มาราธอนแรกของผมจบที่กิโลเมตรที่ 28

ผมจำตัวเลข 28 ได้ดี เพราะ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยบอกไว้ว่า เขาหยุดอายุตัวเองไว้ที่ขวบปีนี้ และช่วงขณะที่นั่งรอรถพยาบาลมารับ ตัวเลขนี้และความอ่อนล้า/ผิดหวังก็หมุนวนอยู่ในจิตใจ

เจฟฟ์ เบาว์แมน ไม่ใช่นักวิ่ง เขาเป็นพนักงานในแผนกจัดส่งอาหารของห้างคอสต์โกที่หวังทำคะแนนด้วยการชูป้ายเชียร์แฟนสาว ก่อนที่เธอจะวิ่งเข้าเส้นชัยในบอสตันมาราธอนปี 2556

สำหรับนักวิ่ง บอสตันมาราธอนคือรายการในฝัน มันคือการแข่งขันมาราธอนประจำปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในหกรายการมาราธอนระดับโลก และเป็นรายการเดียวที่มีการคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งหมายความว่า คุณจะเข้าร่วมการแข่งขันได้ก็ต่อเมื่อทำเวลาได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

บอสตันมาราธอนจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันจันทร์ที่สามของเดือนเมษายน ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับ Patriots’ Day ของสหรัฐอเมริกา

ทาเมอร์ลัน และ โจการ์ ซาร์นาเยฟ สองพี่น้องชาวอเมริกันเชื้อสายเชชเนีย จึงเลือกบริเวณใกล้กับเส้นชัยของบอสตันมาราธอนเป็นสถานที่วางระเบิด และจุดระเบิดลูกแรกหลังจากการแข่งขันผ่านไป 4 ชั่วโมง 9 นาที

ระเบิดทั้งสองลูกทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 264 คน

เจฟฟ์ เบาว์แมน คือหนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ เขาสูญเสียขาทั้งสองข้างในวัย 27 ปี

ก่อนลงวิ่งมาราธอนครั้งแรก ผมไม่เคยวิ่งได้ไกลกว่า 21 กิโลเมตร แต่ก็คิดว่าระยะทาง 42 กิโลเมตรไม่น่าจะสร้างปัญหา เพราะเคยผ่าน 21 กิโลเมตรมาได้แบบไม่ยากลำบากนัก

วิ่งๆ เดินๆ ก็คงจะเข้าเส้นชัยได้ในเวลา 5-6 ชั่วโมง

แต่เอาเข้าจริง หลังจากผ่าน 20 กิโลเมตร ผมก็เริ่มไม่มั่นใจว่าจะพาตัวเองไปถึงเส้นชัย และเมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มเดินมากกว่าวิ่ง กระทั่งเปลี่ยนเป็นเดินสลับกับนั่งพักในท้ายที่สุด

เช้าวันนั้น บนทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี หลังจากรู้ว่าไปไม่ถึงเส้นชัยแน่ๆ ผมก็พยายามพาตัวเองไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้

ก่อนจะถึงป้ายตัวเลขกิโลเมตรที่ 28 ผมพบว่าร่างกายไร้เรี่ยวแรงแม้แต่จะก้าวเดินต่อไป ผมรวบรวมเรี่ยวแรงกัดฟันก้าวผ่านจุดให้น้ำ และลงนั่งพิงผนังคอนกรีตแบบสิ้นสภาพ

ผมนึกถึงภาพของตัวเองในวันนั้นตอนที่เจฟฟ์พาร่างไร้ขาของตัวเองออกจากรถ และร้องตะโกนไม่ให้อีรินเดินจากเขาไป

หลังจากวันนั้น อีรินย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวของเธอ และปล่อยให้เจฟฟ์เยียวยาความทุกข์ยากด้วยตัวเขาเอง

 

Stronger คือเรื่องราวของเจฟฟ์ เบาว์แมน ผู้เคราะห์ร้ายที่กลายเป็นฮีโร่ของคนอเมริกัน เป็นตัวแทนของสโลแกน ‘Boston Strong’ และเป็นแรงบันดาลใจของผู้คนทั่วโลก

