“เงินสดคือเลือดของธุรกิจ” ประโยคข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องท่องจำไว้ขึ้นใจ หากธุรกิจไหนสามารถสร้างกระแสเงินสดเป็นบวกได้ ผู้บริหารจะตัดสินใจนำเงินไปลงทุนต่อ จ้างพนักงานใหม่ ชำระหนี้ หรือจ่ายเงินปันผลคืนให้ผู้ถือหุ้นก็ตามสะดวกใจ แต่หากธุรกิจไหนที่กระแสเงินสดเป็นลบ ก็น่าหนักใจสักหน่อย เพราะต้องวิ่งหาว่าจะนำเงินสดจากที่ไหนมาจ่ายหนี้สินที่ค้างชำระ และกำลังจะครบกำหนด

ว่าแต่เราจะหาข้อมูลกระแสเงินสดรับ เงินสดจ่าย ของธุรกิจได้อย่างไร?

ผู้เขียนเคยเล่าถึงการอ่านงบการเงินขั้นพื้นฐาน และอัตราส่วนการเงินเบื้องต้นไปแล้วในบทความชิ้นก่อนๆ แต่ความสนุกสนาน (!?) กับการอ่านงบการเงินสำหรับมือใหม่ก็ไม่ได้หมดเพียงแค่นั้นนะครับ เพราะเรายังไม่ได้แตะถึงงบการเงินพระรองอย่างงบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flows) ซึ่งปรับปรุงข้อมูลจากงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุน เพื่อระบุว่ากิจการมีเงินสดเข้าและเงินสดออกเท่าไร จากกิจกรรมใดบ้าง

ขอรื้อฟื้นความทรงจำกันสักนิด ว่างบการเงินที่เราๆ ท่านๆ อ่านกันอยู่นั้นทำอยู่บนฐานของเกณฑ์คงค้าง (accrual basis) ซึ่งหมายถึงว่า หลายบรรทัดที่อยู่บนงบการเงินนั้นเป็นสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่ายที่ ‘คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต’ แต่ยังไม่เกิดขึ้นจริงๆ

ตัวอย่างเช่น หากในงบกำไรขาดทุนแสดงให้เห็นรายได้ 100 บาท นั่นไม่ได้แปลว่าบริษัทได้รับเงินสด 100 บาทจากลูกค้า เพราะลูกค้าอาจซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อก็ได้

ดังนั้น ตัวเลขจากงบทั้งสองอาจไม่ได้ฉายภาพสภาพคล่อง (liquidity) และความสามารถในการชำระหนี้สินในระยะยาวของกิจการที่แจ่มชัดนัก คำว่าสภาพคล่องในที่นี้ หมายถึงความสามารถที่บริษัทจะนำเงินหรือสินทรัพย์อื่นๆ มาชำระหนี้สินเมื่อถึงกำหนดชำระ สภาพคล่องมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของกิจการ เพราะคงไม่มีคู่ค้ารายได้ที่อยากทำธุรกิจกับบริษัทที่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้

ก่อนที่จะเข้าเนื้อหา ผู้เขียนขอบอกก่อนนะครับว่า มีเพียงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (พวกบริษัทมหาชนทั้งหลายนั่นแหละครับ) ที่ต้องทำงบกระแสเงินสด ส่วนบริษัทเอกชนอื่นๆ จะทำหรือไม่ได้ทำก็ได้ ไม่ว่ากัน ดังนั้นอย่างแปลกใจหากไปไล่ดูงบการเงินของบริษัทเอกชนทั่วไป แล้วไม่เจองบกระแสเงินสดนะครับ

โครงสร้างงบกระแสเงินสด

การทำงบกระแสเงินสดนั้นแบ่งออกเป็นสองวิธีคือทางตรงและทางอ้อมซึ่งจะมีหน้าตาแตกต่างกันเล็กน้อย แต่หัวใจสำคัญของงบกระแสเงินสดคือการแปลงตัวเลขจากเกณฑ์คงค้างให้เป็นเงินสดรับ-จ่ายจากบริษัท โดยจะแยกออกเป็น 3 กิจกรรมหลักคือ กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน

