ท่ามกลางบรรยากาศคลุมเครือจากเศรษฐกิจแปรปรวน และความสัมพันธ์ของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็ลุ่มๆ ดอนๆ บวกกับสถานการณ์ที่ผู้นำโลกอย่างประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาอาจทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนที่ขึ้นลงได้ง่ายดายด้วยปลายนิ้วที่กดทวีตบนโทรศัพท์มือถือ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณให้หลายคนเริ่มกังวลกับสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ว่าอาจจะเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังวิกฤตคราวก่อนเพิ่งจะเวียนบรรจบครบรอบ 10 ปีในช่วงปีนี้ 

ปัจจัยมหภาคเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และธุรกิจ ‘เทค’ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตย่อมเป็นบทเรียนสำคัญที่สามารถนำไปใช้รับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า

ย้อนไปราว 20-30 ปีก่อน ในยุคที่ธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มขยับขยายเข้ามาในบ้านและที่ทำงาน ผนวกกับการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต ทำให้คอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นแค่เครื่องจักรช่วยคิดคำนวณ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้คนที่อยู่คนละซีกโลกได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส

ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงปี 1990s ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ถือได้ว่าธุรกิจเทคโนโลยีผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วถึงสองครั้ง คือช่วง dot-com boom ในช่วงปี 1999 และ Great Recession ในช่วงปี 2008 แต่ละวิกฤตเศรษฐกิจมีสาเหตุต่างกัน 

dot-com boom เกิดจากภาคธุรกิจเทคโนโลยีเองที่เติบโตเร็วเกินไป ส่วน Great Recession เกิดจากการกู้เงินที่มากเกินไปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ปัญหานี้ลามไปถึงธุรกิจการเงินของหลายๆ ประเทศ 

dot-com boom มีผลต่อธุรกิจเทคโนโลยีโดยตรงก็จริง แต่ Great Recession เป็นการถดถอยที่มีผลกระทบมากกว่า ทำให้ปัจจัยมหภาคซบเซาอย่างหนักแทบทั้งโลก ธุรกิจเทคโนโลยีจึงได้รับผลกระทบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากมองธุรกิจเทคโนโลยีในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา หนึ่งในแพลตฟอร์มที่เติบโตเร็วที่สุดคือแพลตฟอร์มสมาร์ตโฟน ถือเป็นโชคดีที่ตลาดสมาร์ตโฟนนำทัพโดยไอโฟนจากค่ายแอปเปิลที่เปิดตัวในปี 2007 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเหมาะสม เพราะแม้จะเจอวิกฤต Great Recession แต่หลังวิกฤตครั้งนี้ ไอโฟนและระบบนิเวศของไอโฟนก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว นั่นเพราะเมื่อเกิดวิกฤต หลายคนต่างมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ การเขียนแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนที่สามารถประมวลผลได้รวดเร็ว แสดงผลบนหน้าจอทัชสกรีนได้ ถือเป็นสิ่งใหม่ และก่อให้เกิดโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ

แนวความคิดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากในยุคนั้น เพราะว่าในประวัติศาสตร์วงการสมาร์ตโฟนไม่เคยเกิดสิ่งนี้ขึ้นมาก่อน ถ้ายังจำกันได้ ในยุคที่โทรศัพท์มือถืออย่างโนเกียหรือแบล็คเบอรี่เฟื่องฟู ผู้ใช้ได้แต่ซื้อโทรศัพท์และรอลูกเล่นใหม่ๆ จากค่ายมือถือที่คิดค้นฟีเจอร์ใหม่ขึ้นมา การที่แอปเปิลกล้าที่จะเปิด ‘ตลาด’ แอปสโตร์ (AppStore) ให้นักประดิษฐ์หรือโปรแกรมเมอร์มาเสนอขายแอปฯ จากผู้ใช้สมาร์ตโฟนโดยตรง ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการ จากรายได้ที่มีแค่เพียง 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2009 เวลาสิบปีผ่านไป นับเพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2019 แอปสโตร์ก็มีรายได้ไปแล้ว 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าครึ่งปีหลัง แอปสโตร์ทำรายได้พอๆ กับครึ่งปีแรก ก็จะพอกล่าวได้ว่า ผ่านไปสิบปีรายได้ของแอปสโตร์เพิ่มขึ้น 20 เท่าเลยทีเดียว

