ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคการเมือง ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง และตัวแทนของทุกพรรคต่างคึกคัก เนื่องจากเป็นวันแรกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต แบบบัญชีรายชื่อ และผู้ที่พรรคลงมติให้เป็นตัวแทนนายกฯ ของพรรค โดย กตต. จะเปิดให้ทุกพรรคสามารถเข้ามายื่นรายชื่อดังกล่าวได้ตั้งวันนี้ (4 กุมภาพันธ์ ) จนถึง 8 กุมภาพันธ์  2562

ด้านกรุงเทพมหานคร กกต. นัดผู้สมัครให้มาพบพร้อมกันที่ อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ก่อนที่จะเริ่มจับฉลากหมายเลขผู้สมัครเบอร์แรกในเวลา 8.30 น. โดยน.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผอ.กกต.กล่าวว่า “ผู้สมัครที่มาก่อนเวลา 8.30 น. ให้ถือว่ามาพร้อมกัน ซึ่งหากตกลงกันได้ก็จะให้จับสลากหมายเลขตามลำดับที่ตกลงกัน หากตกลงกันไม่ได้จะต้องจับสลาก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการจับลำดับในการจับสลาก และครั้งที่ 2 จับหมายเลขที่ใช้ในการสมัครรับเลือกตั้ง”

ข้อควรรู้อย่างหนึ่งสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ลงสมัคร สส. เขตจากพรรคเดียวกัน แต่ลงแข่งคนละพื้นที่จะได้รับหมายเลขที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้สมัคร สส. จากพรรคเดียวกันจะได้รับหมายเลขที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่ตัวเองลงสมัคร สมมติว่า นาย A เป็นผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร จับฉลากได้หมายเลข 2 ไม่ได้หมายความว่า นาย B ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกัน แต่ลงสมัครเขตดุสิต จะได้เลข 2 เหมือนกับนาย A

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนจึงจำเป็นต้องติดตามข่าวสาร และต้องแยกแยะ ตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เจตนารมณ์และคะแนนเสียงของตนถูกนำไปคิดและสนับสนุนพรรคที่ตนไม่ได้เลือก

อย่างที่ทราบกันดีว่า ระบบการเลือกตั้งแบบ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ ที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนจะได้รับบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และคะแนนเสียงที่เรามอบให้กับ ส.ส. เขตก็จะถูกนำไปคำนวณเป็นคะแนนให้กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนให้กับพรรคที่เราชอบ ถ้าหากพรรคนั้นๆ ไม่มีผู้สมัครลงในเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิ์ ยกตัวอย่าง นาย C มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และต้องการลงคะแนนให้กับพรรคพลังชล หากแต่ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไม่มีผู้สมัครจากพรรคพลังชลลงเลยสักคนเดียว ดังนั้นนาย C ก็จะไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนให้กับพรรคพลังชล

เนื่องจาก กกต. เน้นย้ำเรื่องของการไม่ให้มีคะแนนเสียงตกน้ำ ดังนั้น เขตเลือกตั้งใดที่ผู้สมัคร ส.ส. ได้รับคะแนนน้อยกว่าคะแนน Vote No หรือ ไม่ประสงค์ลงคะแนน กกต. จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัคร ส.ส.คนเดิมทุกคนจะไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งใหม่

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเข้าไปยังคูหาเลือกตั้ง และได้รับบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบดังที่กล่าวไปข้างต้น ในบัตรเลือกตั้งจะประกอบไปด้วย เบอร์ผู้สมัครประจำเขต ชื่อพรรค โลโก้พรรค และช่องลงคะแนนเสียง  ซึ่งเรามีสิทธิ์ที่จะ ✖ ลงในช่องลงคะแนนเสียงได้เพียงช่องเดียว ถ้าเกินกว่านั้น บัตรใบนั้นจะกลายเป็นบัตรเสียและไม่ถูกนำมาคิดคะแนน

อีกทั้งในกรณีที่เราทำเครื่องหมายอื่นนอกจาก ✖ อาทิ เครื่องหมาย ✔️ หรือ ⚫ หรือวาดรูปลงไป ก็จะทำให้บัตรใบดังกล่าวกลายเป็นบัตรเสียและไม่ถูกนำมาคิดคะแนนเช่นกัน

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการรับสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศ มีผู้สมัครจาก 57 พรรคการเมืองยื่นสมัครใน 329 เขต รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,428 คน โดยในวันนี้ พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครมากที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 278 คน พรรคพลังประชารัฐ 274 คน พรรคเสรีรวมไทย 270 คน พรรคอนาคตใหม่ 267 คนและพรรคภูมิใจไทย 264 คน

ติดตามรายชื่อและหมายเลขของผู้สมัครเขตต่างๆ ได้ทาง https://bit.ly/2BhG05E (ข้อมูลจะอัปเดทเรื่อยๆ)

 

อ้างอิง :

บรรยายภาพ: กระดานผลการจับหมายเลขของคณะกรรมการเลือกตั้งที่จังหวัดแพร่ เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2562

Tags: , ,