ดูเหมือนว่ากระแสต้านคำสั่ง ‘แบนชาวมุสลิมและผู้ลี้ภัย’ ของทรัมป์จะแผ่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ นอกจากผู้คนจะพากันออกมาเดินประท้วงแสดงความไม่พอใจแล้ว ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ อาจโดนเหล่าบริษัทชั้นนำในซิลิคอนวัลเลย์และแบรนด์ดังแบนเสียเอง

ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามอนุมัติคำสั่งพิเศษห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมจาก 7 ประเทศเข้าสหรัฐฯ อันได้แก่ ซีเรีย, อิรัก, อิหร่าน, ซูดาน, ลิเบีย, โซมาเลีย, และเยเมน เป็นเวลา 90 วัน พร้อมระงับการรับผู้อพยพจากทุกประเทศเป็นเวลา 120 วัน และยุติการรับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องชาวอเมริกันจากการก่อการร้าย

แน่นอนว่าคำสั่งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ที่พึ่งพาแรงงานและซัพพลายเออร์จากประเทศอื่น รวมทั้งซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งสนับสนุนบุคลากรต่างชาติทำงานและอาศัยในสหรัฐฯ มาโดยตลอด

มาดูกันว่าบริษัทเหล่านี้ออกมาแสดงท่าทีต่อคำสั่งของทรัมป์อย่างไรบ้าง

Photo: Beck Diefenbach, Reuters/profile

 

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำออกโรงโต้ทรัมป์

เริ่มจาก ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอคนปัจจุบันของ Google ที่เรียกพนักงานบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศเดินทางกลับเข้าสหรัฐฯ ทันที เพราะเกรงว่าคำสั่งของทรัมป์จะมีผลให้พนักงานไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้

เว็บไซต์ TechCrunch เปิดเผยข้อความบางส่วนในบันทึกที่ ซันดาร์ พิชัย ชี้แจงให้คนในบริษัททราบว่ามีพนักงานอย่างน้อย 187 คน ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวโดยตรง ซึ่งทาง Google ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และชี้ว่าคำสั่งนี้อาจกลายเป็น ‘อุปสรรค’ ที่ปิดกั้นไม่ให้คนเก่งๆ เข้ามาทำงานในสหรัฐฯ

เท่านั้นไม่พอ Google ยังจัดตั้งกองทุนพิเศษขึ้นเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาจากการออกคำสั่งพิเศษราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินบริจาคจากพนักงานบริษัทอีก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Photo: Phil McCarten, Reuters/profile

 

ทางด้าน Airbnb ประกาศว่าจะให้ที่พักฟรีเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งพิเศษของทรัมป์ โดย ไบรอัน เชสกี (Brian Chesky) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมาว่า

“Airbnb จะอยู่เคียงข้างคนที่ได้รับผลกระทบ และจะจัดหาที่พักฟรีให้กับผู้ลี้ภัย รวมทั้งใครก็ตามที่ถูกปฏิเสธไม่ให้โดยสารเครื่องบินเข้ามาในสหรัฐฯ ขณะที่ยังอยู่ในเมือง/ประเทศที่ไม่ใช่ถิ่นพำนักของตน เรามีที่พัก 3 ล้านแห่ง เราสามารถหาที่อยู่ให้ได้แน่นอน”

นอกจากนี้ Airbnb จะพัฒนาเครื่องมือที่มีอยู่เดิมเพื่อแจ้งข่าวการแชร์ที่พัก เหมือนตอนที่เคยใช้แจ้งเตือนช่วงภัยพิบัติ ตามการรายงานของ USA TODAY

ขณะที่ รีด เฮสติงส์ (Reed Hastings) ประธานผู้บริหารแห่ง Netflix ออกมาโจมตีเช่นกันว่าคำสั่งของทรัมป์ได้ส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัททั่วโลก และการกระทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้อเมริกาปลอดภัยน้อยลงไปอีก (จากความเกลียดชังและการสูญเสียพันธมิตร)

“ถึงเวลาแล้วที่จะเราจับมือกันปกป้องคุณค่าทางอิสรภาพและโอกาสของชาวอเมริกัน”

แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ยังออกมาแสดงความกังวล และพร้อมจะให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ผู้คุมบังเหียนบริษัทซึ่งมีเชื้อสายอินเดียกล่าวว่าในฐานะซีอีโอและผู้อพยพ เขารู้ดีว่าคนต่างถิ่นนั้นสำคัญต่อบริษัท ประเทศ และสังคมโลกมากแค่ไหน และจะสนับสนุนผู้อพยพต่อไป

Photo: Danish Siddiqui, Reuters/profile

 

#DeleteUber ก้าวที่พลาดของ Uber

ระหว่างที่การประท้วงกำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในวันเสาร์ที่ผ่านมา Uber กลับพลาดท่าหลังจากทวิตข้อความว่าจะให้บริการรับส่งผู้โดยสารที่สนามบิน จอห์น เอฟ. เคนเนดี ตามปกติ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้คนรวมตัวกันประท้วงการกักตัวผู้ลี้ภัยในสนามบิน ขณะที่ผู้ขับรถแท็กซี่ในนิวยอร์กราว 19,000 คน ได้รวมตัวกันประท้วงคำสั่งของทรัมป์และหยุดให้บริการรับส่งผู้โดยสารที่สนามบินเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

กลายเป็นว่ามีผู้ใช้บริการ Uber ไม่พอใจอย่างมาก และพากันโพสต์รูปลบแอปพลิเคชัน Uber พร้อมติดแฮชแท็ก #DeleteUber เพราะมองว่า Uber ฉวยโอกาสขึ้นค่าโดยสารและไม่สนใจการประท้วง จนติดเทรนด์ของทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตามตัวแทนของ Uber ได้ออกมากล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ ขณะที่ ทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งชี้แจงกับพนักงานว่าจะนำประเด็นการแบนผู้ลี้ภัยเข้าพูดในการประชุมระหว่างบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกับ โดนัลด์ ทรัมป์ และได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือคนขับที่เป็นผู้อพยพ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทางฝั่งคู่แข่งบริการเรียกรถแท็กซี่ Lyft สบโอกาสที่ Uber ถูกประณาม รีบประกาศบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันซึ่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรการแบนนักท่องเที่ยวจากประเทศมุสลิม

ซิลิคอนวัลเลย์อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะนาทีนี้กระแสต่อต้านทรัมป์เริ่มโหมกระพือในภาคอุตสาหกรรมธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบนี้ได้ กระทั่ง ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ (Howard Schultz) ซีอีโอแห่ง Starbucks ซึ่งเคยสนับสนุนฮิลลารี คลินตัน มาก่อน ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะจ้างงานผู้ลี้ภัย 10,000 คน ใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในเม็กซิโก และทำประกันสุขภาพให้กับพนักงานที่ได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานที่โอบามาเคยวางรากฐานเอาไว้

การตอบโต้มาตรการสุดโต่งของทรัมป์สะท้อนให้เห็นว่าหากทรัมป์ยังดึงดันจะเดินหน้าต่อไป ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศก็พร้อมจะจับมือกันต่อต้านและทำให้ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ตระหนักว่าโลกไม่ได้หมุนตามตนเพียงคนเดียว

อ้างอิง:

www.reuters.com/article/us-usa-trump-immigration-siliconvalley-idUSKBN15E02V

www.usatoday.com/story/tech/2017/01/29/deleteuber-trend-erupts-lyft-backs-aclu-amid-trump-ban-fury/97214078

www.usatoday.com/story/tech/news/2017/01/28/google-ceo-speaks-out-against-trump-refugee-ban/97182748

www.engadget.com/2017/01/28/apple-microsoft-and-uber-help-staff-stranded-by-trump-ban

www.bloomberg.com/news/articles/2017-01-28/google-recalls-some-staff-to-u-s-after-trump-immigration-order

www.businessinsider.com/ap-starbucks-to-hire-10000-refugees-over-next-5-years-2017-1

techcrunch.com/2017/01/28/google-ceo-sundar-pichai-fears-impact-of-trump-immigration-order-recalls-staff

Tags: , , , , , ,