หากเอ่ยชื่อ ชา-อนุชา แสงชาติ เราเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักว่าเขาคือใคร แต่หากบอกว่าอนุชาคนนี้คือคนคนเดียวกับ ‘แอดมินเช็ดขี้’ แห่งโลว์คอส คอสเพลย์ (Lowcost Cosplay) เพจเฟซบุ๊กที่โด่งดังด้านการแต่งตัวลอกเลียนคาแรกเตอร์ต่างๆ ทั้งตัวการ์ตูน, เกม, คนดัง, อาหาร หรือแม้แต่ไอศกรีม! ด้วยไอเดียสุดบรรเจิดและงบประมาณที่จำกัด ทุกคนคงจะร้อง “อ๋อ!” ขึ้นมาทันที
การแต่งคอสเพลย์ทุนต่ำเรียกเสียงฮาแบบนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เหตุใดโลว์คอส คอสเพลย์ถึงมียอดไลก์เพจมากกว่า 1.45 ล้านคนในระยะเวลาแค่ 3 ปี (เปิดเพจช่วงปี 2556 และนับยอดไลก์จนถึงวันที่ 6 ธ.ค. 2559)
เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวมีอะไรซ่อนอยู่?
The Momentum ขออาสาพาคุณไปสำรวจแนวคิดการทำงานของ ชา-อนุชา แสงชาติ กับการคอสเพลย์ให้ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย จนกลายเป็นหนึ่งในเพจ Influencer แห่งยุค
กองผ้าเช็ดตัวในบ้านพักคนชรา ปฐมบทแห่งการคอสเพลย์
ย้อนกลับไปปี 2556 ชา-อนุชา หนุ่มจากเชียงใหม่ในวัย 23 ปีที่มีเพียงวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายติดตัว เลือกเดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯ เพื่อสมัครงานตำแหน่งดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง หวังทดแทนความรู้สึกที่ขาดหายไปจากการที่ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าพ่อแม่นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก ด้วยบรรยากาศในบ้านพักคนชราที่ค่อนข้างเงียบเหงา เจ้าตัวจึงนึกสนุกหาสิ่งของรอบตัวมาเล่นเสมอเมื่อมีโอกาส
และมันก็คงเป็นเช่นเคยเหมือนทุกวัน ถ้าเขาไม่บังเอิญไปหยิบผ้าเช็ดตัวสีแดงขึ้นมาแต่งเป็นลีโอไนดัส (Leonidas) จากภาพยนตร์เรื่อง 300
“ผมเป็นคนชอบสังเกตสิ่งรอบตัวมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาว่างผมจะชอบมองก้อนเมฆแล้วจินตนาการเป็นสัตว์ หรือเวลามองของรอบตัวผมก็จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างอื่นๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาหลักคิดนี้ไปใช้กับอะไร จนตอนที่มีโอกาสได้ไปทำงานที่บ้านพักคนชรา บรรยากาศที่บ้านค่อนข้างเหงียบเหงา วังเวง ในขณะที่ผมเป็นคนไฮเปอร์ พอเห็นกองผ้าเช็ดตัวที่เอาไว้ดูแลคนชรา ผมเลยหยิบมาแต่งตัวเป็นลีโอไนดัสเพื่อถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กให้เพื่อนๆ ดูโดยไม่ได้คิดอะไร
