คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเรานั่งคุยการเมืองในโหมดซีเรียสกับนักการเมืองชื่อดังหรือนักวิชาการผู้ทุ่มเทเวลาให้กับความสนใจทางการเมืองไปครึ่งค่อนชีวิต แต่ในกรณีนี้คู่สนทนาของเราคือ โน้ต-พงษ์สรวง คุณประสพ หรือ​โน้ต Dudesweet เราเชื่อว่าบทสนทนานี้ย่อมต่างออกไป

พงษ์สรวงคือผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะ บันเทิง ออกแบบ รวมถึงงานปาร์ตี้ในเมืองไทยมาตลอดสิบปี นอกจากนี้ในระยะหลังๆ เรายังรู้จักเขาในฐานะคนที่ปลุกปั้นเว็บไซต์ข่าวเชิงจิกแกมหยอดสังคมอย่าง Third World ให้กลายเป็นที่ถูกกล่าวถึงได้ในช่วงระยะเวลาเพียงข้ามคืน

ในยุคที่ใครๆ ก็ไม่ค่อยอยากจะพูดเรื่องการเมือง พงษ์สรวงตอบรับคำเชิญของเราด้วยความเต็มใจและกล้าหาญ เราเชื่อว่าคุณน่าจะได้มุมมองบางอย่างกลับไปจากการรับฟังมุมมองทางการเมืองของเขา แม้ว่าเขาจะเชื่อว่าพูดไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นก็ตาม

 

ปกติคุณพูดเรื่องการเมืองบ่อยแค่ไหน

เมื่อก่อนเราพูดบ่อยมาก แต่ปีใหม่ที่ผ่านมาเราตั้งปณิธานกับตัวเองเอาไว้ว่าจะบ่นเรื่องนี้ให้น้อยลง เราว่าทุกวันนี้เฟซบุ๊กกลายเป็นกระดานบ่นไปแล้ว กะเพราไม่อร่อย รถติด คนไม่พอใจอะไรก็เข้าจะเข้ามาบ่นในนี้ เราเลยลองพยายามทำกับตัวเองว่าจะไม่บ่นในเฟซบุ๊กได้นานแค่ไหน แต่เราก็ไปบ่นในทวิตเตอร์แทน (หัวเราะ) เพราะมันไม่มีการโต้ตอบ หรือการสนับสนุนความคิดเห็นที่จะทำให้บทสนทนาไม่จบเหมือนเฟซบุ๊ก

หลังปีใหม่มาเราพูดเรื่องการเมืองน้อยลง แต่ก็ยังด่าๆ กับเพื่อนอยู่ เรามองว่าพูดอะไรไปตอนนี้มันก็เท่านั้น เพราะตอนนี้เราเหมือนจะเป็น dictator state กันอยู่ แล้วเราก็ผ่านจุดที่จะออกไปเย้วๆ นำทีมประท้วงเหมือนช่วงเด็กๆ ตอนนี้เราพยายามเลี่ยงอ่านข่าวการเมือง เพราะรู้สึกว่าทุกสิ่งที่รัฐบาลทำตอนนี้ อะไรที่เราว่างี่เง่าแล้วไม่มีทางงี่เง่ากว่านี้ได้แน่ๆ แต่รุ่งขึ้นมันก็จะงี่เง่าได้มากกว่าเดิมอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มากๆ ตอนนี้เราเลยใช้วิธีการสนับสนุนกลุ่มคนที่ลุกมาเปลี่ยนสังคมแทน เช่น กลุ่ม Friend of River หรือกลุ่มปลูกเลย

อย่าง Dudesweet ถ้าย้อนกลับไปปีที่แล้ว เพจยังเดี๋ยวแดงเดี๋ยวเหลืองอยู่เลย ตอนนี้ก็ไม่พูดแบบนั้นแล้ว เลือกพูดในสิ่งที่น่าสนับสนุนดีกว่า

 

คนทำงานศิลปะควรออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไหม

ควรนะ เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่ตอนนี้ปัญหาคือพูดออกไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมา สิ่งที่เราควรทำมากกว่านั่งพิมพ์ด่ากันในโซเชียลเน็ตเวิร์กคือการออกมาปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นมามากกว่า เพราะเราก็รู้กันอยู่ว่าตอนนี้นายกฯ ของเราเป็นเด็กดื้อ มันต้องมีสักคนแหละที่ทำบางอย่างให้เห็นความชั่วร้ายของระบบต่างๆ ไปเลย แต่เราก็ไม่ใช่คนที่จะไปทำอะไรแบบนั้นไง เพราะอากาศบ้านเรามันร้อน (ยิ้ม) เราจะไปประท้วงหลังหกโมงเย็นเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่เรามองว่ามันเปลี่ยนโลกเราได้จริงๆ คือการเขียน การปลุกระดมในทุกๆ ยุคล้วนแล้วแต่เกิดจากการเขียนทั้งนั้น ฮิตเลอร์ เหมาเจ๋อตง เช กูวารา มุสโสลินี หรือคาร์ล มากซ์ ล้วนแล้วแต่ใช้วิธีการเขียนในการปลุกระดมคนให้เชื่อทั้งหมด มีคนบอกว่าภาพหนึ่งภาพแทนคำล้านคำ บางทีเราว่ามันเยอะไป เราว่าหนึ่งคำที่โดนจริงๆ อาจจะมีคุณค่ามากกว่าภาพหนึ่งภาพด้วยซ้ำ และภาพเป็นสิ่งที่ดูแล้วลืมง่ายกว่า

พฤติกรรมของนายกฯ คนนี้ทำให้เสื้อแดงเสื้อเหลืองเริ่มจะหันหน้าเข้าหากันได้แล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มาคุยกัน หรือตั้งกลุ่มลับขึ้นมาแล้วหาวิธีการที่แยบยลหน่อยที่คนคิดไม่ถึง เพราะตอนนี้อะไรที่มันชัดเจนหรือออกถนนมากๆ จะโดนหมด ควรจะมีขบวนการใต้ดินมากกว่านี้ (หัวเราะ) แล้วถ้ามีเมื่อไรก็บอกด้วยละกันเดี๋ยวจะไปช่วยคอมเมนต์

การเมืองเป็นเรื่องของการเลือกข้างตลอดเวลา
แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าเราเลือกอะไรไม่ได้เลย กลายเป็นระบบนายกับบ่าว
เลยไม่รู้ว่าจะมองในมุมสร้างสรรค์ยังไง
แล้วในอนาคตเราจะเข้าใจกันว่ารัฐประหารไม่เคยช่วยอะไร

แล้วเราควรสนใจการเมืองในแง่มุมไหน ในเมื่อคนส่วนใหญ่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ

มันน่าเบื่อ เพราะเราเปลี่ยนอะไรมันไม่ได้ สร้างสรรค์อะไรใหม่ก็ไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งดีที่มองเห็นในเรื่องแย่ๆ ตอนนี้คือ มันทำให้เราได้เห็นระบบอำนาจชัดเจนมาก ไม่เคยมียุคไหนที่อำนาจไม่ถูกทัดทานขนาดนี้มาก่อน อย่างตอนยุคทักษิณเราไม่ชอบแต่มันก็ยังมีการคานอำนาจเกิดขึ้น เราเลือกได้ว่าเราจะอยู่ฝ่ายไหน การเมืองเป็นเรื่องของการเลือกข้างตลอดเวลาอยู่แล้ว ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าเราเลือกอะไรไม่ได้เลย กลายเป็นระบบนายกับบ่าว เลยไม่รู้ว่าจะมองในมุมสร้างสรรค์ยังไง แต่ที่รู้คือเราได้เห็นหน้าตาของอำนาจ แล้วในอนาคตเราจะเข้าใจกันว่ารัฐประหารไม่เคยช่วยอะไร ช่วงแรกๆ ที่มีรัฐประหารหลายคนก็เฮกัน มีคนเอาดอกไม้ไปให้ทหารกัน เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง แต่เราคิดว่าทหารไม่ควรมายุ่งเรื่องการเมือง และเป็นหน่วยงานที่ควรจะออกไปจากระบบการเมืองได้แล้ว เพราะยุ่งทีไรก็พังทุกที ตอนที่มีรัฐประหารเรารู้สึกว่าเขาน่าจะปล่อยให้มันเรื้อรังจนกว่าจะหาจุดจบได้ พอมาตัดตอนปุ๊บก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่กันอีกแล้ว

