หนึ่งในบูธที่น่าสนใจในงาน Techsauce Global Summit 2018 คือ Taiwan Startup Stadium ที่พาเหล่าสตาร์ตอัปดาวรุ่งทั้ง 5 จากไต้หวันมาแนะนำตัว
Taiwan Startup Stadium คืออะไร Jen Chen ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและโครงการพิเศษอธิบายว่า “Taiwan Startup Stadium คือโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เป้าหมายหลักของเราก็คือการช่วยผลักดันสตาร์ตอัปไต้หวันให้ก้าวไปสู่ระดับโลก”
เริ่มต้นจากการคัดเลือกเหล่าสตาร์ตอัปมาเป็นสมาชิก ผ่านการกรอกใบสมัครออนไลน์และสัมภาษณ์เพื่อเข้าสู่โครงการ Starting Lineup เชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับทรัพยากรและแหล่งความรู้ต่างๆ เช่น ที่ปรึกษาชาวต่างชาติ นักลงทุน สื่อมวลชน บริษัท และหุ้นส่วนทางธุรกิจต่างๆ โดยมีคุณสมบัติผู้สมัครอยู่ว่า สตาร์ตอัปนั้นต้องอยู่ในไต้หวัน และมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นชาวไต้หวันอย่างน้อยหนึ่งคน
“สิ่งที่สำคัญมากเลยก็คือ ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจะต้องมีตัวอย่าง (demo) ออกมาให้ดูเป็นชิ้นเป็นอัน เราจะไม่รับแค่ไอเดีย และต้องมีภาพร่างของแอปพลิเคชัน รวมทั้งกลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ” Jen กล่าว
“วัฒนธรรมสตาร์ตอัปในไต้หวันเริ่มขึ้นมาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว จนถึงตอนนี้ Taiwan Startup Stadium มีสมาชิกมากกว่า 130 กลุ่มสมาชิก ทั้งหมดเป็นสตาร์ตอัปที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต น่าสนใจมากว่า 30% ของผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัปที่มาเป็นสมาชิกกับเราเป็นชาวต่างชาติ”
“มีเหตุผลหลายอย่างที่พวกเขาเลือกที่นี่ เช่น ประเทศเรามีวิศวกรที่มีความสามารถและค่อนข้างค่าแรงถูกเมื่อเทียบกับที่อื่น เมื่อสตาร์ตอัปเพิ่งเริ่มต้นและยังไม่มีเงินทุนมากนัก ที่นี่จึงเป็นที่ที่เหมาะที่จะตั้งทีมขึ้นมา อีกอย่างคือ ไต้หวันเป็นประเทศที่เปิดกว้าง เป็นที่รวมตัวของคนหลากเชื้อชาติ ชาวต่างชาติจึงรู้สึกสบายใจเมื่อได้ทำงานอยู่ในสังคมไต้หวัน”
สเตเดียมที่เพิ่มทุนความคิดและความรู้
“โครงการของเราต่างจาก accelerator อื่นๆ ตรงที่เราไม่ได้ลงทุนเงินให้กับสตาร์ตอัป สิ่งที่เราทำก็คือทรัพยากรและแหล่งความรู้ต่างๆ ที่ให้ไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย”
ตัวอย่างเช่น กิจกรรมประจำปีชื่อ ‘CEO day’ ที่จัดขึ้นสำหรับสมาชิก ให้เหล่าผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัปมารวมตัวกัน
“พวกเขาพูดคุยกันในหลายๆ ประเด็น เช่น การจ้างและการไล่ออก แลกเปลี่ยนกันว่า ถ้าจะไล่คนออกต้องทำอย่างไร เพราะปกติแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่พวกเขาไม่สามารถพูดคุยกับทีมของตัวเองได้ พวกเขายังพูดถึงความล้มเหลวของตัวเอง วัฒนธรรมในองค์กร วิธีการในการสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นมาในฐานะบริษัทเปิดใหม่”
