ตอนที่แล้วได้ฉากภาพกว้างของวัฒนธรรมการกินแมลง คราวนี้เราจะมาดูเฉพาะในเมืองไทยว่า จริงๆ แล้ว ‘แมลง’ ที่เราเห็นคุ้นตาผ่านการทอดขายแบบสำเร็จรูปตามรถเข็นตามแหล่งท่องเที่ยวดังๆ มีเส้นทางย้อนกลับไปที่ตรงไหน ก่อนที่จะเข้าปากเราอย่างเอร็ดอร่อย จากจุดเริ่มต้นสู่ปลายทาง ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงแมลง แหล่งรับซื้อและขายส่ง การเคลื่อนตัวสู่กรุงเทพฯ ถึงพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และไอเดียสุดบรรเจิดที่ยกระดับแมลงสู่ขนมซอง

ภาพของแมลงที่กลายเป็นอาหารและแหล่งโปรตีนของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในหนังเรื่อง Blade Runner 2049 (2017) มีการพูดถึงสภาพของโลกที่เปลี่ยนไปราวกับมนุษยชาติกำลังเดินทางมาถึงจุดจบ แม้แต่อาหารก็กลายเป็นอาหารทางเลือก มีการเพาะเลี้ยงหนอนเป็นแหล่งโปรตีนของมนุษย์

ในประเทศไทย ทางกรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตกรเลี้ยงแมลงเป็นอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้น นอกจากทำการเกษตรหลักอย่างการปลูกข้าว ยางพารา และปาล์มแล้ว การเลี้ยงแมลงจะไม่ใช่เพียงอาหารพื้นบ้านอีกต่อไป แต่จะเป็นอาหารใหม่ (Novel Food) โดยเฉพาะ ‘จิ้งหรีด’ ที่กลายเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงและประเทศในฐานะสินค้าส่งออกที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศ

ถ้าพูดถึงการเลี้ยงจิ้งหรีด สถานที่ที่จะให้ภาพได้ชัดที่สุด หนีไม่พ้น หมู่บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพราะกว่า 65 ครัวเรือนจากทั้งหมด 98 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพหลักแทนอาชีพทำนาไปแล้ว เนื่องจากความแห้งแล้ง และการเลี้ยงจิ้งหรีดก็ใช้น้ำน้อยกว่า ถึงขนาดมีอนุสาวรีย์จิ้งหรีดยักษ์สีดำตั้งอยู่ทางเข้าหมู่บ้าน

ปัจจุบันมีฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั่วประเทศประมาณ 20,000 แห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มีผลผลิตสูงถึง 7,500 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ยังไม่มีการรวมกลุ่มกันอย่างชัดเจนนัก พวกเขาหาข้อมูลและองค์ความรู้ในการเลี้ยงจากทางอินเทอร์เน็ต การสอบถามฟาร์มคนอื่นที่เคยเลี้ยงมาก่อน หรือการเดินทางไปดูวิธีเลี้ยงจากฟาร์มอื่นๆ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาทดลองเลี้ยงด้วยตัวเอง ผ่านการลองผิดลองถูก ทำให้วิธีการเลี้ยงของแต่ละคนมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย

ไพรัช เรือนเพ็ง หรือ บอย อายุ 29 ปี เจ้าของฟาร์มจิ้งหรีดมหาชัยให้ข้อมูลกับเราว่า เดิมทำอาชีพเป็นคนขับรถส่งคนงานทุกเช้าเย็น ส่วนตัวเป็นคนชอบกินแมลงทอด แต่เวลาซื้อกินเองตามรถเข็นกลับได้ปริมาณค่อนข้างน้อยและมีราคาแพง จึงอยากลองเลี้ยงไว้กินเอง พอศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและเดินทางไปดูฟาร์มของคนที่เลี้ยงอยู่ ก็ช่วยต่อยอดความคิดให้ทำอย่างจริงจัง