1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน

กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นภาพสะท้อนเงินสดรับจาก ‘การขายสินค้าหรือให้บริการตามการดำเนินงานปกติ’ ในขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นภาพถึงเงินสดจ่าย เช่น ต้นทุนการซื้อสินค้าคงคลัง หรือค่าจ้างพนักงาน

แน่นอนครับว่านักลงทุนย่อมมองหากิจการที่มีเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก เพราะเป็นสัญญาณอันดีว่าที่ทำมาค้าขายอยู่ทุกวันนี้ มีเงินสดหมุนเข้ามาในกิจการ

ในทางกลับกัน หากเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นลบ ซึ่งอาจมีสาเหตุเพราะเศรษฐกิจไม่ดี หรือบริษัทดังกล่าวอาจเป็นบริษัทเกิดใหม่ ผู้บริหารก็ต้องเตรียมป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยการจัดหาเงินส่วนอื่นมาโปะเพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้

การเปลี่ยนแปลงเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานจะเป็นสัญญาณเบื้องต้นว่าธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลง ข้อสังเกตของกระแสเงินสดบรรทัดนี้คือ ควรนำตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจากงบกำไร-ขาดทุน หากปริมาณเงินสดกับกำไรสุทธิต่างกันลิบลับ แสดงว่าบริษัทอาจใช้เทคนิคทางบัญชีเพื่อรับรู้รายได้ที่เร็วเกินไป หรือรับรู้ต้นทุนที่ช้าเกินไป เพราะการบันทึกบัญชีตามเกณฑ์คงค้างนั้น บางรายการอาจขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนักบัญชีและผู้สอบบัญชี

2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน

กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนจะบอกเราว่าบริษัทนำเงินสดไปลงทุนเพิ่มเติม เช่น การซื้อเครื่องจักร สร้างโรงงาน หรือการซื้อกิจการอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร โดยปกติแล้ว นักลงทุนจะคาดว่าเงินสดจากกิจกรรมลงทุนจะติดลบในระดับเดียวกับค่าเสื่อมราคา กล่าวคือ แม้ธุรกิจจะไม่เติบโต แต่อย่างน้อยบริษัทก็ยังจ่ายค่าบำรุงรักษาให้ระดับการผลิตคงเดิม

หากเราเห็นกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนเป็นบวก ก็ต้องกลับไปอ่านในรายละเอียดว่าปีที่ผ่านมาบริษัทมีนโยบายหรือกลยุทธ์อะไรที่ผิดแผกแตกต่างจากปกติ เช่น ปรับโครงสร้างธุรกิจ จึงตัดสินใจขายบริษัทลูกบางแห่งออกไป เป็นต้น แต่หากไม่มีรายละเอียดใดๆ ก็น่ากังวลไม่น้อย เพราะนั่นหมายความว่ากิจการเริ่มนำสินทรัพย์สำหรับสร้างรายได้มาเทขาย เปรียบเสมือนการเอามรดกเจ้าคุณปู่ที่เคยใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพมาขายนั่นแหละครับ

3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน

ความหมายของกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินก็ตามชื่อนั่นแหละครับ คือสารพัดตราสารหนี้และตราสารทุนเพื่อระดมเงินทุนจากสาธารณะ หากเป็นฝั่งขาบวก ก็หมายถึงการออกหุ้นกู้ หรือขายหุ้นสามัญเพื่อเพิ่มทุน แต่หากเป็นขาลบ ก็หมายถึงการจ่ายคืนเงินต้น หรือการจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดนั่นเอง

การที่กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินติดลบเป็นสัญญาณของบริษัทที่สุขภาพดี คือมีเงินสดงอกเงยจากกิจกรรมอื่นๆ เพื่อนำมาจ่ายปันผล หรือจ่ายคืนหนี้ที่กู้ยืมมาตั้งตัว ในทางกลับกัน หากกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินเป็นบวกก็สามารถตีความได้หลายอย่าง เช่น บริษัทอาจมีโครงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เลยต้องระดมทุนก้อนใหญ่มาตั้งโรงงาน หรือในทางกลับกัน การที่ต้องระดมเงินทุนมาเพิ่มอาจเพราะธุรกิจไปไม่ค่อยสวยนัก เลยต้องวิ่งหาแหล่งทุนมาเสริมสภาพคล่องก็เป็นได้

งบกระแสเงินสดกับกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)

สำหรับนักวิเคราะห์สายพื้นฐานทั้งหลาย การคำนวณมูลค่าหุ้นสามัญจะต้องใช้ตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งคือกระแสเงินสดอิสระ (Free Cashflow) ซึ่งเราสามารถคำนวณได้จาก กระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ – ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (Capital Expenditures) เช่น ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร เป็นต้น

กระแสเงินสดอิสระคือเงินสดที่ผู้บริหารสามารถนำไปจ่ายหนี้สิน จ่ายเงินปันผล หรือขยายธุรกิจ เพราะฉะนั้น การที่กิจการมีเงินสดอิสระเพิ่มขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่าธุรกิจกำลังไปได้สวยและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน หากกระแสเงินสดอิสระมีแนวโน้มลดลง แสดงว่ากิจการอาจประสบปัญหาสภาพคล่อง ทำให้มีโอกาสต้องกู้ยืมเงินในอนาคตอันใกล้

นักลงทุนหลายสำนักจึงเชื่อมั่นว่ากระแสเงินสดอิสระจะเป็นค่าแทนสำหรับประเมินมูลค่าปัจจุบันของกิจการ สำหรับนักวิเคราะห์สายนี้ หากธุรกิจมีกระแสเงินสดอิสระเพิ่มขึ้น ก็หมายความว่าราคาหุ้นก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ความเชื่อดังกล่าวก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เพราะการที่บริษัทมีกระแสเงินสดอิสระมากๆ อาจหมายความว่าทีมผู้บริหารไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร โดยแบกต้นทุนถือเงินสดไว้ล้นมือโดยใช่เหตุ ส่วนบริษัทที่มีกระแสเงินสดอิสระติดลบ ก็อาจเป็นเพราะกิจการทุ่มเงินไปกับการขยายธุรกิจหรือตลาดอย่างดุดัน โดยยอมรับความเสี่ยงที่อาจต้องเจอกับปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น และหวังจะกอบโกยกำไรในระยะยาว

อ่านธุรกิจผ่านวงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle)

วงจรเงินสดเป็นมาตรวัดธุรกิจอีกตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเงินสด (แต่ไม่เกี่ยวกับงบกระแสเงินสดนะครับ!) โดยตัวเลขดังกล่าวจะฉายภาพเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการ ตั้งแต่วันแรกที่บริษัทจ่ายเงินค่าซื้อสินค้า นำมาวางขาย และเก็บเงินสดจากลูกค้าคืนกลับมาเพื่อนำไปซื้อสินค้าใหม่ หรือวงจรที่เปลี่ยนจากเงินสดที่ใช้ในการลงทุนไปเป็นเงินสดจากผู้บริโภคที่จ่ายคืนมาให้กิจการ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า บริษัทส่วนใหญ่มักจะซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นเงินเชื่อ ในขณะเดียวกัน ก็จะจำหน่ายสินค้าหรือบริการเป็นเงินเชื่อเช่นเดียวกัน วงจรเงินสดจึงคำนวณจาก 3 องค์ประกอบคือ

  • ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า (Days Payables Outstanding: DPO) หมายถึงจำนวนวันที่คู่ค้าให้เครดิตกับเราโดยเฉลี่ย ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแทนที่กิจการจะนำเงินไปจ่ายหนี้ ก็สามารถนำไปใช้อย่างอื่นก่อนได้
  • ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Days Inventory Outstanding: DIO) หมายถึงจำนวนวันที่เราจะขายสินค้านั้นออกไปได้ ยิ่งต่ำยิ่งดี แสดงว่าซื้อง่ายขายคล่อง
  • ระยะเวลาในการเก็บหนี้เฉลี่ย (Days Sales Outstanding: DSO) หมายถึงจำนวนวันที่เราจะเก็บเงินสดได้หลังจากการขายสินค้า ยิ่งต่ำยิ่งดี เพราะบริษัทอยากได้เงินสดเข้ามาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนวงจรเงินสดก็จะคำนวณจาก ระยะเวลาในการเก็บหนี้เฉลี่ย (DSO) + ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (DIO) – ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า (DPO) โดยจะได้ผลลัพธ์เป็นหน่วยวัน