 

วัยมีผลต่อความสนใจทางการเมืองไหม

มีสิครับ เอาง่ายๆ อย่างเพื่อนเราที่เคยร็อกมาด้วยกัน พอมีลูกปุ๊บ ความคิดเขาก็เปลี่ยนไปหมดเลย เป็นธรรมชาติของคน ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้นะ มีลูกแล้วซวยชิบเป๋งเลย เพราะฉะนั้นมันมีผลครับ พอเราโตขึ้นทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไปเร็วขึ้นมากเลย อาทิตย์หนึ่งผ่านไปเร็วมาก เพราะมีสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ชีวิตดำรงต่อไป พอวิ่งเร็วขึ้นก็ไม่มีเวลาพักชมวิวเหมือนเมื่อก่อน ก็ต้องหาจุดพักที่ต่างไปจากเมื่อก่อน

จริงๆ จุดพักที่ดีที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาของเรา คือตอนที่เราไปทำนิทรรศการ แล้วก็เป็นตอนที่เราเปลี่ยนมือถือสมาร์ตโฟนมาเป็นรุ่นกดๆ ธรรมดา แล้วก็เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ พอมีอะไรเราก็จะให้ผู้ช่วยเป็นคนติดต่อ ส่วนเราก็นั่งทำงานอยู่กับบ้าน 6 เดือน เหมือนตัดตัวเองออกจากโลกภายนอก รู้แต่เรื่องที่ตัวเองอยากรู้ อาจพูดได้ว่าความหรูหราของเราคือ การรู้สึกเหมือนกลับไปเป็นคนที่ไม่ต้องมีอะไรรับผิดชอบอีกครั้งหนึ่ง

ค่านิยมสังคมไทยค่อนข้างจะปั่นป่วน
เรานับถือแม้กระทั่งมาเฟียเพียงเพราะว่าเขารวย
หรือในโรงเรียนเราก็ยังมีระบบ SOTUS
ที่ทำให้ทุกคนเติบโตมาด้วยความหวาดกลัว

สำหรับคนรุ่นใหม่ๆ พวกเขาควรสนใจการเมืองอย่างไร

คนส่วนใหญ่จะสนใจแต่เรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเอง ก็ให้เขาลองสนใจเรื่องที่กระทบทั้งตัวเขาเองและทุกคนด้วย เช่น เรื่องภาษี เรื่องคอร์รัปชัน

ปัญหาการเมืองไทยหลักๆ คือเรื่องการคอร์รัปชั่น เราอยากให้คนไทยสนใจเรื่องนี้กันมากๆ สนใจในแบบที่เราสนใจคือ พูดถึงการเมืองในบรรยากาศที่ต่างออกไป พูดในบรรยากาศที่เป็นกันเองและมีอารมณ์ขัน ในขณะเดียวกันฝ่ายตรวจสอบก็ต้องทำงานไปด้วย

ค่านิยมสังคมไทยค่อนข้างจะปั่นป่วน เรานับถือแม้กระทั่งมาเฟียเพียงเพราะว่าเขารวย หรือในโรงเรียนเราก็ยังมีระบบ SOTUS ที่ทำให้ทุกคนโตมาด้วยความหวาดกลัว เราเลยมองว่ามันควรจะมีสักคนที่ลุกขึ้นมาสร้างทฤษฎีใหม่ว่าประชาธิปไตยแบบไหนที่เหมาะกับสังคมไทย หรือคนรุ่นใหม่ๆ ที่พร้อมจะเป็นหน่วยกล้าตายอยู่แถวหน้า เวลาที่มีคนออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้เราเลยชื่นชมเขามากๆ เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างล้วนเกิดจากการยอมเสี่ยง ถ้าไม่ยอมเสี่ยงเราก็ต้องทนอยู่กับมันต่อไป

