นิทรรศการ ‘สักสี สักศรี : ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน’ ที่จัดขึ้น ณ มิวเซียมสยาม ได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างสวยงาม ผู้ชมได้ทำความเข้าใจวัฒนธรรมการสัก การหายไปหรือถูกทำให้หายไป จนถึงการรื้อฟื้นรอยสักที่เต็มไปด้วยวิถีและความเชื่อทั้งของชาวล้านนาในไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ในไต้หวัน นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและจำเป็นต้องพูดถึง
นั่นคือวิธีการของพิพิธภัณฑ์ในไต้หวันที่โอบรับความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในไต้หวัน นั่นหมายถึง ในทางหนึ่งพวกเขาไม่ได้ถูกรัฐผลักไสออกไปให้กลายเป็นคนนอก แต่ใช้กลไกทางวัฒนธรรมเพื่อรับเอากลุ่มชาติพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ อย่างที่เราไม่ได้เห็นสักเท่าไรในประเทศไทย
เนื่องจากนิทรรศการ สักสี สักศรี ครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของมิวเซียมสยาม และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน กับสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ทำให้ทีมงานได้เห็นวิธีการและแนวคิดสำคัญของไต้หวัน ในโอกาสนี้ เราจึงชักชวน ‘ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร’ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ แห่งมิวเซียมสยาม มาบอกเล่าให้เราฟัง พร้อมๆ กับพาเราไปรู้จักกลุ่มชาติพันธ์ที่มีวัฒนธรรมการสัก สำหรับคนที่พลาดชมงานนิทรรศการด้วย
เผ่าของคุณคือใคร คุณเป็นใครในเผ่า?
“ในนิทรรศการนี้ มีส่วนหนึ่งที่เราชอบมากๆ ก็คือวิดีโอจากฝั่งไต้หวัน เป็นแอนิเมชันที่นิดๆ หน่อยๆ ไม่ต้องยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องใช้ภาษา แต่สื่อสารได้เข้าใจง่าย มันปูพื้นให้เห็นว่าการสักในไต้หวันเนี่ย จริงๆ แล้วมันเป็นของกลุ่มชนดั้งเดิม กลุ่มชนพื้นเมืองจริงๆ หลายกลุ่ม และจริงๆ แล้วการสักก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใหญ่ มันผูกโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา
เช่นเผ่าไผวัน (Paiwan) ที่ปรากฏในนิทรรศการนี้ ไม่ใช่ว่าทุกคนมีสิทธิ์สักได้ คุณต้องเป็นใครสักคนในสังคมนั้น เช่น คุณต้องเป็นลูกสาวคนโต หรือต้องเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวผู้นำ ก็จะมีลายเฉพาะสำหรับชนชั้นนั้นๆ หรือต้องทำความดีความชอบ เช่น เป็นนักรบล่าหัวมนุษย์ เพราะสมัยก่อนยังเป็นสังคมดั้งเดิมเนอะ ใครเข้าไปในเขตแดนของเผ่าก็จะต้องถูกฆ่า การฆ่านั้นหมายถึงการปกป้องดินแดน ซึ่งการจะบอกว่าฉันฆ่าคนได้มากเท่าไหร่ ก็ต้องตัดหัวกลับมา และเมื่อได้หัวกลับมาก็จะได้รับการสักเพื่อบันทึกไว้บนร่างกาย คนเห็นร่างกายของคุณแล้วก็จะรู้ว่าคุณทำอะไรมาบ้าง สังกัดอะไร หรือเป็นใครในเผ่า” ฆัสราเล่า