ตัวอย่างเช่น บริษัท แมวน้ำน้อย (นามสมมติ) จำกัด สั่งซื้อหมอนรูปแมวน้ำขนาดต่างๆ จากคู่ค้าในประเทศจีน โดยผู้ผลิตในจีนแจ้งว่าจะต้องชำระเงินภายใน 20 วัน (DPO) และพบว่าหลังจากกระจายสินค้าไปตามห้างร้านทั่วไทย จะต้องใช้เวลาเฉลี่ย 30 วัน (DIO) จึงจะขายตุ๊กตาแมวน้ำได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ จะได้รับเงินจากร้านที่ฝากขายเฉลี่ย 15 วัน (DSO) หลังจากที่ตุ๊กตาแมวน้ำเดินทางถึงมือผู้บริโภค

ดังนั้น วงจรเงินสดของบริษัท แมวน้ำน้อย (นามสมมติ) จำกัด จะเท่ากับ 15 (DSO) + 30 (DIO) – 20 (DPO) เท่ากับ 25 วัน หมายความว่าบริษัทฯ ต้องรอ 25 วันหลังจากที่เงินออกจากกระเป๋า ก่อนที่เงินสดจากลูกค้าจะย้อนกลับมาเข้ากระเป๋าอีกครั้ง

สำหรับการวิเคราะห์ตัวเลขนั้น ก็เช่นเดียวกับอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆ ที่ต้องนำไปเทียบกับบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน แล้วพิจารณาว่าบริษัทที่เราหมายตาไว้ทำได้ดีกว่าหรือแย่กว่าคู่แข่งในแง่ใด

ส่วนการคำนวณวงจรเงินสด สามารถหยิบข้อมูลที่มีอยู่ในงบการเงินมาคำนวณได้ตามรายละเอียดในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ หรืออาจไปอ่านบทสรุป (Factsheet) ของเหล่าบริษัทมหาชนได้ที่ www.set.or.th ซึ่งมีการคำนวณให้แบบสำเร็จรูป ไม่ต้องเปลืองแรงกดเครื่องคิดเลขให้เมื่อยนิ้ว

สำหรับบทความนี้ เรียกได้ว่าครบรสเรื่องเงินสดนะครับ สุดท้ายก็ขอฝากคติประจำใจสำหรับนักลงทุนเช่นทุกครั้ง ว่างบการเงินคือภาพของการดำเนินงานในอดีต ซึ่งไม่ได้การันตีว่าผลการดำเนินงานในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ผ่านๆ มานะครับ นอกจากอ่านงบการเงินแล้ว ก็อย่าลืมอ่านปัจจัยมหภาคต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนครับ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Fact Box

  • หลายคนอาจแปลกใจเวลาคำนวณวงจรเงินสดแล้วผลที่ได้กลับติดลบ จนได้แต่สงสัยว่าที่คำนวณมามันผิดตรงไหน คำตอบคือไม่ผิดนะครับ เพราะวงจรเงินสดติดลบได้ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ธุรกิจค้าปลีกอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จะค่อนข้างมีอำนาจต่อรองต่อคู่ค้าสูง ทำให้ได้ระยะเวลาก่อนชำระเงินให้กับคู่ค้าค่อนข้างนาน ในขณะที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคเป็นเงินสดเสียส่วนใหญ่ ส่วนอายุสินค้าบนชั้นก็ไม่ได้นมนาน เรียกว่าหมุนกันแบบวันต่อวัน ธุรกิจลักษณะนี้จะมีวงจรเงินสดติดลบ นั่นหมายถึงยังไม่ทันจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับคู่ค้า แต่ก็ได้เงินสดจากผู้บริโภคมาเข้ากระเป๋าเรียบร้อยแล้ว
  • นักลงทุนที่ใช้กระแสเงินสดอิสระเป็นค่าแทนสำหรับประเมินมูลค่าปัจจุบันของกิจการ จะทำการคาดการณ์กระแสเงินสดอิสระจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ แล้วคิดลดกลับมาด้วยต้นทุนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average Cost of Capital: WACC)
Tags: , , ,