ถ้าคุณเป็นคนทำงานที่มีหน้าที่ต้องสัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้ง แล้วอยากรู้ว่าการสัมภาษณ์ที่ดีเป็นอย่างไร คุณควรดูวิธีการสัมภาษณ์ของ แลร์รี คิง (Larry King)

แลร์รี คิง เป็นใคร?

เขาเป็นนักข่าวชาวอเมริกัน หนึ่งในพิธีกรสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์รุ่นเก๋าของอเมริกา ปัจจุบันอายุ 83 ปี และยังคงทำรายการสัมภาษณ์ชื่อ Larry King Now

แต่คุณรู้หรือไม่ว่ากว่า แลร์รี คิง จะเป็นนักสัมภาษณ์มือฉมังนั้นต้องผ่านการสั่งสมและฝึกฝนอย่างยาวนาน

แลร์รี คิง เริ่มต้นทำงานสัมภาษณ์ครั้งแรกตอนอายุ 28 ปี ในสถานีวิทยุเล็กๆ ไม่มีแบ็กดร็อปอันหรูหรา ไม่มีแขกที่เป็นบุคคลทรงอิทธิพลหรือคนดังระดับโลก วันนั้น แลร์รี คิง นั่งสัมภาษณ์คนทั่วๆ ไปที่เดินผ่านไปมาหน้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ส่วนแขกรับเชิญของเขาก็เป็นนักท่องเที่ยว เด็กเสิร์ฟ หรือไม่ก็ช่างประปา ที่พอจะมีเวลาสนทนากับเขาสัก 45 นาที

กว่า 60 ปีในการทำงาน แลร์รี คิง สัมภาษณ์ผู้คนมาแล้วมากกว่า 60,000 คน ชื่อเสียงของเขาไม่ได้มาจากทักษะการพูด การเขียน หรือการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ทักษะของ แลร์รี คิง เรียบง่ายกว่านั้นคือ การถามและฟัง

แค่ถามและฟัง อาจฟังดูง่าย แต่เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ดี

สตีเฟน ดี.ไอแซกส์ (Stephen D. Isaacs) นักข่าวชื่อดังและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเขียนถึงวิธีการทำสัมภาษณ์ในบทความชื่อ หลักการของการสัมภาษณ์ (Principles of Interviews) มีใจความหลักพูดถึงหลักการทำสัมภาษณ์ 4 ข้อ

ทั้ง 4 ข้อมีเนื้อหาสั้น กระชับ อ้างอิงถึงวิธีการทำสัมภาษณ์ของนักสัมภาษณ์ชื่อดัง และที่สำคัญคือใช้ได้จริง

ฉันทำการบ้านหนักมาก ฉันคิดว่าฉันรู้จักคนคนนั้นมากกว่าเธอหรือเขารู้จักตัวเองเสียอีก

ทำการบ้านให้หนัก

“สำหรับผม กฎข้อแรกคือ การเตรียมตัว จงรู้ทุกสิ่งที่คุณจะรู้ได้ หรือเท่าที่คุณจะมีเวลาทำการบ้าน เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น หรือคนที่คุณจะไปคุยด้วย” ไค ริสส์ดัล (Kai Ryssdal) นักข่าวชาวอเมริกันและนักจัดรายการMarketplace ที่เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจแนะนำและย้ำว่า “จงหาข้อมูลทั้งหมดเท่าที่จะหาได้”

การมีความรู้ในประเด็นนั้นๆ จะทำให้คุณถามคำถามที่แหลมคมและตรงจุดกว่าคำถามดาดๆ ที่คนสามารถหาอ่านที่ไหนก็ได้ อีกทั้งการรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ จะช่วยให้คุณรู้ทันเมื่อผู้ให้สัมภาษณ์พยายามหลบเลี่ยงประเด็นหรือพูดโกหก

