สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ได้แต่ด้อมๆ มองๆ อยากจะมาลองโต้คลื่นลมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนอื่น ผู้เขียนอยากให้ทำความเข้าใจว่าคุณรับความเสี่ยงได้แค่ไหน (อ่านรายละเอียดได้ใน จะลงทุนทั้งที รู้หรือยังว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน?) เมื่อมั่นใจแล้วว่าพร้อมจะรับทั้งขาดทุนและกำไรจากการซื้อขายหุ้นสามัญ ผู้เขียนขอจูงมือไปดู 3 ขั้นตอนแรกตั้งแต่การเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น เรื่องน่ารู้และคำศัพท์พื้นฐานในตลาดหลักทรัพย์ และวิธีเบื้องต้นเพื่อเลือกหุ้นตัวแรกเข้าในพอร์ตฟอร์ลิโอ

ก่อนจะเริ่มขั้นตอนแรก ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่าการซื้อขายหุ้นสามัญนับว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่รับไม่ได้หากต้องเสียเงินต้น เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว เตรียมเงินและเอกสารให้พร้อมสำหรับการเปิดบัญชีและเลือกซื้อหุ้นตัวแรกกันครับ

เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแบบไหนและที่ไหนดี?

บัญชีการซื้อขายหุ้นนั้นจะมีอยู่ 3 ประเภท ซึ่งเหมาะกับกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันออกไป

ประเภทแรกคือบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) ซึ่งตรงไปตรงมาคือ มีเงินเท่าไรก็ซื้อขายได้เท่านั้น นั่นหมายความว่าเราจะต้องเอาเงินไปกองไว้ในบัญชีเสียก่อนจึงจะซื้อขายได้นั่นเอง

ประเภทที่สองคือ บัญชีเงินสด (Cash Account) โดยนักลงทุนจะได้รับวงเงินตามระดับความเสี่ยง และจะต้องวางเงินไว้ร้อยละ 15 ของวงเงินที่มีอยู่ เช่น ได้รับวงเงิน 100,000 บาทจะต้องวางเงินไว้ 15,000 บาท แต่สามารถซื้อหุ้นได้ 100,000 บาทนั่นเอง แต่ทั้งนี้ หลังจากทำการซื้อขายสำเร็จ นักลงทุนจะต้องเอาเงินมาจ่ายภายใน 2 วันหลังจากทำการซื้อขาย (T+2) สรุปง่ายๆ บัญชีประเภทนี้คือซื้อขายก่อน จ่ายเงินทีหลัง ไม่ต้องเอาเงินก้อนมาจมในบัญชีนั่นเอง

ประเภทสุดท้ายคือบัญชีเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance) หรือบัญชีกู้เงินมาเล่นหุ้นนั่นเอง แน่นอนว่านักลงทุนก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ก้อนนั้นด้วย

ในแง่ของบัญชี สำหรับมือใหม่ที่ยังลงทุนไม่คล่อง ผู้เขียนแนะนำว่าให้เปิดบัญชีแคชบาลานซ์ เพราะไม่ต้องมาปวดหัวกับการหมุนเงินของบัญชีเงินสด ส่วนบัญชีเครดิตบาลานซ์นั้นสำหรับเซียนหุ้น เพราะนอกจากจะหมดตัวง่ายๆ แล้วยังมีหนี้สินตามมาอีกด้วย

ส่วนจะเลือกเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์ไหน ขั้นแรกก็อย่าลืมเช็คชื่อเสียก่อนว่าบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เมื่อมั่นใจแล้วว่าบริษัทนั้นถูกกฎหมาย ผู้เขียนขอแนะนำให้ตอบแบบสอบถามง่ายๆ เพื่อเปรียบเทียบโบรกเกอร์แต่ละเจ้าดังนี้ครับ

นี่คือ 4 เรื่องคร่าวๆ ที่เราควรพิจารณาก่อนจะเปิดบัญชีหุ้นกับโบรกเกอร์ใด หากใครรู้สึกว่าวุ่นวายยุ่งยากและขี้เกียจจะเปรียบเทียบให้ปวดหัว ธนาคารหลากสีที่เราใช้ในชีวิตประจำวันก็อำนวยความสะดวกเปิดบัญชีเล่นหุ้นอยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถไปติดต่อเปิดบัญชีที่เคาน์เตอร์ตามสาขา หรือจะลองหาข้อมูลว่ามีช่องทางสมัครออนไลน์หรือไม่ การใช้ช่องทางที่เราคุ้นเคยย่อมสะดวกสบาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะได้โบรกเกอร์ที่ดีและเหมาะกับเราที่สุดนะครับ

ความรู้พื้นฐานเพื่อซื้อขายในตลาดหุ้น

ผู้เขียนจำวันแรกที่เริ่มเล่นหุ้นได้ ตอนนั้นเรายังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยซึ่งยังไม่ประสีประสากับตลาดทุนมากนัก กว่าจะเริ่มทำความเข้าใจรายละเอียดของคำและสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ใช้เวลาไม่น้อย แต่ในขั้นตอนนี้ เราขอเสนอทางลัดที่สรุปข้อมูลเท่าที่จำเป็นในการซื้อขายหุ้นในตลาดให้สามารถซื้อขายได้อย่างมั่นใจ

