“เมื่อนางแบบกล้าพอที่จะปลดเปลื้องเสื้อผ้าของพวกเธอ เมื่อนั้นคือความรุ่มรวย—ไม่มีอาภรณ์ใดที่สามารถจะเทียบเคียงร่างกายที่เรามี”
คำกล่าวนี้ของ ซิลวี่ บลูม ตอบคำถามที่ว่า “ทำไมต้องนู้ด?” ได้อย่างดี
และถ้าหากอยากเห็นคำตอบนี้เป็นรูปธรรมแบบชัดๆ เราขอเชิญมาชมนิทรรศการภาพถ่ายขนาดใหญ่ของเธอ ที่กำลังจัดแสดงเป็นครั้งแรกในเอเชีย ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK) โดยด่วน!
แต่ก่อนที่จะไปชมนิทรรศการ เราขอนำพาไปรู้จัก ‘นางแบบ’ ที่ผันตัวมาเป็น ‘ช่างภาพ’ และ ‘ศิลปิน’ คนนี้กันสักนิด รับรองว่าจะเพิ่มอรรถรสในการชมงานของเธอได้มากโข
ซิลวี่ บลูม เกิดที่ประเทศออสเตรียและเติบโตในประเทศเยอรมนี เธอมีความฝันอยากเป็นศิลปินตั้งแต่ 4 ขวบ โดยเธอมีความสนใจในศิลปะ, แฟชั่น, สถาปัตยกรรม, การออกแบบ, ดนตรี, การสร้างภาพยนตร์และการถ่ายภาพ เธอเริ่มอาชีพนางแบบตั้งแต่อายุ 19 ปี แล้วประสบความสำเร็จมาก จนมีโอกาสทำงานร่วมกับช่างภาพผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก อาทิ Helmut Newton, Jeanloup Sieff, Jan Saudek, ฯลฯ แต่งานที่เปลี่ยนชีวิตของเธอคือ การเป็นแบบให้กับช่างภาพอีโรติก Gϋenter Blum ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1991 แม้ว่าอายุทั้งคู่จะห่างกัน 20 ปี แต่เนื่องจากเขามีพื้นเพมาจากงานจิตรกรรม และ ประติมากรรม ทำให้เธอรู้สึกทึ่งในอัจฉริยภาพของเขาอย่างมาก จนตัดสินใจคบกัน และแต่งงานกันในปี 1995 ช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน ซิลวี่ เรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการจัดแสง การจัดองค์ประกอบภาพ เทคนิคห้องมืด และการถ่ายภาพจากสามี เธอเป็นลูกศิษย์ที่มีพรสวรรค์ ทักษะ และมีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เส้นทางของทั้งคู่ก็พบอุปสรรค เมื่อฝ่ายชายพบว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็ง และเสียชีวิตในปี 1997
ซิลวี่ในขณะนั้นหัวใจสลายจากความสูญเสียสามีอันเป็นที่รัก เธอไม่อาจทนอยู่กับภาพอดีตที่หอศิลป์ที่ร่วมกันสร้างกับสามีผู้จากไป จึงย้ายออกไปเพื่อให้ห่างไกลจากภาพจำเหล่านั้น เธอเช่าอาคารโรงงานเก่า และเปลี่ยนเป็นสตูดิโอถ่ายภาพและเริ่มทำโปรเจกต์ของตัวเอง เธอต่อยอดงานอีโรติกของสามี โดยเธอยังคงสนใจสรีระของผู้หญิงผ่านมุมมองของผู้หญิง
งานของเธอมีเอกลักษณ์การใช้แสงเงาที่ชัดเจน ทั้งที่ถ่ายในสตูดิโอและด้านนอก อีกทั้งมีองค์ประกอบศิลป์โดดเด่น โดยเฉพาะการจัดท่านางแบบที่สะท้อนความงามดุจประติมากรรม ทำให้เห็นว่าถึงแม้เธอจะผันตัวมาอยู่หลังกล้อง แต่เธอรู้ถึงวิธีที่จะทำให้นางแบบเปิดใจกับเธอ ด้วยประสบการณ์การเป็นนางแบบของเธอด้วย
