มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

 

(1)

จงอูเพิ่งย้ายจากปูซานเข้ามาโซลเพราะรุ่นพี่ชวนมาฝึกงานด้วย เขามาจากบ้านที่ไม่ได้ร่ำรวย แม่เป็นแม่ค้าขายปลาและมีพี่ชายสติไม่สมประกอบ จีอึน คนรักของเขาเข้ามาทำงานในโซลสักพักแล้ว เขามีเงินไม่มากพอจะไปหาคอนโดหรือแม้แต่ห้องเช่าดีๆ อยู่ได้ หลังจากลากกระเป๋าเร่ไปทั้งวัน เขาเจอหอพักราคาถูกแห่งหนึ่งจากในอินเทอร์เน็ต เพราะมันอยู่ในส่วนที่กำลังจะมีการปรับปรุงพื้นที่คนจึงมีราคาถูก หอพักของเขาอยู่บนชั้นสามดูแลโดยคุณป้าวัยกลางคนท่าทางใจดีแต่ติดจะจุ้นจ้านจนน่ารำคาญไปสักนิด ห้องเก่าสกปรก แคบเท่าเตียงนอนไปชนโต๊ะหนึ่งตัว ผนังบางจนได้ยินเสียงห้องข้างๆ เพื่อร่วมหอมีลุงท่าทางนักเลงคนหนึ่งที่ไม่มีใครชอบขี้หน้าและกำลังจะย้ายออก ไอ้ลามกห้องข้างๆ ที่เปิดประตูตลอดเวลา ปรินท์รูปโป๊ติดเต็มห้อง ชอบแอบมายืนเงียบๆ ข้างหลัง พึมพำว่า “ฆ่าซะดีไหม” ชายวัยกลางคนที่ครึ่งดีครึ่งบ้า หัวเราะไม่หยุดและชอบทำอะไรชวนตกใจอยู่เรื่อย กับชายหนุ่มท่าทางประหลาดอีกคนที่ดูเหมือนจะเป็นหัวโจก 

มันสกปรกและไม่น่าไว้ใจ เขารู้สึกเหนื่อยล้าทุกครั้งที่กลับเข้าหอพัก ระแวดระวังตัวตลอดเวลา  รู้สึกเหมือนคนพวกนี้อันตราย รู้สึกเหมือนมีใครเข้ามาในห้องตอนที่เขาไม่อยู่ วันหนึ่งจู่ๆ ลุงนักเลงก็หายตัวไป มีอีกคนหนึ่งเข้ามาใหม่ เพื่อนร่วมห้องคนสุดท้ายเป็นคนหนุ่มตาโตผิวซีดที่ทุกคนกลัว เขาเรียกจงอูว่าที่รัก และพยายามทำดีกับจงอูตลอดเวลา แต่ยิ่งทำดี คนคนนี้ก็ยิ่งน่าขนลุกราวกับเป็นปีศาจหลอนๆ สักตัวหนึ่ง 

ส่วนที่ทำงาน เขามีหัวหน้างานเป็นไอ้อ้วนนิสัยเสียที่ไม่ชอบหน้าจงอูตั้งแต่วันแรก ประธานบริษัทผู้เป็นรุ่นพี่ที่เขาเคารพก็ดูวางอำนาจบาตรใหญ่สั่งสอนนี่นั่นไม่เว้นวัน จนดูเหมือนมีจุดประสงค์บางอย่างที่ไม่น่าไว้ใจ จีอึนแฟนสาวก็ดูเหมือนจะวุ่นกับงานและเหนื่อยล้าตลอดเวลาจนไม่ได้พบกันเสียที นอกจากเครียดที่ทำงาน เมื่อกลับหอพักทุกอย่างยิ่งตึงเครียดมากขึ้นไปอีก มีคนหายไป จงอูเจอบันทึกใต้เตียงเป็นของคนที่มาอยู่ก่อน ในนั้นเขียนว่าตายซะ ตายซะซ้ำเป็นหน้าๆ มีบางอย่างไม่ชอบมาพากล มีฆาตกรฆ่าแมวออกเพ่นพ่าน และดูเหมือนเขาจะอยู่กลางคนบ้าที่พร้อมจะฆ่าเขาได้ตลอดเวลา ไม่นับอาการประสาทหลอนที่ติดมาจากครั้งไปเป็นทหาร อย่างช้าๆ เขาค่อยๆ เป็นบ้าไป 

