6 ปีแห่งการพิสูจน์ตัวเองจาก Converse Carnival สู่ Carnival สโตร์ขายรองเท้าเบอร์ต้นๆ ของไทยที่มีผู้ติดตามมากกว่า 496,000 ยูสเซอร์บนเฟซบุ๊ก (มากที่สุดในบรรดาสนีกเกอร์สโตร์ในประเทศไทย) มีสินค้าวางจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 50 แบรนด์ในสโตร์ และได้รับความไว้วางใจจาก Nike หรือ Adidas ให้วางขายสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ Carnival กลายเป็นร้านขายรองเท้าผ้าใบอันดับหนึ่งของประเทศไทย

The Momentum จะชวนคุณมาถอดรหัสเบื้องหลังความสำเร็จนี้ ผ่านวิสัยทัศน์ผู้บริหารชื่อ ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล

 

ชอบในสิ่งที่ทำ และสนุกไปกับมัน

คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอนกับการดำเนินกิจวัตรเดิมๆ ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลากว่า 2,190 วัน หากคุณไม่ได้มีความหลงใหลหรือตกหลุมรักในสิ่งที่กำลังทำ

สำหรับปิ๊น รองเท้าคือสิ่งที่อยู่คู่กับผู้ชายไม่ต่างจากของเล่น แกดเจ็ต ปืน และรถยนต์ เมื่อความรัก ความหลงใหล และธุรกิจที่ทำเดินทางมาบรรจบกัน งานที่ทำจึงไม่ใช่งานอีกต่อไป

“ไม่มีวันไหนที่ผมตื่นมาแล้วขี้เกียจไปร้าน ผมบ้างานมากๆ ทำงานเกือบจะ 7 วันต่อสัปดาห์ ที่สำคัญผมโชคดีที่รู้สึกว่างานของตัวเองไม่เหมือนงานสักเท่าไร เหมือนกับผมกำลังได้สนุกกับสิ่งที่ได้ทำในทุกๆ วัน”

“ผมโชคดีที่รู้สึกว่างานของตัวเองไม่เหมือนงานสักเท่าไร
มันเหมือนกับผมกำลังได้สนุกกับสิ่งที่ผมได้ทำในทุกๆ วัน”

ทำสิ่งที่อยากทำ

นอกจากจะมีสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำวางจำหน่ายที่ร้านแล้ว Carnival ยังออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาวางจำหน่ายในแบรนด์ของตัวเอง ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ เคสมือถือ หรือของสะสม ที่สะท้อนถึงตัวตนได้เป็นอย่างดี โดยทุกๆ คอลเลกชันล้วนได้รับความนิยมและจำหน่ายหมดลงในระยะเวลาสั้นๆ

“มันก็เป็นความฝันของผมอีกเหมือนกันกับการมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง และเป็นสิ่งที่เติมเต็มความเป็นคาแรกเตอร์ของผม หุ้นส่วนและกลุ่มเพื่อนๆ ที่ชอบสไตล์การแต่งตัวแบบนี้ เราเลยตัดสินใจทำแบรนด์เสื้อผ้าของพวกเราออกมา ที่สำคัญแบรนด์เสื้อผ้าของ Carnival ยังเป็นเครื่องมือที่คอยช่วยส่งเสริมกันและกัน ระหว่างแบรนด์ดิ้งของร้าน และไลน์เสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี”

จงก้าวออกจาก Safe Zone

ช่วงเริ่มต้นที่เปิดตัวในนาม Converse Carnival จำหน่ายเฉพาะสินค้าจาก Converse เพียงแบรนด์เดียว เมื่อยอดขายและทิศทางของร้านกำลังไปได้สวย Carnival เดิมพันความท้าทายต่อไปด้วยการเดินหน้าเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์สนีกเกอร์ดังๆ อย่าง Vans, Nike และ Adidas กระทั่งในปัจจุบันพวกเขามีสินค้าวางจำหน่ายในร้านไม่ต่ำกว่า 50 แบรนด์ โดยมีเป้าหมายให้ Carnival กลายเป็นแหล่งรวมสนีกเกอร์ที่ดีที่สุดในโซน Southeast Asia

“ผมทำงานในสไตล์เดินหน้าลุยกับความเสี่ยง หรือจะเรียกว่าเป็นความกล้าในการลงมือทำก็ได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นโชคดีอีกเช่นกันที่แต่ละก้าวของผมค่อนข้างประสบความสำเร็จ ผมใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน ต่อให้สิ่งที่ผมอยากทำจะมีความเสี่ยงสูง หรือไม่มีเหตุผลสนับสนุนให้ทำมันเลยก็ตาม”

“ต่อให้สิ่งที่ผมอยากทำจะมีความเสี่ยงสูง
หรือมีเหตุผลไม่สนับสนุนให้ทำมันเลยก็ตาม
แต่ผมก็กล้าตัดสินใจทำมัน”

