ริโอะเพิ่งอายุ 19 เธอเข้าวงการไอดอลใต้ดินมาแล้วสามปี มีฐานแฟนเพลงเหนียวแน่นประมาณหนึ่งภายใต้ชื่อ The Rio Brothers พวกเขาตามเธอไปทุกที่ คอยให้กำลังใจ ร้องเพลงตาม นำโดย โคจิหนุ่มใหญ่วัย 43 ที่เคยมีคนรัก เคยเก็บเงินแต่งงาน แต่เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาด เขาก็เปลี่ยนแผน เอาเงินเก็บทั้งหมดมาใช้จ่ายเพื่อติดตามเหล่าไอดอลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะริโอะ

โคจิหวังให้เธอประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง มีคนรัก โดยไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อเธอออกทัวร์ปั่นจักรยานไปรอบๆ ญี่ปุ่น เขาและทีมออกทัวร์ตามไปด้วย ก่อนขึ้นคอนเสิร์ตพวกเขาจะประชุมกันเพื่อเตรียมการดูคอนเสิร์ต เอาช่อดอกไม้ไปให้ และคอยส่งเสียงเชียร์

ไม่ใช่แค่เขา ยังมีไอดอลคนอื่นๆ จากไอดอลระดับชาติอย่าง AKB48 ไปจนถึงไอดอลเด็กวัยสิบเอ็ดขวบ มีโอตะคนอื่นๆ ที่ทุ่มเงินกับการไปคอนเสิร์ต ซื้อของที่ระลึก เข้าร่วมงานจับมือ ใช้จ่ายเงินอย่างไม่อั้นเพื่อเวลาหนึ่งหรือสองนาทีในการพูดคุยกับเด็กสาวที่ปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นลูกค้าคนหนึ่ง  นี่คือธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลท่ามกลางเศรษฐกิจของประเทศที่หดตัวซบเซา ธุรกิจการขายฝันให้กับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่เข้าสังคม เด็กเนิร์ดในมหาวิทยาลัย พวกคนที่ปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ไม่เป็น สูบเอาเงินจากกระเป๋าของพวกคนเหล่านี้ มันคือการหากินกับแฟนตาซีของพวกผู้ชาย หรือเป็นวัฒนธรรมย่อยของผู้คนที่ต่างพยายามไขว่คว้าหาบางสิ่งเพื่อให้ชีวิตอันเงียบเหงาเศร้าสร้อยมีคุณค่าขึ้นมาบ้าง

สิ่งที่เป็นปัญหาพอๆ กับความน่าสนใจของ TOKYO IDOLS คือจุดตั้งต้นของความเป็นหนังสารคดีซึ่งมีท่าทีเหินห่าง และดูเหมือนจะตั้งแง่กับไอดอลและวัฒนธรรมไอดอล มากกว่าจะเข้าหามันด้วยความสนใจใคร่รู้

คนทำหนังอาจจะเริ่มจากการติดตามไอดอลและโอตะของพวกเธอ แต่ตลอดเวลา หนังตั้งคำถาม และพยายามจะหาข้อวิจารณ์ถกเถียง โดยสอดแทรกบทสัมภาษณ์ของนักข่าว นักวิเคราะห์การตลาด ไปจนถึงนักวิจัยวัฒนธรรม ซึ่งดูเหมือนทุกคนมาเพื่อวิพากษ์วัฒนธรรมไอดอล ทั้งในฐานะการอุ้มชูวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่น การชี้ให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องทางเพศผ่านทางกิจกรรมจับมือ ซึ่งก่อนหน้านั้นถือเป็นวัฒนธรรมอนาจาร หรือการวิพากษ์บรรดาโอตะในฐานะของพวกเข้าสังคมไม่ได้

 แต่สิ่งที่น่าสนใจกลับอยู่ตรงกระบวนการที่คนทำสารคดีต้องติดตามชีวิตของไอดอลและชีวิตของโอตะไปเรื่อยๆ หนังค่อยๆ เปิดเผยแง่มุมอื่นๆ นอกจากการเป็นสินค้าพาฝัน หนังเล่าเรื่องของโอตะที่เป็นบรรดาคนหนุ่มท่าทางน่ากลัวเหมือนพวกโรคจิตตามตื๊อเด็กสาว หนังติดตามคุณลุงโอตะรายหนึ่งที่ถลุงเงินเก็บไปกับสาวไอดอลที่ลุงบังเอิญเจอว่าเป็นเด็กเสิร์ฟในคาเฟ่ ลุงถึงกับพูดออกมาอย่างไม่อายว่า การที่เขาได้รับความรักจากสาวรุ่นลูกในงานจับมือนั้น มันมีค่าแค่ไหนกับชีวิตเงียบเหงาของเขา