(2)

วันหนึ่งจงซูได้พบกับแฮมี เพื่อนเก่าที่เคยอยู่บ้านใกล้กันในพาจูเมืองที่ห่างชายแดนเกาหลีเหนือแค่นิดเดียว เธอเป็นสาวพริตตี้ เขาเป็นหนุ่มส่งของพาร์ทไทม์ที่พยายามจะเป็นนักเขียน แรกทีเดียวเขาจำเธอไม่ได้เพราะเธอไปศัลยกรรมมา เธอทักเขา และชวนเขาไปดื่ม เล่นละครใบ้ที่เธอกำลังเรียนอยู่ เรียนการลืมว่ามันไม่มีอยู่จริง ทีนี้ทุกอย่างก็เป็นจริงในใจเพราะมันไม่ต้องมีอยู่จริงๆ เธอเล่นให้เขาดูด้วย 

ในฐานะเพื่อนเก่าเธอขอให้เขาไปที่ห้องเช่าของเธอเพื่อให้อาหารแมวตอนที่เธอไม่อยู่ เธอจะไปแอฟริกา ไปเที่ยวหาชาวป่าที่เต้นรำเพื่อตามหาความหมายของชีิวิต ไม่นานจากนั้นเธอก็กลับมาพร้อมเพื่อนชายคนใหม่ที่ร่ำรวยและหล่อเหลา ทั้งคู่พบกันที่สนามบิน เขาชื่อเบน อาศัยในอพาร์ทเมนต์หรูหรากลางกรุงโซล ขณะที่จงซูกลับไปเฝ้าบ้านเลี้ยงวัวที่พาจูหลังจากพ่อติดตารางเพราะไปก่อเรื่องมา 

ดูเหมือนเบนชอบเขา และอยากเจอกับเขาเรื่อยๆ แม้เขารู้สึกว่าเบนจะแย่งแฮมีไปจากเขาซึ่งเธอก็ดูมีใจ วันหนึ่งเบนกับแฮมีมาที่บ้าน พวกเขาดูดปุ๊นกัน แล้วเบนก็เล่าเรื่องที่เขาเผาโรงเพาะชำเพื่อความสนุก จากเรื่องนั้นดวงใจของจงซูที่เป็นเหมือนเรือนเพาะชำร้างก็ลุกไหม้เชื่องช้าทีละน้อย 

(3) 

เช้าวันหนึ่ง เกรเกอรี แซมซา ตื่นขึ้นและพบว่าตัวเองกลายเป็นแมลงยักษ์ นอนหงายเก๋งอยู่บนเตียงของตนเอง เขาเคยเป็นเซลล์แมนขายผ้าที่เกลียดงานของตัวเองอย่างสุดจิตสุดใจ แต่ตอนนี้เขาไม่สามารถแม้แต่จะลุกขึ้นมาทำงานที่เขาเกลียดได้อีกแล้ว เขาเคยเป็นกำลังหลักของครอบครัวในการหาเงินเข้าบ้าน แต่ไม่อีกแล้ว

เขาถูกบังคับให้อยู่แต่ในห้อง เพื่อนร่วมงานมาตามตัวก็ถึงกับต้องวิ่งเตลิดออกไป พ่อรังเกียจเขาอย่างออกนอกหน้า น้องสาวทำหน้าที่คอยดูแลส่งน้ำส่งข้าวพบว่าเขากินได้ก็แต่ของเน่าเท่านั้น เขาค่อยๆ สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปทีละนิด เรียนรู้ที่จะคลาน และไต่ตามผนังแบบแมลง 