แต่ในช่วงเวลาหนึ่ง เขาต้องทุกข์ทรมานกับอาการเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Posttraumatic Stress Disorder: PTSD) และทำให้ชีวิตของตัวเองกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง นั่นคือแก่นแกนของหนังเรื่องนี้

เจค จิลเลนฮาล คือผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความเปราะบาง อารมณ์ขัน และการเก็บงำความรู้สึกของชายหนุ่มที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับชีวิต เจฟฟ์ เบาว์แมน ไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นฮีโร่แบบที่ฝูงชนยกย่อง เขาไม่คุ้นชินกับการอยู่ท่ามกลางสายตาของคนจำนวนมาก และเขาเป็นเพียงผู้โชคร้ายที่บังเอิญไปยืนอยู่ใกล้กับระเบิด

ฝีมือการแสดงของ เจค จิลเลนฮาล นั้นเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว สีหน้า แววตา และการขบเม้มริมฝีปาก ทำให้ผู้ชมรับรู้ได้อย่างชัดเจนถึงความวิตกกังวล ความสับสน รวมทั้งความหดหู่สิ้นหวัง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตของเจฟฟ์และผู้คนรอบข้างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และเจค รวมทั้ง ทาเทียนา มาสลานี (รับบทเป็นอีริน เฮอร์ลีย์ ภรรยาของเจฟฟ์) และมิแรนดา ริชาร์ดสัน (รับบทเป็นแพตตี จอยส์ แม่ของเจฟฟ์) ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมสำหรับการทำให้ผู้ชมเห็นว่า แต่ละคนข้ามผ่านช่วงมรสุมของชีวิตมาได้อย่างไร

ในฐานะแม่และแฟนสาว ทั้งแพตตีและอีรินต่างก็ต้องแบกรับความทุกข์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และสำหรับผม หากไม่มีผู้หญิงทั้งสองคน เจฟฟ์อาจจะไม่สามารถดึงตัวเองออกจากห้วงทุกข์ได้

ในช่วงที่ชีวิตเดินทางมาถึงจุดต่ำสุด เจฟฟ์มีโอกาสได้พบกับ คาร์ลอส อาร์เรดอนโด ผู้ที่ยกตัวเขาขึ้นรถเข็นและช่วยนำเขาไปที่รถพยาบาลในวันเกิดเหตุ

สำหรับผม เรื่องราวของคาร์ลอสดูจะมีน้ำหนักไม่มากพอสำหรับการกระตุ้นเตือนชายพิการผู้สิ้นหวัง แต่หลังจากการพูดคุยกันในวันนั้น หนังบอกว่าเจฟฟ์ค้นพบอะไรบางอย่าง

อะไรบางอย่างที่ทำให้เขามองเห็นคุณค่าของตัวเอง

และมันทำให้เขากลับมาเดินได้อีกครั้ง

ชีวิตของเจฟฟ์ เบาว์แมน เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากวันที่ 15 เมษายน 2556 ในบอสตันมาราธอนครั้งที่ 117 และแน่นอนว่าเมื่อเขายังมีลมหายใจ มรสุมชีวิตลูกใหม่ก็จะยังคงพัดเข้าใส่ชีวิตของเขาและผู้คนรอบข้างต่อไป

วันที่ 17 พฤศจิกายนของปีเดียวกัน ผมอยู่ในรายการสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกรุงเทพมาราธอนครั้งที่ 26 มาราธอนครั้งแรกในชีวิตซึ่งไปไม่ถึงเส้นชัย

ขณะนั่งอยู่ในรถพยาบาลกับนักวิ่งอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ผมคิดว่าแต่ละคนคงมีความรู้สึกคล้ายกัน คืออ่อนล้าและผิดหวังกับตัวเอง

มันเป็นความพ่ายแพ้ที่เรามุ่งหวังว่าจะเอาชนะมันให้ได้สักวัน

และการวิ่งมาราธอนก็คงไม่ต่างจากการลุกขึ้นยืนของเจฟฟ์

คือถึงแม้จะมีกองเชียร์ แต่การเข้าเส้นชัยเป็นเรื่องของการต่อสู้กับตัวเองเพียงลำพัง

Tags: , , , , ,