โทเทม – รูปสลักที่บ่งบอกความเป็นชนเผ่า และรอยแผลจากญี่ปุ่น
ถัดจากวิดีโอจากทีมงานไต้หวัน ยังมีหุ่นรูปสลักโทเทมขนาดใหญ่ หากมองเผินๆ คงไม่ต่างจากรูปสลักไม้ทั่วไปแต่นี่เป็นเครื่องยืนยันความสนใจขององค์กรรัฐที่มีต่อคนชาติพันธุ์ในท้องถิ่น ฆัสราเล่าว่ารูปสลักชาย-หญิงคู่นี้ เป็นวัตถุจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวันทำงานร่วมกับศิลปินเผ่าไผวันผู้พยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมของตัวเอง ฆัสราเล่าว่า
“ที่ไต้หวันมีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่ทำงานภายใต้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และหลายพิพิธภัณฑ์ก็จัดกิจกรรมที่พยายามดึงกลุ่มชาติพันธ์มามีส่วนร่วมอยู่เรื่อยๆ มีพิพิธภัณฑ์หนึ่งซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ อยู่ที่เมืองไหตง ซึ่งอยู่ในเขตของกลุ่มชาติพันธุ์ไผวัน แทนที่เขาจะทำเฉพาะเรื่องก่อนประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีเท่านั้น แต่ไม่ เขาทำเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย เพราะเขาอยู่ที่นั่น เราจึงจะเห็นบทบาทของพิพิธภัณฑ์ว่าไม่ใช่จะทำเฉพาะ mission ของตัวเอง แต่ยังทำงานกับชุมชนที่ตัวเองอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่าสนใจ”
และรูปสลักโทเทมสองชิ้นนี้เอง ได้พาเราไปเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของเผ่าไผวัน ที่เคยถูกประเทศญี่ปุ่นพยายามเข้ามาลดทอนความเป็นชนเผ่าของพวกเขาให้กลายเป็น ‘หนึ่งเดียว’ กับทั้งไต้หวันที่ตอนนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ศิลปินคนดังกล่าวที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ จึงสลักหุ่นโทเทมนี้ขึ้นเพื่อสื่อถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยถูกทำให้หายไป รูปสลักแสดงให้เห็นภาพสิ่งที่ชาวไผวันเป็นก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซง นั่นคือหญิง-ชายที่มีร่างกายเต็มไปด้วยรอยสัก ส่วนไม้ที่ใช้แกะสลักก็เลือกมาอย่างมีนัยสำคัญ
“การสักนี่มันหายไปจากสังคมไต้หวันนับสิบปี เพราะตอนที่ญี่ปุ่นมาครอบครองไต้หวัน ญี่ปุ่นได้เข้ามาจัดการกับวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งการล่าหัวมนุษย์ของเผ่าไผวัน ก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องป่าเถื่อน และญี่ปุ่นก็สั่งห้ามอย่างเด็ดขาด แล้วสิ่งที่หายไปพร้อมกับการล่าหัวมนุษย์ก็คือรอยสัก ญี่ปุ่นต้องการให้ทุกชนเผ่าเข้ามาอยู่กับสังคมใหญ่ เพื่อที่จะเป็น Taiwanese แล้วคนก็เลยเลิกสัก แล้วก็มีการดูแคลนวัฒนธรรมตัวเอง
