เรายังจำกันได้ไหมครับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีน
โดยรายงานเคสแรกไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ผ่านมาประมาณ 2 เดือน เราดีใจกันมากเพราะขนาดเราติดเชื้อเป็นประเทศแรก แต่เรายังมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 100 รายเลย

แต่โควิด-19 นี่เขาบอกว่าของจริงให้ดูหลังจากพบผู้ติดเชื้อ 100 คนขึ้นไปหรือ 100 confirmed case ครับ
เพราะหลังจากนั้นยอดผู้ป่วยติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้นมากขึ้นเป็นแบบ exponential (เลขยกกำลัง) จะคุมอยู่หรือไม่อยู่ต้องวัดใจกันจากตรงนี้เลย

วันนี้ (23 มี.ค.) ประเทศไทยรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่มา +122 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรวม 721 คนแล้ว

แล้วเรายังจำกันได้ไหมครับว่าล่าสุดประเทศเรามีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 100 รายเมื่อไหร่ เมื่อไหร่กันที่เรายืนยันเคสที่ 100 ไป คำตอบคือเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 นี้เองครับ วันนั้นประเทศไทยรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ 82 ราย และเราก็ผ่านหลัก 100 เคสในวันที่ 15 มีนาคม 2563 

หลังจากนั้นอีก 1 อาทิตย์คือในวันที่ 22 มีนาคม 2563 เรามีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 599 ราย

ถามว่าเพราะอะไร วันนี้ ผมจะมาเล่าให้ฟังกันครับ

ผมต้องอธิบายถึงคำว่า R0 กันก่อน  R0 คือการที่ผู้ติดเชื้อ 1 คนจะแพร่กระจายเชื้อไปได้อีกกี่คน ถ้า R0=2 ก็แปลว่าผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อไปได้ 2 คนครับ ดังนั้นผู้ป่วย 100 คนจะสามารถแพร่เชื้อทำให้เกิดผู้ป่วยใหม่  200 คน และผู้ป่วย 200 คนก็จะสามารถแพร่ทำให้เกิดผู้ป่วยใหม่อีก 400 คน

ถัดมาก็คือเรื่องที่เรียกว่า doubling day หรือการเพิ่มผู้ติดเชื้อขึ้นเป็นเท่าตัวใช้เวลากี่วัน ดูง่ายๆ ก็คือผู้ป่วยจะเพิ่มจาก 100 คนเป็น 200 คนภายในกี่วัน

เรามาลองเดาเล่นๆ กันไหมครับว่าปกติการเพิ่มของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเท่าตัวในกี่วัน?

อันนี้ผมก็ต้องบอกก่อนว่าแล้วแต่ประเทศครับ ประเทศไหนควบคุมโดยใช้นโยบายที่เข้มข้น ก็จะมี doubling day ที่มากหรือหลายวัน ก็คือใช้เวลาหลายวันกว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ผมจะให้ดูกราฟนี้ครับ (รูปที่ 1) ในกราฟนี้ จะแบ่ง doubling day เป็นเส้น 2 วัน 3 วัน 5 วัน และ 10 วัน

 

เดี๋ยวเราลองมาดูแต่ละประเทศ  แต่ละทวีปกัน

เรามาเริ่มต้นที่ทวีปเอเชียกันก่อน (รูปที่ 2) เราจะเห็นว่า doubling day ของประเทศในเอเชียจะแตกต่างกันไปตามแต่ความเข้มข้นของนโยบายและสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ

โดยประเทศที่ดีที่สุดคือมี doubling day มากกว่า 10 วัน หรือใช้เวลามากกว่า 10 วันในการเพิ่มผู้ป่วย 1 เท่าตัว
นั่นคือสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ประเทศที่กราฟเป็นแนวราบไปแล้ว นั่นคือจีนและเกาหลีใต้ และอีก 1 ประเทศที่กำลังจะตามไปคือญี่ปุ่น

สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น 4 ประเทศเหล่านี้คือประเทศที่มีนโยบายเชิงรุกที่ดุดันหรือนโยบายเชิงรับที่ดีจนน่าเอาเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น แต่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ จะอยู่ในช่วง 3-5 วันในการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยขึ้นเท่าตัว

ทีนี้กลับมาดูที่ฝั่งยุโรปกันบ้าง (รูปที่ 3) ต้องบอกเลยฝั่งนี้น่ากลัว เพราะประเทศในฝั่งยุโรปมี doubling day ที่สั้นมาก สั้นมากกว่าเอเชียเสียอีก

ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับว่าประเทศยุโรปจะมี doubling time ที่สั้นกว่าประเทศในเอเชีย 

ส่วนมาก doubling day ของประเทศในยุโรปจะมาอัดกันอยู่ที่ 2-3 วัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมี doubling day 3-5 วัน อย่างประเทศอิตาลีก็มี doubling day เพียง 2 วันกว่าๆ เท่านั้น นั่นทำให้ยอดติดเชื้อในประเทศอิตาลีมียอดติดเชื้อถึง 50,000 ราย แปลว่ายุโรปยังคุมไม่ได้เลย และยอดผู้ติดเชื้อในยุโรปเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