ในส่วนของสมาร์ตโฟน ต้องยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่แล้วเป็นการสร้างโอกาสให้กับแพลตฟอร์มเอง การมีเครื่องมือใหม่ๆ (สมาร์ตโฟนที่มีหน้าจอแบบสัมผัสที่ใช้งานได้ มีแบตเตอรีที่ความจุพอควร สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แทบทุกที่ทุกเวลา) พร้อมกับโมเดลธุรกิจที่รองรับผู้สร้างสรรค์และผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นตลาดที่การเจริญเติบโตสูงในแง่จำนวนผู้ใช้ ทำให้เรียกได้ว่า ไอโฟนหรือผู้นำสมาร์ตโฟนยุคใหม่ในสมัยนั้นได้สร้างโอกาสให้ใครหลายๆ คน

แต่ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ ปัจจัยหลายอย่างที่เคยส่งเสริม กลับถดถอยแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะทั้งความต้องการซื้อสมาร์ตโฟนไม่ได้มีมากเหมือนแต่ก่อน ฟีเจอร์ที่ออกมาใหม่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้ตื่นเต้นได้เหมือนแต่ก่อน แถมถ้าอเมริกายังมีเรื่องระหองระแหงกับจีนแบบนี้ต่อไป เชื่อแน่ว่าจะมีผลกระทบอย่างมากกับต้นทุนการผลิตสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ และแอปเปิลเป็นบริษัทหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่หากเห็นแอปเปิลเริ่มวางแผนการย้ายการผลิตจากจีนไปประเทศอื่น เช่น เวียดนาม เม็กซิโก อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

โมเดล SaaS ผู้ปฏิวัติตลาดซอฟต์แวร์

หันมามองในส่วนของธุรกิจโปรแกรมซอฟต์แวร์บ้าง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเทรนด์เกี่ยวกับการใช้ Software as a Service (SaaS) มากขึ้น SaaS เป็นโมเดลธุรกิจการขายซอฟต์แวร์แบบใหม่ โดยที่ลูกค้าหรือเจ้าของธุรกิจสามารถลดต้นทุนค่าลิขสิทธิซอฟต์แวร์ ที่เดิม อาจต้องซื้อแบบเหมาและมีราคาสูง แถมไม่ต้องกังวลเรื่องอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น คอมพิวเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์ ว่าจะมีสเป็คสูงพอกับการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาใหม่นี้หรือไม่ ซึ่งต่างจากยุคก่อนหน้าที่การขายซอฟต์แวร์คือการขายสิทธิการใช้ ที่ลูกค้าจะเอาตัวโปรแกรมไปติดตั้งที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

โมเดลแบบ SaaS เข้ามาปฏิวัติตลาดโปรแกรมซอฟต์แวร์ เพราะส่วนใหญ่ ลูกค้าสามารถใช้งานได้ผ่านเว็บบราวเซอร์ ไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมตามเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องเหมือนแต่ก่อน หนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้นำด้าน SaaS คือ Salesforce ซึ่งพัฒนาโปรแกรมที่ช่วยในงานขาย ใช้จัดการข้อมูลลูกค้า และรวมถึงการตลาดขององค์กร

ในช่วง Great Recession บริษัทซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหายอดขาย โดยเฉพาะบริษัทที่มีโมเดลการขายแบบเดิม เพราะเศรษฐกิจไม่ดีและลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มีงบประมาณเยอะเหมือนตอนก่อนเกิดวิกฤตในปี 2008 ด้วยโมเดลแบบ Saas ทำให้ Salesforce สามารถผ่านวิกฤตเศรษฐกิจได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ กระแสการลดต้นทุนของลูกค้าและเทรนด์การใช้ซอฟต์แวร์แบบ SaaS ทำให้ธุรกิจซอฟต์แวร์กลับมาเฟื่องฟูอย่างรวดเร็วหลัง Great Recession

หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะมีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่เร็วๆ นี้ คาดว่าแนวโน้มการใช้ SaaS ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยโครงสร้างโมเดลที่มีราคาถูก และหากลูกค้าเจ้าไหนที่ยังไม่เคยได้ลองใช้ SaaS ปัจจัยทางธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง ก็อาจเป็นตัวผลักดัน กลายเป็นจุดเปลี่ยนของหลายๆ บริษัทที่ทำให้หันมาลองใช้ SaaS กันมากขึ้น