ต่อมาอีกเป็นสิบปี ถึงจะมีคนรุ่นหลังๆ ย้อนกลับไปรื้อฟื้นสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง ไปเก็บบันทึก document ใหม่หมดเลย ทั้ง ภาษา อาหาร เมื่อก่อนบรรพบุรุษเรากินอะไรกัน ชาวไผวันไม่กินข้าวแบบคนจีน แต่กินข้าวฟ่าง อะไรอย่างนี้ แล้วก็เริ่มกลับไปหาคนเฒ่าคนแก่ ทำลูกปัด ทอผ้า รอยสัก
ทีนี้ศิลปินคนนี้เลยกลับไปศึกษาเรื่องบ้านตัวเอง แล้วก็ทำโทเทมนี้ขึ้นมา ซึ่งแต่ก่อนถ้าเราเข้าไปในเขตชาวไผวัน เราจะเห็นโทเทมตัวใหญ่เหล่านี้ที่แสดงว่าเราได้เข้าไปอยู่ในดินแดนของพวกเขาแล้ว ซึ่งลวดลายที่เห็นบนตัวหุ่นมันมาจากการศึกษาทั้งนั้น ตัวที่เป็นผู้หญิงก็จะสักมือ ผู้ชายจะสักตัว ลวดลายที่สักบนมือเนี่ยทำให้เห็นว่าผู้หญิงคนนี้เป็นชนชั้นนำ เพราะว่ามีรูปคนอยู่บนมือ ชนชั้นนำเท่านั้นที่สามารถมีรูปคนอยู่บนมือหรือบนเสื้อผ้าได้ ถ้าคุณเป็นคนธรรมดามาสักลายนี้ไม่ได้ ลูกปัดก็เหมือนกัน ทุกอย่างแสดงสถานะทั้งหมด เป็นรายละเอียดที่ศิลปินศึกษามา”
นอกจากเครื่องแต่งกายและรอยสักบนตัวหุ่นที่มาจากการศึกษาของศิลปิน ที่สะท้อนภาพของสิ่งที่ประเทศเจ้าอาณานิคมพยายามทำให้หายไป ไม้ที่นำมาแกะสลักก็ยังเป็นไม้การบูร ฆัสราเล่าว่า สมัยที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองไต้หวัน ทางการญี่ปุ่นได้ไล่กลุ่มชนเผ่าออกจากถิ่นที่เคยอยู่อาศัย เพื่อใช้พื้นที่ในการปลูกการบูรซึ่งนับเป็นไม้เศรษฐกิจของช่วงเวลานั้น การเลือกบันทึกวัฒนธรรมของตนเอาไว้บนสัญลักษณ์ของผู้เข้ามารุกรานวัฒนธรรมจึงนับว่าแสบๆ คันๆ ไม่ใช่น้อย
สามีใช้ศาสตร์ใหม่ ภรรยาใช้ศาสตร์ดั้งเดิม
มีภาพชุดหนึ่งที่ดูเป็นพอร์เทรตคนชนเผ่าบนผืนผ้า คล้ายเป็นภาพพิมพ์ทั่วๆ ไป ที่ผู้ชมนิทรรศการหลายคนมองผ่าน แต่เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่ง
“คนที่สนใจก็อาจจะคิดว่าเป็นผ้าพิมพ์ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการทอผ้าให้เป็นลายหน้าคนขึ้นมา ศิลปินทอผ้าเป็นผู้หญิง ส่วนช่างภาพคนที่ถ่ายภาพนี้คือสามีของเธอ ซึ่งทั้งคู่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปิน ที่โน่นเขาก็จะเรียกว่าเป็น weaving artist, photo artist, tattoo artist คือเขาให้ค่ากับคนที่ทำงาน ทีนี้พองานภาพถ่ายของสามีถ่ายเป็นดิจิทัลปรินต์ใช่ไหม แนวคิดก็คือว่า จะทำยังไงให้เห็นการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ สิ่งเก่าก็คือเขากลับไปหาเทคนิคการทอผ้าแบบเดิม แล้วก็รูปที่ถ่ายเขาก็บอกว่าไม่ได้เน้นให้คนแต่งตัวในแบบดั้งเดิม เขาพยายามเสนอภาพชนเผ่าในแบบ everyday life ให้ถึงที่สุด ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วทุกคนก็เป็นคนเหมือนกับคนอื่น”