เปิดโอกาสร่วมงานกับแบรนด์อื่น ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

ในวงการแฟชั่นต่างประเทศ เรามักจะมีโอกาสได้เห็นการร่วมกัน (collaboration) ระหว่างแบรนด์สินค้าต่างๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ ไล่ตั้งแต่สินค้าแนวใกล้เคียงกันอย่าง Nike x Supreme, Adidas x Bape x Undefeated หรือล้ำขึ้นไปอีกขั้นด้วยการข้ามรุ่นระหว่างแบรนด์ไฮเอนด์อย่าง Nike x Louis Vuitton

Carnival เป็นอีกแบรนด์ที่ดูจะชื่นชอบในวัฒนธรรมดังกล่าวไม่น้อย โดยมักจะร่วม collaboration กับแบรนด์สินค้าอื่นๆ อยู่เสมอ ทั้งการร่วมกันผลิตรองเท้า Converse เวอร์ชันพิเศษกับ Indigoskin แบรนด์ยีนส์บ้านใกล้เรือนเคียง การออกรองเท้ารุ่นพิเศษกับแบรนด์เครื่องหนังอย่าง Mango Mojito และอีกหลายๆ แบรนด์ที่ไม่ได้กล่าวถึง ที่สำคัญคอนเซปต์ในการ collaboration ทางแบรนด์มักจะผลิตสินค้าออกมาจำนวนจำกัด ผลงานเหล่านั้นจึงกลายเป็นแรร์ไอเท็ม และเกิดปรากฏการณ์แทบทุกครั้ง

“ผมมองโมเดลธุรกิจแบบนี้มาจากแบรนด์ต่างประเทศ การได้เห็นพวกเขาจอยกันทำงานจนเป็นวัฒนธรรมคือเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผม บางครั้งเราก็ต้องหาแบรนด์สินค้าในไลน์ที่เราไม่ถนัดมาร่วมกันทำงาน ก็นับว่าเป็นการสร้างความสนุกให้กับลูกค้าและคนทำแบรนด์อย่างเราได้ไม่แพ้กัน สำคัญที่สุดคือทั้งสองแบรนด์ก็ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จากแบรนด์ที่ตัวเองไปร่วมจอยอีกด้วย”

คุณสมบัติของผู้นำคือการคิดใหม่เสมอ

ตลอดระยะเวลา 6 ปี ของ Carnival เป็นเรื่องที่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการต้องเผชิญการแข่งขันอย่างดุเดือดในสมรภูมิรองเท้าผ้าใบ หลายๆ ร้านอาจทนพิษบาดแผลไม่ไหว จนต้องปิดตัวลงในที่สุด บางร้านอาจอยู่รอด แต่จำต้องลดจำนวนสาขา หรืออาจต้องหลบไปรักษาแผลให้ไกลจากโซนอันตราย

แต่กับเคสของ Carnival นอกจากจะเป็นผู้อยู่รอดแล้ว ตำแหน่ง Man of the War ก็คงไม่ใช่คำกล่าวเยินยอเกินจริง เพราะในรอบ 6 ปี พวกเขาขยายสาขาได้ถึง 6 แห่ง เฉลี่ยแล้วจึงเท่ากับว่าพวกเขาใช้ระยะเวลาแค่ 1 ปี ต่อการขยายร้านสาขาใหม่ 1 ร้าน ปรัชญาหลักที่ทำให้พวกเขาเติบโตสวนทางเศรษฐกิจ และร้านขายรองเท้าใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมา คือการคิดให้ใหม่อยู่เสมอ

“สิ่งที่ Carnival ทำจะต้องก้าวนำคนอื่นอยู่เสมอ เช่น การรีวิวรองเท้า การจัดอีเวนต์พิเศษ หรือการให้ข้อมูลรองเท้าที่ลึกมากกว่าแค่เรื่องราคา พวกนี้คือเรื่องที่ผมคิดว่าเราเริ่มทำก่อนคนอื่น เมื่อคนอื่นทำตาม ผมก็จะพยายามหนีด้วยการคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาอีก

“ความจริงผมไม่ได้ยึดจากคู่แข่งเป็นหลัก ผมแค่มองว่าอะไรที่ผมทำแล้ว ผมจะไม่ทำซ้ำอีก สิ่งนี้ทำให้เรานำคนอื่นโดยอัตโนมัติ

“ผมมองแค่ว่าเราทำอะไร และจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร”

“ความจริงผมอาจจะไม่ได้ยึดจากคู่แข่งเป็นหลัก
ผมแค่มองว่าอะไรที่ผมทำแล้ว
ผมจะไม่ทำซ้ำอีก
มันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เรานำคนอื่นโดยอัตโนมัติ
เราไม่มองคนอื่นเท่าไร เรามองแค่ว่าเราทำอะไร
และมันจะดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร”

Tags: , , , , , , , , , , ,