ลองกลับมาดูที่อเมริกากันบ้าง (รูปที่ 4) อเมริกาก็มี doubling day เพียง 2วันกว่าๆ เท่านั้น นั่นทำให้อเมริกาที่ยอดติดเชื้อเคยตามหลังประเทศไทย ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 26,000 คน

กลับมาดูที่ประเทศไทย ในเวลา 8 วัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มมาประมาณ 6 เท่าตัว คือจาก 100 เคสเป็น 600 เคส ในเวลา 14 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมี doubling day อยู่ที่ไม่ถึง 3 วันเท่านั้น doubling day ไม่ถึง 3 วันแปลว่าอะไรรู้ไหมครับ

ประเทศอังกฤษที่มี doubling day ประมาณ 3 วัน เพิ่งรายงานผู้ป่วยติดเชื้อรายที่ 554 รายไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคมนี้เอง ตอนนี้ผ่านมา 9 วัน อังกฤษมีผู้ป่วยติดเชื้อไปแล้ว 5,000 ราย หรือประมาณ 8 เท่าตัวจาก 9 วันก่อนครับ

การที่ไทยมีผู้ติดเชื้อ 600 ราย และอังกฤษมี 5,000 ราย ไม่ได้แปลว่าเราเก่งกว่าประเทศอังกฤษเกือบๆ 10 เท่านะครับ แต่แปลว่าเราตามหลังอังกฤษอยู่แค่ 9 วันเท่านั้นเอง

อย่างที่บอกว่าโควิด-19 ของจริงต้องวัดกันที่หลังจาก 100 เคส

ถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นอย่างไร คำตอบก็คือถ้า doubling day ของเรายังไม่ถึง 3 วันแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีกไม่ถึง 2 อาทิตย์ถัดไป ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 20,000 ราย

แต่ในความจริงแล้วประเทศไทยเราอาจจะไม่ต้องมี doubling day ที่ 2-3 วันตลอดไปก็ได้ครับ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้นโยบายที่ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ได้ดีแค่ไหนนั่นเอง ทั้งนโยบายเชิงรุกและเชิงรับ

ถ้าเราสามารถลด R0 หรือการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ ก็จะสามารถเพิ่ม double time ลงได้ 

วิธีที่ดีที่สุดก็คือวิธีที่เรารู้จักกันดีอย่าง social distancing แต่ social distancing นั้นพูดง่ายแต่ทำยาก ถามว่าประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วเขารู้เรื่อง social distancing ไหมว่าทำอย่างไร

คำตอบคือรู้ครับ แต่ทำแล้วมีประสิทธิภาพดีแค่ไหนต่างหาก และ social distancing ต้องใช้ระยะเวลาในการควบคุมโรค ไม่ใช่ใช้แล้วการระบาดจะหยุดได้ทันทีทันใดเลย

ดังนั้นในระยะแรกนี้ประเทศไทยจึงยากที่จะหลีกเลี่ยงที่จะมี doubling day ที่สั้นมาก ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 วันกว่าๆ ในกรณีที่ดีที่สุด doubling day น่าจะยังไม่มากกว่า 5 วัน ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่าไม่น่าเกินเดือนมีนาคมนี้ เราน่าจะได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระดับพันคน

ส่วนในเดือนเมษายนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ social distancing ได้มีประสิทธิภาพได้ดีแค่ไหน แต่คงยากที่จะหลีกเลี่ยงเคสระดับหลักหลายๆ พัน ซึ่งน่าจะสามารถไปแตะหลายๆ พัน  หรือเกือบหมื่นได้ แม้จะเป็นช่วงหน้าร้อนที่มีหลายงานวิจัยคาดการว่าจะช่วยชะลอการระบาดของโควิด-19 ได้ก็ตาม

ส่วนจะถึงหลักหมื่นราย ไม่ว่าจะเป็น 10,000 ราย 20,000 ราย หรืออาจจะถึง 40,000 รายเลยก็ได้ ซึ่งก็ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายในการควบคุมโรคเป็นหลัก 

ดังนั้นถ้าเราคุมให้เข้มๆ ทำ social distancing ให้ดีๆ เสียตั้งแต่วันนี้ เราอาจจะยืดเวลา doubling day ออกไปได้
เราอาจจะหยุดเคสไว้ที่หลักหลายพันราย แต่ถ้าเราทำ social distancing ได้ไม่ดีพอ เราจะมีผู้ติดเชื้อที่หลักหลายหมื่นราย

สุดท้าย อยากให้ดูรูปนี้ครับ (รูปที่ 5) นี่คือกราฟยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของประเทศไทยวันนี้เทียบกับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ อย่าง อิตาลี เกาหลีใต้ อเมริกา  ฯลฯ

เราอยากได้กราฟพุ่งแบบอิตาลี หรือกราฟแบนราบแบบเกาหลีใต้ เราสามารถเลือกได้ตั้งแต่วันนี้ 

กราฟของประเทศไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งใจจะทำ social distancing กันมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นช่วยกันทำ social distancing กันตั้งแต่วันนี้เถอะ อย่าให้ประเทศไทยมี doubling day ที่สั้นลงกว่านี้เลย

Tags: ,