100 กว่าปี คืออายุเครื่องทรงบางชิ้นของเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่ถูกเก็บรักษาไว้แม้สภาพจะร่วงโรยไปมากตามกาลเวลา

1 ปีกว่า ที่เครื่องแต่งกายเหล่านี้ถูกส่งไปทำความสะอาดและซ่อมแซมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

และเพียง 1 สัปดาห์ที่เครื่องทรงหาดูยากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้จะถูกจัดแสดงกลางกรุงย่างกุ้งเป็นครั้งแรก

เครื่องทรงโบราณกับความทรงจำที่ขาดวิ่น

Exhibition of the Rare Traditional Costumes of Shan Sawbwas เป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดแสดงเครื่องทรงโบราณของราชสำนักไทใหญ่ (หรือรัฐฉาน) ทั้งสิ้น 30 ชุด จากทั้งหมด 138 ชุด ที่ทางพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเมืองยองห้วย (หอเจ้าฟ้าเดิม) ในรัฐฉาน ส่งมอบให้ทางพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมียนมามาทำความสะอาดและซ่อมแซมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติภายใต้โครงการอนุรักษ์ตั้งแต่ปี 2017 ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามมาตรฐานสากล นี่นับเป็นความเพียรพยายามร่วมมือกันรักษาประวัติศาสตร์ ชนชาติไทใหญ่และเป็นครั้งแรกที่มรดกทางวัฒนธรรมนี้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยส่วนกลางของเมียนมา

รัฐฉานหรือเมิงไต เป็นรัฐทางฝั่งตะวันออกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาซึ่งมีชายแดนติดกับภาคเหนือของประเทศไทย บนพื้นที่กว่าครึ่งของประเทศนี้มีชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ (หรือชาวไต/ฉาน แล้วแต่เรียก) อาศัยอยู่ ซึ่งอดีตนั้นรัฐฉานปกครองด้วยระบบเจ้าฟ้า โดยทั้ง 34 เมืองใหญ่ เช่น เมืองยองห้วย เชียงตุง สีป่อฯลฯ ก็จะมีเจ้าฟ้าปกครองตนเอง

ในบรรดาเครื่องแต่งกายที่นำมาจัดแสดงนี้ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องทรงที่หลงเหลืออยู่ของ ‘เจ้าฟ้าส่วยเต็ก’ (หรือส่วยไต้ก์ หรือออกเสียงตามภาษาเมียนมาว่า ชเวไต้ก์) เจ้าฟ้าเมืองยองห้วย ผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำจัดประชุมลงนามข้อตกลงปางโหลงครั้งแรก ข้อตกลงที่มีสาระสำคัญเพื่อยกระดับความเสมอภาคและการเข้าไปมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในสภานิติบัญญัติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศเมียนมา (ในรัฐธรรมนูญปี 1947 chapter 10 กล่าวถึงสิทธิในการแยกตัวปกครองตนเองหลังอังกฤษให้เอกราชครบ 10 ปี) (อรรคณัฐ, 2019) ต่อมาหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 เจ้าฟ้าส่วยเต็กก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของ ประเทศเมียนมา จนกระทั่งนายพลเนวินทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลอูนุอย่างเบ็ดเสร็จในปี 1962 เจ้าฟ้าไทใหญ่ทั้งหมดถูกจับกุม บ้างก็ถูกสังหาร หอเจ้าฟ้าต่างๆ ถูกยึดเป็นค่ายทหาร บ้างก็ถูกทำลาย เจ้าฟ้าส่วยเต็กเองก็ถูกจับไปคุมขังที่คุกอินเส่ง นรกบนดินที่ใช้คุมขังนักโทษการเมืองของเมียนมา จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ลงที่คุกนั้นในอีก 8 เดือนต่อมา นับเป็นการปิดฉากเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเมืองยองห้วยและประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเมียนมาร์ลงอย่างน่าสะเทือนใจ ส่วนเจ้าเฮือนคำภรรยาก็พาครอบครัวที่เหลือหลบหนีลี้ภัยมายังประเทศไทยก่อนจะผลักดันให้เกิดกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (Shan State Army-SSA) ในเวลาต่อมา