น่าสนใจว่าไอดอลในหนัง (และในโลกจริงๆ) มักเป็นเด็กสาววัยรุ่น (19 ถือว่าเป็นวัยปลายของไอดอล) หนังอธิบายเรื่องนี้ในฐานะความคลั่งไคล้ความบริสุทธิ์ของเด็กสาว ไอดอลเกือบทั้งหมดจึงอยู่ในยูนิฟอร์มที่เป็นกึ่งชุดนักเรียนและกึ่งชุดจากการ์ตูนอนิเมะ การพบกันครึ่งทางของโลกจริงและโลกฝัน  ภาพของสิ่งมีชีวิตกึ่งพิการ ยังไม่โตเต็มวัย แขนเล็ก ขาเล็ก เอื้อให้ผู้ชายเหล่านี้ได้วาดฝันว่าตัวเองได้ปกป้องสิ่งบริสุทธิ์ สิ่งที่ยังเป็นเด็ก และแรงขับทางเพศเป็นสิ่งที่ถูกกดเอาไว้พอๆ กับที่ถูกปลดปล่อย การพยายามไต่เส้นของความบริสุทธิ์และความลามกอนาจาร เป็นเกมของไอดอลซึ่งทำให้มันเป็นวัฒนธรรมย่อยที่ไม่ได้มีเพียงด้านมืดและไม่ได้มีแค่ด้านสว่าง

ในอีกทางหนึ่ง พื้นที่เฉพาะและกฎเหล็กของการเป็นไอดอล หรือกฎในการติดตามไอดอล กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่าตัวปรากฏการณ์เสียอีก  พื้นที่เหล่านี้ดูเป็นพื้นที่ที่หมิ่นเหม่ทางศีลธรรมมากๆ อาจพูดได้ว่า มันคือพื้นที่ที่เปิดทางให้เกิดการพบกันระหว่างชายหนุ่มกับเด็กสาววัยกระเตาะที่พวกเขาไม่รู้จัก แต่เฝ้าฝันถึง เฝ้าติดตาม

ในพื้นที่นี้ ถ้าไม่ถูกควบคุมด้วยกฎ มันเกือบจะเป็นพื้นที่ของพวก pedophile (โรครักเด็ก) ในหลายกรณี (โดยเฉพาะซีนงานจับมือไอดอลเด็กในช่วงท้ายของหนัง) หรือพื้นที่ของพวกโรคจิตสตอล์กเกอร์ (stalker) ในพื้นที่เดิม การจับมือพูดคุยหรือถ่ายรูปคู่นี้ เคยมีความหมายโดยนัยที่น่าขยะแขยง ชวนขนลุก แต่ภายใต้กฎหนึ่งนาทีในการพูดคุย และกฎของการเป็นไอดอลที่ห้ามแสดงความรักเป็นพิเศษให้กับแฟนคนใดคนหนึ่ง กลับเปลี่ยนพื้นที่ปิดลับของพวก ‘โรคจิต’ ให้กลายเป็นพื้นที่เปิดโล่ง เปลี่ยนพื้นที่เชิงอำนาจของหญิง-ชาย ของ ‘คนที่เลือกได้’ กับ ‘คนที่รอให้เลือก’ ให้เป็นพื้นที่แนวระนาบที่ทุกคนได้รับความสนใจและถูกเลือกอย่างเท่าเทียมกัน

กล่าวให้ถึงที่สุด พื้นที่ของคอนเสิร์ตและงานจับมือ ได้เปลี่ยนสิ่งที่อยู่ใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดิน ในขณะที่ตัวมันเองอุ้มสมพื้นที่ทางจินตนาการของผู้ชาย พร้อมกันนั้นก็ได้ขีดเส้นชนิดหนึ่งให้ผู้ชายไร้อำนาจจนไม่สามารถจะครอบครองหรือแม้แต่ฝันถึงการครอบครองได้

โอตะคนหนึ่งพูดในสารคดีว่า สำหรับเขา การได้รับความรักจากไอดอลเป็นความรักที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย เพราะแฟนเพลงทุกคนได้รับความรักอย่างเสมอหน้า ไม่มีใครเป็นพิเศษกว่าใคร ไม่ต้องเล่นเกมชิงความเป็นแฟนแบบที่เขาต้องพบเจอเมื่อเข้าสังคม สำหรับเขา พื้นที่ในการคลั่งไอดอลกลับกลายเป็นพื้นที่ที่เขาสบายใจ รู้แน่ชัดว่าจะรักได้แค่ไหนและจะได้สิ่งใดตอบกลับมา โลกของไอดอลจึงเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเขา ผู้ซึ่งไม่มีทางจะได้รับความสนใจหรือความรักแบบเดียวกันจากโลกภายนอกจริงๆ ได้ ฟังดูแสนเศร้า แต่อาจกลายเป็นเรื่องเจ็บปวดกว่ามาก หากเราจะตัดสินว่าสิ่งนี้จอมปลอมและพยายามผลักผู้คนซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจะต้องพ่ายแพ้ ให้ออกมาเผชิญความพ่ายแพ้บนโลกที่เขากำลังวิ่งหนี

