หลายคนเข้าใจว่าการเป็นช่างภาพสตรีทคือการถือกล้องดีๆ สักตัวแล้วออกไปถ่ายรูปตามท้องถนน นั่นก็มีส่วนถูก แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งสำคัญที่ต้องพกพาคือความขยันที่จะออกไปถ่ายรูป ขยันที่จะกดชัตเตอร์ให้ได้เป็นร้อยๆ พันๆ รูป แม้อาจจะมีแค่รูปเดียวที่ใช้ได้ และเป็นภาพสตรีทที่ดีพอจะให้คนอื่นได้ชื่นชม

ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพสตรีทแนวหน้าของเมืองไทย บอกกับเราอย่างนั้น เขาเป็นคนหนึ่งที่อาศัยความขยันเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นช่างภาพสตรีทที่คนยอมรับ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่ไปไกลในระดับโลก และความขยันนั้นก็ตอบแทนเขาด้วยการเป็น 1 ใน 20 ช่างภาพสตรีทที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปี 2015 จากการจัดอันดับโดยเว็บไซต์ Streethunter.net

รางวัลชนะเลิศจากการประกวด EyeEm Awards 2014 ในหมวด Street Photography รางวัลชนะเลิศจากการประกวด Miami Street Photography Festival 2014  และรางวัลชนะเลิศ Street Shooting Around the World 2015 โดย The Los Angeles Center of Photography (LACP)

การเป็นช่างภาพสตรีทนั้นต้องแลกกับอะไรมาบ้าง ทวีพงษ์นั่งตรงหน้าเราพร้อมค่อยๆ อธิบายเฟรมต่อเฟรม

ชื่อภาพ The Horizon สถานที่: ชายหาดเมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ

 

จุดเริ่มที่ทำให้คุณมาเป็นช่างภาพสตรีท

ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมที่อัสสัมชัญศรีราชา โรงเรียนประจำที่ทำให้ผมไม่ได้กลับบ้านเสาร์-อาทิตย์ เราก็จะเข้าห้องสมุดไปเจอหนังสือ เนชันแนลจีโอกราฟฟิก (National Geographic) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการชอบถ่ายภาพ ผมชอบรูปแนววิถีชีวิต รูปคน เราก็เข้าใจตัวเองว่าชอบถ่ายภาพแนวสารคดี พอเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เลยลองทำสารคดีกับเพื่อนเรื่อง ‘รหัสไปรษณีย์’ ส่งไปให้กองบรรณาธิการของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ภาษาไทย จึงทำให้เรารู้ว่าการทำสารคดีมันยาก ต้องใช้เวลาหมกตัวอยูู่กับมัน

จากนั้นเราก็ห่างหายจากการถ่ายรูปเป็นสิบปี เปิดบริษัททำโปรดักชันเฮาส์เล็กๆ รับทำพวกสื่อภาพยนตร์ โฆษณา ซึ่งช่วงนั้นเนี่ย ไฟในการถ่ายภาพแทบจะมอดแล้ว จนมีวันหนึ่ง ภรรยาให้ของขวัญวันครบรอบแต่งงานเป็นตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักไปเที่ยวเมืองพาราณสี อินเดีย ให้ไปถ่ายรูปคนเดียว 7-8 วัน ทริปนั้นทำให้เรากลับมาโฟกัสเรื่องการถ่ายรูปอีกครั้งหนึ่ง แล้วไม่ได้เป็นโปรเจ็กต์อะไรด้วยนะ แค่รู้สึกว่ามันเวิร์กว่ะ ได้ถ่ายรูปในแบบที่เราชอบ

กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต เพราะหลังกลับมาจากอินเดียช่วงเดือนมกราคม 2014 ผมก็มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมของ กลุ่มสตรีทโฟโตไทยแลนด์ ซึ่งมีภารกิจขำๆ คือให้ออกไปถ่ายรูปแนวสตรีทและโพสต์รูปทุกวันตลอด 365 วัน เราก็คิดว่าไม่ยาก น่าสนุก แต่พอเริ่มก็พบว่าการถ่ายภาพสตรีท ไม่ไช่แค่การถ่ายคน เราต้องเรียนรู้ทุกวัน และค้นพบว่าสิ่งที่ยากกว่าการถ่ายรูปคือการมานั่งเลือกรูปที่ดี