คืนชีพประวัติศาสตร์ผ่านปลายผ้า

หลังกองทัพเมียนมายึดทรัพย์สมบัติต่างๆ และหอเจ้าฟ้าเมืองยองห้วยก่อนจะถูกปล่อยร้างทรุดโทรมมานาน นางเห่หม่าเต็ก ทายาทคนหนึ่งของเจ้าฟ้าส่วยเต็กจึงได้พยายามยื่นเรื่องขอคืนจากรัฐบาลเพื่อปรับปรุงเป็นพื้นที่แสดงประวัติศาสตร์ของคนไทใหญ่ จนกระทั่งปี 2013 รัฐบาลกลางจึงส่งมอบให้รัฐบาลท้องถิ่นฉานดูแล โดยหนึ่งในบรรดาทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือที่ทางพิพิธภัณฑ์ยองห้วยเก็บรักษาและนำมาจัดแสดงก็คือเครื่องแต่งกาย แต่ด้วยเวลาผ่านมานานหลายปีประกอบกับการเก็บรักษาไม่ถูกวิธีทำให้เสื้อผ้าอาภรณ์เหล่านี้ชำรุดเสียหาย ทางรัฐบาลฉานและทายาทของเจ้าฟ้าส่วยเต็กต้องการให้มรดกทางประวัติศาสตร์นี้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจึงได้ส่งเครื่องทรงโบราณทั้งหมด 138 ชิ้นมายังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมียนมาเพื่อทำความสะอาดและฟื้นฟูซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมและสมบูรณ์ที่สุดก่อนจะส่งคืนไปแล้ว 108 ชิ้น

ในนิทรรศการ Exhibition of the Rare Traditional Costumes of Shan Sawbwas นี้ได้นำเครื่องแต่งกายของเจ้าฟ้าส่วยเต็ก ราชวงศ์ และขุนนางระดับต่างๆ ในราชสำนักยองห้วยที่เหลือทั้ง 30 ชิ้น (ซึ่งเป็นล็อตสุดท้ายก่อนจะส่งกลับคืนรัฐฉานทั้งหมดหลังสิ้นสุดนิทรรศการ) มาจัดแสดง ประกอบไปด้วยเสื้อ 24 ตัว กางเกง 1 ตัว ผ้าพันคอ 1 ผืน ผ้าคาดเอว/ศีรษะ 1 ผืน และรองเท้าอีก 3 คู่ ซึ่งบางชุดก็ยังไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ไหนมาก่อน บางชุดอย่างชุดของเจ้าฟ้าส่าเจ้าหม่องผู้มีศักดิ์เป็นอาของเจ้าฟ้าส่วยเต็กที่เคยปกครองเมืองยองห้วยมาก่อนนั้นก็มีอายุถึง 130 ปี หรือชุดของมหาเทวีเจ้านางยา ภรรยาของเจ้าฟ้าส่าเจ้าหม่องก็เป็นเพียงอาภรณ์เดียวของผู้หญิงที่หลงเหลืออยู่

เมื่อเดินขึ้นมายังห้องอเนกประสงค์ที่ใช้จัดแสดงนิทรรศการ ด้านหน้าทางเข้าจะมีโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ฉายขั้นตอนดำเนินการทำความสะอาดและซ่อมแซมเครื่องทรงที่ชำรุดทั้ง 138 ชุด ซึ่งใช้เวลานานเกือบ 2 ปี  โดยหนึ่งในทีมงานและผู้ช่วยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ได้ให้สัมภาษณ์ใน The Myanmar Times ว่าเครื่องแต่งกายเหล่านี้ชำรุดเสียหายมาก ส่วนใหญ่มีสีซีดจาง รอยตะเข็บชำรุด ผ้าบางส่วนขาด บางตัวก็มีรอยยับลึกเนื่องจากถูกพับเก็บไว้นาน หรือบางชุดก็มีเทคนิคการทอและประดับตกแต่งซับซ้อนอย่างมาก ทีมงานจึงต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมผ้าแต่ละชิ้นมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดของเจ้าฟ้าส่าเจ้าหม่องที่มีอายุกว่า 130 ปี ต้องใช้เวลานานถึง 1 เดือนในการซ่อมแซม

 

นอกจากนี้ทางทีมงานก็ต้องระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบ เอาใจใส่ และใช้ความอดทนตั้งแต่การทำความสะอาดรอยเปื้อนต่างๆ การย้อมสีที่ซีดให้กลับมาสดใส การใช้สารเคมีทำความสะอาดโลหะและอัญมณีโดยไม่ให้กระทบต่อเนื้อผ้า หรือการซ่อมแซมโครงสร้างเทคนิคดั้งเดิมของชุดนั้นๆ บางชิ้นเย็บปักด้วยมือแบบโบราณ ทีมงานก็ต้องใช้เวลาซ่อมแซมด้วยวิธีการเดียวกัน ซึ่งงานที่ยากก็คือชุดที่มีเทคนิคประดับตกแต่งผสมกันระหว่างโลหะ อัญมณีหายาก เส้นไหมทองคำ เป็นต้น