หากสำหรับไอดอล ดูเหมือนหนังค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นว่า การเป็นไอดอลเป็นเพียงงานชั่วคราวที่มีอายุสั้น  ริโอะพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะเปลี่ยนตัวเองจากไอดอลไปสู่การเป็นนักร้องจริงๆ (ซึ่งไม่มีกฎแบบเดียวกับไอดอล แต่เธอจะได้ร้องเพลงแบบศิลปินและเป็นได้มากกว่าที่เธอเป็นอยู่) การเป็นไอดอลจึงเป็นงานบริการมากกว่าการเป็นนักร้อง ในฐานะไอดอล เธอรักแฟนเพลงเหมือนลูกๆ แปลว่าเธอต้องรักลูกทุกๆ คนเท่ากันโดยไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนพิเศษ เธอต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะก้าวข้ามไปสู่สิ่งอื่น  โตเต็มวัยและไม่ต้องได้รับการปกป้องจากพวกผู้ชายรุ่นใหญ่ที่เป็นแฟนๆ ของเธออีกต่อไป

ระหว่างที่หนังดำเนินไป เราก็ได้เห็นด้านอื่นๆ ของริโอะ เช่น การที่เธอออกเดินทางไปหาแฟนๆ ทั่วญี่ปุ่นด้วยการปั่นจักรยานแล้ว live ไปด้วย การที่หลังจากปั่นมาทั้งวัน เธอยังต้องมา meet & greet กับแฟนๆ บนรถตู้  เธอต้องห่อของขวัญให้แฟนๆ ด้วยตัวเอง และต้อง live ตลอดเวลา งานไอดอลไม่ใช่งานสบายๆ แต่กลายเป็นงานบริการใช้แรงงานที่รีดเค้นทุกอย่างไปจากเธอ และไม่มีเวลาแม้แต่จะมาคิดว่าทำไมเธอถึงต้องทำสิ่งที่ทำอยู่นี้ 

 วัฒนธรรมไอดอลจึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่จริงจังจนเกินเลยตามมาตรฐานแบบญี่ปุ่น ทั้งไอดอลและโอตะต่างทำงานหนักอยู่ในฉากหน้าของการซื้อขายความบันเทิง มันคือวัฒนธรรมของการยั่วล้อกับความรู้สึกหมิ่นเหม่ และภายใต้การทำงานหนักของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ มันจึงสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แกนความคิดแบบนี้อันที่จริงแล้วเป็นแกนความคิดที่ญี่ปุ่นมากๆ ฉากอย่างการเลือกตั้งของ AKB48 ได้รับรองความจริงในข้อนี้ วัฒนธรรมที่ดูเหมือนเป็นความบันเทิงไร้สาระในแกนของโลกแห่งความจริงก็สร้างความจริงจังจนชวนขนลุกขึ้นมา

ไม่มีอะไรในวัฒนธรรมป็อปที่เป็นเรื่องของการตีหัวเข้าบ้านง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างหรือผู้เสพ ถึงที่สุด มันยังคงรีดเค้นทุกอย่างออกมา ข้อวิจารณ์ที่ว่า โลกของไอดอลเป็นโลกของการอุ้มชูความฝันเพ้อของผู้ชายที่ไม่ได้เรื่อง สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้พวกเขาโดยที่ไม่ต้องปรับปรุงตัวเอง แล้วหลบไปสู่โลกที่ควบคุมได้ โลกแฟนตาซีที่สร้างภาพเด็กสาวอ่อนแอขึ้นมา และทำให้เขาได้จริงจังไปกับเรื่องเล่นๆ เป็นข้อวิจารณ์มองข้ามไปไม่ได้

น่าเสียดายว่า ในขณะที่หนังพยายามจะตีตรงเป้าของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ หนังกลับไม่เปิดกว้างพอจะสำรวจแง่มุมอื่นๆ ทั้งในแง่ที่ว่าจริงๆ แล้ว ไอดอลเหล่านี้รู้สึกนึกคิดอย่างไร หรือการที่ในโลกของโอตะตลอดทั้งเรื่องล้วนแต่มีแฟนเพลงหญิงเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนอยู่ด้วย (แต่หนังพยายามจะสร้างโลกของเหล่าผู้ชายขึ้นมา) การที่หนังละเลยแฟนเพลงที่เป็นผู้หญิง ยิ่งทำให้เห็นว่าหนังได้ตั้งธงไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว แต่โชคดีที่หนังทำไม่สำเร็จ คือไม่สามารถโน้มน้าวผู้ชมให้เห็นถึงด้านน่ากลัวของโลกไอดอลได้อย่างตั้งใจ โชคดีที่ความไม่สำเร็จของหนังนี่เอง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้คิดถึงมันในแง่มุมอื่นๆ

Fact Box

Tokyo Idols (2017) ภาพยนตร์สารคดีสัญชาติญี่ปุ่น กำกับและเขียนบทโดย เคียวโกะ มิยาเกะ

Tags: , , , , , , , , ,