“ฉันทำการบ้านหนักมาก ฉันคิดว่าฉันรู้จักคนคนนั้นมากกว่าเธอหรือเขารู้จักตัวเองเสียอีก” คือคำแนะนำจาก บาร์บารา วอลเตอร์ส (Barbara Walters) นักข่าวรุ่นเก๋าจาก ABC News

ขณะที่ แลร์รี คิง ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ในนิตยสาร People ฉบับปี 1980 ไว้อย่างประหลาดใจ

“น่าทึ่ง! เขาไม่เคยเตรียมความพร้อมหรือทำการบ้านเกี่ยวกับแขกเลย ‘ผมและผู้ให้สัมภาษณ์จะเรียนรู้ไปด้วยกัน’ คิง อธิบาย ‘ผมไม่เคยถามคำถามที่ผมรู้คำตอบอยู่แล้ว’”

แม้ว่า แลร์รี คิง จะบอกว่า เขาไม่เคยทำการบ้านก็ตาม แต่สำหรับนักสัมภาษณ์มือใหม่ คุณต้องเก็บชั่วโมงบินเท่าไร ต้องอ่าน ติดตามข่าวสาร และสั่งสมความรู้มากแค่ไหน ถึงจะมีชั่วโมงบินเท่า แลร์รี คิง

ดังนั้นถ้าคุณยังไม่เก๋าถึงขั้นนั้น การทำการบ้านเกี่ยวกับประเด็นและผู้คนที่จะไปสัมภาษณ์จะช่วยให้บทสนทนาที่เกิดขึ้นไหลลื่น เป็นธรรมชาติ และแน่นอนว่าคำตอบดีๆ อาจหล่นมาระหว่างการสนทนา

สร้างความคุ้นเคยสนิทสนม

ถ้าสร้างความรู้สึกสนิทสนมกับผู้ให้สัมภาษณ์ได้แล้ว บทสนทนาที่ดีและเป็นธรรมชาติจะเกิดขึ้น

“ในรายการพอดแคสต์ของผม ผมต้องการให้แขกในรายการเล่ารายละเอียดของเรื่องราวต่างๆ ที่มีอารมณ์และความรู้สึก ไม่ใช่ด้วยเสียงที่ไร้อารมณ์แบบหุ่นยนต์” เจย์ อะคันโซ (Jay Acunzo) นักจัดพอดแคสต์ชื่อดังกล่าว ก่อนจะเผยความลับที่จะทำให้คู่สนทนารู้สึกผ่อนคลาย ด้วยการถามหนึ่งคำถาม

“คุณเลี้ยงสัตว์หรือเปล่า?”

คำถามนี้จะทำให้คู่สนทนาเล่าย้อนหลังถึงสัตว์แสนรักหรือสัตว์ที่เคยเลี้ยงในวัยเด็ก หรือถ้าเขาไม่เคยเลี้ยงสัตว์มาก่อน อย่างน้อยคู่สนทนาก็จะได้เริ่มต้นพูดคุย และรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าจะนั่งเพื่อรอที่จะตอบคำถามเพียงอย่างเดียว

แต่คำถามที่ว่านี้อาจไม่เหมาะกับคุณก็ได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่ได้อินกับสัตว์เลี้ยง) เพราะฉะนั้นลองหาอาวุธลับเป็นคำถามหนึ่งคำถามที่จะเปิดใจของตัวเองดูสักหนึ่งคำถาม

ส่วนจะเป็นคำถามอะไร ลองนึกกันดูนะครับ

ผมจะบอกคุณตรงนี้ว่า ผมไม่เคยถามเกินสองประโยคยาวๆ

ถามสั้นๆ ให้เข้าประเด็น

คำถามจะเป็นเข็มทิศหรือตัวเดินเรื่องในการสัมภาษณ์ ไม่ว่าคนให้สัมภาษณ์จะให้คำตอบที่น่าสนใจหรือน่าเบื่อ ผู้ชมจะสนใจที่จะติดตามการสัมภาษณ์ต่อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคำถามที่คุณถาม และคุณถามอย่างไร

“วิธีของผมค่อนข้างเรียบง่าย และผมจะบอกคุณตรงนี้ว่า ผมไม่เคยถามเกินสองประโยคยาวๆ เวลาผมดูประธานาธิบดีแถลงข่าวและนักข่าวหลายคนที่ชอบโชว์ออฟ ผมจะรู้สึกว่าเมื่อไรจะจบสักที?”

