ถ้าคุณเชื่อว่าข่าวที่ขายได้ต้องเป็น ‘ข่าวฉาว’ เท่านั้น บอกเลยว่าหมดสมัยแล้วครับ!
เพจ ‘สรุป’ ที่นำข่าวประเด็นร้อนที่มีความซับซ้อนและกำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคม อย่างกรณี Brexit หรือการทำประชามติเพื่อออกจากอียูของสหราชอาณาจักร การทวงคืนท่อก๊าซ ปตท. ที่ดีเบตกันว่าเป็นการทวงคืนสมบัติชาติหรือเกมการเมือง หรือความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับรัสเซียที่กำลังเป็นประเด็นร้อนตอนนี้ว่าจะนำไปสู่เป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ฯลฯ มาอธิบายใหม่ เล่าถึงที่มาที่ไป ชี้แจง วิเคราะห์ ด้วยภาษาบ้านๆ และย่อยข้อมูลน่าปวดหัวให้ง่ายต่อการเข้าใจ
จนมียอดไลก์-แชร์-คอมเมนต์ แต่ละสเตตัสในระดับชวนเร้าใจ และมีจำนวนคนไลก์เพจมากถึง 263,399 ไลก์! (25 ต.ค. 59)
หากวัดอัตราส่วนกดไลก์และแชร์ เทียบกับข่าว (ทั้งข่าวสีสันและข่าวเชิงวิเคราะห์) ที่เพจสำนักข่าวต่างๆ นำเสนอแบบหมัดต่อหมัด สเตตัสต่อสเตตัส
เพจ สรุป โดดเด่นกว่าด้วยประการทั้งปวง คำถามคือ เพจสรุปทำให้ ‘ข่าวเชิงลึก’ กลายเป็นข่าวที่ขายได้ได้อย่างไร
1. เลือกประเด็นที่สื่อรายงาน แต่ไม่อธิบายให้เกิดความเข้าใจ
: คณะแอดมินเพจ (3 คน แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญต่างกัน คนแรกเป็นวิศวกรด้านไอที สนใจเรื่องเทคโนโลยี คนที่สองเป็นดอกเตอร์ที่สนใจนิติศาสตร์ เชี่ยวชาญเรื่องข้อกฎหมาย และอีกคนเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้าน Fintech) จะเลือกประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ (และตัวเองสนใจ) ซึ่งเป็นข่าวที่สื่อกระแสหลักยังนำเสนอได้ไม่ครบถ้วน ครอบคลุม หรือนำเสนอเพียงแค่การรายงานสถานการณ์ แต่ยังไม่สามารถอธิบายภาพรวมและผลกระทบต่อผู้อ่านได้ ที่สำคัญต้องเป็นประเด็นที่หากเขียนไปแล้ว ผู้อ่านต้องได้ประโยชน์
2. หาข้อมูลเชิงลึก
: สืบค้นข้อมูลจากสื่อและแหล่งข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ข่าว บทความ บทสัมภาษณ์ งานวิจัย กฎหมาย ฯลฯ โดยเฉลี่ยประมาณ 10 แหล่งหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาเขียนอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างเห็นภาพ
3. ใช้ภาษาง่ายๆ
: คนหนึ่งจะรับหน้าที่เขียน ขณะที่อีกสองคนจะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการตรวจว่าประเด็นที่สื่อถูกต้อง ครบถ้วน ต้องตัด ต้องเติมตรงไหน และอธิบายให้คนเข้าใจได้หรือไม่ โดยใช้ภาษาง่ายๆ เหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง
4. เปิดด้วยคำถาม ปิดด้วยความเห็น
: ใช้วิธีการนำเสนอด้วยการเปิดเรื่องด้วยการตั้งคำถามยั่วให้คนสนใจ (ซึ่งมักเป็นคำถามในใจที่คนมีต่อประเด็นนั้นๆ อยู่แล้ว) จากนั้นจะเล่าย้อนถึงต้นตอ สาเหตุ ปูพื้นฐานให้คนเห็นภาพ เพื่อพาเข้าสู่ประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นว่าจริงๆ แล้วเกิดจากอะไร และจะนำไปสู่อะไรต่อไป ก่อนจะบอกว่าสุดท้ายผู้เขียนเห็นว่าถึงที่สุดเราควรมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร
5. แก้แล้วแก้อีก จนกว่าจะได้ข่าวที่ดีที่สุด
: เมื่อเขียนเสร็จ คณะแอดมินอีก 2 คนจะอ่าน หากมีตรงไหนติดขัด ข้อมูลผิด ไม่ครบ หรือยังไม่สามารถหาบทสรุปที่ดีได้ ฯลฯ จะคอมเมนต์ให้คนเขียนกลับไปแก้ และจะแก้แล้วแก้อีกจนกว่าคณะแอดมินทั้ง 3 คนจะเห็นชอบ ซึ่งบางเรื่องอาจเขียนและแก้กันถึง 4-5 ดราฟต์
6. คิดถึงคนอ่าน!
: สุดท้ายสำคัญมาก ต้องทำให้คนอ่านเกิดความเข้าใจ นี่คือสิ่งที่ทำให้เพจสรุปโดดเด่นท่ามกลางการรายงานข่าวเชิงสถานการณ์ที่เน้นสร้างกระแสมากกว่าสร้างความเข้าใจของสื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งทำให้เห็นว่าข่าวเชิงลึกก็สามารถขายได้ ถ้าทำเรื่องยากๆ ให้ง่าย สื่อสารกับผู้อ่านได้ และนำเสนอได้เซ็กซีพอ
“ประเด็นของเพจ ‘สรุป’ คือทำยังไงให้คนเข้าใจ ไม่ใช่แค่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องเข้าใจว่า โอเค เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ถ้าเราเขียนแล้วคนเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้น เราก็จะสบายใจ ถ้าคนอ่านคิดว่าเขาเข้าใจแล้ว
“สำหรับผม เพจสรุปเหมือนเป็นคนกลางที่มาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความเข้าใจกันใหม่ก่อนดีกว่าไหม ลำดับไล่เรียงว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ๆ พอถึงจุดหนึ่งหลังสร้างความเข้าใจให้ทุกคน เราก็จะโยนว่าต่อจากนี้เป็นเรื่องของคุณแล้วว่าจะตัดสินกับเรื่องนี้ยังไงต่อไป”
หนึ่งในคณะแอดมินเพจ ‘สรุป’ ส่งเสียงผ่านไลน์จากญี่ปุ่น บอกเล่าถึงวิธีการทำงานอันแสนเรียบง่าย ที่คล้ายสื่อกระแสหลักหลายสำนักกำลังหลงลืม…
Tags: เพจ 'สรุป', zaroop, ข่าวฉาว, สตาร์ทอัพ