สำหรับซิลวี่ นางแบบที่น่าสนใจอาจจะไม่ใช่คน ‘สวย’ ตามขนบ แบบที่เห็นแล้วต้องเหลียวหลังมอง ในทางกลับกัน เธอสนใจแบบที่สามารถทำงานกับร่างกายของตัวเองได้ดี อย่างนักเต้น หรือนักกีฬา สามารถสร้างโพสต์ที่แปลกตา หรือส่งความรู้สึกได้ชัดเจน เป็นคนที่รู้มุมของตัวเอง
“This makes model magic” เธอกล่าว
ในปี 2000 ซิลวี่ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเธอชื่อ Venus ที่นำภาพถ่ายตนเองจากกล้องโพลารอย์คลาสสิค SX70 ภาพที่เป็นศิลปะแนวป๊อปอาร์ตแบบเซลฟี่ กลายเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังในหมู่นักสะสมและพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก
ในปี 2008 เธอได้พบกับเดวิด ฟาเฮย์ (David Fahey) ที่เป็นทั้งเพื่อน เป็นผู้ให้คำปรึกษาและให้แนวคิดเรื่องการสร้างงานศิลปะ จนก่อเกิดเป็นภาพชุด Big Cat นางแบบเปลือยที่ถ่ายคู่กับสิงโตและเสือในแอฟริกาใต้ นอกจากนั้นเดวิดยังกระตุ้นให้เธอทำงานใหม่เพื่อพิมพ์หนังสืออีกด้วย ในปี 2011 หนังสือของเธอ Naked Beauty ได้รับการตีพิมพ์โดย teNeues และเผยแพร่ไปทั่วโลก ในปีถัดมาเธอได้ร่วมแสดงนิทรรรศการกับ เฮิร์บ ริตส์ (Herb Ritts) ช่างภาพที่เธอชื่นชอบ จัดโดย Fahey Klein Gallery, Los Angeles งานของเธอกว่า 400 ชิ้น ถูกกระจายไปสู่นักสะสมทั่วโลกผ่านบริษัทประมูลงานศิลปะคริสตี้ นิวยอร์ก เมื่อปี 2014 และในเชิงพาณิชย์ ภาพของเธอยังถูกตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังมากมาย อาทิ Forbes, National Geographic, French Photo, Foto Magazin, Playboy, GQ, Men’s Health, Marie Claire และ FHM เป็นต้น
ส่วนนิทรรศการที่ MOCA นี้ จะจัดแสดงรูปของเธอจากตลอดชีวิตการทำงานเกือบร้อยรูป โดยมีคุณ คิด เบญจรงคกุล เป็นคิวเรเตอร์คัดเลือกภาพมาให้เราได้ชมกัน
ตั้งแต่งานจากกล้องโพลารอย์ ที่ให้ความรู้สึกส่วนตัว จนถึงภาพระดับไอคอนในชุด Big Cat ซึ่งเป็นภาพชุดที่เราชอบมาก เริ่มจากแนวคิดของการใช้ ราชสีห์ ที่มักจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความดุร้าย หรือเป็นใหญ่ (ราชา) ของเพศชาย หรือถูกถึงในแง่พลังอำนาจ นำมาจับคู่กับเรือนร่างของสตรี แถมยังมีภาพจำนวนไม่น้อยที่นางแบบอยู่ในท่าที่ควบคุมเหล่าสัตว์ป่า อาทิ ภาพ แองเจล่าขี่สิงโต (Angela rides the Lion, 2008) หรือ แองเจล่าพาเสือเดิน (Angela walks the tiger) อีกทั้งภาพหมู่ที่มีนางแบบนอนนวยนาดอยู่กับสิงโตตัวเมียขนาดใหญ่อย่างน่าเกรงขาม ทั้งหมดนี้สร้างบนสนทนาว่าด้วยขั้วอำนาจในภาพ ชี้ว่าแม้นางแบบเหล่านี้จะอยู่ในสภาพเปลือยเปล่า แต่พวกเธอมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม เปรียบเสมือนสัตว์ป่าที่ไม่ต้องการเครื่องนุ่งห่มใด เรือนร่างนู้ดของพวกเธอไม่ใช่ ‘เหยื่อ’ แต่เป็น ‘ผู้ล่า’ เสียด้วยซ้ำ