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว รัฐฉานยังรุ่มรวยไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย และเครื่องทรงโบราณของราชสำนักไทใหญ่ที่ถูกจัดแสดงนี้ก็เป็นอีกหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงทักษะของช่างฝีมืออันประณีตและความรุ่งเรืองของอาณาจักรไทใหญ่ในอดีตได้เป็นอย่างดี

รอยต่อบนผืนผ้ากับอนาคตที่ปรารถนา

ปัจจุบันมีนักออกแบบชาวเมียนมารุ่นใหม่สนใจและพยายามนำเครื่องแต่งกายดั้งเดิมเหล่านี้มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่เคยได้เห็นเครื่องแต่งกายดั้งเดิมจริงๆ ทำให้ขาดแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องและเกิดการตีความที่คลาดเคลื่อนไป ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมียนมาได้บอกว่านิทรรศการนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่นักออกแบบรวมถึงผู้ที่สนใจจะได้มาศึกษาและชื่นชมความงามจากเครื่องแต่งกายจริงๆ นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่าได้ตั้งใจวางแผนจัดแสดงเครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ในขณะที่เดินชมเครื่องแต่งกายโบราณก็เห็นว่ามีผู้ที่สนใจมาชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ พระ หรือชาวต่างชาติ และหนึ่งในนั้นก็มีชาวไทใหญ่ด้วยเราจึงถือโอกาสเข้าไปทักทายและชวนคุย อดีตวิศวกรที่ปัจจุบันหันมาเอาดีด้านบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวเล่าให้ฟังว่าที่พิพิธภัณฑ์ยองห้วยจะจัดแสดงในพื้นที่เล็กๆ มีจำนวนไม่เยอะ ไม่มีการจัดไฟ แล้วก็มีกระจกครอบทำให้มองไม่ค่อยเห็นรายละเอียดเท่าไหร่ แต่ที่นี่เราสามารถดูได้ใกล้ๆ ให้ความรู้สึกชัดเจนกว่า

“รู้สึกภาคภูมิใจที่ชาติเรา (ไทใหญ่) มีวัฒนธรรมที่สวยงามและยิ่งใหญ่แบบนี้ แต่ก็เสียใจที่เราไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง” บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวหนุ่มชาวไทใหญ่บอกทิ้งท้ายเมื่อเราถามถึงความรู้สึกเมื่อได้มาชมนิทรรศการที่จัดแสดงมรดกวัฒนธรรมของชนชาติตนในอดีต

ในยุคที่ประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาเบ่งบานมากขึ้น หลังจากที่วัฒนธรรมและสมบัติทรงจำของรัฐต่างๆ ถูกคณะรัฐประหารยึดและทำลายไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งความพยายามในการใช้นโยบายชาตินิยมกลบกลืนความหลากหลายของชนชาติพันธุ์อื่นมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่น นี่อาจเป็นอีกหนึ่งความหวังและหมุดหมายใหม่ที่วัฒนธรรมของของชนชาติพันธุ์ถูกเชิดชูและอวดสู่สายตาชาวโลกในฐานะวัฒนธรรมร่วมของชาติอย่างภาคภูมิและเท่าเทียมกันมากขึ้น…

อ้างอิง:

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ. ข้อตกลงปางโหลงกับความเข้าใจผิดหลายประการ. สืบค้นจาก https://www.mekongchula.org/blog/panglong. 2562.

https://english.shannews.org/archives/19227

http://english.shannews.org/archives/18017

https://www.mmtimes.com/news/over-100-years-valuable-shan-saophas-costumes.html

https://www.mmtimes.com/news/painstaking-business-saving-shan-history.html

Fact Box

นิทรรศการนี้จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมียนมา เมืองย่างกุ้ง ตั้งแต่วันที่ 9-18 มิถุนายน 2019

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมียนมา (National Museum of Myanmar) ตั้งอยู่ที่ 66/74 ถนน Pyay เขต Dagon เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา

เวลาทำการ: วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30-16.30 (หยุดทุกวันจันทร์)/ สำหรับนิทรรศการนี้เปิดบริการทุกวัน

ค่าเข้าชม: 5,000 จ๊าด/ สำหรับนิทรรศการนี้เข้าชมฟรี

Facebook: National Museum –Yangon

Tags: