การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

ประโยคลงท้ายโฆษณาการลงทุนที่มักผ่านหูซ้ายทะลุหูขวาไปด้วยความเร็วเสียง จนเด็กๆ ในบ้านจำมาเลียนแบบตามพลางหัวเราะคิกคัก แม้ว่าประโยคข้างต้นจะคุ้นหู แต่เคยสงสัยไหมครับว่า ‘ความเสี่ยง’ หมายถึงอะไร

หากพูดถึงความเสี่ยง สิ่งแรกที่แล่นผ่านเข้ามาในหัวคงเป็นภาพที่ค่อนข้างไปในทางลบ เพราะคำว่าเสี่ยงถูกใช้ในบริบทอย่าง เสี่ยงชีวิต เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง… ดูเป็นคำที่มีความหมายควบรวมไปกับเรื่องร้ายๆ แต่ในภาษาฝรั่งหรือในภาษาจีน ความเสี่ยงมักมาคู่กับโอกาสเสมอ โดยเฉพาะในบริบทของการลงทุน

แม้ว่าแนวคิดเรื่องความเสี่ยงจะมีมาค่อนข้างนาน แต่ แฮร์รี มาร์โควิตซ์ (Harry Markowitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล นับว่าเป็นคนแรกที่วางรากฐานการวัดและจัดการความเสี่ยงตามทฤษฎีพอร์ตฟอร์ลิโอของมาร์โควิตซ์ ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน จนกลายเป็นวาทะติดปากของเหล่านักการเงินว่า “High Risk High Return” หรือยิ่งความเสี่ยงมากเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็ยิ่งคุ้มค่ามากเท่านั้น โดยความเสี่ยงที่ว่าจะวัดจากส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของอัตราผลตอบแทนนั่นเอง

ผมลองเปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่างสินทรัพย์ทางการเงิน 2 ชนิดซึ่งผลตอบแทนรายวันตลอด 3 เดือน แทนด้วยเส้นสีส้มกับเส้นสีฟ้า เราคงเดาได้ไม่ยากว่าเส้นสีฟ้าที่นิ่งสนิทเหมือนกับแมวนอนหลับบนหลังคาวัด น่าจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าหากเปรียบเทียบกับเส้นสีส้มที่ขึ้นลงแบบหมัดเมาเดาใจยาก

ผู้เขียนขอ ‘ถอดหน้ากาก’ แบบไม่คั่นโฆษณาว่าเจ้าเส้นสีส้มที่แท้แล้วคือผลตอบแทนรายวันของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ส่วนเส้นสีฟ้าคือการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ส่วนสินทรัพย์ประเภทไหนเสี่ยงมาก ประเภทไหนเสี่ยงน้อย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แบ่งไว้ดังนี้ครับ

เริ่มจาก…

ความเสี่ยงต่ำมาก หลายคนคงเดาได้ไม่ยากว่าคือการฝากเงินกับธนาคาร ทั้งฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ หรือการซื้อพันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน ฯลฯ สินทรัพย์เหล่านี้ได้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ แต่เรียกได้ว่าแทบจะได้ชัวร์ๆ เอาหัวหมีเป็นประกัน

ความเสี่ยงปานกลาง คือตราสารหนี้เรียกกันว่าหุ้นกู้ ลักษณะก็คล้ายกับพันธบัตรรัฐบาลแต่ว่าจะออกโดยบริษัทเอกชน โดยจะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit ratings) บ่งบอกถึงความมั่นคงของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ว่าจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะปิดตัวไปจากผืนแผ่นดินไทย

ความเสี่ยงสูง สินทรัพย์นี้หลายคนคงคุ้นเคยกันดี นั่นคือหุ้น หรือตราสารทุน ที่เทรดกระหน่ำทำกำไรในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (หลังจากเศร้าหมองมาหลายเดือน) หลายคนอาจสงสัยว่า เฮ้ย! เจ้าตราสารทุนนี่จัดอยู่ในความเสี่ยงสูงเลยหรอ ผมก็อยากจะให้กลับไปดูผลตอบแทนรายวันในกราฟด้านบนอีกครั้ง แล้วถามใจตัวเองดูว่า ‘เหวี่ยง’ พอจะนับว่าเป็นความเสี่ยงสูงหรือเปล่า

