คำถามที่รบกวนจิตใจว่าทำไมประเทศไทยต้องนำเข้ายาแผนปัจจุบันในแต่ละปีด้วยจำนวนเงินนับแสนล้านบาท ต้องพึ่งพิงยาสำเร็จรูปจากต่างประเทศที่เราผลิตเองไม่ได้ ทั้งที่เราเองก็มียาสมุนไพรไทยที่สามารถรักษาโรคง่ายๆ ได้ ทำให้ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และเลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มุ่งมั่นและทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาเรื่องสมุนไพรไทย ด้วยการตระเวนไปในหลายพื้นที่รวมถึงตะเข็บชายแดน เพื่อใช้ชีวิตและเรียนรู้กับหมอยาพื้นบ้าน ตั้งแต่ครั้งเรียนจบและเริ่มต้นทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2526

นั่นเป็นหมุดแรกที่ปักเอาไว้สำหรับการริเริ่มพัฒนางานด้านการรักษาโรคด้วยสมุนไพรไทย ก่อนจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรอภัยภูเบศรอย่างเต็มตัว หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นับถึงวันนี้ อภัยภูเบศรถือเป็นทัพหน้าของการฟื้นภูมิปัญญาไทยในเรื่องสมุนไพรมาใช้รักษาโรค จนเกิดการยอมรับในสังคมไทยว่า ยาสมุนไพรคือมรดกทางปัญญาที่คนบรรพบุรุษปูทางเอาไว้ โดย ดร.ภญ.สุภาภรณ์ยังคงไม่หยุดการเรียนรู้กับหมอยาพื้นบ้าน เดินทางไปแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำมาพัฒนาต่อตามโอกาสอำนวย

35 ปีที่ผ่านมาในแล็บยาที่ตั้งต้นด้วยอุปกรณ์ทำครัว

“แผ่นดินของเรามีต้นไม้ เราเคยมีสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้ มีห้องทดลองที่เรียกว่าโลก และหนูตะเภาคือคนไม่รู้กี่เจเนอเรชั่นที่กินต้นไม้เหล่านี้มาแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกมองให้เห็นคุณค่า”

ยาสมุนไพรอภัยภูเบศรอาจไม่เกิดขึ้น หาก ดร.ภญ.สุภาภรณ์คิดไม่ต่างจากคนอื่น เธอเกิดแนวคิดว่าทำไมโรคง่ายๆ อย่างท้องผูก ริดสีดวง โรคผิวหนัง หรือกระทั่งมีอาการไอ จึงต้องซื้อยาฝรั่ง การเดินทางแลกเปลี่ยนความรู้กับหมอยาพื้นบ้าน ทำให้เภสัชกรหญิงท่านนี้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพ

ในปี พ.ศ. 2526 นั้นเอง ที่เธอเปลี่ยนห้องทำงานในโรงพยาบาลเป็นห้องปฏิบัติการ หั่นสมุนไพรด้วยเขียง ตำบดด้วยครก วิจัยในหลอดทดลอง ได้รับสนับสนุนเครื่องมือจากอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ ในข้อจำกัดนั้นเธอบอกว่าไม่มีข้อจำกัดใดที่เราทำไม่ได้

องค์ความรู้ที่ได้รับจากชาวบ้าน ทำให้ใบเสลดพังพอนหรือพญายอได้รับการค้นพบครั้งแรกว่ามีฤทธิ์ในการใช้รักษาเริมหรืองูสวัด สมุนไพรกระดูกไก่ดำที่เป็นไม้มงคลนิยมปลูกไว้หน้าบ้าน หลายประเทศใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ แก้ปวดเมื่อย มะขามป้อมมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการไอ หรือขมิ้นชันที่คนไม่เคยรู้ว่ากินได้ ปัจจุบันกลายเป็นเป็นสมุนไพรประจำบ้านที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคทางเดินอาหาร

“งานที่เราทำ มันทำให้สังคมเปลี่ยน คนหันมาเห็นคุณค่าของพืชพันธุ์สมุนไพร แต่การที่บางคนกินแล้วมีผลข้างเคียง ก็เพราะเขากินสมุนไพรแบบขาดความรู้ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะภูมิปัญญาเราหายไป”

สิทธิบัตรยาคือการล่าอาณานิคมของยุคสมัย

ปีพ.ศ. 2529 ยาสมุนไพรตัวแรกจากการวิจัยและพัฒนาของ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ คือ ‘กลีเซอรีนพญายอ’ ซึ่งผ่านการผลิตด้วยกรรมวิธีเดียวกันกับยาแผนปัจจุบัน และได้นำมาใช้ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสำหรับรักษาโรคผิวหนัง เริมหรืองูสวัด เพื่อแก้คัน ทดแทนยาฝรั่งอย่าง Acyclovir

การกอบรวมภูมิปัญญาที่เคยหายไปเข้าไว้เป็นตำรากลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่ในกาลต่อมาได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540 ดร.ภญ.สุภาภรณ์เกิดความคิดว่า จะช่วยสังคมอย่างไร

พันธกิจในการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศร กับการส่งเสริมสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจชุมชน จึงบรรจุเพิ่มเข้ามาในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ก่อตั้งขึ้นสำหรับทำงานเพื่อสังคม และสนับสนุนงานของโรงพยาบาล เกิดโครงการสาธิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่ออบรมเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชน และส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรบ้านดงบังในจังหวัดปราจีนบุรี ปลูกพืชสมุนไพรในแนวทางของเกษตรอินทรีย์ เพื่อผลิตวัตถุดิบสมุนไพรให้กับอภัยภูเบศร ให้คนที่ตกงานสามารถนำยาสมุนไพรออกไปจำหน่ายได้

“พอขึ้นทะเบียนแล้วเราก็ใช้ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นสัญลักษณ์ เพราะมองว่าตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม เราก็ต่อสู้กับสิทธิบัตรยาฝรั่ง ซึ่งสิทธิบัตรยาเป็นการล่าอาณานิคมอย่างหนึ่ง เพราะยาเป็นเรื่องของชีวิต ไม่จ่ายคือตาย”

จากใบไม้ กลายเป็นยา

กว่าจะมาเป็นยาสมุนไพรประจำบ้าน แต่ละขนานต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ทั้งอ้างอิงจากตำรายาฝรั่งในการหาสารมาตรฐาน ปริมาณสารที่ออกฤทธิ์สัมพันธ์กับการรักษา มีการวิจัย หาข้อมูลอ้างอิง ฯลฯ ผนวกเข้ากับตำรับยาแผนโบราณในอดีตที่มากกว่าสิบคัมภีร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ตำรับของพระยาพิศณุประสาทเวช แพทย์หลวงประจำพระองค์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 

การควบคุมคุณภาพจะเริ่มต้นตั้งแต่วัตถุดิบ ทั้งการปลูกสมุนไพรในแปลงซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การเก็บเกี่ยวที่ต้องได้สารสำคัญในการผลิตเป็นยาและไม่เกิดการปนเปื้อนระหว่างเก็บเกี่ยว เพื่อป้อนเข้าสู่การผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐานของยุโรปด้วยเครื่องจักรทันสมัยในโรงงาน ซึ่งกระบวนการผลิตยาจะทำภายหลังจากขึ้นทะเบียนยาแล้ว เมื่อยาออกวางจำหน่าย ยังต้องประเมินผลเพื่อหาข้อบกพร่องมาปรับปรุงหรือพัฒนาต่อ

“ในสมัยก่อน ยาชุมชนหรือยาจากหมอยาไม่ต้องอิงมาตรฐานใดก็ได้ เพราะเราขายเรากินกันในชุมชน เรารู้ว่าใครทำ ทำเมื่อไร ทำยังไง แต่เมื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ระบบมาตรฐานจึงจำเป็น ความรู้ทั้งตะวันตกและตะวันออกก็จำเป็น เพราะเราต้องนำมาผสมผสานกัน”

“ตอนนี้เราใช้สมุนไพรประมานสัก 50-60 ชนิด มีการนำสมุนไพรที่มีอยู่มาวิจัยอยู่เรื่อยๆ เช่น มะระขี้นกแก้ไข้แก้ร้อนใน เราก็เริ่มรู้ว่า มันทำให้เบาหวานดีขึ้นได้ หรือเพกาช่วยบำรุงธาตุ ช่วยย่อย เราก็ได้รู้ว่ามีฤทธิ์ในการลดคอเลสเตอรอลอีก ฉะนั้น การวิจัยแต่ละครั้งมันยาวนาน สมุนไพรตัวไหนที่ยังไม่มั่นใจ เราไม่นำมาผลิตเป็นยา อย่างกวาวเครือก็จะไม่เคยเห็นจากเรา