การถ่ายภาพสตรีท ไม่ไช่แค่การถ่ายคน เราต้องเรียนรู้ทุกวัน และค้นพบว่าสิ่งที่ยากกว่าการถ่ายรูปคือการมานั่งเลือกรูปที่ดี

นิยามของช่างภาพสตรีทคืออะไร มันคือการที่เราถือกล้องไปถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างเดียวหรือเปล่า

เอาเข้าจริงมีหลายนิยามมาก แต่ที่คิดว่ามันเวิร์กที่สุดคือ การถ่ายภาพในที่สาธารณะโดยไม่จัดฉาก คือมันควรจะเป็นการ Unposed แค่การไปขอเขาถ่ายรูปมันก็ไม่ใช่แล้ว ถ้าขอคนในที่สาธารณะถ่ายภาพ อันนั้นน่าจะเป็นแนว Street Portrait มากกว่า ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ผิดนะ แต่เป็นแนวทางที่ต่างออกไป สุดท้าย สำคัญที่สุดคือต้องมีความคิดสร้างสรรค์หรือการตีความ ข้อนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าต้องเป็นรูปแนวมุกตลกอย่างเดียวหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อาจจะมีสิ่งที่คุณไตร่ตรองบางอย่างมาก่อน เช่น คอมโพสิชัน แสง สี อย่างรูปของคนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นแนวมุกตลก เพราะสภาพอากาศ คนไทยไม่ชอบอยู่กลางแดด ภาพที่เราเห็นมักจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในร่ม ไม่ได้ใช้ชีวิตในแสงสวยๆ ช่างภาพสตรีทของไทยจึงมักอาศัยเรื่องของจังหวะ หรือ Juxtaposition มาช่วย

แล้วคุณชอบถ่ายอะไร และจำเป็นต้องมีลายเซ็นต์ในงานไหม

ตอนเริ่มต้นกลับมาถ่ายภาพอีกครั้ง ผมถ่ายแบบคลาสสิก ภาพโทนสีขาวดำเน้นแสงเงา พอถ่ายไปสักพัก รู้สึกว่าภาพขาวดำมันแสดงอะไรบางอย่างของโลกปัจจุบันไม่ได้ ก็เลยหันมาถ่ายภาพสี ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่ารูปเรามีจุดเด่นตรงไหน พอส่งรูปไปประกวด เริ่มได้รางวัล ก็เลยได้ยินจากหลายๆ คนบอกว่ารูปของคุณมักมีความขัดแย้งในตัวเอง คือมีอารมณ์ขันแต่ก็มีความลึบลับอยู่ในรูปเดียวกัน

ชื่อภาพ Dream Beach สถานที่: เทศกาลว่าวนานาชาติที่ชายหาดชะอำ

ทำอย่างไรให้เจอช็อตที่ใช่

ทุกวันนี้ออกจากบ้าน ผมยังไม่รู้เลยว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะได้ภาพที่ดีที่สุดเมื่อไหร่ ถ้าผมรู้นะ ป่านนี้ผมคงรวยไปแล้ว คงให้ความรู้สึกเหมือนรู้ว่าหวยจะออกอะไร (หัวเราะ)

แต่มันก็ต้องมีมุมมองหรือวิธีคิดที่จะทำให้รู้ว่าตรงนี้แหละจะทำให้เราได้ภาพที่ใช่

หลายคนถามว่าเรามองหาอะไรเวลาถ่ายภาพ เราบอกว่า ก็มองหาทุกความเป็นไปได้ ถ่ายหมดทุกอย่างที่มากระทบใจเรา อันนี้สำคัญ เพราะการที่ช่างภาพแนวสตรีทเลือกจะถ่ายอะไรหรือไม่ถ่ายอะไร ก็เพราะสิ่งที่มากระทบใจนี่ละ ป้าคนนั้นทำผมน่าสนใจจัง พี่คนนี้หลับอร่อยมากเลย อะไรแบบนี้ แต่ถ้าโดยหลักการคือพยายามมองหาจุดเชื่อมโยงของสิ่งสองสิ่ง คู่สี Juxtapose แต่คุณต้องถ่ายให้เยอะที่สุดเพื่อโอกาสได้ภาพที่ดีที่สุด ต้องขยัน ยิ่งทำบ่อยๆ ก็จะได้ภาพที่แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ คุณต้องออกไปผจญกับความผิดหวังซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จนเจอภาพที่ไม่เหมือนใคร และเป็นตัวของคุณเองมากที่สุด

รูปที่ผมชอบคือภาพที่ไม่รู้เลยว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เพียงแต่ผมรู้สึกว่ามีบางอย่างที่เป็นไปได้

มันง่ายมากที่จะถ่ายรูปให้เหมือนกับคนที่เคยถ่ายไปแล้ว ซีนที่มองเห็นแล้วรู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์คือรูปที่เราเคยผ่านตามาแล้ว เพราะรูปพวกนี้ มันเข้าไปอยู่ในสมองเราตอนเราดูรูปมากๆ เพราะฉะนั้น ในช่วงสามปีที่ผ่านมา รูปที่ผมชอบคือภาพที่ไม่รู้เลยว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เพียงแต่ผมรู้สึกว่ามีบางอย่างที่เป็นไปได้ คือมันจะไม่เคลียร์ไปเสียหมดตั้งแต่ก่อนกดชัตเตอร์

แสดงว่ารูปของคุณได้มาเพราะความบังเอิญมากกว่าความตั้งใจ?

ส่วนตัวคิดว่า รูปที่แข็งแรงมันมักจะมีส่วนผสมของความบังเอิญมากกว่า เพราะช่วงที่เริ่มถ่ายแรกๆ คิดตลอดเลยว่าจะถ่ายอะไร บางวันวางแผนไปถึงว่าถ้าไม่มีเวลา จะไปตรงนี้ มีฉากที่ขอแค่คนเดินผ่านก็จบ ซึ่งมันเป็นรูปแนว Fishing คือเจอฉากที่เราอยากจะเล่า แล้วรอคนเดินผ่านมาแค่นั้น แต่ผลออกมาคือมันค่อนข้างน่าเบื่อและทำซ้ำได้ง่าย  เอาจริงๆ เวลาเริ่มต้น ทุกคนก็ต้องผ่านสเตจนี้ก่อน เป็นกลวิธีอย่างนึงในการถ่ายภาพแนวนี้ แต่พอถ่ายภาพไปสักระยะนึง ก็ควรทำลองทำอะไรใหม่ๆ ดู เพื่อค้นหาแนวทางของตัวเองให้เจอ

ชื่อภาพ The Smooth Criminal สถานที่: โรบินสัน สุขุมวิท โดยภาพนี้ได้รับเลือกให้อยู่ในหนังสือ 100 Great Street Photograph โดย David Gibson

คุณมีใครเป็นต้นแบบในการถ่ายภาพสตรีทบ้างไหม

เรามีสองสามคนที่ชอบ คนแรกชื่อ เอลเลียต เออร์วิตต์ (Elliot Erwitt) เป็นช่างภาพในกลุ่ม Magnum ที่เก่งในเรื่องของ Sense Of Humour เป็นรูปแนวเห็นแล้วต้องขำ ถ่ายแนวคลาสสิกขาวดำ กับอีกคน อเล็กซ์ เว็บบ์ (Alex Webb) คนนี้เน้นเลเยอร์ของรูป เล่นกับแสง สี ระยะของคนในภาพ ซึ่ง 2 คนนี้นี่เหมือนมากจากคนละดาวมากๆ (หัวเราะ)

ความสนุกของการเป็นช่างภาพสตรีทอยู่ตรงไหน

มันคือการออกไปเดินเล่นดูโลกภายนอกโดยที่เราไม่รู้เลยว่าจะได้รูปอะไร และเป็นรูปที่ดีหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นรูปที่ดีที่สุดในชีวิตเลยก็ได้ ไม่มีทางรู้ก่อนว่าผลลัพธ์ของรูปเป็นอย่างไร ซึ่งผลลัพธ์นั้นถ้ามันดีจริงๆ มันจะเป็นผลงานที่เราภูมิใจกับมันได้ เป็นโมเมนต์ของเราที่ไม่มีใครก็อปปีได้ เป็นเหมือนลูกของเรา

เคล็ดลับนี้ไม่ใช่แค่สำหรับช่างภาพสตรีท แต่คือเคล็ดลับในการที่จะประสบความสำเร็จในทุกๆ สิ่งที่ทำ คือต้องขยันและอย่าพอใจอะไรง่ายๆ