อย่าลืมว่าปัญหาทุกปัญหาไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่จะมีผลต่อคนรุ่นหลานเราด้วย ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ วันหน้าลูกหลานก็จะซวย

 

เห็นคนรุ่นใหม่ตอนนี้แล้วคุณมีความหวังไหม

นั่นสินะ เด็กรุ่นใหม่ๆ ตอนนี้เขาสนใจการเมืองกันหรือเปล่า ที่น่าแปลกใจคือคนรุ่นใหม่บางคนอย่างน้องเนติวิทย์ที่บางทีเราก็เกลียดและก็รักมันนะ หรืออย่างน้องเพนกวิน ก็เป็นคนจุดประกายความคิดให้กับคนแก่อย่างเราบ่อยมาก เราก็คิดว่าทำไมถึงกล้าแบบนี้วะ เพิ่งอายุเท่านี้เอง

ถ้ามองย้อนกลับไป คนที่เปลี่ยนสังคมได้จริงๆ ก็คือนักศึกษา อย่างเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา แต่คนรุ่นเก่า คนแก่กลับเป็นคนพูดว่ามีหน้าที่เรียนก็เรียนไป ซึ่งขอร้องเถอะ ประชาธิปไตยที่เป็นได้ทุกวันนี้ก็เพราะนักศึกษาล้วนๆ เลยนะ พอตอนนี้เราก็ได้เห็นคนรุ่นใหม่หลายคนที่เรารู้สึกชื่นชมว่าเขากล้าดี แล้วเราก็ต้องการคนแบบนี้ แต่เราก็เข้าใจนะ เพราะเรามาถึงจุดที่ขี้เกียจจะไปอะไรแล้ว อะไรแล้วของเราคือ เรารู้สึกว่ามีหลายสิ่งในชีวิตที่จะต้องดูแลมากกว่าตัวเอง เขาเรียกว่าความรับผิดชอบใช่ไหม เราก็เลยให้น้ำหนักกับการเมืองน้อยกว่าการทำมาหากิน แล้วเราคิดว่าหลายคนก็คิดแบบนี้

การเสียดสีช่วยให้คนมองเห็นปัญหาในบรรยากาศที่ขบขัน
เป็นกันเอง และผ่อนคลายมากกว่า
ซึ่งจะช่วยให้สังคมเกิดการคิดต่อหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่ต้องดราม่า
เพราะถ้าเริ่มด้วยดราม่า มันจะจบด้วยดราม่าไง

คุณมักจะเขียนหรือวาดรูปเสียดสีสังคมไทยอยู่เสมอๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในระยะหลังคือเว็บไซต์ Third World คุณคิดว่าการเสียดสีช่วยอะไรได้บ้าง

การเสียดสีช่วยให้คนมองเห็นปัญหาในบรรยากาศที่ขบขัน เป็นกันเอง และผ่อนคลายมากกว่า ซึ่งจะช่วยให้สังคมเกิดการคิดต่อหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่ต้องดราม่า เพราะถ้าเริ่มด้วยดราม่า มันจะจบด้วยดราม่าไง เราอยากให้มองปัญหาด้วยอารมณ์ขันแล้วมาช่วยกันแก้ปัญหา มันน่าจะเป็นเชิงบวกมากกว่า ดราม่าทีไรจะมีคนเดินออกจากวงสนทนาทุกที

 

เราจะหัวเราะกับเรื่องการเมืองได้ด้วยหรือ

ก็หัวเราะอยู่นี่ไง ตลกออก ตลกชะตาชีวิตตัวเอง เอาจริงๆ นะที่เขาไล่กันว่าไม่พอใจให้ไปอยู่ประเทศอื่นเนี่ย ถ้าเราไม่ต้องขอวีซ่านะ เราคงไปนานแล้ว อยากไปอยู่ประเทศที่มีสวัสดิการทางสังคมดีๆ ดูแลผู้คนดีๆ มีความเป็นอยู่ดีกว่านี้ บางทีตอนนี้เวียดนามอาจจะดูดีกว่าเราด้วยซ้ำ

มันควรมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT เกี่ยวกับการเมืองนะ
เพราะตอนนี้เราเห็นเต็มที่ก็จะมีแค่ปาร์ตี้ที่รวมตัวกันช่วงสงกรานต์ ซึ่งมันไม่ใช่ไง
เราควรจะมีกิจกรรมจากกลุ่ม LGBT ที่จริงจังมากกว่านี้
และจะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย
เช่น เราควรจะจัดงานเทศกาลดนตรีและความรัก
ความเสมอภาคเท่าเทียมเหมือนที่ต่างประเทศเขามี

ในฐานะที่คุณเป็นหนึ่งในคนที่มีบทบาทต่อกลุ่ม LGBT ในเมืองไทย คุณคิดว่า LGBT ไทยควรมีบทบาททางการเมืองอย่างไร

เราจำเกย์นที (นที ธีระโรจนพงษ์ ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย) ที่ออกมาเคลื่อนไหวนานมาแล้วได้ ซึ่งเราว่าเป็นภาพที่แย่ หรืออย่างคุณระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่อง ‘เฟมินิสต์’ แต่กลับทำให้เฟมินิสต์ดูเป็นเรื่องน่าขบขันมากขึ้นไปอีก บางทีเราอาจจะต้องการนักสังคมศาสตร์สักคนที่มาพร้อมทฤษฎี หลักปฏิบัติและใจกว้างมากกว่านี้ ใจกว้างในที่นี้คือนอกจากจะเรียกร้องสิทธิของ LGBT แล้ว ยังต้องเรียกร้องสิทธิสำหรับชายและหญิงด้วยในเวลาเดียวกัน แต่ส่วนมากเขาจะเรียกร้องเฉพาะสิ่งที่เขาอยากได้ ก็ต้องเห็นใจกันหน่อยหนึ่ง

นอกจากนี้เราว่าคนที่จะออกมาเคลื่อนไหวเรื่องแบบนี้ควรใช้หลักการนำอารมณ์ เพราะมันเป็นเรื่องของคนหมู่มาก แต่ถ้าเคลื่อนไหวโดยมีประเด็นแอบแฝงก็ไม่ควร ซึ่งหลักการพวกนี้เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่านักวิชาการที่ทำเรื่องพวกนี้เขาอยู่ที่ไหนกันบ้าง

มันควรมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้เกี่ยวกับการเมืองนะ เพราะตอนนี้เราเห็นเต็มที่ก็จะมีแค่ปาร์ตี้ที่รวมตัวกันช่วงสงกรานต์ ซึ่งมันไม่ใช่ไง เราควรจะมีกิจกรรมจากกลุ่ม LGBT ที่จริงจังมากกว่านี้ และจะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย เช่น เราควรจะจัดงานเทศกาลดนตรีและความรัก ความเสมอภาคเท่าเทียมเหมือนที่ต่างประเทศเขามี ประเทศอื่นๆ เขาก็มีกันหมดแล้ว บางทีเนปาลอาจจะยอมรับเรื่องพวกนี้ได้มากกว่าเราแล้วด้วยซ้ำ

อย่างเรื่อง พ.ร.บ.คู่สมรสเพศเดียวกัน เรามองว่าเรื่องนี้สำคัญมากนะ เพราะจะได้ไม่โดนตาอยู่คว้าพุงปลาไปกิน เขาอยู่กันมาเป็นสิบๆ ปี สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยกัน วันหนึ่งเขาตายไป ก็มีญาติที่ไม่เคยสนใจเขามาเอาเงินที่เขาสร้างมาด้วยกันไปก็เป็นเรื่องไม่ถูก เราเคยได้ยินว่าตอนนั้นเรื่องเกือบจะผ่านแล้ว แต่ก็ต้องมาสะดุดช่วงปฏิวัติ เพราะตอนนั้นเราก็กำลังตามเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ตอนนี้กลายเป็นว่าเวียดนามเขากำลังผลักดันเรื่องนี้กันอยู่

ตามสไตล์เมืองไทยแหละถ้าเพื่อนบ้านเริ่ม เราก็จะเริ่มทำตาม ไม่ยอมน้อยหน้ากัน

Tags: , , , , , ,