ความเสี่ยงสู้งสูง ซึ่งผู้เขียนขอแบ่งเป็น 3 ประเภท

  1. สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity คือพวกสินค้าที่มีราคากลาง เช่น ทอง เงิน น้ำมัน หรือข้าว ซึ่งจะมีปัจจัยมากมายทั้งในและนอกประเทศมากระทบทำให้คาดการณ์ได้ยากมาก
  2. ตราสารต่างประเทศ ก็คือพวกหุ้นกู้ หรือหุ้นที่ซื้อขายในสกุลเงินต่างประเทศ เพราะนอกจากเราจะต้องรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ แล้ว ยังต้องรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
  3. ตราสารอนุพันธ์ หรือ Derivatives ตราสารชื่อประหลาดนี้ออกจะอธิบายได้ค่อนข้างยากในเนื้อที่จำกัด แต่เอาเป็นว่ามันคือสินทรัพย์ที่ราคาจะผูกขึ้นลงกับอะไรก็ได้ในโลก แต่ที่ซื้อขายกันอยู่ปกติก็จะผูกกับราคาหุ้น ราคาน้ำมัน ราคาทอง ส้ม ข้าว อุณหภูมิ เฮอร์ริเคน ฯลฯ หรืออะไรก็ได้ที่มีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ นับว่าเป็นตราสารที่ค่อนข้าง ‘นามธรรม’ และราคาขึ้นลงรายวันในระดับที่ค่อนข้างน่าใจหาย

รู้แบบนี้แล้ว ลองประเมินตัวเองกันดูนะครับว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญอย่าลืมคติประจำใจ “High Risk High Return” – ยิ่งเสี่ยง ผลตอบแทนก็ยิ่งสูง และอีกหนึ่งประโยคติดปากของนักการเงินคือ “There is no such thing as a free lunch” – โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาแบบฟรีๆ ดังนั้น ถ้ามีเพื่อนคนไหนมาชวนลงทุนความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนสูง ก็เชิดหน้าแล้วตอกกลับไปเลยว่า ฉันไม่เชื่อหรอก เพราะ “There is no such thing as a free lunch”

DID YOU KNOW?

ความเสี่ยงที่วัดโดยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานคือความเสี่ยงรวม (Total Risk) ซึ่งมีส่วนประกอบจากความเสี่ยงหลากหลายประเภท เช่น

  • ความเสี่ยงตลาด (Market Risk) คือความเสี่ยงที่ทุกคนจะได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมกันเนื่องจากเป็นความเสี่ยงในระดับมหภาค เช่น น้ำท่วมใหญ่ วิกฤติเศรษฐกิจโลก หรือสงคราม
  • ความเสี่ยงเฉพาะธุรกิจ (Business Risk) คือความเสี่ยงเฉพาะตัวของบริษัท เช่น บริษัทโดนโกง หรือผู้บริหารเสียชีวิต ความเสี่ยงชนิดนี้จะสามารถลดได้ด้วยการกระจายการลงทุนในหลายๆ บริษัท หรือตราสารหลายประเภท
  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) คือความเสี่ยงที่สินทรัพย์ซึ่งเราซื้อ อาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการขาย ความเสี่ยงประเภทนี้มักเกิดกับสินทรัพย์ที่ไม่มีตลาดหรือราคากลางที่แน่นอน เช่น ที่ดิน หรือคอนโดมิเนียม
  • ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Risk) คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนที่ชอบของนอก เลยต้องแลกเงินบาทไทยไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ในที่สุดแล้วเมื่อขายหลักทรัพย์นั้นทิ้งก็ต้องเปลี่ยนเงินกลับมาเป็นเงินไทยเพื่อจับจ่ายใช้สอย

สำหรับใครที่อยากรู้จักความเสี่ยงเพิ่มเติม ผู้เขียนแนะนำให้ไปอ่านต่อได้ ที่นี่ เลยครับ

Tags: ,