ในยุคที่ใครๆ ก็เปิดร้านขายของออนไลน์เองได้ง่ายๆ ผ่านแอปฯ บนมือถือ และแพลตฟอร์มสารพัดรูปแบบ จนเกิดประโยคเด็ด “ฝากร้านด้วยนะคะ/ครับ” เกลื่อนบนโลกออนไลน์ ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซไทยโตเร็วจนเข้าตานักลงทุนและยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เปิดเผยมูลค่าโดยประมาณของอีคอมเมิร์ซไทยปีที่ผ่านมาสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 658.9 พันล้านบาทในปี 2557 และคาดการณ์ว่ามูลค่าของตลาดนี้จะเติบโตเร็วอย่างต่อเนื่อง และพุ่งสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็น 40.08% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด

นี่คือกระแสที่กำลังโถมกระหน่ำค้าปลีกไทยให้ลงสนามอีคอมเมิร์ซ ส่วนลงแล้วจะรุ่งหรือร่วง ไม่ใช่เกมวัดดวง The Momentum จึงชวน บุรินทร์ เกล็ดมณี ซีโอโอ บริษัท ReadyPlanet ตัวแทนผู้ให้บริการเว็บไซต์ Alibaba.com ในไทย และ อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้ง Omise สตาร์ทอัพ Online Payment ที่ทำงานกับอีคอมเมิร์ซมาถกกันว่า อะไรคือกระแสที่น่าจับตา และทิศทางที่ ‘ค้าปลีกไทย’ ควรเดินต่อในอนาคตอันใกล้

1. อนาคตของค้าปลีกคือการเชื่อมโยงทุกช่องทางขาย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า คนไทย ปี 2016 ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6.4 ชั่วโมง จากข้อมูลนี้และความจริงตรงหน้า คงไม่มีเหตุผลอะไรที่คนค้าขายจะไม่เปิดช่องทางขายออนไลน์

บุรินทร์ เผยว่ายุคนี้แค่เปิดออนไลน์อย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ทุกช่องทางเข้าถึงลูกค้าแบบผสมผสาน หรือ Omni-channel Marketing ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ อย่างเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพราะลูกค้าอาจดูสินค้าในเว็บ แล้วไปลองสินค้าที่ร้าน แล้วอาจกลับมาซื้อในเว็บอีกที

“ถ้าผู้ประกอบการยุคใหม่ไม่ใช้วิธีนี้ จะกลายเป็นว่าลูกค้าแค่มา window-shopping ที่ร้าน แต่ไปซื้อของที่อื่นแทน แบบนี้มันน่าเสียดาย ขณะเดียวกัน เราก็สามารถเก็บฐานข้อมูลของลูกค้าทางออฟไลน์ และใช้โปรโมตทางออนไลน์ได้

“นี่คืออนาคตของผู้ขาย” บุรินทร์

2. โอกาสการขายอยู่ทุกที่ ไม่ว่าสมาร์ตโฟน นาฬิกา หรือตู้เย็นในบ้าน!

ทุกวันนี้ข้อมูลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในโลกล้วนเชื่อมถึงกันด้วยเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) หรือไหลเวียนและส่งต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น นาฬิกาที่เราใส่ซึ่งกำลังแสดงชีพจรของเรา จู่ๆ อาจมีโฆษณาของโรงพยาบาลเด้งขึ้นมา เสนอแพ็กเกจตรวจสุขภาพ หรือตู้เย็นรุ่นใหม่ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต อาจฟ้อง พอของหมดปุ๊บ เราก็สามารถออร์เดอร์ได้เลย

บุรินทร์ คาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้ อีคอมเมิร์ซจะไปอยู่บนอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้

“ผมคิดว่าอีคอมเมิร์ซจะโตแน่ๆ บนมือถือ อาจจะโตบนอุปกรณ์อื่นที่ต่อกับอินเทอร์เน็ตด้วย และทุกช่องทางจะเชื่อมโยงกันหมดเลยสำหรับผู้ขายรายหนึ่ง”

Photo: Walmart Corporate / Wikimedia Commons

3. ชะลอการขยายสาขา เน้นสร้างช่องทางออนไลน์

เว็บไซต์ ไอจี เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชัน กลายเป็นพื้นที่การค้าขนาดใหญ่บนมือถือ ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้เพียงลัดนิ้วมือ คำถามคือร้านค้าที่มีหน้าร้านควรปรับตัวอย่างไร

บุรินทร์มองว่าอีคอมเมิร์ซทำให้ออฟไลน์เสียส่วนแบ่ง เช่น คนจะซื้อของใช้ทั่วไปบนออนไลน์มากขึ้น ขณะที่การไปเดินซื้อของในห้างฯ จะกลายเป็นกิจกรรมที่ต้องมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่ใช่การไปซื้อของแบบเดิมๆ อีกต่อไป