เพื่อหารายได้ครอบครัวของเขาตัดสินใจแบ่งบ้านให้เช่า วันหนึ่งประตูถูกเปิดทิ้งไว้ ผู้เช่าเห็นแมลงขนาดยักษ์โสโครกน่ารังเกียจไต่ผนัง พวกเขาตัดสินใจย้ายออกและประณามว่าเจ้าของบ้านโสโครก น้องสาวเองก็เบื่อเหลือจะทนที่ต้องมาดูแลพี่ชายที่กลายเป็นสิ่งน่าเกลียด และไม่ก่อประโยชน์ใดๆ อีกต่อไปแล้ว 

(4) 

เรื่องแรกนั้นคือ Stranger From Hell ซีรีส์เกาหลีใต้ความยาวสิบตอนที่สร้างจากเว็บตูนชื่อเดียวกัน เรื่องที่สองคือ Burning ภาพยนตร์เกาหลีใต้ที่โด่งดังอย่างยิ่งในปี 2018 กำกับโดยอีชางดอง หนึ่งในคนทำหนังคนสำคัญของโลก ส่วนเรื่องที่สามคือ Metamorphosis นิยายเรื่องดังของฟรานซ์ คาฟกา ที่มีการถูกนำมากล่าวถึงในซีรีส์เรื่องนี้

หากจะมีอะไรที่สามสิ่งนี่เกี่ยวข้องกัน ก็คือ จงอูกับจงซูมีพื้นเพคล้ายๆ กัน เป็นเด็กหนุ่มจากชนบทที่ชอบเขียนหนังสือ มุ่งมายังโซลเพื่อหางานทำ เพื่อตามฝันของการเขียนหนังสือ แต่ดูเหมือนชีวิตจะยากลำบาก และถ้าจะมีอะไรคล้ายๆ กันอีกก็คือจงอูไปอาศัยในห้องเช่าเก่าโทรมเหมือนรูหนู เหมือนที่อยู่อาศัยของพวกแมลงสกปรก แบบที่เกรเกอรี่จะได้เป็นในอนาคต และถ้าจะมีอะไรเหมือนกัน จงอูกับจงซูมีหญิงคนรักที่มีระยะและดูเหมือนถูกคุกคามตามติดให้ความสนใจ รักใคร่และถูกทำให้เปลี่ยนไปโดยผู้ชายอีกคนที่ดูเหมือนจะมีสถานะสูงกว่า คนหนึ่งเป็นหมอฟันข้างห้องของจงอู อีกคนเป็นคนหนุ่มร่ำรวยที่มาติดพันเพื่อนสาวของเขาแต่ดูเหมือนจะใส่ใจจงซูมากกว่าหล่อน 

จงอูและจงซู ถูกทำให้เปลี่ยนทีละน้อยโดยคนหนุ่มหล่อเหลา ร่ำรวยและหลอน จนในที่สุดพวกเขากลายเป็นอีกคนหนึ่งที่อาจจะพูดโดยนัยได้ว่าเป็นแมลงปีกแข็งใหญ่ยักษ์บนเตียงของตนเองแบบที่เกรเกอรี่เป็น กล่าวให้ถูกต้อง จงอูและจงซูคือกระจกสะท้อนกันและกันและเป็นภาคต้นของชีวิตของเกรกอรี่ ซัมซา 

(5) 

แต่ก่อนจะไปถึงสามเรื่องนั้น เรากลับไปยังเรื่องที่สี่ก่อน และนั่นคือการที่ Stranger from Hell มีชื่ออีกชื่อว่า Hell is Other People ซึ่งมีที่มาจากบทละคร No Exit ของ ฌ็อง ปอล ซาร์ต (Jean Paul Sartre)

No Exit เป็นบทละครที่ว่าด้วยคนตายสามคนที่ถูกจับมาอยู่ในห้องไร้ทางออกห้องเดียวกัน คนหนุ่มเป็นสันติชนตีเมีย สาวหนึ่งเป็นเมียน้อยที่เคยทำแท้งลูก อีกคนเป็นเลสเบี้ยนสาวที่เคยยุยงให้ลูกพี่ลูกน้องฆ่าสามีตัวเอง ราวกับว่าทั้งหมดถูกจับขังไว้ในห้องลงทัณฑ์ตลอดกาลที่ไม่มีทางออกแม้แต่ความตาย เพราะพวกเขานั้นได้ตายไปแล้ว ทั้งสามคนเริ่มทำความรู้จักกันในขณะเดียวกันก็เริ่มยั่วยวน ผูกสัมพันธ์สามเส้าแก่กัน ในที่สุดก็กล่าวหากันและกัน และกันจนชายหนุ่มกล่าวประโยคสำคัญว่า “นรกคือคนอื่น” ประโยคเต็มๆ ของตัวบทคือ

“ดวงตาเหล่านั้นมุ่งมองมายังผม กลืนกินผมเข้าไป อะไรนะ? คิดว่ามีแค่เธอสองคนเท่านั้นหรือ? ผมคิดว่ามันมีมากกว่านั้นนะ มากกว่ามากๆ มันก็คือนรกดีๆ นี่เอง ผมไม่เคยเชื่อเรื่องพวกนี้มาก่อน คุณจำเรื่องเล่าจำพวกพวกห้องทรมานที่ทรมานด้วยไฟและกำมะถันได้ไหม ‘กระทะทองแดง’ นิทานโบราณพวกนั้นน่ะ! มันไม่จำเป็นต้องมีสักกะนิด เพราะนรกน่ะคือคนอื่น!”

แนวคิดเรื่อง ‘คนอื่น’ ของซาร์ต คือการเชื่อว่าตัวตนของเราไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นจากเราเพียงคนเดียว มันผูกโยงอยู่กับคนอื่นๆ ซึ่งล้วนต่างต่อสู้ดิ้นรนที่จะดำรงอยู่ ดังนั้นสำหรับซาร์ต ‘ความอับอาย’ จึงเป็นความรู้สึกพื้นฐานที่เกิดขึ้นจากการตระหนักรู้การดำรงอยู่คนอื่น ดังที่ซาร์ตใช้ภาพแทนของการมองผ่านรูกุญแจในเรื่องนี้ ในขณะที่เรามองผู้อื่นผ่านรูกุญแจ—มองโดยซ่อนไม่ให้เห็นตัวตน การถ้ำมองในลักษณะเดียวกับการที่ผู้ชมชมภาพยนตร์ การจ้องมองนี้จึงไม่ใช่การมองแบบมองตากันและกันของคนที่มีตัวตนเปิดเผย แต่เป็นการมองจากใครก็ได้แบบกล้องวงจรปิดที่จับจ้องตลอดเวลา เมื่อเรามองคนอื่นจึงเป็น ‘วัตถุ’ ที่ถูกจ้องมอง ซึ่งในทางตรงกันข้ามเราเองก็ล้วนต่างถูกมองผ่านรูกุญแจอยู่เช่นกัน ความอับอายจึงเป็นเรื่องของทั้งการที่เรามองผู้อื่นและถูกมอง 

และคนอื่นยังมีลักษณะเหมือนข่าวลือ ข่าวลือจากใครก็ไม่รู้ จากคนที่เขา ‘ว่ากันว่า’ ข่าวที่มีอำนาจที่ยับยั้งเราหรือบิดเบือนให้เราเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเป็นสิ่งอื่นที่เราไม่ได้เป็น การจ้องมองจากผู้อื่นทำให้เราอ่อนแอ เปราะบาง กลายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสังเกต

และก็เพราะการมีคนอื่น ที่ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออะไรนี้เอง ความสัมพันธ์ชนิดที่ไม่ต้องมีการกระทำใดๆ ต่อเราโดยตรงนอกจากการแสดงให้รู้ว่ามีคนอื่นอยู่ ในอีกทางหนึ่ง มันกลับทำให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตน (ภายนอก) จริงๆ เรานั้นดำรงอยู่ 

แล้วใครคือคนอื่นของจงอู คนอื่นขับเคลื่อนเขาอย่างไร ในตลอดทั้งเรื่องเรามองเห็นภาพจริงของการมองผ่านรูกุญแจ เมื่อมุนโจ คุณหมอฟันข้างห้อง แอบมองจงอูผ่านรอยแตกตรงผนังห้องตลอดเวลา จ้องมองและควบคุมโดยไม่แสดงตัว การสตอล์คจงอูไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้กระทำสิ่งใดต่อจงอูโดยตรงทำให้จงอูเป็นวัตถุที่เหมือนถูกจับจ้องตลอดเวลา ต้องควบคุมตนเองตลอดเวลา 

แล้วยังมีป้าเจ้าของหอจอมเจ้ากี้เจ้าการที่พยายามจะยัดเยียดนั่นนี่ให้เขาตลอดเวลา มีไอ้หนุ่มเนิร์ดที่เดินถือมืดมายืนจ้องประตูห้องของเขาตอนกลางคืน มีฝาแฝดพิลึกพิลั่นที่คอยจับจ้องเขา ในที่ทำงานหัวหน้างานที่ไม่ชอบก็คอยหาเรื่องจับผิด จงอูตกอยู่ในอิทธิพลของ ‘คนอื่น’ ทั้งในแง่การถูกจ้องมองและการไม่ถูกมอง จากจีอึนแฟนสาวที่เหนื่อยล้าเกินไปสำหรับความสัมพันธ์ และรุ่นพี่ที่หวังดีประสงค์ร้ายกับเขา 

จงอูจึงเหมือนตกอยู่ในห้องลงทัณฑ์ตลอดเวลาทั้งที่ทำงานและที่หอพัก เขาต้องควบคุมตัวเองตลอดเวลา ตระหนักรู้ตัวเองตลอดเวลาแม้ในยามนอน การไม่มีพื้นที่ทั้งทางกายภาพและทางใจให้ผู้คนได้ปลดปล่อยตัวเองจากการถูกจ้องมอง ย่อมขับเคลื่อนผู้คนไปสู่การสูญเสียตัวเอง

(6) 

แล้วจงอูเปลี่ยนไปอย่างไร? เขากลายเป็น ‘แมลง’ 

ตลอดเวลาดูเหมือน มุนโจ จะพกหนังสืออยู่เล่มหนึ่งและหนังสือเล่มนั้นคือ Metamorphosis ใน Metamorphosis เราอาจแทนค่าการเปลี่ยนเป็นแมลงของเกรเกอรี่ไปได้หลายทาง ความกลัวและความกังวลของเกรเกอรี่ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องภายในของเขา หากมันผูกพ่วงอยู่กับการสูญเสียสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ การที่เขาไม่สามารถออกไปทำงานได้ และถูกเกลียดชังจาก ‘คนอื่น’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนอื่นในครอบครัวตัวเอง ทุนนิยมกำหนดควบคุมผู้คนให้เป็นคนทำงาน และเมื่อไม่อาจทำได้ ทุนนิยมก็ทำให้เขากลายเป็นแมลงสกปรกที่หมดคุณค่า เป็นสิ่งอันตรายและน่าขยะแขยงลดทอนคุณค่าของโลกทุนด้วยการเกาะสังคมกินโดยไม่ผลิตสิ่งใด 

หาก Metamorphosis คือชีวิตของผู้คนหลังกลายเป็นแมลง ซีรีส์เรื่องนี้ก็เป็นเหมือนภาคต้นของ Metamorphosis หากพระเจ้าเปลี่ยนเกรเกอรี่ให้เป็นแมลง มุนโจก็พยายามจะทำหน้าที่พระเจ้าดังที่เขากล่าวว่าเขากำลังสร้าง ‘สิ่งที่สวยงาม’ (ซึ่งเขาเคยพยายามแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ) และจะว่าไปเขาเองก็เป็นความสำเร็จที่ถูกสร้างจากป้าเจ้าของหออีกที เราจึงอาจบอกได้ว่าหอพักอีเดน (สวนสวรรค์ของพระเจ้า) จึงคือรังของเหล่าแมลง หากคนคนหนึ่งมีศักยภาพที่จะ ‘กลาย’ เขาก็จะกลายเป็นแมลง หากไม่มีก็จะเป็นเหยื่อของแมลง เหมือนเนื้อชิ้นในตู้เย็น 

การกลายเป็นแมลงคืออะไร มันไม่ใช่เป็นเพียงการกลายเป็นอาชญากรเท่านั้น แต่มันคือการต่อต้าน ตลอดทั้งเรื่องเราเห็นว่าจงอูคือภาพแทนทางชนชั้นที่ชวนขนหัวลุก เป็นภาพของคนชั้นล่างเกาหลีใต้ที่ไม่มีต้นทุน ‘ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด’ แบบรุ่นพี่ของเขา ไม่ได้มีโอกาสอันดีที่จะทำงานที่ดีอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การดิ้นรนอย่างหนักของจงอู ถูกลดรูปเหลือเพียงการไม่อาจเข้ากันได้กับโซล สังคมกินคนที่เรียกร้องอย่างหนักจากผู้คน โดยไม่ให้อะไรคืนนอกจากความฝันลมๆ แล้งๆ โลกนอกอีเดนจึงเป็นนรกอีกรูปแบบหนึ่ง และการเป็นแมลงได้เปิดเอาบ่อกักเก็บความโกรธเกลียดในใจออกมา (พูดมันออกมาสิครับ การทำตามใจตัวเองนั่นต่างหากที่สวยงาม—มุนโจกล่าว) จึงเป็นการตอบโต้การซ่อนเร้นด้วยสีหน้ายิ้มแย้มตามที่ทุนเรียกร้อง 

สิ่งที่น่าสนใจมากๆ ในหนังคือการเป็นทหาร ตลอดเวลาปัจจัยหลักที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อจงอูมากพอๆ กับการอยู่ในสวนสวรรค์อีเดนที่มี ‘คนอื่น’ เป็นนรก ก็คือความทรงจำฝังใจในช่วงการเป็นทหาร น่าสนใจว่าในเมื่อชายชาวเกาหลีทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร ชีวิตในค่ายจึงเป็นบาดแผลมวลรวมประชาชาติมากพอกับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สังคมชาตินิยมและชายเป็นใหญ่ขั้นรุนแรง สิ่งนี้แผ่ลามไปในระบบโซตัสรุ่นพี่รุ่นน้อง การเรียกร้องความเป็นชายที่ต้องเกรี้ยวกราด แข็งแกร่งตลอดเวลา การแสดงความเป็นชายล้นเกินที่กดทับความเป็นชายในรูปแบบอื่นๆ สังคมไบโพลาร์เรียกร้องทั้งการแสดงความเป็นชายที่บ้าคลั่ง ขณะเดียวกันก็ต้องการเก็บกดอารมณ์เพื่อให้เป็นมดงานของระบบ ถึงที่สุดมันจึงนำไปสู่ความวิปลาสของการกลายเป็นแมลงโดยสมบูรณ์ 

(6) 

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เรื่องของจงอูคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับเรื่องของจงซูคนหนุ่มใน Burning จงซูอยากเป็นนักเขียนเหมือนจงอู เข้าโซลมาเหมือนกัน (แต่จงซูถูกลากกลับไปอยู่บ้าน) และถูกเปลี่ยนแปลงโดยผู้ชายอีกคนที่มีสถานะเหนือกว่าตัวเขา แถมทั้งสองเรื่องยังอ้างอิงวรรณกรรมตะวันตกคล้ายๆ กัน (ในกรณีของ Burning คือ The Great Gatsby และ Barn Burning) สร้างมาจากสื่ออื่นเหมือนๆ กัน (หนึ่งจากเว็บตูนอีกหนึ่งจากเรื่องสั้นของฮารูกิ มูราคามิ) และลงเอยด้วยการกลายเป็นอาชญากร ไม่อาจเข้ากันกับสังคมได้อีกต่อไปพอๆ กัน

ในตอนที่ Burning ออกฉายแม้มันจะได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก แต่ดูเหมือนในเกาหลีใต้เองหนังกลับไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ผู้ชมบางคนให้ความเห็นว่าภายใต้การพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำและชนชั้นด้วยการไม่พูด (ปรากฏโดยไม่ปรากฏเหมือนกับแมวและหญิงสาวในเรื่อง)  ดูเหมือนหนังไม่อาจเข้าใจ เข้าถึงความโกรธที่แท้จริงของคนหนุ่มสาวเกาหลี ราวกับว่าความโกรธนั้นถูกทำให้เป็นปัญญาชนมากเกินไป  

Stranger From Hell ภายใต้รูปรอยของการเป็นหนังเขย่าขวัญดำมืดตามสูตร จึงน่าสนใจในฐานะการนำเสนอความโกรธของคนหนุ่มสาวเกาหลีโดยไม่ซ่อนแต่แสดงออกมาชัดเจนผ่านเสียงวอยซ์โอเวอร์ของจงอู อย่างเช่น “อย่าชั่วให้มากนัก” “ฆ่าแม่งซะดีไหม” “เป็นบ้าอะไรกันวะ” “หลอนชิบหาย” ในขณะที่ Burning ระเบิดสิ่งต่างๆ ออกมาโดยไม่ได้พูด ราวกับเป็นความโกรธที่จับต้องไม่ได้ ความโกรธที่จับต้องได้ของ Stranger From Hell ก็ผลักให้หนังไปสู่จุดที่น่าขนลุกมากๆ นั่นคือการฆ่าของหนังถูกทำให้เกิดในริมขอบของความรู้สึกว่า “ถ้าเป็นเราเราก็ทำเหมือนกัน” หนังให้เราเดินเข้าไปในจิตใจของชายที่ถูกรบกวนตลอดเวลา และได้รับข้อเสนอว่าหากอยากจะมีชีวิตรอดคุณต้องลงมือจัดการสิ่งน่ารำคาญในจิตใจของตน การฆ่าไม่ใช่การฆ่าใครก็ได้ แต่เป็นการฆ่าสิ่งที่สมควรตายมาตลอด แม้การฆ่าคือการฆ่า การฆ่าคือการแพ้ แต่การฆ่านี้ช่างสมเหตุสมผล และการระบายออกจึงเป็นข้อเสนอที่แทบจะปฏิเสธไม่ได้ 

หนังทั้งสองเรื่องจึงให้ภาพที่ชวนขนลุกอย่างแตกต่างกัน ในขณะที่ Burning เบลอภาพของความโกรธเกลียดในชนชั้น แล้วยกระดับไปสู่สงครามชนชั้นในตอนท้าย เมื่อการฆ่าคือการฆ่าภาพฝันที่ตนไม่อาจครอบครอง การฆ่าใน Stranger From Hell กลับเป็นการฆ่ากันเองของชนชั้นล่างในสังคมที่ชนชั้นใต้ถุนสังคมกินกันเองแบบเดียวกันกับการฆ่าอลเวงในครึ่งหลังของ Parasite สังคมทุนนิยมชนชั้นถูกเบลอไว้ในรูปรอยของหนังสยองขวัญปัจเจก แต่ปริแตกออกมาผ่านการฆ่าในท้ายที่สุด

(7) 

นรกคือคนอื่น คนอื่นทั้งที่มีร่างและเป็นเพียงเรือนร่างไร้องคาพยพ อำนาจที่เป็นเหมือนมือที่มองไม่เห็น กำกับ กดดัน ควบคุมปัจเจกชนซึ่งไร้แรงขืนต้านในสังคมทุนนิยมที่ชูความเป็นปัจเจกเพื่อสูบเลือดเนื้อจากกปัจเจกโดยตรง Stranger From Hell ภายใต้การเป็นหนังสยองขวัญฆาตกรรมเลือดสาด จึงเป็นแบบจำลองที่น่าตื่นเต้นยิ่งสำหรับสังคมเกาหลีใต้ ไปจนถึงสังคมอื่นๆ ซึ่งอาจรวมถึงสังคมเผด็จการสังวาสทุนนิยมแบบสังคมไทยด้วย 

 

เรียบเรียงเกี่ยวกับ Hell is Other People จาก
https://www.the-philosophy.com/sartre-hell-is-other-people 

Tags: , , ,