นอกจากนี้ Taiwan Startup Stadium ยังทำหน้าที่พี่เลี้ยงแนะนำเทคนิคการกรอกใบสมัครส่ง accelerator ในต่างประเทศ
“เหมือนกับการสมัครเรียนปริญญาโท ช่วยโค้ชว่าควรอธิบายตัวเองอย่างไรในใบสมัคร ล่าสุด เราได้ช่วยให้สตาร์ตอัปมากกว่า 6 แห่ง ได้รับเลือกโดย accelerator ต่างประเทศ อย่าง ‘500 startups’ ‘Techstars’ ฯลฯ”
Jen บอกว่า กิจกรรมที่เป็นที่นิยมมากที่สุด เห็นจะเป็น ‘Term Sheet Bootcamp’ สอนวิธีเจรจาต่อรองกับเหล่านักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ
“พวกเขาต้องรู้จักเงื่อนไขและข้อสัญญา เอกสารในการทำข้อตกลงเหล่านั้น และสิ่งที่อยู่ในใจของนักลงทุน เพื่อจะได้สื่อสารกับพวกเขาได้ดีขึ้น และนำมาสู่ข้อตกลงที่ดีที่สุด”
เมื่อถามว่า ในฐานะที่ Jen ดูแลสตาร์ตอัปมามากมาย เธอคิดว่าอะไรเป็นจุดอ่อนสำหรับสตาร์ตอัปหน้าใหม่ในประเทศ
“เราเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านบุคลากรในแวดวงวิศวกรรม ในโลกของสตาร์ตอัปไต้หวันก็เป็นเช่นนั้น 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปมีพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรม พวกเขามีความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่พวกเขาไม่รู้วิธีที่จะขายหรือการทำการตลาด นั่นก็คือเหตุผลที่ทำไม Startup Stadium ถึงต้องมาที่นี่ และเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลจากต่างชาติได้มากขึ้น”
พาสตาร์ตอัปไต้หวันไปเจอโลก
“นี่เป็นอีกหนึ่งโครงการของเรา เรียกว่า Oversea Exhibition คัดเลือกสตาร์ตอัปมาโชว์ตัวในตลาดที่เหมาะสม เช่นกรณีนี้ก็คืองาน Techsauce ที่ไทย และยังมีงาน RISE ที่ฮ่องกง หรือ IVS (Infinity Venture Summit) เป็นต้น ในงานครั้งนี้ เรากำลังพยายามให้สตาร์ตอัปไต้หวันมาโฟกัสที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย ซึ่งจะเป็นแห่งแรกที่เราจะเข้ามาตั้งสำนักงานใน True Digital Park ภายในปีนี้”
สตาร์ตอัปไต้หวันที่มาร่วมในบูธนี้ ได้แก่ Clef Technology บริษัทตรวจจับและแจ้งเตือนการรั่วของท่อด้วยคลื่นเสียง SkyREC ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ซื้อสินค้า Tricella ผู้ผลิตกล่องยาที่แจ้งเตือนการกินยา UChangeTo บริการแลกเศษเงินสกุลต่างชาติให้เป็นเงินใน e-wallet และ ReCactus โซเชียลมีเดียสำหรับถ่ายปฏิกิริยาตัวเองต่อวิดีโอต่างๆ
Bernard Tan ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง ReCactus อธิบายว่าผลิตภัณฑ์ของเขาคือโซเชียลมีเดียสำหรับการลงวิดีโอบันทึกปฏิกิริยาของเราต่อวิดีโอต่างๆ เพื่อแชร์ให้เพื่อนๆ ดูอีกที โดยมีโมเดลการทำธุรกิจคือนำเอาคอนเทนต์ที่เกิดจากผู้ใช้ (User-Generated Content: UGC) ไปร่วมมือกับบริษัทโฆษณา สร้างเป็นแคมเปญโฆษณาในรูปแบบวิดีโอ เพิ่ม brand awareness ในหมู่คนรุ่นใหม่ๆ และทำให้เส้นแบ่งระหว่างเนื้อหากับโฆษณาเลือนรางลง เช่น บริษัทแฟชั่นในเกาหลีใต้ มาร่วมมือกับ ReCactus ออกแคมเปญโพสต์ท่าแบบเคป็อป 5 ท่า แล้วแท็กชวนเพื่อนอีก 5 คนให้มาทำต่อๆ กันไป แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดียอื่นๆ ใครทำได้ดีที่สุด รับไปเลยเวาเชอร์สั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์
