หลายคนอาจคุ้นภาพ ‘เอกชัย ศรีวิชัย’ จากเพลงในตำนานอย่าง หมากัด หรือในบท เจ๊โมะลำ (มดดำ) ในหอแต๋วแตก แต่นอกจากบทบาทในการสร้างอารมณ์ขันและความบันเทิงแล้ว อีกด้านหนึ่ง เขาเป็นบุคคลที่สนใจการสื่อสารเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้อย่างการรำ ‘มโนราห์’ หรือที่มักถูกเรียกสั้นๆ ว่า โนรา
เอกชัยพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะบอกเล่าประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการรำมโนราห์ ทั้งในหนังเรื่องก่อนหน้าอย่าง ‘เทริด’ และหนังเรื่องใหม่อย่าง ‘โนราห์’ ซึ่งน่าจับตาไม่แพ้ผลผลิตของทางภาคอีสานที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้า โดยเฉพาะในภูมิภาคของตัวเองอย่าง ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ หรือฮักแพง ที่มีกลุ่มแฟนเหนียวแน่น เพราะในแง่หนึ่ง มันพูดถึงวิถีชีวิตในท้องถิ่นที่ทุกคนต่างก็พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และหนังของเอกชัยก็น่าจะเป็นอย่างนั้นได้ สำหรับชาวใต้ และอาจจะรวมถึงผู้คนในภาคอื่นๆ ด้วย
และแม้ดูจะหาที่ทางของหนังยากสักหน่อย เพราะนี่ไม่ใช่ทั้ง ‘หนังแมส’ และไม่ใช่ ‘หนังอาร์ต’ มันไม่ใช่กระทั่งหนังผี หรือหนังตลกแบบที่จะมีอะไรมาการันตีว่าจะขายได้ แต่นี่คือความตั้งใจที่ต้องยอมรับในความแน่วแน่ เพราะขณะที่หลายคนไม่ได้มีวัฒนธรรมถิ่นเป็นที่หนึ่งในใจ แต่สำหรับเอกชัย นี่คือตัวตนของเขา
“ผมโตมากับพ่อที่เป็นนายหนังตะลุงและเป็นโนรา จึงไม่เคยรู้สึกว่านี่คือความเชย แต่สิ่งนี้เป็นตัวตนของผมที่ผมยอมรับมัน เพียงแต่ผมไม่เคยคิดหรือคาดหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะต้องมารักสิ่งเหล่านี้ ขออย่าให้เขาดูถูกก็พอ ดังนั้นผมเลยพยายามทำทุกอย่าง ทั้งเพลง หนัง การบรรยาย ทุกอย่างที่สามารถทำได้ พยายามให้สิ่งเหล่านี้แฝงมากับความบันเทิง มันอาจจะเป็นความบันเทิงสัก 90% มีวัฒนธรรมพื้นถิ่นสอดแทรกอยู่สัก 10% ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว คือออกจากโรงหนังแล้ว เขาได้รับเอาวัฒนธรรมถิ่นไว้ในความจำสักนิดก็ยังดี”
ยิ่งกว่านั้น เอกชัยยังมีความเชื่อมั่นว่า ลึกๆ แล้วคนไทยก็น่าจะมีรากของวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่ในตัว ไม่มากก็น้อย ต่อให้ใครคนนั้นอาจจะอินดนตรีตะวันตกเป็นชีวิตจิตใจ หรือนิยมชมชอบอุตสาหกรรมบันเทิงจากญี่ปุ่นเกาหลีหรืออื่นใดก็ตาม
“คือคำว่าวัฒนธรรมมันจับต้องยาก พูดยาก พอพูดแล้วสำหรับเด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจจะมองว่า คร่ำครึ โบราณ แต่เมื่อไรที่เราเอาวัฒนธรรมเก่ามาผสานกับความโมเดิร์นหรือวัฒนธรรมต่างชาติ อาจเป็นการเต้นรำร่วมสมัย การแรป หรือดนตรีแจ๊ซ หลายคนเข้าไปดูแล้วขนลุก ซึ่งผมว่าสิ่งที่ทำให้คนดูขนลุกได้เป็นส่วนของวัฒนธรรมเก่ามากกว่าส่วนอื่นนะ ผมเชื่อว่าถึงอย่างไรคนไทยก็มีดีเอ็นเอนั้นอยู่ เพียงแต่สิ่งแวดล้อม หรืออิทธิพลของสื่อในแต่ละช่วงเป็นตัวแปรที่ทำให้คนอาจจะอินกับสิ่งอื่นมากกว่า ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด”
คำพูดของเขาชวนให้เรากลับมาคิดต่อ และแม้จะยังไม่ได้คำตอบแน่ชัดนัก แต่เขาก็พาการสนทนาให้ขยับไปไกลกว่านั้น นั่นคือความจำเป็นที่กระทรวงวัฒนธรรมควรจะต้องมีบทบาทสนับสนุนวัฒนธรรมถิ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ (อย่างที่ศิลปินในแขนงอื่นๆ ก็น่าจะรู้สึกเช่นนี้กับทางกระทรวงเช่นกัน)
“อย่าปล่อยให้คนอย่างผม หรืออย่างศิลปินพื้นบ้านคนอื่นๆ ต้องทำกันอยู่อย่างโดดเดี่ยว นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากในอนาคต” เขาบอกอย่างนั้น พร้อมสำทับไปถึงแนวคิดที่เคยจะมีการยุบการเรียนนาฏศิลป์ในหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เขามองว่าไม่ควรอย่างยิ่ง และนักการเมืองที่เชื่ออย่างนั้นก็ควรกลับไปคิดใหม่
โนราอยู่อย่างไร?
ถึงจะออกปากว่าน่ากลัวสำหรับอนาคต แต่เขาก็ยืนยันว่าเท่าที่ยังมีลมหายใจก็จะยังคงสืบสานวัฒนธรรมถิ่นนี้ไปเรื่อยๆ เขาหวังและมั่นใจเต็มร้อย เอกชัยมองว่าปัจจุบันนี้เป็นยุคสมัยที่เฟื่องฟูที่สุดของโนราและหนังตะลุง
“มีโนราอยู่ทุกจังหวัด สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เขาก็ดูโนรา ที่นั่นจะมีศิลปิน 2 แขนงเท่านั้นที่ไปเล่นแล้วไม่อันตราย นั่นก็คือโนรากับหนังตะลุง เพราะนี่คือวิถีชีวิตของเขา”
ในบางพื้นที่ มีคนดูการรำโนราถึงหลักพันหรือหลักหมื่น ในการไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียก็มีคนมาดูเป็นจำนวนมาก และความนิยมในพระเอกนางเอกโนราในท้องถิ่นนั้น ก็พอๆ กันกับระดับซุปตาร์ห้างแตก ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดำเนินอยู่และเข้มข้นในพื้นที่ภาคใต้ โดยที่คนจากพื้นถิ่นอื่นอาจไม่ทราบกันนัก และคนรำโนราเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบจากสาขาวิชาที่หลากหลาย แต่เลือกที่จะกลับไปเป็นโนราที่บ้านเกิด
“ลูกศิษย์โนราของผม บางคนก็จบจากรัฐประศาสนศาสตร์ จบวิศวกรโยธา จบคณะวิทยาศาสตร์ เด็กพวกนี้ เป็นเด็กรุ่นใหม่ ล้วนเป็นโนราที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ แต่ละคนก็ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ มันเป็นแรงที่ผมและทุกคนสู้มาตลอด เราไม่ได้สู้มาเมื่อวาน แต่มันเป็นการเริ่มสู้ตั้งแต่สามสิบปีที่แล้ว และที่ภูมิใจกว่านั้นคือ เราไม่เคยใช้เงินของรัฐบาล”