“ตอนดิฉันทำยาสีฟันกระชาย น้องๆ ก็ตกใจว่ามันไม่เคยมี ใช่ มันไม่เคยมี แต่มันมีประโยชน์ ลดพลัคได้ดีมาก เรามีงานวิจัย มีการทดสอบเพิ่ม และกลายเป็นว่าตัวนี้ขายดีเพราะช่วยเรื่องช่องปากได้ดี ขณะเดียวกัน เราก็ส่งเสริมให้ประชาชนทำยาอมบ้วนปากด้วย เป็นสิ่งที่เราทำคู่ขนานกันเสมอว่าถ้าเราทำขาย ประชาชนต้องไม่ถูกทิ้ง เขามีสิทธิ์ที่จะทำเองได้ ไม่ใช่ต้องซื้ออย่างเดียว”

วงจรของอภัยภูเบศร และความหวังเพื่อการเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียม

การวิจัยและผลิตยาสมุนไพรของอภัยภูเบศร ไม่เพียงเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย หากเป้าหมายของการสร้างแบรนด์นั้นชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์เชื่อมโยงทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในชุมชนด้วยการทำการเกษตรแบบมีสัญญาหรือ contract farming ซึ่งตกลงราคาและปริมาณล่วงหน้า โดยอภัยภูเบศรเป็นผู้รับความเสี่ยงหากผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรชนิดนั้นไม่ได้รับความนิยม การปลูกแบบปลอดสารเคมีเพื่อไม่เอาเปรียบสิ่งแวดล้อม โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอินทรีย์คอยตรวจเยี่ยมและกำกับดูแล

“หน้าที่ของเราคือทำผลิตภัณฑ์ที่ดี เพื่อให้สมุนไพรกลับมาได้รับความเชื่อถือ เราเชื่อมั่นว่าภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพที่เรามีจะเป็นที่พึ่งทางสุขภาพและเศรษฐกิจและสังคม นี่คือทางซัพพลาย ส่วนดีมานด์เราก็อยากจะให้ผู้บริโภคได้เลือกในสิ่งที่ถูก ทำให้คนใช้ยาได้อย่างปลอดภัย กินยังไง มีข้อควรระวังยังไง มีข้อมูลรอบด้าน ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการแข่งขันให้ได้ด้วย”

“ทุกวันนี้การวิจัยหรือการศึกษาส่วนใหญ่มันเป็นไปเพื่อระบบทุนนิยม ทำเพื่อการค้าและทิ้งชาวบ้าน แต่งานที่เราทำอยู่คือ ทำยังไงให้ประชาชนเข้มแข็ง เขาต้องเลือกบริโภคได้ถูก และสามารถทำใช้กินเองได้ อีกหน้าที่หนึ่งของเราจึงเป็นการให้ข้อมูลเรื่องสมุนไพรกับประชาชน ด้วยการเผยแพร่ออกตามสื่อต่างๆ หรือสื่อโซเชียลที่เรามี และเรามีศูนย์คอลล์เซ็นเตอร์ที่จะตอบปัญหาการใช้สมุนไพร

“ดิฉันคิดว่าเส้นทางสมุนไพรเป็นทุนทางสังคมบวกนวัตกรรม เรื่องสมุนไพรต้องวางพื้นฐานในการวางแผน วางทิศทาง ตั้งแต่พันธุ์สมุนไพร ความรู้ การวิจัยเรื่องสารสำคัญ การวิจัยในคลินิก การสกัดสาร การทำผลิตภันฑ์ ไปจนถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนแล้วขายได้ เส้นทางมันยาว เราต้องสร้างพื้นที่ให้คนมาเจอกับสมุนไพร เพราะสมุนไพรมันไม่สวยเหมือนไม้ประดับ”

