หนังสือเรียนบอกเราว่าโลกมีทั้งหมด 7 ทวีป ได้แก่ เอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอนตาร์กติกา ยุโรป ออสเตรเลีย และแอฟริกา

แต่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบมาระยะหนึ่งแล้วว่าโลกเรามีแผ่นทวีปชื่อว่า ซีแลนเดีย (Zealandia) จมอยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกด้วย โดยแผ่นทวีปดังกล่าวมีพื้นที่เกือบ 5 ล้านตารางกิโลเมตร หลุดออกมาจากทวีปออสเตรเลียเมื่อ 60-85 ล้านปีก่อน แล้วจมลงสู่มหาสมุทรเมื่อ 23 ล้านปีก่อน ส่วนของแผ่นทวีปที่โผล่พ้นมหาสมุทรขึ้นมาคือ ประเทศนิวซีแลนด์ และเกาะนิวแคลิโดเนีย (New Caledonia) นั่นเอง

Photo: nature.com

อย่างไรก็ตาม มันยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแผ่นทวีปจากนานาชาติ (ส่วนหนึ่งเพราะมันจมอยู่ใต้มหาสมุทร) แต่ซีแลนเดียมีความเป็นทวีปอย่างเต็มตัว หากมองในแง่ที่มันมีการยกระดับจากบริเวณรอบๆ, มีสภาพทางธรณีที่แตกต่างจากรอบๆ, มีพื้นที่ขอบเขตที่ชัดเจน นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังเก็บตัวอย่างจากแผ่นทวีปนี้ทำให้พบว่าองค์ประกอบของซีแลนเดียเป็นแผ่นเปลือกทวีป ไม่ใช่หินภูเขาไฟสีดำซึ่งเป็นองค์ประกอบของแผ่นดินใต้มหาสมุทรทั่วไป

การศึกษาอย่างต่อเนื่องของนักธรณีวิทยาทำให้อาจมีการกลับมาทบทวนนิยามของทวีปให้ชัดเจนกว่านี้ กล่าวคือ ในปัจจุบันนิยามของแผ่นทวีปนั้นไม่ได้ชัดเจนนัก ยกตัวอย่างเช่น ในทางภูมิศาสตร์ ทวีปเอเชียกับยุโรปนั้นแยกเป็นคนละทวีปกัน แต่นักธรณีวิทยามองว่าทั้งสองทวีปเป็นแผ่นดินใหญ่ที่เรียกว่า ยูเรเซีย (Eurasia)

แล้วนักวิทยาศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่ามีแผ่นทวีปนี้อยู่?

พื้นผิวโลกในแต่ละบริเวณมีความโน้มถ่วงต่างกันเล็กน้อยซึ่งความแตกต่างเล็กๆ นี้ช่วยให้นักธรณีวิทยาวิเคราะห์สภาพทางภูมิศาสตร์ของโลกบริเวณนั้นได้

วิธีนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่มโหฬารบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโกชื่อ หลุมอุกกาบาตซิกซูลับ (Chicxulub Crater) ที่มีความลึกถึง 20 กิโลเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่โตถึง 180 กิโลเมตรได้ หลุมนี้เกิดจากอุกกาบาตขนาด 10 กิโลเมตรพุ่งเข้าชนโลกเมื่อหลายล้านปีก่อนจนทำให้ไดโนเสาร์เกิดการสูญพันธุ์นั่นเอง

ภาพแสดงความโน้มถ่วงที่แตกต่างจากบริเวณอื่นเป็นวง ซึ่งแสดงให้เห็นโครงสร้างของหลุมอุกกาบาต
Photo: wikipedia commons

นักวิทยาศาสตร์ใช้ดาวเทียมทำแผนที่ความโน้มถ่วงทั่วโลกทำให้พวกเขาค้นพบแผ่นทวีปซีแลนเดียซึ่งทอดยาวจากแถวๆ ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียผ่านมายังนิวซีแลนด์

ปัจจุบันนักธรณีวิทยาคาดหวังว่าการศึกษาทวีปใต้มหาสมุทรนี้น่าจะช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของแผ่นทวีปอื่นๆ ได้ดีขึ้นในอนาคต

อ้างอิง:

Tags: ,