’ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีความกล้าหาญที่จะนำเสนอมุมมองของนักศึกษา เสนอข้อเท็จจริงว่านักศึกษาเสนออะไร ถ้าให้ดีกว่านั้นควรจัดเวทีสาธารณะเพื่อการอภิปรายอย่างมีเหตุมีผล
อย่างไรก็ดี เราต้องยอมรับกันตรงไปตรงมาอย่างน่าเศร้าว่า สื่อมวลชนไทยเซ็นเซอร์ตัวเองมานานจนเคยชิน หลายค่ายวันนี้ได้กลายร่างเป็นหน่วยพีอาร์หรือประชาสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจทางเศรษฐกิจ จรรยาบรรณที่เคยมีในการแปะป้ายเนื้อหาที่ถูกซื้อว่า ‘advertorial’ หายไปนานแล้ว การลงโฆษณาในรูปแบบบทความเนียนๆ ไปกับเนื้อหา หรือ native advertising กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในวันที่สื่อต้องดิ้นรนรับรายได้ทุกช่องทางเพื่อเอาตัวรอด ผู้บริโภคอ่านแล้วต้องพยายามรู้ทันกันเองว่าเนื้อหาไหนถูกซื้อ เนื้อหาไหนสื่อนำเสนอเอง
วันนี้ กำแพงที่ควรจะกั้นกลางระหว่างทีมบรรณาธิการกับทีมโฆษณาเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและพิทักษ์ความเป็นอิสระของสื่อ ได้ปลาสนาการไปนานแล้ว
แต่สุดท้ายไม่ว่าเนื้อหาจะถูกซื้อหรือไม่ซื้อ สุดท้าย ‘ข่าว’ ก็ออกมาไม่ต่างกันนักอยู่ดี เพราะทุกวันนี้สื่อหลายค่ายนำเนื้อหาพีอาร์จากรัฐและเอกชนมาลงเป็น ‘ข่าว’ กันเป็นเรื่องปกติ สื่อออนไลน์บางค่ายทันทีที่นายกรัฐมนตรีดำริว่าจะมา ‘เยี่ยม’ ก็เปิดบ้านต้อนรับ ทำข่าวให้อย่างเอิกเกริก แถมนักข่าวยังทำตัวพินอบพิเทา ยื่นข้อเสนอแกนๆ ทั้งที่ไม่เห็นแนวโน้มใดๆ ว่ารัฐบาลจะรับฟังหรือทำตาม
ผู้เขียนเห็นว่าการ ‘เปิดบ้าน’ ลักษณะนี้ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนระดับนายกฯ มีพื้นที่สื่อมากมายอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่สื่อจะต้องเปิดพื้นที่เพิ่ม อย่างมากถ้าเลี่ยงไม่ได้ มีความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องตอบรับการมาเยือน ก็ไม่ควรปิดห้องคุยกันลับๆ หรือยื่นข้อเสนออะไรก็ตาม การทำข่าวพีอาร์ให้ยิ่งไม่ควรใหญ่ แต่สื่อควรยื่นเงื่อนไขว่า นายกฯ จะมาเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ออกอากาศสดๆ แบบตรงไปตรงมา หรือที่เรียกว่า hard talk เท่านั้น โดยสื่อจะรับหน้าที่ถามคำถามแทนประชาชน (และสามารถเปิดให้คนมีส่วนร่วมได้ทางออนไลน์)
ความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนอยู่ที่การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา สื่อสารความจริงให้ประชาชนรับรู้โดยปราศจากความกลัวหรือเข้าข้างใคร ดังนั้น การรักษา ‘ระยะห่าง’ จากแหล่งข่าวทุกคนทุกระดับจึงจำเป็น เพื่อให้สังคมเห็นว่าสื่อยังสามารถทำงานอย่าง ‘เป็นอิสระ’ จากอิทธิพลทางธุรกิจและการเมือง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่อันตรายและน่าเศร้ายิ่งกว่าการทำตัวเป็นพีอาร์ของสื่อก็คือ การที่สื่อหลายค่ายวันนี้กลายร่างเป็น ‘สื่อเสี้ยม’ เต็มรูปแบบ รับรายได้มากมายจากหน่วยงานภาครัฐ วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากผลิตเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อ ใส่ร้ายป้ายสีคนที่มองว่าเป็น ‘ศัตรู’ ของฝ่ายผู้มีอำนาจ ผลิตเนื้อหาที่บรรดาเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอ (IO – Information Operations) นำไปใช้กระพือความเกลียดชังในโซเชียลมีเดีย
การกระพือความเกลียดชังนักศึกษาของสื่อเสี้ยมและไอโอวันนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะผลักดันสังคมไปสู่ความรุนแรง ดังที่เราได้เห็นบทเรียนมาแล้วมากมายในอดีต อาทิ บทบาทของสื่อขวาจัดอย่าง ‘ดาวสยาม’ และวิทยุยานเกราะ ในโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519