“พอเพื่อนเห็นก็ทักมาว่า ‘เฮ้ย! อะไรเนี่ย มึงแต่งคอสเพลย์เหรอ?’ ก็ตอบกลับไปว่าลองทำดูเฉยๆ ผมรู้จักว่าคอสเพลย์คืออะไร แต่ถูกจำกัดความมาตลอดว่าการแต่งคอสเพลย์จะต้องมีเงิน หรือเป็นสายเนิร์ดเท่านั้น ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเงินคงแต่งไม่ได้ แต่พอแต่งเป็นลีโอไนดัสแล้วเพื่อนทักว่าเหมือนคอสเพลย์ หลังจากนั้นเป็นต้นมาเพื่อนก็ยุให้เราทำอีกเรื่อยๆ เห็นผ้าเช็ดตัวสีฟ้าก็เอามาแต่งเป็นโดราเอมอน จุดเริ่มต้นการคอสเพลย์ของผมจึงเริ่มมาจากการอยากเปลี่ยนบรรยากาศในสถานที่นั้น มันเป็นความบังเอิญบวกกับจินตนาการที่เราชอบมองสิ่งรอบตัวเป็นสิ่งของต่างๆ ที่สำคัญผมเป็นคนขี้เกียจ อย่างโลว์คอสเพลย์ก็เกิดจากความขี้เกียจของเรา ไม่อย่างนั้นก็คงนั่งประดิษฐ์ชุดไปแล้ว แต่ความขี้เกียจที่ว่ามันก็กลายเป็นเสน่ห์ให้กับงานของเราเช่นกัน”
จากเพจสร้างเสียงหัวเราะสู่ช่องทางประกอบอาชีพ
จากจุดเริ่มต้นของการคอสเพลย์ตลกๆ ให้เพื่อนดู อนุชาจึงเริ่มความคิดอยากจะทำเพจเป็นของตัวเองบ้าง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพจมีไว้เพื่ออะไร เพราะคิดว่าโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวก็คงไม่ต่างกัน
“ตอนนั้นมั่วมาก ไม่รู้ว่าทำไมต้องมีเพจเป็นของตัวเอง เห็นคนอื่นเปิดเพจเราก็เปิดบ้าง ปลายปี 2556 ที่เปิดเพจใหม่ๆ มียอดไลก์แค่ 50 คนเอง ส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนเราทั้งนั้น จนเพจดราม่าแอดดิกต์ (Drama-addict) ช่วยแชร์ไป คนก็มากดไลก์กันมากขึ้น ภาพที่ทำให้เราแจ้งเกิดก็คือ Life of Pi ที่คอสเพลย์โดยเล่นมุมกล้องกับขวดเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง หลังจากนั้นผมก็พัฒนางานมาเรื่อยๆ และเริ่มจับทางถูกว่าคนชอบงานแบบไหน มีช่วงหนึ่งที่คนรู้จักเรามากขึ้น ถึงขนาดมีคนทักแชตมาว่าให้เตรียมรับมือไทอิน (tie-in) ไว้ให้ดี ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไทอินคืออะไร มาบอกอะไรเนี่ย บ้ารึเปล่า? ใครจะมาจ้างอะไรเรา แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าคืออะไร (หัวเราะ)
“ช่วงแรกที่ทำเพจแล้วเห็นว่าไม่ได้อะไรนอกจากยอดไลก์ยังคิดจะเลิกด้วยซ้ำ แต่วันหนึ่งมีคนอินโดนีเซียเข้ามาบอกว่าเพจเราช่วยชีวิตเขาจากการอกหัก มันทำให้เรารู้สึกว่าเราเกิดมาเพื่อทำให้คนมีความสุข เลยตัดสินใจทำเพจต่อจนถึงทุกวันนี้ ผมใช้เวลาหนึ่งปีกว่าจะมีงานจากแบรนด์ต่างๆ ติดต่อเข้ามา ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ช่วงต้นปี 2558 ผมก็ได้รับงานจากเอเจนซีต่างๆ เริ่มเรียนรู้เรื่องการดีลงานมากขึ้น การเปิดเวนเดอร์ หรืออย่างเรตการ์ดผมก็คิดเองหมดเลย แต่ผมมองว่าเรื่องเงินเป็นผลพลอยได้นะ เพราะผมตั้งใจทำเพจให้คนมีความสุขมากกว่า แล้วเราก็สนุกไปกับมันด้วย”
โกอินเตอร์และได้เสียงชื่นชมจากสื่อต่างประเทศ