ภาพที่ดีในความคิดของคุณต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

เราว่าต้องมีเรื่องราวบางอย่าง ไม่กลวง ไม่ใช่ภาพที่ก็อปคนอื่นมา ถ้าเป็นภาพแนวมุกก็ต้องไม่ใช่แค่มุกเก่า แต่ควรเป็นมุกใหม่ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และสำคัญคือควรสื่อสารกับคนดูให้ได้ว่า เราถ่ายมาแล้วเห็นเรื่องราวอะไร ไม่ใช่แค่เราเข้าใจอยู่คนเดียว แต่เป็นใครก็ได้ คนอื่นมาดูแล้วก็เข้าใจ

แล้วเคล็ดลับในการเป็นช่างภาพสตรีทล่ะครับ

เอาจริงเคล็ดลับนี้ไม่ใช่แค่สำหรับช่างภาพสตรีท แต่คือเคล็ดลับในการที่จะประสบความสำเร็จในทุกๆ สิ่งที่ทำ คือต้องขยันและอย่าพอใจอะไรง่ายๆ สิ่งนี้คือข้อแตกต่างระหว่างคนที่ทำงานด้วยความตั้งใจ มองเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองและแก้ไข กับคนที่ทำงานไปวันๆ เช้าชามเย็นชาม เหมือนนักกีฬาคนนึงที่เล่นกับเพื่อนสนุกๆ แค่หนึ่งวันต่อสัปดาห์ กับอีกคนที่ซ้อมทุกวันเพราะไม่พอใจกับผลงานตัวเอง พยายามไปอยู่ในจุดที่ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ อันนี้คือข้อแตกต่าง กรณีการถ่ายภาพสตรีทก็เช่นกัน คนนึงออกไปเดินถ่ายรูปเดือนละครั้ง กับอีกคนที่ออกไปถ่ายทุกวัน แค่จำนวนรูปที่เอามาให้เลือกมันก็แตกต่างกันแล้ว

ชื่อภาพ Metropolis สถานที่: คาเฟ่ในย่านชินจูกุ

ดูเหมือนจะเหนื่อยพอสมควรกว่าจะได้รูปที่ดีที่สุด

ก็ต้องเหนื่อยนะ คืออะไรที่มันได้มายากๆ ส่วนมากมันคุ้มค่า เราเชื่ออย่างนี้ เบสิกมากเลย ทำงานหนัก ขยัน ในทุกๆ เรื่องอย่าพอใจอะไรง่ายๆ อีกอย่างคือเราชอบให้คนอื่นดูรูปเรา ให้เลือกด้วยซ้ำ เพราะเรารู้สึกว่าช่างภาพเองจะมีความลำเอียงกับรูปตัวเอง ภาพที่ได้มาอย่างยากลำบาก อาจไม่ใช่รูปที่ดีเสมอไป และภาพที่ได้มาอย่างง่ายๆ ก็อาจไม่ใช่รูปที่แย่เสมอไป

แล้วเราสามารถใช้โปรแกรมแต่งรูปได้มากน้อยแค่ไหน

นี่แหละเป็นสิ่งที่คนเข้าใจคลาดเคลื่อน เราจะบอกว่า จริงๆ ทำได้แต่ว่าไม่ถึงขั้นรีทัช สิ่งที่ทำได้ในที่นี้คือ การปรับแสง สี หรือมูดแอนด์โทน ซึ่งต้องทำแต่พอดีนะ ไม่ใช่เสื้อสีเขียวไปเปลี่ยนเป็นสีแดง อย่างงี้ไม่ได้ ที่ผิดหลักไปคือรีทัชโดยการเอาออกหรือเอาเข้า เพราะเป็นการบิดเบือนความจริงและทำลายคุณค่าของรูปในแนวนี้ แต่ถามว่ารูปที่รีทัชหนักๆ มันไม่มีคุณค่าหรือเปล่า มันก็ไม่ใช่ คืออยู่กันคนและหมวดหมู่เท่านั้นเอง อาจจัดเป็นภาพแนว Fine Art หรือ Conceptual ส่วนตัวคิดว่า ไม่ได้มีรูปแนวไหนที่มีคุณค่าเหลื่อมล้ำกัน มันเป็นเพียงแนวทางในการทำงานที่ต่างออกไปเท่านั้นเอง

*ภาพทั้งหมดถ่ายโดยกล้อง Sony RX Series*

Sony RX Series

Sony RX Series

Tags: , , , , , , , , , ,