ในภาวะเช่นนี้ ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่สื่อมวลชนทุกค่ายที่ยังอยากเป็นสื่อมืออาชีพ อยากทำหน้าที่สื่ออย่างถูกต้อง จะยกระดับการทำงานของตัวเอง จะนำเสนอข้อเสนอของนักศึกษาและพยายามเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนอภิปรายอย่างปลอดภัย
…
ผู้เขียนอยากทิ้งท้ายด้วยการแปลเนื้อหาบางตอนในบทที่ 2 ของ On Liberty (ว่าด้วยเสรีภาพ) ของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ นักปรัชญาคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 19 ผู้อธิบายอย่างเรียบง่ายเป็นเหตุเป็นผลว่า การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกที่ไม่มุ่งทำร้ายคนอื่นนั้น ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตยอย่างไร
“…สิ่งที่เลวร้ายหาใช่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างส่วนเสี้ยวต่างๆ ของความจริง หากคือการกดทับความจริงครึ่งเดียวอย่างเงียบเชียบ เรามีความหวังเสมอเมื่อคนถูกบังคับให้ฟังทั้งสองฝ่าย เมื่อพวกเขาได้ฟังแต่เพียงฝ่ายเดียว ความผิดพลาดก็จะแข็งตัวกลายเป็นอคติ และความจริงในตัวมันเองก็จะปราศจากผลแห่งความจริง เพราะถูกขยายความกลายเป็นความเท็จ…
“เราได้ตระหนักแล้วว่าเสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นขาดไม่ได้สำหรับสุขภาวะทางจิตใจของมนุษยชาติ (ซึ่งสุขภาวะด้านอื่นๆ ล้วนพึ่งพา) ด้วยเหตุผลสี่ประการด้วยกัน
“ประการแรก ถ้าหากความเห็นใดถูกปิดกั้นให้เงียบ ความเห็นนั้นอาจเป็นความจริงก็ได้ การปฏิเสธไม่ให้เรารู้เรื่องนี้จึงเท่ากับทำให้เราหลงผิด
“ประการที่สอง ถึงแม้ความเห็นที่ถูกปิดกั้นให้เงียบอาจเป็นความผิดพลาด มันก็อาจมีส่วนเสี้ยวของความจริงอยู่ก็ได้ และโดยมากก็มักเป็นเช่นนั้น ในเมื่อความเห็นทั่วไปหรือความเห็นกระแสหลักไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามแทบไม่เคยเป็นความจริงทั้งหมด ก็มีแต่การปะทะกันของความคิดที่แตกต่างเท่านั้นที่จะเปิดทางให้ความจริงที่เหลืออยู่เผยออกมา
“ประการที่สาม ต่อให้ความเห็นที่คนยอมรับจะเป็นความจริงอย่างครบถ้วน แต่ถ้าหากว่ามันไม่ได้ถูกทดสอบอย่างเข้มข้นจากการต่อสู้ทางความคิด [จากการถูกตั้งคำถาม การได้ปะทะสังสรรค์กับความคิดอื่น] ความเห็นนั้นๆ ก็จะมีผู้เชื่อเพียงเพราะเขามีอคติ โดยขาดความเข้าใจหรือการรับรู้บนฐานของเหตุผล
“ประการสุดท้าย [เมื่อความเห็นอื่นถูกปิดกั้น] ความหมายของความคิดที่ได้รับการยอมรับนั้นก็จะตกอยู่ในอันตรายที่จะสูญหายหรืออ่อนพลังการอธิบายลง ไม่อาจส่งผลต่อลักษณะและพฤติกรรม ความคิดนั้นจะกลายเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้ กลับจะกลายเป็นภาระและปิดกั้นการเติบโตของความเชื่อมั่นที่แท้จริงและจริงใจ อันจะเกิดจากเหตุผลหรือประสบการณ์ส่วนตัว”
ด้วยเหตุผลข้างต้น การคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพการแสดงออกจึงสำคัญต่อการสร้าง ‘ตลาดความคิด’ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย – สังคมที่ประชาชนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการที่อยากปิดกั้นความจริงเพราะอยากเถลิงอำนาจต่อไป และเพราะรู้ว่าการเปิดให้มี ‘ตลาดความคิด’ อาจสั่นคลอนอำนาจของตนเอง
ถ้าหากสื่อมวลชน ไม่ว่ากระแสหลักหรือกระแสรอง ในสังคมที่ประกาศว่าใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาของสังคมในการรายงานข้อ เท็จจริง ไม่สามารถคุ้มครองและช่วยสร้าง ‘ตลาดความคิด’ ให้เกิดขึ้นได้ สื่อคนนั้นหรือค่ายนั้นก็ควรพิจารณาตัวเองว่า กำลังทำหน้าที่ ‘สื่อ’ เพื่อประชาชน หรือว่ากำลังหมดความสำคัญเพราะไม่กล้านำเสนอข้อเท็จจริง หรือที่อันตรายร้ายแรงกว่านั้นคือ กำลังทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจ กระพือความเกลียดชังเพื่อรักษาอำนาจ เพียงแต่ใช้สถานะของ ‘สื่อ’ อำพรางเจตนาที่แท้จริง
Tags: สื่อไทย, Citizen 2.0