แลร์รี คิง บอกว่าเวลาถามเขามักจะถามแบบสั้น ง่าย ได้ใจความ เช่น

“คุณคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?”

“ถ้าคุณผิดล่ะ?”

“เป็นอย่างไร?”

ส่วนคำถามนั้นตรงประเด็นได้ อยู่ที่เคล็ดลับข้อต่อไป…

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทำเวลาสัมภาษณ์ใครสักคนคือ ฟัง
และบ่อยครั้งคำตอบที่คุณได้รับจะนำไปสู่อีกคำถามหนึ่งเสมอ

ฟังและสังเกต

อย่างที่รู้ แลร์รี คิง นักสัมภาษณ์รุ่นเก๋า ไม่มีชื่อเสียงจากทักษะการพูด เขียน หรือทำข่าวสืบสวน แต่ทักษะที่สำคัญของเขาเรียบง่ายกว่านั้นคือ ถามและฟัง

การฟังเป็นทักษะที่สำคัญมากในการสัมภาษณ์ ในขณะที่กำลังฟังคำตอบของคู่สนทนา ในหัวของผู้สัมภาษณ์จะจดจ่อกับถ้อยคำเหล่านั้น ทำหน้าที่คล้ายกำลังบันทึกเสียง ขณะเดียวกันก็คิดว่าจะถามอะไรต่อ หรือจะตีความคำพูดของคู่สนทนาอย่างไร

กระบวนการฟังจะทำให้เกิดความเข้าใจ และทำให้บทสนทนาลื่นไหล เพราะคุณจะรับรู้สิ่งที่คู่สนทนาต้องการจะสื่อสาร แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่จดจ่อกับการฟังคู่สนทนา คุณอาจพลาดเบาะแสบางอย่างที่อาจต่อยอดเป็นคำถามที่จะเจาะประเด็นที่ลึกขึ้นต่อไป

“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทำเวลาสัมภาษณ์ใครสักคนคือ ฟัง และบ่อยครั้งคำตอบที่คุณได้รับจะนำไปสู่อีกคำถามหนึ่งเสมอ”

ขณะเดียวกัน แลร์รี คิง แนะนำให้สังเกตอากัปกิริยาและมองตาของคู่สนทนาว่ากำลังรู้สึกเช่นไร หากบทสนทนาหรือเรื่องที่พูดคุยพาให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ เขาแนะนำว่าจงยืดหยุ่น โดยการเปลี่ยนเกียร์หรือเรื่องที่พูดคุยไปสู่ประเด็นอื่น

“ผมเคยสัมภาษณ์นักบินชาวอเมริกันคนหนึ่ง เขาเป็นคนที่สังหารเครื่องบินฝ่ายศัตรูหลายลำในสงคราม แต่พอผมถามเขาเรื่องนี้ เขาดูไม่สบายใจ และไม่ต้องการที่จะพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น”

ประสบการณ์บอกให้ แลร์รี คิง ตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อสนทนา จากเรื่องที่กำลังคุยกันมาเป็นเรื่องความกลัวที่เกิดขึ้น

“และมันทำให้การสัมภาษณ์วันนั้นดีกว่าที่คิดไว้มาก”

ทำการบ้านให้หนัก ชวนคุยสร้างความสนิทสนม ถามสั้นๆ ให้เข้าประเด็น และจง ‘ฟัง’ อย่างตั้งใจ

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับ 4 ข้อ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการสัมภาษณ์ของคุณให้ดีขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว ผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือฝ่ายบุคคลที่มีหน้าที่ต้องวนเวียนอยู่กับสัมภาษณ์ผู้คนบ่อยๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้

อ้างอิง:

Tags: ,