Photo: wikipedia commons

บริษัท เซียร์ส โฮลดิงส์ คอร์ปอเรชัน (Sears Holdings Corporation) เจ้าของธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เตรียมปิดห้างสรรพสินค้าเซียร์ส (Sears) ประมาณ 41 สาขา และเคมาร์ต (Kmart) อีก 109 สาขาภายในเดือนเมษายน หลังยอดขายในช่วงวันหยุดเทศกาลตกฮวบ

แม้ว่าผลประกอบการรวมจากทั้ง 150 สาขาในปีที่ผ่านมาจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่บริษัทกลับสูญเงินไปมากถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ เซียร์สจึงจำต้องลดสาขาลงเพื่อปิดปากแผลของบริษัท ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ โดยการปิดตัวครั้งนี้คิดเป็น 10% ของร้านทั้งหมดของเซียร์ส

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 เอ็ดดี้ แลมเพิร์ต (Eddie Lampert) ซีอีโอได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทางบริษัทกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของบริษัท และพัฒนาสภาพคล่องทางการเงินให้สอดรับกับช่วงเปลี่ยนผ่านและรับมือกับความเสี่ยงต่อธุรกิจค้าปลีกต่อไป

“ที่ผ่านมาร้านค้าหลายแห่งต่างประสบปัญหาทางการเงินมานานหลายปี แต่เรายังคงเปิดให้บริการเพื่อให้คนท้องถิ่นมีงานทำ และหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมา” แลมเพิร์ตกล่าว และเน้นย้ำว่าบริษัทจะกลับมาทำกำไรอีกครั้งนั้น ต้องมุ่งพัฒนาร้านค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทกล่าวว่าพนักงานจะได้รับค่าชดเชยกรณีเลิกว่าจ้างและสิทธิ์ในการสมัครงานตำแหน่งต่างๆ ในสาขาอื่น เพื่อลดผลกระทบที่ตามมา

สถานการณ์ที่เซียร์สกำลังเผชิญอยู่นี้ไม่ต่างอะไรกับเรือรบลำใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยผงาดในน่านน้ำของธุรกิจค้าปลีกในยุค 80s ของอเมริกา ก่อนจะถูกกระแสเชี่ยวกรากของ Walmart เล่นงาน ตามมาด้วยธุรกิจคลื่นลูกใหม่อย่าง Amazon โถมเข้าใส่จนใกล้อับปาง

Photo: Amazon

Amazon Effect เล่นงานธุรกิจค้าปลีกอ่วม ใครจะเป็นรายถัดไป?

นอกจากปิดตัวร้านค้าปลีกมากถึง 150 แห่ง เซียร์สยังประกาศว่าจะขายแบรนด์เครื่องมือช่าง Craftsman ให้กับบริษัท สแตนลีย์ แบล็ก แอนด์ เด็กเกอร์ (Stanley Black & Decker) เป็นมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะได้รับเงินก้อนแรกมูลค่า 525 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังปิดดีล

ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ดีลนี้ก็เปรียบกับการซื้อเวลาเพื่อต่อลมหายใจรวยรินของบริษัทให้พออยู่รอดได้ แต่อาจไม่ถึงกับกระตุ้นให้ฟื้นตัวและกลับมาเดินเครื่องเต็มที่เหมือนกับ 30 ปีก่อน

ก่อนหน้านี้เซียร์สเคยปรับรูปแบบธุรกิจอยู่หลายหน โดยควบรวมกิจการกับบริษัท เคมาร์ต โฮลดิงส์ คอร์ปอเรชัน (Kmart Holdings Corporations) เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันในตลาด และเริ่มตบเท้าสู่ตลาดออนไลน์ตามกระแสโลกาวิวัตน์

จนกระทั่งปี 2013 เอ็ดดี้ แลมเพิร์ต มหาเศรษฐีผู้คร่ำหวอดในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าเซียร์สจะก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้ง่ายๆ ปี 2016 บริษัทได้ปิดร้านค้าไปกว่า 78 แห่งในปีที่ผ่านมา ขณะที่แลมเพิร์ตถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นนักลงทุนที่เก่งกาจก็จริง (ปี 2004 Bloomberg Businessweek เคยยกย่องว่าเขาคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์คนถัดไป) แต่ด้านกลยุทธ์การบริหารและความเข้าใจในธุรกิจค้าปลีกยังห่างไกลจากคำว่า ‘เหนือชั้น’ โดยเฉพาะเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคย้ายไปอยู่บนหน้าจอ

รายงาน The Future of Retail 2016 โดย Business Insider ชี้ว่า รายได้หลักของธุรกิจค้าปลีกในอเมริกานั้นมาจากร้านค้าปลีกเช่นเคย แต่อัตราการเติบโตของธุรกิจส่วนใหญ่นั้นมาจากอีคอมเมิร์ซ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 ธุรกิจค้าปลีกมีอัตราการเติบโตแค่ 2% เท่านั้น ขณะที่อีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตสูงถึง 16% โดยเฉพาะ Amazon ซึ่งกลายมาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 370 ล้านเหรียญ