อย่างแรก เรามาทำความรู้จักกับตลาดหลักทรัพย์กันเสียก่อน ในประเทศไทยนั้น บริษัทสามารถจดทะเบียนได้กับ 2 ตลาด คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งถือเป็นตลาดสำหรับบริษัทใหญ่ ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทขึ้นไป และตลาดเอ็มเอไอ (Market for Alternative Investment: MAI) ที่มีชื่อเล่นว่าตลาดใหม่ คือตลาดสำหรับจดทะเบียนบริษัทขนาดกลาง หรือทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งสองตลาดจะซื้อขายในกระดานเดียวกัน ก็คือกระดานที่เราเปิดบัญชีตามขั้นตอนแรกนั่นแหละครับ

กระดานซื้อขายหลักทรัพย์ในไทยจะแบ่งรอบซื้อขายเป็นสองช่วง คือช่วงเช้าจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 10.00 – 12.30 น. ส่วนช่วงบ่ายจะเริ่มประมาณ 14.30 – 16.30 น. โดยจะหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อ่านตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผู้เขียนใช้คำว่า ‘ประมาณ’ เหตุผลก็เนื่องจากระบบซื้อขายจะสุ่มเวลาเปิดในช่วงเวลา 5 นาทีเพื่อป้องกันการปั่นราคาเปิดและราคาปิดนั่นเอง

โดยปกติ ระบบการซื้อขายจะดำเนินแบบเรียลไทม์โดยจะจับคู่ธุรกรรมเสนอซื้อและเสนอขายทันที แต่ในช่วงเวลาก่อนการเปิดและปิดตลาด  (Pre Open และ Pre Close) คือช่วง 9.30 น. ถึงราว 10.00 น. 14.00 น. ถึงราว 14.30 น. และ 16.30 น. ถึงราว 16.40 น. จะใช้ระบบการประมูล คือคำสั่งเสนอซื้อและเสนอขายจะค้างอยู่ในระบบ และสุ่มเวลาเพื่อกำหนดราคาปิดหรือเปิดด้วยราคาที่ทำให้เกิดการซื้อขายมากที่สุด ผู้เขียนขอแนะนำเบื้องต้นว่า ช่วงเวลาประมูลอาจไม่เหมาะกับนักเทรดมือใหม่นัก ควรใช้เวลาทำความเข้าใจระบบซื้อขายแบบนี้ก่อนที่ลงมือเทรดครับผม

เรื่องต่อไปคือ Bid หรือราคาเสนอซื้อ และ Offer หรือราคาเสนอขาย ซึ่งก็ตีความตรงไปตรงมา การซื้อขายหุ้นในตลาดก็เหมือนการติดป้ายประกาศว่าเรายินดีจะซื้อหุ้น หรือยินดีจะขยายหุ้นในราคาเท่าไร หากมีนักลงทุนคนอื่นตอบรับในคำเสนอดังกล่าว ก็เป็นอันว่าการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งราคาหุ้นที่แตกต่างกัน ก็จะมีช่วงราคาที่แตกต่างกันไป เช่น หากหุ้นต่ำกว่า 2 บาท ราคาหุ้นก็จะขยับขึ้นลงที่ละ 0.01 บาท แต่หากหุ้นราคา 400 บาทขึ้นไป ราคาหุ้นก็จะขยับขึ้นลงที่ละ 2 บาท

ตารางแสดงข้อมูลช่วงราคาของการซื้อขาย ณ ระดับราคาต่างๆ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ขอเตือนไว้นิดหนึ่งว่าจะซื้อขายหุ้นทีมีขั้นต่ำที่ 100 หุ้นนะครับ หากจะซื้อหุ้นราคาแพงแบบ 400 บาทขึ้นไป นั่นหมายความว่าเงินที่ต้องเตรียมไว้ขั้นต่ำอยู่ที่ 40,000 บาทเลยทีเดียว

อีกเรื่องที่หลายคนอาจสงสัยคือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ต่อท้ายหุ้น ซื้อเราขอหยิบยกบางตัวมาอธิบายนะครับ

กลุ่มแรกคือเครื่องหมายตระกูลที่ขึ้นต้นด้วย ‘X’ ไม่ว่าจะเป็น XD, XR, XW และอีกสารพัด โดยสัญลักษณ์นี้คือคำเตือนว่า หากนักลงทุนซื้อหุ้นในวันที่เห็นสัญลักษณ์ดังกล่าว จะไม่ได้รับผลตอบแทน เช่น เงินปันผล (XD: Excluding Dividend) สิทธิจองซื้อหุ้น (XR: Excluding Right) และสิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิหรือวอร์แรนต์ (XW: Excluding Warrant) เพื่อไม่ให้พลาดสิทธิดังกล่าว นักลงทุนต้องหมั่นตรวจสอบปฏิทินหลักทรัพย์ เพื่อทราบว่าหุ้นตัวไหน จะขึ้นเครื่องหมายอะไร ในวันที่เท่าไร

กลุ่มที่สองคือเครื่องหมายเตือนนักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญาณไม่ดีนัก เพราะเครื่องหมายที่อาจพอเห็นอยู่บ้างคือกลุ่มที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งให้หยุดซื้อขายชั่วคราว เช่น H (Trading Halt) และ SP (Trading Suspension) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ถูกพบว่าอาจมีข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้ชี้แจงหรือเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือหากบริษัทที่ผิดข้อกำหนดขั้นร้ายแรง ก็อาจขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-Compliance) หรือต้องถูกเพิกถอนออกจากตลาดฯ นั่นเอง

สัญลักษณ์เหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่เราพบเห็นทุกวันในการซื้อขายหุ้น แต่รู้ไว้ก็ไม่เสียหายนะครับ หากเจอเครื่องหมายอะไรที่ไม่รู้จัก ก็สามารถอ่านข้อมูลได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เลย

เลือกหุ้นตัวแรกอย่างไรดี?

บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยมีอยู่ค่อนพันบริษัท หากจะให้นั่งอ่านข้อมูลที่ละตัวเพื่อเลือกหุ้นที่ตรงใจที่สุด กว่าจะตัดสินใจได้ก็คงหมดกำลังใจกันพอดี สำหรับมือใหม่ ผู้เขียนขอแนะนำว่าหุ้นตัวแรกควรจะเป็นกลุ่มหุ้นบลูชิพ (Blue Chip) หมายถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่ทนแดดทนลมกว่าบริษัทเกิดใหม่ และมีระดับความผันผวนของราคาที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจมองหาได้ในหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 นั่นเอง

ดัชนี SET50 จะเป็นกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) และสภาพคล่องสูงสุดห้าสิบหุ้นในตลาด เรียกได้กว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่และมีการซื้อขายจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่เราคุ้นหูกันดี ไม่ว่าจะเป็นเหล่าธนาคารหลากสี ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอีกสารพัดที่พูดชื่อไปก็ต้องร้องอ๋อ

สำหรับหุ้นตัวแรก ผู้เขียนแนะนำว่าอย่าไปหวังจะได้กำไรมหาศาล ขอแค่ไม่ขาดทุนก็น่าจะพอไหว เพราะเป้าหมายของหุ้นตัวแรกคือการทำความเข้าใจพื้นฐานว่าตลาดหุ้นทำงานอย่างไร

หากใครยังกล้าๆ กลัวๆ รู้สึกตาลายคล้ายจะเป็นลม และรู้สึกโกรธเคืองผู้เขียนที่มาทิ้งหุ้น 50 ตัวให้เลือกแบบดื้อๆ ขอแนะนำแหล่งข้อมูลอย่าง settrade.com  แหล่งข้อมูลหุ้นที่สามารถดูผลการดำเนินงานได้ใน Factsheet รวมถึงคำแนะนำ บทวิเคราะห์ และราคาเป้าหมายจากสารพัดโบรกเกอร์ในหน้า IAA Consensus ซึ่งพอจะใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจได้ แต่ต้องอ่านอย่างมีวิจารณญาณนะครับ เพราะใช่ว่าคำทำนายของโบรกเกอร์จะเป็นจริงเสียทุกอย่าง

ตัวอย่างหน้า IAA Consensus บนเว็บไซต์ settrade.com ซึ่งจะรวบรวมบทวิเคราะห์จากหลากหลายโบรกเกอร์ คำแนะนำให้ซื้อ (Buy) ถือไว้ (Hold) และขาย (Sell) รวมถึงราคาเป้าหมาย (Target Price) บางโบรกเกอร์ยังใจดีเผยแพร่บทวิเคราะห์ฉบับเต็มให้อ่านกันอีกด้วย

ที่สำคัญ อย่าลืมแนวคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงนะครับ เพราะการทุ่มเงินซื้อหุ้นเพียงหนึ่งตัว ก็ไม่ต่างจากเอาไข่ทุกใบใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว หากบริษัทเติบโตดีกำไรงามก็โชคดีไป แต่หากบริษัทมีปัญหาเมื่อไร นั่นหมายความว่าเราอาจต้องขาดทุนจำนวนค่อนข้างมาก หากเปรียบเทียบกับพอร์ตฟอร์ลิโอที่ลงทุนในหุ้นจากหลายๆ อุตสาหกรรม

ส่วนใครที่ยังทำใจไม่ได้อยู่ดีที่จะเอาเงินไปซื้อหุ้น เราแนะนำให้ลองเล่น Click2Win ระบบซื้อขายหุ้นจำลองที่อิงราคาจากตลาดจริง ที่เพียงสมัครก็ได้เงินเริ่มต้น 5,000,000 บาท ให้พอรับรู้รสชาติความปีติจากการได้กำไร และความเจ็บปวดเมื่อต้องจำใจตัดขาดทุน

แต่อย่าทดลองเทรดเพลินจนปล่อยบัญชีซื้อขายหุ้นที่เปิดไว้ให้กลายเป็นบัญชีเงินออมทรัพย์นะครับ!

เอกสารประกอบการเขียน

ห้องเรียนนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การซื้อขายตราสารทุน

 

Tags: , ,