ช่วงแรกที่อนุชาตัดสินใจทำเพจโลว์คอส คอสเพลย์ขึ้นมา เจ้าตัวสารภาพว่ามีทั้งเสียงชื่นชมเคล้าคลอไปกับเสียงด่าทอที่เกิดขึ้น เนื่องจากบางคนมองว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระ แต่หลังจากที่มีสื่อต่างประเทศทั้ง 9Gag หรือ BoredPanda เริ่มแชร์คอนเทนต์จากเขาไป หลังจากนั้นเป็นต้นมา อนุชาและโลว์คอส คอสเพลย์ก็เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น
“พอผมเริ่มมาทำเพจบางครั้งมันก็มีดราม่าเหมือนกัน มีคนมาด่าว่า ‘มึงทำอะไรของมึง?’ บางครั้งเขาก็ด่า ‘ไอ้เหี้ย! มึงแม่งไม่ทำการทำงานหรือไงวะ’ ผมก็ไม่ตอบโต้เขานะ เพราะวันรุ่งขึ้นเขาก็อาจจะหายแล้ว ผมมีหน้าที่แค่ทำงานของตัวเองต่อไป ที่สำคัญประสบการณ์ในการทำงานบ้านพักคนชราก็ช่วยให้ผมเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น บางทีผมก็โมโหเหมือนกัน แต่ก็มานั่งคิดเหมือนกันว่าทำไมเขาต้องมาด่าเรา พอมองลึกลงไปก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะไม่ตรงกับงานของเรา บางครั้งเขาทำงานแล้วเครียดมา เห็นเราว่างแล้วทำอะไรแบบนี้ก็อาจจะหงุดหงิด
“พอช่วงหลังๆ เริ่มมีเพจต่างประเทศแชร์คอนเทนต์ของผมไปในทางที่ชื่นชมมากขึ้น เลยพลอยทำให้กลุ่มคนไทยบางคนหันมายอมรับผมมากขึ้นเช่นกัน และทำให้ผมรู้สึกเลยว่าคนบ้านเรานี่ก็ให้ความสำคัญกับชาวต่างชาติเยอะเหมือนกันนะ เวลาเขายอมรับอะไร คนในบ้านเราก็จะยอมรับตามไปด้วย
“ซึ่งเป้าหมายของผมคืออยากทำให้คนไทยด้วยกันเองรู้จักที่จะยอมรับความสามารถของคนไทยด้วยกัน ก่อนที่จะให้ชาวต่างชาติมาชื่นชม”
คอสเพลย์ที่เปรี้ยงแบบโลว์คอสต้องอินไซด์และใกล้ตัวคนแบบที่เขานึกไม่ถึง
วิธีหลักที่อนุชา หรือแอดมินเช็ดขี้ จากเพจโลว์คอส คอสเพลย์มักจะนำมาใช้ในการคอสเพลย์คือ การเลือกมองหาและหยิบจับสิ่งของที่ใกล้ตัวและอินไซด์ (Inside) คนมากที่สุดมาประยุกต์ใช้ในการแต่งคอสเพลย์ เพื่อให้คนรู้สึกคล้อยตามไปกับงานของเขา หรือเรียกเสียงฮาด้วยสิ่งของที่คนอาจจะมองข้ามมาและคาดไม่ถึง
“สมมติภาพยนตร์เรื่อง Doctor Strange เข้าฉาย ผมก็จะดูว่าอัตลักษณ์ หรือสิ่งที่มองแล้วรู้ว่าเป็นตัวละครนี้ทันทีคืออะไร เช่น หนวด, พลังเวทย์วงแหวน แล้วก็มาตีความว่าวัตถุอะไรที่เอามาทำเป็นวงแหวนเวทย์ที่เป็นทรงกลมได้บ้าง ที่สำคัญมันต้องเป็นวัตถุที่อินไซด์คน ใกล้ตัวคนแบบที่เขาคิดไม่ถึง ผมไปตีความว่ามันอาจจะต้องเป็นไม้โปรแทรกเตอร์แบบครึ่งวงกลม ด้วยความที่ลักษณะของไม้โปรไปพ้องกับวงแหวนเวทย์ที่เป็นวัตถุโปร่งแสงเหมือนกัน แล้วมันมีอักขระเหมือนกัน (ตัวเลขบนไม้โปรฯ)
“มันมีจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งที่ทำให้ผมคิดงานแบบนี้ ตอนแรกผมแค่คอสเพลย์ให้เหมือนที่สุดโดยใช้ของรอบตัว แต่วันหนึ่งผมคอสเพลย์เป็นเอลซ่า จาก Frozen ผมจะทำเอฟเฟกต์น้ำแข็งขึ้นมา แต่ไม่รู้จะไปหาน้ำแข็งอย่างไร เลยคิดโง่ๆ ว่าซื้อน้ำแข็งหลอดร้านสะดวกซื้อนั่นแหละ เลยทำให้เข้าใจว่าที่จริงแล้วมันไม่ได้ยากขนาดนั้น เป็นอะไรง่ายๆ ที่ใกล้ตัวคน ด้วยความที่มันเป็นโลว์คอสมันเลยแมส (Mass) และอีพิก (Epic) มาก บางทีคนที่กลับมาจากที่ทำงานเหนื่อยๆ ก็อาจจะแค่อยากดูอะไรที่มันกวนๆ เบาสมอง พอได้เจอภาพของเพจเราได้หัวเราะสักฮิก็ยังดี
“หลักๆ เวลาที่แบรนด์ติดต่อเข้ามาหาผม ส่วนใหญ่เขาจะต้องการแค่ awareness เขาไม่ได้ต้องการจะให้คนเข้าใจสรรพคุณสินค้ามากมาย แค่ให้คนเห็นภาพของผมและสนใจกับสิ่งที่นำเสนอ สมมติว่าได้โปรดักส์เป็นกาแฟคาปูชิโนมา ผมก็ต้องดูว่าส่วนผสมของมันมีอะไร แล้วเอามาทำอะไรได้บ้าง เช่น กาแฟ หรือฟองนม ซึ่งปกติคนดื่มกาแฟ ฟองนมก็จะต้องติดปาก ผมมองว่ามันก็กลายเป็นหนวดได้ สิ่งที่ผมทำก็คือการดึงคุณลักษณะของสิ่งของต่างๆ ออกมาให้มากที่สุดเพื่อให้คนสนใจ”
ได้หมดถ้าสดใหม่ ขยันและไม่ซ้ำใคร หัวใจหลักที่ UGC ควรมี
ในยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ ล้ำสมัยมากขึ้น จนเอื้อประโยชน์ให้ UGC หรือ User-Generated Content ทุกคนมีช่องทางในการผลิตสื่อ กระทั่งผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตสื่อมากขึ้น สำหรับอนุชาในฐานะ UGC รุ่นพี่ที่ลอยลำทิ้งห่างคนอื่นๆ ไปก่อนมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างคอนเทนต์ในยุคนี้ คือเนื้อหาที่สดใหม่ไม่ซ้ำใคร ที่สำคัญความขยันคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด
“ยุคนี้มีเพจหน้าใหม่เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่คนที่เก่งจริงๆ เราดูแป๊บเดียวก็รู้แล้วว่าเขาจะอยู่รอดไหม สำหรับผมการเป็น UGC ที่ดี คุณจะต้องแปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร มีเนื้อหาที่อินไซด์และใกล้ตัวคน ซึ่งถ้าคอนเทนต์ที่คุณทำมีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว ก็เท่ากับว่าคุณไปเดินตามรอยคนอื่น นอกจากนี้คนทำเพจก็ต้องมีความสามารถของตัวเองด้วย อย่างผมเนี่ย ผมก็มี… ผมมีอะไร ตอบไม่ได้ อ๋อ! ผมเป็นคนชอบจินตนาการบ้าๆ บอๆ เก่ง คิดทะลุมิติ คนบางคนมองเก้าอี้เอาไว้นั่ง แต่ผมอาจจะมองว่ามันเป็นวิกผม ผมมองอะไรไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านสักเท่าไหร่
“ที่สำคัญเก่งไม่กลัว ถ้าจะแข่งกันจริงๆ ส่วนใหญ่เพจต่างๆ จะกลัวคนที่ขยันมากกว่า เพราะความสม่ำเสมอของคนทำเพจไม่ค่อยมี ทำโป้งเดียวแล้วก็หายไป แต่ถ้าคนขยันโพสต์ ทำคอนเทนต์บ่อยๆ มีความเฉียบขาดด้านมุมมอง รู้ว่าจะสื่อสารอะไรกับคน ศึกษาอะไรมาเยอะ รู้จังหวะในการนำเสนอ
“ซึ่งนี่คือส่วนผสมสำคัญ ที่จะทำให้เพจได้รับความสนใจ”
ภาพถ่ายโดย พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
Tags: UGC, Lowcost Cosplay, ชา อนุชา, คอสเพลย์