เอกชัยยังเสริมอีกว่า โนราได้รับความนิยมสูงจนมีช่วงหนึ่งที่หานักดนตรีไม่ทัน เขาเองจึงเป็นอีกคนที่พยายามสนับสนุนตั้งแต่เมื่อห้าปีก่อน ด้วยการว่าจ้างนักดนตรีที่มีวิชาไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ จนทุกวันนี้ เด็กที่เคยเรียนดนตรีตอนนั้น ก็ได้กลับเข้ามาเป็นนักดนตรีให้กับวงโนรา
และด้วยความตั้งใจที่จะสืบสานโนราต่อไปให้ได้ ผลงานหนังของเขาจึงเกิดขึ้นในที่สุด
“สำหรับ เทริด ผมมีเป้าหมายอย่างเดียว คือต้องการให้คนที่เป็นลูกหลานโนราและคนในภาคใต้ที่ยังไม่รู้จักโนราได้เข้าใจวัฒนธรรมนี้ แล้วให้เขาตัดสินใจเองว่าควรจะสืบทอดต่อไปหรือไม่ เพราะเด็กรุ่นใหม่มักจะตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องสืบทอด” ส่วนผู้ใหญ่ก็จะเกิดคำถามว่า “ทำไมมึงไม่สืบทอด” หนังเราก็พยายามเล่าเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองรุ่น ซึ่งแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้ แต่สำหรับผม มันประสบความสำเร็จแล้วในการสื่อสารเรื่องโนราและคำถามเกี่ยวกับการสืบทอดโนรา”
“ทีนี้ จะทำยังไงให้คนรู้จักว่าโนราคืออะไร มันไม่ใช่แค่เรื่องที่คนใต้จำเป็นต้องรู้ คิดว่าคนเหนือ คนอีสาน คนภาคกลาง ก็ควรจะได้รู้ ในหนังเรื่อง โนราห์ ผมจึงไม่ได้เสนอเป็นภาษาใต้ทั้งหมด ถึงจะมีภาษาถิ่นอยู่ แต่มันก็มี body language ด้วยในการสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครและโนรา ดังนั้นที่คนสงสัยว่า โนรานี่ใช่ที่มาจากเรื่องพระสุธน-มโนราห์ไหม ใช่กินรีที่มีพรานบุญมาจับไปหรือเปล่า มาจากเรื่องนั้นไหม หนังเรื่องนี้ก็จะตอบคำถามนั้น คือโดยประวัติมันอาจมีหลายตำรา แต่ที่เราอยากเล่าคือโนราที่รำกันอยู่ในภาคใต้ มันเริ่มต้นมาจากตอนไหน”
เอกชัยในฐานะคนทำหนัง
เอกชัยเล่าว่า หลายครั้งความมั่นใจในการทำหนังของผู้กำกับ ส่วนหนึ่งมาจากความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในศาสตร์ของภาพยนตร์ แต่สำหรับเขาแล้ว เขามั่นใจเต็มร้อยกับองค์ความรู้เกี่ยวกับโนรา และนั่นก็เป็นแกนในการทำหนังเรื่องนี้ โดยศาสตร์หรือหลักการทำหนังเป็นสิ่งที่เขามองเป็นเครื่องมือในการนำเสนอเสียมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะละเลยรายละเอียดหรือความคราฟต์ใดๆ ในกระบวนการ
“ผมเล่นหนังมาเยอะมาก ก่อนหน้านั้นก็เคยทำงานในกองถ่าย ผมเคยยกรีเฟล็กต์ เคยเข้าห้องตัด เคยทำงานเบื้องหลังมาก่อน ดังนั้นผมพอจะทราบกระบวนการการทำหนังอยู่แล้ว ซึ่งมาถึงปัจจุบัน ผมพบว่ามันง่ายกว่าเมื่อก่อนอีก เมื่อก่อนต้องพึ่งตากล้องคนเดียวเต็มที่ เพราะไม่มีมอนิเตอร์ เราจะมาเห็นกันอีกทีก็ตอนที่ล้างฟิล์มแล้วว่าต้องถ่ายซ่อมไหม เดี๋ยวนี้มีทุกแผนกมาช่วยเสริมกัน เด็กเรียนฟิล์มจำนวนมากก็มีศักยภาพ เพียงแค่ก่อนเริ่มทำงาน เรามานั่งคุยกันที่โต๊ะให้เคลียร์ก่อนว่าเราจะสื่ออะไร จะเล่าอย่างไร ผมจะค่อนข้างพิถีพิถันกับบทด้วย ผมแก้ไปประมาณสิบร่าง กว่าจะนำไปถ่ายได้”
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในหนังของเขาก็คือ เอกชัยได้ดัดแปลงท่ารำในโนราให้มาอยู่ในแอ็คชั่นของตัวแสดงด้วย
“การที่ผู้ชายจะทำโนราให้อ่อนช้อยได้นี่ฝึกกันยากมาก แล้วในหนังเรื่องนี้ นักแสดงก็สื่อมันออกมาได้ อยากให้ลองดู ท่าสอดสร้อยมาลาอาจจะกลายเป็นท่วงท่าในการป้องกันตัวได้ยังไง นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมพยายามใส่ไว้ในหนัง”
ย้อนฟัง ‘หมากัด’ อะไรที่ใช่ อะไรเสื่อม
น่าเสียดายหากจะไม่ได้ไถ่ถามกันถึงเพลงนี้ และพอดีว่ากระแสเรื่องเพลงเสื่อม เพลงทะลึ่ง ก็เพิ่งซาไปได้ไม่นาน
“เพลงหมากัด ทุกคนอาจมองว่ามันทะลึ่ง แต่สำหรับผม ผมไม่ได้มองอย่างนั้นนะ เรื่องราวทางเพศในบทกลอน บางครั้งมันไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้ใครเกิดอารมณ์ทางเพศ แต่มันถูกใส่เข้ามาเพื่ออารมณ์ขัน ถ้าคุณฟังหมากัดแล้วคุณมีอารมณ์ทางเพศ ผมคงได้แต่ขอโทษ”
ยิ่งกว่านั้น เอกชัยยังเห็นว่า ในทางหนึ่งบทเพลงก็เป็นเครื่องสะท้อนสังคม
“วัฒนธรรมมันสะท้อนภาพสังคม ความเป็นอยู่ และตัวตนของเรา ผลผลิตทางวัฒนธรรมมันสามารถบันทึกและเล่าเรื่องของแต่ละยุคสมัยได้ไม่แพ้งานเชิงประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น เพลงสมัยก่อน ผู้หญิงอาจจะร้องว่า “คุณเห็นดีแล้วหรือคุณเจ้าขา” มันเป็นเรื่องน้ำตาของเมียหลวงที่ชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุด และคนที่มีสิทธิในการเคลื่อนไหวหรือตัดสินใจมักจะเป็นผู้ชาย แต่สมัยนี้ เนื้อเพลงผู้หญิงอาจจะร้องว่า “อาฮ่ะ อาฮ่ะ อาฮ่ะ อ่ะ อยากมีสามี” มันเปลี่ยนไปแล้ว มันสะท้อนว่าผู้หญิงสามารถเป็นฝ่ายแอคทีฟได้สิ ผู้หญิงก็พูดเรื่องนี้ได้ ไม่ว่ากัน ท้ายที่สุดแล้วอะไรที่มันชัด มันใช่ มันจะอยู่ อะไรที่ไม่ใช่ มันก็คงอยู่ได้แค่ช่วงเดียว”
สิ่งที่เขาเห็นว่าสำคัญจึงไม่ใช่เรื่องการจำกัดเรทอายุสำหรับคนที่จะเสพสื่อ เพราะที่สุดแล้วทุกคนก็สามารถเจอทั้งด้านมืดสุดขีดและด้านสว่างได้ผ่านอินเทอร์เน็ตที่แสนจะใกล้ตัว แต่สิ่งสำคัญควรเป็นการสอดแทรก ‘ราก’ ของวัฒนธรรมรวมถึงศิลปะเอาไว้เป็นเกราะป้องกันในตัวของแต่ละคนมากกว่า ในข้อนี้เขาเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพว่า มันคล้ายกับการปั่นน้ำผลไม้ ที่เราอาจจะใส่ส่วนผสมอื่นลงไปด้วยให้กลายเป็นเครื่องดื่มอื่นๆ แต่สิ่งที่ควรจะคงอยู่เหมือนเดิมคือสารอาหารดั้งเดิมในผลไม้ที่ควรยังต้องมีอยู่ในนั้น ไม่ว่ามันจะถูกเจือจางลงไปบ้าง แต่มันก็ยังต้องมี
“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราบังคับหรือหยุดมันไม่ได้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ สิ่งที่เป็นรากมันยังคงอยู่ได้ ถ้าหากเด็กๆ รุ่นใหม่ มีส่วนผสมของรากที่เป็นประโยชน์อยู่ในตัว มันจะเป็นเกราะป้องกันเขาจากสิ่งเหล่านั้นเอง มันอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซนต์หรอก แต่อย่างน้อยเขาอาจจะซอฟต์ลง นุ่มลง เขาอาจจะไปคิดเรื่องดนตรี คิดเรื่องศิลปะ มากกว่าที่จะไปหมกมุ่นว่าเพลงนี้พูดถึงเรื่องเพศ เราลองดูบ้างดีไหม”
เขาทิ้งท้ายว่า “มันจำเป็นต้องเปลี่ยนตามผู้บริโภค ไม่ว่ากัน ไม่อย่างนั้นเราคงต้องปิดประตูโลกทั้งหมด แล้วนั่งตีฉิ่งตีฉาบกันอยู่แค่นี้ มันทำไม่ได้หรอก มันก็ต้องรับวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามาเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ผิดเลย ผมไม่ค้านด้วย”
Fact Box
- การรำมโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงในภาคใต้ที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่องพระสุธน-มโนราห์ บางครั้งเล่นเป็นเพลงเพลงไป กำเนิดของโนราในภาคใต้ สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการร่ายรำของอินเดียโบราณ และเชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่หัวเมืองพัทลุง โดยมีเรื่องเล่าหลายฉบับที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไป ซึ่งถูกเล่ากันมาแบบปากต่อปาก
- เรื่องเล่าที่ค่อนข้างแพร่หลายคือ ที่หัวเมืองพัทลุงในสมัยอาณาจักรสทิงปุระ มีกษัตริย์ชื่อ เจ้าสายฟ้าฟาด ซึ่งมีลูกสาวชื่อศรีมาลาผู้มีความสามารถในการร่ายรำ และในฐานะนางนาฏศิลป์ เธอจะต้องถือพรหมจรรย์ แต่วันหนึ่ง นางศรีมาลาตั้งครรภ์ จึงถูกลอยแพออกไปที่เกาะห่างไกล ที่นั่น เธอได้คลอดลูกชื่อ เทพสิงหล หรือชายน้อย ซึ่งสืบทอดศิลปะการร่ายรำอันอ่อนช้อยจากผู้เป็นแม่ และในวันหนึ่งเขาก็ได้กลับมาร่ายรำถวายที่วัง ที่นั่นเขาได้พบกับเจ้าสายฟ้าฟาดที่ยอมรับนับถือในฝีมือรำของเขา จนได้รับมอบ ‘เทริด’ ที่เป็นหนึ่งในเครื่องทรงของกษัตริย์ ให้กลายเป็นเครื่องแต่งกายของโนรามาจนถึงปัจจุบัน