สำหรับภาพวาดพอร์เทรตที่เรียงรายอยู่เต็มผนังด้านหนึ่งของนิทรรศการ เป็นภาพวาดของศิลปินชาวไท่หยา (Atayal) ที่วาดภาพใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยสักของบรรดาเพื่อนร่วมชนเผ่า
“ความน่าสนใจคือชิ้นงานจริงทั้งหมด ติดตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในไทเป ซึ่งเราไม่เห็นสิ่งนี้ในไทย เราไม่ค่อยเห็นงานที่แสดงอัตลักษณ์ของชาวเขาหรือชาวเลในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรามองว่านี่คือความก้าวหน้าของศิลปะ ความก้าวหน้าของไต้หวัน ที่เขาคิดว่าใครบ้างคือส่วนหนึ่งของชาติเขา แล้วเขาก็ให้ค่ากับงานของคนที่เป็นคนพื้นเมืองอย่างแท้จริง”
วิถีหรือป่าเถื่อน ควรถูกกลืนหรือคืนกลับ
เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชาวไผวัน ในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองไต้หวัน ทางการญี่ปุ่นพยายามทำให้ชาวไท่หยา ‘ลบรอยสักจากใบหน้า’ เพราะรอยสักเหล่านั้นบ่งบอกความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชัดเจน และนำไปสู่ความแปลกแยกในสายตาของรัฐ ขณะที่ตามความเชื่อของเผ่า การสักใบหน้าทำให้ชาวไท่หยาที่ตายลงไป สามารถข้ามสะพานสายรุ้งไปเจอกับบรรพบุรุษได้ เมื่อพวกเขาไม่มีรอยสักบนใบหน้า ความเชื่อมต่อทางจิตวิญญาณนี้จึงต้องสิ้นสุดลงพร้อมๆ กับอัตลักษณ์ความเป็นไท่หยาด้วย
“การสักของชาวไท่หยามันจะไม่เหมือนการสักสมัยใหม่ที่คุณชอบลายอะไรก็ไปสัก แต่อันนี้คุณจะต้องผ่านคนในเผ่า สมมติเราเป็นผู้หญิงธรรมดา เป็นลูกสาวคนโต แต่ไม่ได้เป็นชนชั้นสูง พ่อแม่ก็จะต้องไปหาผู้นำหมู่บ้าน เพื่อที่จะอธิบายว่าเราเป็นอย่างนี้นะ ผู้นำถึงจะบอกว่า โอเค ลายที่คุณจะสักได้คือลายนี้”
ฆัสรายังอธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนการ ‘กลืน’ อัตลักษณ์ชนเผ่าในกรณีนี้ว่า
“มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกอะ ในยุคนั้น เจ้าอาณานิคมก็คือคนออกกฎ แล้วก็สมัยก่อน การมองคนอื่นเป็น barbarian (คนเถื่อน) เป็นเรื่องปกติมาก การมองว่ามนุษย์มันเท่ากันเนี่ย ก็เมื่อไม่นานมานี้เอง นี่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ทีนี้การที่เจ้าอาณานิคมพยายามกำจัด barbarian ด้วยความชอบธรรมจึงเกิดขึ้นในหลายๆ ที่ เช่นในแคนาดา ในฮาวาย ในอเมริกาก็เหมือนกัน เราไม่เคยรู้เลยว่า อินเดียนในแคนาดาก็สักด้วย แล้วก็กลับมารื้อฟื้นเหมือนกัน เรื่องราวของการรื้อฟื้นก็เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะว่ามันคือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์หลังอาณานิคม มาจากความคิดที่ว่าอะไรที่มีมาก่อนอาณานิคมบ้าง ฉันจะกลับไปศึกษามัน แล้วก็บันทึกมัน”