On-Demand Economy เทรนด์ธุรกิจเทคโนโลยีรูปแบบใหม่

ในช่วง 4-5 ปีหลังที่ผ่านมา ในธุรกิจเทคโนโลยีมีเทรนด์ที่น่าสนใจนั่นคือ Sharing Economy หรือ On-Demand Economy นำเทรนด์โดยบริษัทอย่าง Uber ที่เกิดขึ้นมาจากแนวความคิดเกี่ยวกับทรัพยากรส่วนเกินในระบบขนส่ง อย่างรถยนต์ส่วนบุคคลที่มักมีผู้โดยสารไม่เต็มคัน และตัวเลือกการเดินทางที่มีไม่เยอะมากแถมราคาสูงอย่างบริการแท็กซี่ในสหรัฐอเมริกา ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้ Uber เข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนขับรถส่วนบุคคลที่ต้องการหารายได้เพิ่มเติม กับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปในที่ที่ระบบโดยสารสาธารณะไม่ได้เอื้ออำนวย

ปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดธุรกิจอย่าง Uber ได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากความก้าวหน้าของสมาร์ตโฟน และเทคโนโลยีด้านแผนที่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งพิกัดของผู้โดยสารและรถยนต์ส่วนบุคคลอย่างแม่นยำ ผสมผสานกับฐานข้อมูลของสถานที่สำคัญต่างๆ ทำให้การรับส่งผู้โดยสารเป็นไปได้อย่างราบรื่น หากเป็นสมัยก่อน รถแท็กซี่ในต่างประเทศยังคงต้องใช้อุปกรณ์บอกเส้นทางอย่าง Garmin ที่มีราคาสูงแถมหน้าตาการใช้งาน (Interface) ยังไม่ค่อยน่าใช้สักเท่าไรเมื่อเทียบกับสมาร์ตโฟน

หลังจากธุรกิจของ Uber เริ่มเติบโต ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงมาก มีการอัดฉีดเงินเพื่อแจกโปรโมชันให้กับลูกค้า ทำให้ผู้โดยสารคุ้นชินกับบริการใหม่นี้ เช่นในภูมิภาคเอเชียที่ Uber และ Grab แข่งขันกันสูงมาก จนสุดท้าย Uber ต้องยอมถอยขายกิจการในหลายประเทศในเอเชียให้กับผู้เล่นต่างๆ 

แนวคิดทางธุรกิจการแชร์รถยนต์โดยสารส่วนบุคคล แผ่มาถึงบริการอื่นๆ ที่ตอบสนองธุรกิจ On-demand เช่น บริการสั่งและจัดส่งอาหาร บริการซื้อของจ่ายตลาดให้ เป็นต้น มีสตาร์ตอัพหลายแห่งที่ตามรอย Uber ในการสร้างแพลตฟอร์ม On-demand ซึ่งส่วนใหญ่จะพบปัญหาเดียวกัน คือ ต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการดึงดูดลูกค้าเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม ด้วยความหวังว่า Life-time Value ของลูกค้าแต่ละคนจะใช้บริการและจ่ายเงินเข้าแพลตฟอร์มสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้ในที่สุด 

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีธุรกิจ On-demand ใหญ่ที่ประกาศ IPO ไปแล้วได้แก่ Lyft และ Uber ซึ่งถ้าดูจากราคาหุ้นตอนที่เปิดตัวในตลาดหลักทรัพย์เทียบกับปัจจุบันก็จะพบว่าบริษัททั้งสองมีมูลค่าธุรกิจที่ลดลงหลายสิบเปอร์เซนต์เลยทีเดียว นี่เป็นเพียงสัญญาณเตือนกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่ตั้งใจทำแพลตฟอร์มแบบ on-demand ซึ่งจำเป็นต้องมีทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นจำนวนมากถึงจะคุ้มทุนสร้างกำไร จึงไม่แปลกใจหากแทบทุกบริษัทมีแผนกลยุทธ์ในการเติบโตธุรกิจผ่านงบการตลาด หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจริง ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ผู้บริโภคยังต้องการใช้บริการจากแพลตฟอร์มอีกหรือไม่

สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่เชื่อมโยงซับซ้อนมากขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นครั้งใหม่ย่อมเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ธุรกิจเทคโนโลยีที่แทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของการดำเนินธุรกิจหรือการใช้ชีวิตประจำวันก็ย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน ดังนั้น การมองย้อนไปในอดีตอาจช่วยให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เรียนรู้บทเรียนธุรกิจสมัยก่อน เพื่อเตรียมตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่อาจถดถอยได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งคงไม่มีใครที่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น การหาทางป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรง คงเป็นหนทางที่หลายบริษัทคงคิดหนักอยู่ในตอนนี้

Tags: , ,