“ร้านออฟไลน์ต้องมีตัวตนออนไลน์ อย่างเดือนสิงหาคมที่ผ่าน Wallmart ซื้อสตาร์ทอัพ Jet.com ในมูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญฯ เพราะเขารู้ว่าลูกค้ามาร้านน้อยลง ซื้อออนไลน์มากขึ้น แล้วเขารอทำเองไม่ทันก็ต้องซื้อเลย”

เช่นเดียวกับการขยับตัวของ เซ็นทรัล กรุ๊ป บริษัทธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทยที่ซื้อกิจการ Zalora อีคอมเมิร์ซแฟชั่นชื่อดังของสิงคโปร์

“อีคอมเมิร์ซมันโตมาก จากปี 2013 (5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ปีนี้มันน่าจะถึง 1 หมื่นล้านเหรียญเลย ยังไม่นับคนที่ขายของตาม FB, IG นะ”

“อีคอมเมิร์ซมันโตมาก จากปี 2013 (5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ปีนี้มันน่าจะถึง 1 หมื่นล้านเหรียญเลย ยังไม่นับคนที่ขายของตาม FB, IG นะ”

4. พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์จะเป็น New Normal ของคนไทยในไม่ช้า

ขณะที่คนทำธุรกิจด้าน Online Payment อย่างอิศราดรมองว่า ออนไลน์มาแน่และมาแล้ว พร้อมกับแนะให้ผู้ประกอบการเน้นขายของออนไลน์มากกว่าจะขยายสาขา เพราะคนไทยกล้าซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้น ขณะที่เด็กไทยรุ่นใหม่ซื้อ-ขายกันเป็นเรื่องปกติ

“ชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ไม่มีเวลาไปซื้อของ ถ้าซื้อบนมือถือหรือแล็ปท็อปจะง่ายกว่า อีกอย่างคนก็เริ่มคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบนี้มากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนเราไม่กล้าซื้อ เพราะกลัวไม่ได้ของ” อิศราดรกล่าว

Photo: Issei Kato, Reuters/profile

5. จ่ายเงินออนไลน์มาแรง เมื่อการใช้เงินสดเป็นเรื่องยุ่งยาก

หากคุณไปซื้อของตามงานแฟร์ หรือร้านค้าแถวบ้าน จะเริ่มสังเกตได้ว่า ผู้ค้าบางรายยินดีให้จ่ายเงินโดยโอนเงินผ่านระบบออนไลน์บนมือถือแทนการจ่ายเงินสด เพราะไม่ต้องทอนเงิน ลดความเสี่ยงการถือครองเงินสด และลดภาระการนำเงินสดไปฝากธนาคาร

สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนี้ กำลังส่งสัญญาณบอกว่า การจ่ายเงินออนไลน์เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น

อิศราดรบอกว่า คนญี่ปุ่นใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์แทนการใช้เงินสดกันเป็นปกติ

“โทรศัพท์ของเขามี NFC (เทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สาย รองรับระบบการจ่ายเงินได้) ก่อนเราเป็นสิบปีแล้ว แค่มีโทรศัพท์ก็ใช้ซื้อน้ำจากตู้กด หรือจ่ายค่าตั๋วรถไฟก็ได้ ตอนนี้คนไทยก็เริ่มเอามาทดลองใช้ในตลาดและเปิดรับเทรนด์นี้มากขึ้น”

ขณะที่อีคอมเมิร์ซจะเริ่มตัดบริการเรียกเก็บเงินปลายทางหรือ COD (Cash on Delivery) ออกไป เพราะมีต้นทุนสูงและยังไม่แน่นอน เช่น ไปส่งของแล้วลูกค้าไม่พร้อมจ่ายเงิน หรือปฏิเสธสินค้าที่สั่งไว้ แล้วเน้นพัฒนาระบบจ่ายเงินออนไลน์ให้ใช้งานง่ายและปลอดภัยแทน

ถามว่าทั้ง 5 กระแสจะฆ่าธุรกิจค้าปลีกไทยหรือไม่?

ถ้ามองตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2014 ที่มีมูลค่า 69,444 ล้านบาท ปี 2015 มูลค่า 83,520 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% และปี 2016 ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 49% จากปี 2014

คำตอบน่าจะอยู่ที่ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยว่ามองความจริงใหม่ที่เกิดขึ้นเป็น‘ปัญหา’ หรือ ‘โอกาส’

อ้างอิง: สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

FACT BOX:

จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2559 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า

  • จำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 6.4 ชั่วโมง/วัน
  • เจน Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงสุด 53.2 ชั่วโมง/สัปดาห์
  • อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
    1) อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าทั้งสิ้น 559,697.54 ล้านบาท (30.21%)
    2) อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 536,725.26 ล้านบาท (28.97%)
    3) อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 428,736.23 ล้านบาท (23.14%)