ในอาณาเขตของแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง โลกเราเป็นเพียงดาวดวงหนึ่งหากแต่ก็เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย และเรื่องราวมากมายนับไม่ถ้วนของเราเหล่าปัจเจกชน ที่อัดแน่นและดำเนินไปอยู่ใต้ดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน
นิทรรศการ Sunshine Philosophy จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2561 เป็นการรวมกลุ่มกันของศิลปินหน้าใหม่ทั้งหมด 11 คน ที่รวมตัวกันเพื่อเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดความคิด วิถีชีวิต และประสบการณ์ ผ่านงานจิตรกรรมอันเป็นสื่อศิลปะพื้นฐานที่เคยถูกสร้างมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่พวกเขาก็ยังอยากพามันให้ไปไกลและขยายขอบเขตในการสื่อสารให้มากกว่าเดิม
สถานที่จัดวางงานคือ Ku Bar แกลเลอรี่ ตึกโรงพิมพ์เก่ารกร้างบนถนนพระสุเมุ ที่ถูกฟื้นชีวิตกลับมาใหม่ให้เป็นพื้นที่ทางศิลปะ แกลเลอรี่แห่งนี้ไม่ได้ตกแต่งและแก้ไขให้ตนเองเป็น white cube หรือห้องสี่เหลี่ยมสีขาวอย่างภาพจำของแกลเลอรี่ แต่กลับเปิดโล่งด้วยหน้าต่างไร้กระจก และช่องลมที่เปิดให้แสงและลมธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่อย่างอิสระ
Ku Bar แกลเลอรี่เต็มไปด้วยความไม่เป็นทางการ ปล่อยให้ผู้ชมเจอกับศิลปะอย่างเป็นกันเอง ขณะเดียวกันผนังและพื้นปูนเปลือยของแกลเลอรี่เองก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของตัวเอง สำหรับเราภาพเขียนของเหล่าศิลปินจึงไม่ใช่องค์ประกอบเดียวที่สื่อสารกับผู้ชม แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ซึ่งมีผลต่อการกำกับรับรู้ที่เกิดขึ้นด้วย
ความเปลือยและดิบของพื้นที่นี่เอง ทำให้บางชิ้นงานดูเหมือนจะอยู่ผิดที่ผิดทาง ซึ่งนั่นเป็นอีกหนึ่งวิธีเล่นของศิลปิน เช่นงาน ‘happiness’ ของ วรวุฒิ ช้างทอง ที่เลือกติดตั้งภาพจิตรกรรมบุคคลยุคคลาสสิกลงบนฝาชักโครกเปล่า ที่ยื่นออกมาจากผนัง ยกตัวเองขึ้นสูงด้วยอิฐบล็อกที่วางต่อกันอย่างง่ายๆ ตัวภาพเองก็ถูกตัดเป็นวงกลมง่ายๆ แปะลงไปง่ายๆ บนวัตถุที่ชวนให้เรานึกถึงการขับถ่ายและสิ่งปฏิกูลอย่างช่วยไม่ได้
การจัดวางบริบทใหม่นี้จึงดูเหมือนว่าจะทำให้ภาพเขียนที่สูงส่ง เป็นพรรคพวกเดียวกับฝาชักโครกและก้อนอิฐดาษๆ หรือไม่ก็ถูกขับเน้นให้โดดออกมาอย่างโจ่งแจ้ง และไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ความผิดที่ผิดทางหรือไม่เข้ากันของมันนั่นเองที่สื่อสารกับผู้ชมได้อย่างจัง
ขณะที่งานอีกชิ้นดูกลมกลืนไปกับพื้นที่จนดูเป็นของที่อยู่ในแกลเลอรี่นี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นั่นคืองาน ‘เมื่อเรารู้สึกยินดีเราให้ดอกไม้ เมื่อเรารู้สึกรักเราให้ดอกไม้ เมื่อมีคนจากไปเราให้ดอกไม้และเคาะโลง’ ของ วัชรพล หอมชื่น ที่วาดภาพสีไม้ลายเส้นอิสระสดใสแบบเด็กๆ ลงบนแผ่นกระดาษขนาด A4 และแปะง่ายๆ ไว้ตามผนัง ขื่อคาน ไม่ไกลกันนั้นคือรูปที่มีทุกบ้าน ชวนให้รู้สึกว่าที่นี่เคยเป็นบ้านคน เคยมีคนเกิด เติบโตที่นี่ หรืออาจจะจากไปแล้ว
จากเพดานลงสู่พื้น เราพบงาน ‘Untitled’ ของณัฐพล สวัสดี ที่วาดตนเองลงบนแผ่นอะคลิลิกใส ติดตั้งไว้รวมกับพื้นกระเบื้องแตกกระจายของแกลเลอรี่ ภาพตนเองที่ว่านั้นคืองานแอบสแตรกต์ ดูไร้ระเบียบ เป็นเส้นขดๆ วางแปะไว้อย่างนั้นคล้ายไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้ใครเห็น แต่เมื่อเห็นแล้ว เรื่องราวจึงเกิดขึ้นในหัวผู้ชมโดยอัตโนมัติ
ขณะที่งาน ‘I paint a door’ ของ ยิ่งยศ เย็นอาคาร ทำอย่างที่เขาตั้งชื่อ ภาพเขียนประตู ถูกแปะไว้ใกล้กับประตูจริงๆ เราอาจจะเห็นใครเปิดประตูจริงเข้ามาก็ได้ แต่เราไม่อาจรู้ว่าในประตูบานเล็กที่ถูกวาดขึ้นนั้น จะพาเราออกไปไหน หรือเข้าไปสู่อะไรได้บ้าง ก็คงจะมีแต่ประสบการณ์ของผู้เสพงานเท่านั้นที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่
ส่วนตรงหน้าต่างบานเกร็ด คือพื้นที่ของ ‘Sausage with others’ ภาพเขียนไส้กรอกที่ยุ่งเหยิงดูร้อนแรง วาดขึ้นบนผ้าใบกันฝนสีฟ้าดูบ้านๆ ร้านริมทาง และด้วยอะไรบางอย่างงานชิ้นนี้จึงดูเกรี้ยวกราด และช่วยตอกย้ำความรกร้างของพื้นที่เข้าไปอีก
งานอีกหลายชิ้นในนิทรรศการก็เป็นเช่นนั้น ดูเต็มไปด้วยพลังพลุ่งพล่านของศิลปินหน้าใหม่ ซึ่งอันที่จริงบางคนก็ทำงานมาหลายชิ้นแล้วในแวดวงอันเดอร์กราวด์ และเมื่อพวกเขาลองก้าวเข้าสู่แสงอาทิตย์ แม้จะเป็นในตึกเก่าเปลือยๆ ดิบๆ เราพบว่านี่คือการร่วมงานกันของพื้นที่และศิลปะ รวมถึงพลังของศิลปินที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
Tags: art, Exhibition, Sunshine Philosophy, Ku Bar Gallery