มาถึงตรงนี้ คำถามในใจเรายิ่งชัดเจนขึ้น เพราะเมื่อใช้สายตาอย่างคนธรรมดาในยุคสมัยนี้มองไปยังวิถีชนเผ่าอย่างการรับรอยสักหลังจากตัดหัวมนุษย์ หรือวิดีโอสัมภาษณ์ผู้หญิงชาวไท่หยาที่เล่าถึงตอนที่ตนยังเด็กและถูกจับให้สักบนใบหน้า หลายคนถูกผู้ใหญ่ล็อกตัวให้สัก หลายคนยอมรับว่านั่นเป็นความเจ็บปวดที่สุดในชีวิต เราเห็นภาพของสังคมชายเป็นใหญ่หรือระบบชนชั้นวรรณะ และยังไม่แน่ใจว่าเราควรมองประเด็นนี้อย่างไรดี—เราถามสิ่งนี้กับฆัสรา
“ทุกวันนี้มันจบไปแล้วเนอะ แล้วในหลายสังคมก็มีวิธีที่จะนำความทรงจำของตัวเองกลับมา เช่นในฟิลิปปินส์ก็มีกลุ่มที่ล่าหัวมนุษย์ แล้วเขาก็ไม่สามารถที่จะกลับไปจุดนั้นได้แล้ว เลยมีการใช้สัญลักษณ์บางอย่างแทนเช่นว่าใช้ลูกมะพร้าวในพิธีกรรมแทนหัวคน อย่างกรณีที่ไต้หวัน เรื่องนี้ก็เป็นคำถามที่เรามีกับเขาเหมือนกันนะ ตอนที่ไปตามรอยชนเผ่า เราก็เห็นหลายหมู่บ้าน หลายชุมชนพยายามกลับไปใช้วิถีแบบเดิม เช่น เขามี Communal House สำหรับเด็กผู้ชาย มีวิธีฝึกให้เด็กผู้ชายเป็นผู้ชาย แล้วบ้านหลังนั้นห้ามผู้หญิงเข้า ห้ามใครเข้าไป ไม่มีใครรู้ว่าข้างในนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีการตี ฝึกความอดทนของร่างกายอะไรแบบนี้ เราก็งง ไม่รู้จะมองสิ่งนี้ยังไง
นี่เป็นเรื่องที่เราอยากรู้เหมือนกัน เป็นคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาทำ มันคือการไปละเมิดสิทธิ์ของคนซึ่งอยากจะอยู่กับวิถีแบบเดิมในโลกสมัยใหม่หรือเปล่า ถ้าตราบใดที่ไม่มีการบังคับกัน และเมื่อเขาสมัครใจที่จะกลับไปเรียนรู้วิถีแบบดั้งเดิม ตราบใดที่มันยังเป็นการเลือกของบุคคลได้อยู่ เราคิดว่ามันโอเค”
ในทำนองเดียวกัน ฆัสราเล่าถึงวิถีของชนเผ่ากะเหรี่ยงในชุมชนหินลาด จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่เธอเพิ่งไปเยี่ยมชมมา
“ที่นั่นก็จะมีการให้เด็กผู้หญิงมาตำข้าว ทำกับข้าวรองรับพวกเรา เราก็จะแบบ อ้าว แล้วเขาไม่ต้องไปโรงเรียนเลยเหรอ คนที่ไปเยี่ยมชุมชนบางคนก็ไม่ได้เห็นค่ากับอาหารมื้อที่กินเลยนะ เพราะมันไม่ถูกปาก แต่นี่เป็นแรงงานของเด็กคนนี้ ซึ่งชีวิตของเขาคือการตำข้าว เราก็จะคิดว่าเราควรรู้สึกยังไงดีนะ แต่ว่าเราได้ไปคุยกับน้องผู้หญิงคนนี้ เขาก็บอกว่าอยากจะรู้อยากจะอยู่แบบบรรพบุรุษเขา นี่คือการเลือกของเขา อย่างที่เราบอกนั่นแหละตราบใดที่คุณไม่ได้ถูกบังคับ เราโอเค”
ฆัสรายังเสริมว่า
“แต่เท่าที่เห็นก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกลับไปยึดวิถีดั้งเดิมนะคะ อย่างชาวเผ่าไผวัน เราก็เจอหลายคนที่เขาไม่ได้สัก ก็จะมีเจเนอเรชันหนึ่งที่ไม่ต้องการจะกลับไป เขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของไทเป แล้วก็จะมีเจเนอเรชันใหม่ที่อยากจะเก็บวิถีดั้งเดิมไว้ในฐานะของมีค่า กลับไปศึกษา มันมีอะไรหลายอย่างที่เราตอบแทนเขาไม่ได้”