นอกจากเสือและสิงห์แล้ว เธอยังถ่ายภาพนางแบบกับสัตว์หลากหลายชนิด ตั้งแต่งูหลาม, ช้าง ยัน นกฮูก ซึ่งแต่ละภาพแต่จะเลือกนางแบบที่มีสรีระ หรือสีผิวที่สัมพันธ์กับลักษณะเด่นของสัตว์นั้นอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างอีกภาพไฮไลต์ที่เราประทับใจอย่างยิ่ง คือภาพ Angel and the Pink Flamingo ที่เธอเพิ่งถ่ายเมื่อปีที่แล้ว เป็นภาพผู้หญิงอวบอั๋นขนาดมหึมา ตั้งอยู่กลางห้องอย่างสง่างาม สีเนื้อของเธอเป็นสีเดียวกับเฉดสีส้มอมชมพูของขนนกฟลามิงโก้ที่ยืนอยู่ด้านหน้าเธอ เป็นองค์ประกอบที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็แตกต่างจากภาพอื่นๆ ในโชว์อย่างสิ้นเชิง ด้วยเรือนร่างของตัวนางแบบที่ไม่ได้ดู ‘เพอร์เฟกต์’ ตามขนบของนิตยสารแฟชั่น แต่กลับเป็นฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีมวลซับซ้อน ชวนให้เราจ้องมองสรีระของเธอเป็นเวลานาน
“ฉันชอบถ่ายเรือนร่างทุกแบบนะ แต่มันเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่อาจจะไม่ใช่นางแบบมืออาชีพ หรือรู้สึกว่าร่างกายของพวกเขาไม่เฟอร์เฟกต์ พวกเขามักจะไม่รู้สึกอิสระพอที่จะถ่ายนู้ด” ซิลวี่บอกกับเราเกี่ยวกับแบบในภาพ “โชคดีที่เธอคนนี้ยินดีและเชื่อใจฉัน เธอจะถ่ายนู้ดกับฉันคนเดียวเท่านั้น”
ในคอลเล็คชั่นของพิพิธภัณฑ์ MOCA นั้น ยังมีภาพวาดที่เน้นแสดงเรือนร่างนู้ดผู้หญิงอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนมากจะเป็นงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปินชาย อาทิ สมภพ บุตราช, ช่วง มูลพินิจ, เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล, ศุภร พรินทรากุล, สมพง อดุลยสารพัน หรือในงาน surreal ของ ประทีป คชบัว ก็ดี ทั้งหมดล้วนแสดงมุมมองของผู้ชายต่อร่างกายผู้หญิง ชุดงานของซิลวี่จึงถือเป็นส่วนผสมที่สร้างความสมดุลให้กับคอลเล็คชั่นนี้อย่างมาก โดยเธอเองบอกว่า
“คุณบุญชัย (เบญจรงคกุล) เป็นผู้ชายที่ให้เกียรติร่างกายของผู้หญิงในฐานะงานศิลปะ ฉันรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มีงานจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งที่นี่”
โดยรวมแล้วนิทรรศการนี้เหมาะสำหรับทั้งผู้ที่สนใจงานถ่ายภาพ และผู้ที่สนใจงานนู้ด แม้ว่างานบางส่วนอาจจะดูคุ้นตา และไม่สดใหม่เสียทีเดียว เนื่องจากเป็นการรวบรวมงานกว่า 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ด้วยเทคนิคการจัดแสงแบบมืออาชีพ และการวางองค์ประกอบที่ลงตัว ภาพไม่น้อยของ ซิลวี่จึงมีความ ‘คลาสสิค’ ถูกต้องตามตำรา และชวนมองอยู่วันยังค่ำ