“มันซื่อตรงกว่า เพราะเห็นหน้าของผู้ใช้ได้เลย” Bernard กล่าว เขายังเสริมว่า เมื่อเป็นแคมเปญวิดีโอ นักโฆษณาสามารถคิดวิธีเล่นออกมาได้หลากหลายไม่สิ้นสุด เช่น ท้าเพื่อนให้ทำหน้าแบบเทเลอร์ สวิฟต์ หรือลอรีอัลออกแคมเปญท้าแต่งหน้าให้เสร็จใน 40 วินาที
“สำหรับผู้ใช้งาน คุณรู้แหละว่ามันคือโฆษณา แต่พวกเขาไม่ถือ เพราะมันไม่ได้เด้งขึ้นมาขัดจังหวะ เหมือนเวลาเล่นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมแล้วมันโผล่มาในฟีด ที่ทำให้รำคาญและไม่อยากดู แต่เราเบลอเส้นนั้นไป ให้มันมาอยู่ในคอนเทนต์ โดยไม่ได้มาทำลายบรรยากาศการเล่นโซเชียล แม้ว่าจะมีการระบุว่าสปอนเซอร์โดยแบรนด์ใด”
ReCactus เพิ่งเริ่มเปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2017 กำลังอยู่ในระหว่างการระดมทุนเพิ่มเติม และกำลังเจรจาความร่วมมือกับเฟซบุ๊กและไลน์ อาจจะเริ่มแคมเปญโฆษณาเต็มตัวให้เราได้เห็นกันในปี 2019
ส่วน UChangeTo น่าจะถูกใจบรรดานักท่องเที่ยว เพราะตั้งใจจะเป็นบริการรับแลกเศษเงินที่ปกติแลกกลับเป็นอีกสกุลเงินไม่ได้ เข้ามาแลกเป็นเงินใน e-wallet แทน เช่น Alipay หรือ PayPal หรือแลกเป็นคริปโตเคอเรนซี รวมทั้งแต้มในบัตรต่างๆ หรือช่องทางสุดท้าย คือการบริจาค
“เราจะร่วมมือกับธนาคารและจุดรับแลกเงินต่างๆ ในสนามบิน ซึ่งคุณจะสามารถไปแลกเงินได้ตามจุดเหล่านี้ได้เลย และกำลังจะเปิดให้บริการครั้งแรกในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ภายในปีนี้ ส่วนในไต้หวัน อาจจะไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ เพราะยังติดเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับการธนาคาร” Vita Tsai ซีเอ็มโอและผู้ร่วมก่อตั้ง UChangeTo กล่าว
คิดให้ใหญ่ และมี Global Mindset
กิจกรรมทั้งหมดของ Taiwan Startup Stadium ไม่ว่าจะเป็นการอบรม พูดคุย หรือพาไปเจอผู้คนในต่างแดน มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การ “คิดให้ใหญ่ ตั้งแต่วันที่เริ่มต้น”
“เราอยากให้สตาร์ตอัปคำนึงถึงการก้าวสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น เพราะ Global Mindset เป็นเรื่องสำคัญมากต่อความสำเร็จของสตาร์ตอัป และ ‘โลกนั้นแบน’ (The world is flat.) หมายความว่า การแข่งขันเกิดขึ้นในทุกๆ ที่” Jen กล่าว
“ไต้หวันเป็นแค่เกาะเล็กๆ คนจึงทำอะไรขึ้นมาแค่เล็กๆ ถ้าคุณมีธุรกิจขึ้นมาในไต้หวัน โอเค คุณอาจจะทำเงินได้จากที่นั่น… แต่มันไม่ใหญ่พอ และถ้าเกิดมีคู่แข่งจากข้างนอกเข้ามา พวกเขาก็จะตกชั้นทันที นี่คือสิ่งที่เราพยายามบอกสตาร์ตอัปที่นี่เสมอ”
Tags: สตาร์ทอัพ, ไต้หวัน, สตาร์ตอัป, Taiwan Startup Stadium, Techsauce, TSGS18