อีกส่วนที่น่าสนใจคือวิถีชนเผ่าที่มาพร้อมเรื่องชนชั้นวรรณะ ในวันเปิดนิทรรศการมีตัวแทนของชนเผ่ามาร่วมงานด้วย แต่มีการขอไม่ให้เผยภาพของคนดังกล่าว เนื่องจากเขาไม่ได้เกิดในตระกูลชนชั้นนำ ไม่สามารถเป็น ‘ตัวแทน’ ของเผ่าได้ ทั้งที่ในมุมมองของรัฐ เขาคนนี้เป็นตัวแทนชนเผ่า
“มันเป็นการปะทะกันระหว่างระเบียบของรัฐกับของเผ่าอะไรอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเราเป็นคนนอกก็ได้แต่สังเกตการณ์ มันมีหลายมิติมากเลยเนอะ” ฆัสราเสริม
เมื่อคุยกันมาถึงจุดนี้ เราก็อดจะพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยไม่ได้ เมื่อเราเห็นรอยร้าวมากมายระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มชนเผ่า ตั้งแต่เรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ สวัสดิการรัฐ จนถึงสิทธิของพวกเขาในการอยู่กับป่า
รัฐ vs ชนเผ่า
องค์กรหนึ่งที่แข็งแกร่งมากๆ ในไต้หวัน และเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เกิดการรื้อฟื้นวัฒนธรรมต่างๆ ได้แก่ ‘สภาชนเผ่าพื้นเมือง’ ที่ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า เป็นไปได้ไหมว่าในเมืองไทยจะสามารถมีองค์กรอย่างนี้เกิดขึ้น
“สภาชนเผ่าพื้นเมืองของเขาไม่ใช่ไก่กานะ มันมีสถานภาพเท่ากระทรวงวัฒนธรรม ไม่ใช่หน่วยงานเล็กๆ จิ๊บจ๊อย แต่มีหน้าที่ผลักดัน เชิดชูชนเผ่าพื้นเมืองให้สภากลางได้ยอมรับ เช่นการอนุญาตให้ใช้ที่ดินทำกิน หมายถึงว่ามีสิทธิ์ในที่ดินทำกินดั้งเดิม ยังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม โอเค ส่วนการผลักดัน หรือการสู้ในทางที่ดินของเขาก็ไม่ได้ราบรื่นหรอก บางหมู่บ้านที่เราไปเห็นก็มีกรณีว่านายทุนจะมาสร้างโรงแรมในพื้นที่ของชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็ประท้วง ปิดถนน ปาไข่ จนกระทั่งไปเดินเรื่องทางสภาชนเผ่า ซึ่งในที่สุดแล้ว ศาลก็ตัดสินให้นายทุนนั้นถอยออกไป จริงๆ แล้ว ประเด็นแบบนี้มีตลอด พื้นที่ถูกบุกรุกแหละ แต่อย่างน้อยมีกลไกให้คนสู้
“ขณะที่ในบ้านเรา คนก็จะรู้สึกว่าคนไทยมีชนเผ่าไม่ได้เยอะด้วยซ้ำ อาจจะเห็นว่ามีแค่ที่เชียงใหม่ แต่จริงๆ แล้วเรามีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ทั่วประเทศ แต่ไม่เคยเป็นประเด็น ไม่เคยถูกนับรวม แล้วก็ไม่เคยมีคนสนใจ หรืออาจจะไม่ได้แคร์ว่ามีคนถูกไล่ที่ หรือน้ำที่เขากินเต็มไปด้วยสารพิษจากโรงงาน อย่างกรณีของชุมชนคลิตี้ ที่ทองผาภูมิ คือพอพวกเขาไม่ได้ถูกนับว่าเป็นคนไทย คนไทยก็อาจจะไม่ค่อยแคร์เขาเท่าไหร่ คือคอนเซ็ปต์ความเป็นไทยก็มีบางอย่างให้เขาเกาะ และนับรวมตัวเองเข้ามา แต่ในทางสวัสดิการรัฐแล้ว พวกเขาแทบไม่ได้รับเลย ถ้าพูดถึงสภาชนเผ่าเหรอ (หัวเราะ) หา มันคืออะไรนะ”
Tags: สักสี สักศรี, ไต้หวัน, มิวเซียมสยาม, กลุ่มชาติพันธุ์, วิถีชนเผ่า