วันนี้ระบบการรู้จำใบหน้า (Facial Recognition) ไม่ได้มีให้เห็นแค่เวลาแท็กเพื่อนในเฟซบุ๊กเท่านั้น แต่ได้ล้ำมาถึงเวลาที่เราสั่งไก่ทอด KFC!
KFC ที่ปักกิ่งได้ใช้ระบบรู้จำใบหน้าเพื่อคาดเดาอายุ เพศ อารมณ์ของลูกค้า และเดาใจว่าแต่ละคนจะเลือกสั่งเมนูอะไร?
ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหม แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง
คาดเดาเมนูให้ตรงใจ ตามวัยและอารมณ์ของลูกค้า
KFC ร่วมทีมกับบริษัท Baidu บริษัทเสิร์ชเอนจินในการพัฒนาระบบรู้จำใบหน้า เพื่อคาดเดาอายุ และอารมณ์ของลูกค้า และนำเสนอเมนูที่ลูกค้าน่าจะชอบ อย่างเช่น ลูกค้าผู้ชายในวัย 20 ต้นๆ นั้น โปรแกรมจะแนะนำ Combo Set จัดเต็มอย่างเมนูแฮมเบอร์เกอร์ไก่ทอด ปีกไก่ย่าง และโค้ก
ขณะที่ลูกค้าผู้หญิงวัยประมาณ 50 ปีนั้น โปรแกรมจะเลือกแนะนำเมนูที่ซอฟต์ลงมาอย่างข้าวต้ม และนมถั่วเหลืองสำหรับอาหารเช้า
แต่ถ้าหากเมนูเหล่านี้ไม่ถูกใจคุณลูกค้าเช่นสมมติว่า คุณอายุเกือบ 30 ปี ที่ระบบเผาผลาญเริ่มเสื่อมถอย แต่ก็ยังคงเปรมปรีดิ์กับไก่ทอดชิ้นโตๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะเราสามารถเลือกขอดูเมนูอื่นได้
และเมื่อเราแฮปปี้กับเมนูที่เลือกแล้ว ก็จ่ายเงินได้ที่ตู้สั่งอาหารผ่านมือถือได้ทันที
Zhao Li ผู้จัดการ KFC ประจำกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า ระบบรู้จำใบหน้านั้นไม่ได้ให้แค่ความสะดวกสบาย “ระบบดิจิทัลในร้านอาหารแบบนี้ยังทำให้เราสามารถบริการลูกค้าได้เร็วและง่ายขึ้น”
ระบบไม่ได้นำเสนอเมนูที่ตรงใจลูกค้าเสมอไป
เนื่องจากตู้สั่งอาหารจะคาดเดาเมนูที่เราน่าจะชอบจากอายุของเรา ซึ่งไม่ได้แม่นยำเสมอไป ลูกค้าหลายรายจึงรู้สึกว่าเสียเวลามากกว่าเดิม เพราะต้องกดเลือกเมนูอีก 2-3 ครั้ง
“หากในอนาคตตู้สั่งอาหารจะรู้ว่าฉันอยากกินอะไรจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ามันไม่ได้ฉลาดนัก อย่างโปรแกรมได้เลือกเมนูซุปไก่ให้ฉัน แต่ฉันกินเมื่อวานแล้วเลยไม่ชอบ” Li Jiang Wei เปิดเผยกับ The Guardian
นอกจากนี้มีลูกค้าอีกหลายคนที่เลือกสั่งอาหารด้วยวิธีการที่ตัวเองคุ้นชิน นั่นคือ การต่อแถวรอเพื่อสั่งอาหารกับพนักงาน แม้แถวจะยาวเหยียดก็ตาม
เพื่อพัฒนาตู้สั่งอาหารให้นำเสนอเมนูได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น KFC และ Baidu ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาระบบให้จดจำเมนูที่ลูกค้าเคยสั่งได้จากใบหน้า ซึ่ง เอมี ฮอว์กินส์ (Amy Hawkins) นักข่าวประจำ The Guardian เล่าประสบการณ์ของเธอว่า เธอได้กลับไปสั่งอาหารที่ตู้สั่งอาหารอีก 2-3 วันถัดมา และพบว่าตู้สั่งอาหารสามารถระบุเพศและอายุคร่าวๆ ของเธอได้ แต่ไม่สามารถจำเมนูที่เธอเลือกได้เมื่อวันก่อน และดูเหมือนว่าจะนำเสนอเมนูตามช่วงเวลาของวันมากกว่า จึงทำให้ลูกค้าหลายคนเลือกที่จะสั่งอาหารกับพนักงาน
ความปลอดภัยของข้อมูล
นอกจากความยุ่งยากในการใช้ตู้สั่งอาหารแล้ว ประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนตัวก็เป็นอีกสิ่งที่ชาวจีนกังวล ลูกค้าหลายคนเลือกที่จะไม่ให้ตู้สั่งอาหารมีข้อมูลใบหน้าของตัวเอง ขณะที่ Li Jiang Wei บอกว่า “แต่ในจีน คุณไม่เคยมีความเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว”
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจีนรายงานว่า ข้อมูลส่วนตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัย หรือร้านกาแฟที่เคยไป สามารถถูกซื้อได้ในราคาเพียง 82 ปอนด์ หรือประมาณ 3,600 บาทเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลได้เก็บข้อมูลประชาชนผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการใช้บัตรเครดิตที่ผ่านมา และพฤติกรรมการบริโภค เพื่อเป็นการให้คะแนนพฤติกรรมประชาชน ซึ่งจะส่งผลต่อการอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ซื้อที่อยู่อาศัย และการนำลูกหลานเข้าโรงเรียน
KFC ยืนยันว่าข้อมูลของลูกค้านั้นจะ “ถูกเก็บอย่างปลอดภัย และจะไม่ถูกนำไปใช้ในจุดประสงค์อื่น”
ทั้งนี้ KFC เตรียมจะใช้ตู้สั่งอาหารที่ติดตั้งระบบรู้จำใบหน้าอีกกว่า 5,000 สาขาทั่วประเทศจีน เพื่อเอาใจและเดาใจแฟนๆ ไก่ทอดทั่วประเทศ
แต่อย่าทายอายุผิดก็แล้วกัน!
Photo: Kim Kyung Hoon, Reuters/profile
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/technology/2017/jan/11/china-beijing-first-smart-restaurant-kfc-facial-recognition?CMP=twt_gu
- http://techwireasia.com/2017/01/kfc-china-baidu-facial-recognition-order-predictions/