เท่ากับว่า Amazon นั้นมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าของเหล่าบรรดาธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในอเมริการวมกันเสียอีก อันได้แก่ เมซีส์ (Macy’s), โคห์ลส์ (Kohl’s), เซียร์ส (Sears), เจซีเพนนีย์ (JCPenney), นอร์ดสตอร์ม (Nordstorm), เบสต์ บาย (Best Buy), บาร์นส์ แอนด์ โนเบิล (Barnes & Noble), ดิลลาร์ดส (Dillard’s), แก็ป (Gap) และทาร์เก็ต (Target)

ด้านเมซีส์ ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่อีกรายในสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าจะปลดพนักงานราว 3,900 อัตรา และจะลดอีก 6,200 อัตรา หรือคิดเป็น 4% ของพนักงานทั้งหมด ตามแผนการปรับโครงสร้างบริษัท โดยคาดว่าจะปิดบริการ 68 สาขาในช่วงกลางปี จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดว่าจะปิดทั้งหมด 100 สาขาตั้งแต่ปีที่แล้ว

เมซีส์เผยว่าผลประกอบการในช่วงวันหยุดเทศกาลที่ผ่านมาค่อนข้างน่าผิดหวัง โดยยอดขายลดลง 2.1% ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จึงคาดว่าการปิดสาขา ประกอบกับลดจำนวนพนักงานลงจะช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 550 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำไปลงทุนกับธุรกิจอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะการตลาดดิจิทัล และแบรนด์เครื่องสำอาง Bluemercury ที่เมซีส์เข้าซื้อกิจการในปีที่แล้ว

Photo: wikipedia commons

อนาคตที่ไร้ความหวังของอเมริกา แล้วธุรกิจไทยควรทำอย่างไร เมื่อจีนเตรียมจัดหนัก?

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2016 ห้างฯ ชื่อดังอย่าง Walmart  ได้ประกาศข่าวช็อกวงการธุรกิจค้าปลีกว่าจะปิดบริการ 269 สาขาทั่วโลก โดยรวมไปถึง ร้านค้าปลีก 154 สาขาในอเมริกา

แต่จากการควบรวมกับสตาร์ทอัพ Jet ในเดือนกันยายน 2016 และเข้าซื้อธุรกิจรองเท้าแฟชั่นออนไลน์ ShoeBuy เป็นไปได้ว่า Walmart จะมีโอกาสพลิกกลับมาขับเคี่ยวกับ Amazon ได้อย่างสมน้ำสมเนื้ออีกครั้ง ด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบ Omni-Channel

โดยเฉพาะถ้าหาก Amazon Go ร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะที่จะเปิดตัวสาขาแรกที่ซีแอตเทิลในปีนี้ กลับ ‘ไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง’

รายงาน The Future of Retail 2016 โดย Business Insider ยังเสนอแนะว่า ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกเชนใหญ่ อาทิ Walmart และ Target ต่างนำเทคโนโลยีบีคอน (Beacon) เข้ามาประยุกต์ใช้ในร้านค้าจริงแล้ว เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้บริโภคระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกัน

ย้อนกลับมาทางฝั่งไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะยังไม่มีข่าวใหม่ออกมาสั่นคลอนวงการธุรกิจค้าปลีก แต่ก็ควรจับตาดูความเคลื่อนไหวของบริษัทค้าปลีกใหญ่อย่างเซ็นทรัล กรุ๊ป ว่าจะมีแผนดำเนินการรับมือกับอาลีบาบา กรุ๊ปอย่างไร หลังจากเข้าซื้อ Zalora หรือกระทั่ง Line ที่เข้ามาจับกลุ่มผู้บริโภคไทยแบบเต็มสตรีม ไม่ว่าจะตลาดคอนเทนต์ บริการจัดส่งสินค้า ทั้งยังจับมือกับฟินเทคไทยยกระดับบริการทางการเงินไปอีกขั้น

ก่อนหน้านี้ แจ็ก หม่า เคยกล่าวว่า หากสถานการณ์ของอีคอมเมิร์ซปี 2016 เปรียบเสมือนอาหารเรียกน้ำย่อยแล้ว ปี 2017 ก็จัดเป็นปีแห่งเมนคอร์สเลยทีเดียว โดย Amazon จะเป็นเจ้าแรกที่ประเดิมตลาดในสิงคโปร์ในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังไม่รวมถึงเว็บโซเชียลมีเดียที่หันมาทำตลาดอีคอมเมิร์ซ หรือโซเชียลคอมเมิร์ซอย่างเช่น Facebook และ Instagram เป็นต้น

นั่นหมายความว่าธุรกิจออนไลน์ระดับโลคัลต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีต้นทุนมากกว่าอีกด้วย

การแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปีนี้จึงน่าจะทวีความดุเดือดยิ่งกว่าที่ผ่านมาหลายเท่าตัว ที่แน่ๆ มีหลายบริษัทต้องเจ็บตัวและถูกปลดออกจากสังเวียนนี้อย่างแน่นอน

*ลองอ่านบทความ “จับตา 5 กระแสที่จะ ‘ฆ่า’ ค้าปลีกไทย ถ้าไม่ลงลึกด้านอีคอมเมิร์ซ” และ “TRENDS TO TRUTHS 2017: 5 สิ่งที่ควรรู้และต้องทำ ถ้าอยากปั้นดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งให้ปังในปี 2017

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​

อ้างอิง:

Tags: , , , , , , ,