“ตอนนี้เราเลยทำโปรเจ็กต์ใหม่ คือ ภูมิภูเบศร ที่บางเดชะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล เพื่อเป็นศูนย์ที่จะให้ความรู้เรื่องสมุนไพรและยาสมุนไพรกับคนทั่วไป ให้คนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ว่าสมุนไพรแต่ละตัวต้องจดสิทธิบัตรแล้วทำมาขายให้ชาวบ้านแพงๆ สิ่งนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพราะภูมิปัญญาเป็นของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องมีทางที่จะใช้มันตามภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างปลอดภัย เขาสามารถเด็ดใบไม้มากินเป็นยาได้เองโดยอิสระอย่างมีความรู้ และสร้างนวัตกรรมจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ภูมิปัญญาเหล่านี้กลับมา เพราะเราหวังเสมอว่าอยากจะทำให้คนเข้มแข็งและแข็งแรง ไม่ต้องมาโรงพยาบาล”

ความน่าเชื่อถือคือต้นทุนทางการตลาดที่ดี

การจะทำให้เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วและง่ายดายนั้นทำได้ง่ายๆ หากมีงบประมาณในการทำโฆษณา แต่ความน่าเชื่อถือที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือไม่นั้นย่อมพิสูจน์ได้ด้วยกาลเวลา นับจากวันที่เริ่มต้นแบรนด์อย่างจริงจังหลังปี พ.ศ. 2540 และนำแบรนด์ออกสู่สังคมราวปี พ.ศ.2542 อภัยภูเบศรอาศัยการกระจายชื่อเสียงแบบปากต่อปากของผู้ที่ได้ใช้ยาจริง การผลิตที่เกิดขึ้นโดยทีมเภสัชกรโรงพยาบาล เป็นต้นทุนที่ดีในการสั่งสมความน่าเชื่อถือ รวมถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ทำการโฆษณาให้ตัวเอง

“เมื่อคนเชื่อถือเรามากขึ้น เราขายของได้แน่นอน 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เราให้โรงพยาบาล ส่วนที่เหลือก็เอามาพัฒนาเรื่องงานวิจัย เราหวังต่อไปว่าเราจะพัฒนายาสำหรับโรคยากๆ ขึ้นซึ่งก็ได้เริ่มแล้ว อย่างมะระขี้นกกับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเราพบว่ามันชะลอการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลสะสม เราอยากทำยารักษาโรคเรื้อรังจากสมุนไพร สิ่งเหล่านี้เรายึดเรื่องความปลอดภัยก่อน และเราคิดว่าเราต้องหาทางทำให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม ใช้การลงทุนแบบฝรั่งก็ได้ นั่นคือความหวังของเรา”

ปัจจุบัน นอกจากยาสมุนไพรแล้ว อภัยภูเบศรยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ ทั้งนี้ ยาสมุนไพรยังเป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ แม้ว่าเครื่องสำอางจะทำกำไรได้ดีกว่า

“เราใช้รายได้จากเครื่องสำอางมาอุดหนุนการผลิตยาสมุนไพร เพราะการทำยาเรามีต้นทุนสูง หน้าร้านที่โรงพยาบาลนี้เป็นจุดท่องเที่ยวด้วยเพราะคนเข้ามาชมตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำให้วันหนึ่งๆ เรามียอดขายที่น่าพอใจ การเติบโตที่มีหน้าร้านมากขึ้น กระจายไปตามที่ต่างๆ ก็คิดว่าเป็นจังหวะของมัน ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าสิ่งที่เราทำต้องมีประโยชน์กับประชาชน แต่เราก็ต้องมีกำไร มีต้นทุนทางเศรษฐกิจด้วย ถึงจะทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจมันไม่ง่าย แต่เรารู้ว่าคนข้างหลังของเราคือใคร คือเกษตรกร คือคนอื่นๆ อีกมากมาย เราเคยคุยกันว่าเมื่อไรที่สังคมสมบูรณ์แบบ ก็อาจไม่ต้องมีอภัยภูเบศรก้อได้ แต่เราทำทุกวันนี้เพราะเราเป็นเครื่องจักรตัวหนึ่งที่ต้องเดินทางต่อ หน้าที่เราคือเป็นตัวเร่งและทำให้เกิดเป็นโมเดลได้”

Tags: , , , ,