“เราเลี้ยงมาได้สองปี เริ่มต้นจาก 2-3 บ่อ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย แรกๆ ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เลี้ยงแล้วผลผลิตเหลือน้อย เราต้องคอยสังเกตและใส่ใจ จนตอนนี้มีอยู่ 40-50 บ่อ ข้อดีของการเลี้ยงจิ้งหรีดคือ คืนทุนเร็ว แค่ 40 วันก็ขายได้แล้ว ไม่เหมือนเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ที่ต้องใช้เวลานานกว่า 3-4 เดือน”

พันธุ์จิ้งหรีดที่นิยมเลี้ยงได้แก่ พันธุ์ทองดำ และพันธุ์ทองแดง แต่ปัจจุบันจะเป็นพันธุ์ผสม เนื่องจากพันธุ์ทองแดงมีข้อดีคือ ทน ไม่กัดกัน แต่ตัวเล็ก ส่วนพันธุ์ทองดำ ตัวใหญ่แต่ดุ และชอบกัดกัน คนเลี้ยงเลยมักจะเอามาผสมกัน

ข้อดีของการเลี้ยงจิ้งหรีดคือ คืนทุนเร็ว แค่ 40 วันก็ขายได้แล้ว ไม่เหมือนเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ที่ต้องใช้เวลานานกว่า 3-4 เดือน

“ลงทุนครั้งแรกแค่ 3,000-4,000 บาท ได้ครบทุกอย่าง ตั้งแต่บ่อเลี้ยง สายพันธุ์ และอาหาร พอรุ่นต่อไปซื้อแค่อาหารอย่างเดียว สายพันธุ์เราก็เก็บไข่ไว้เพาะพันธุ์เองได้ ดูแลก็ไม่ยาก ให้อาหารแค่ตอนเช้ากับตอนเย็น จะระวังก็แค่เรื่องการโดนฝน ความชื้น เพราะแมลงจะชอบความร้อนมากกว่า แล้วจิ้งหรีดขายได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ไข่ ตัว ไปจนถึงขี้ที่เป็นอาหารปลา”

ไพรัชให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แต่ละฟาร์มจะมีเทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดไม่เหมือนกัน สำหรับฟาร์มของเขา จะใช้บ่อที่ทำมาจากแผ่นสมาร์ตบอร์ด ขนาด 1.20 x 2.40 เมตร ข้างบนใช้มุ้งลวดเป็นตัวกันไม่ให้แมลงบินหนีออกไป ข้างในบ่อจะมีแผงไข่จำนวนมากใส่เรียงเอาไว้ เพื่อเป็นที่หลบของจิ้งหรีด เพราะจิ้งหรีดเป็นสัตว์ที่ชอบกัดกัน นอกจากนี้ก็มีถาดอาหารและน้ำวางไว้ข้างในบ่อด้วย

วงจรชีวิตของจิ้งหรีดอยู่ที่ 35-45 วัน แรกเริ่มจิ้งหรีดเกิดมาจะยังไม่มีเพศ ต้องรอให้ผ่านไป 10-15 วัน จึงจะรู้แล้วว่าเป็นเพศอะไร สังเกตได้ว่า จิ้งหรีดตัวที่กินโปรตีนเยอะจะทำให้มีไข่เยอะ กลายเป็นเพศเมีย ส่วนตัวที่กินโปรตีนน้อยจะเป็นเพศผู้

“จิ้งหรีดที่พร้อมเก็บขายต้องตัวเต็มวัย มีปีกแข็ง และลอกคราบแล้ว ก่อนจับหนึ่งวันจะงดให้อาหาร แต่จะให้ฟักทองเพื่อล้างท้อง ทำให้น้ำหนักมากขึ้นและรสชาติมันขึ้น พอถึงเวลาจับ ก็เคาะแผงไข่ เอามาทำความสะอาด และโยนแผงไข่ไปในบ่ออีกที เพื่อให้จิ้งหรีดเกาะ จากนั้นก็โยนใส่กะละมัง แล้วจับใส่ถุงแล้วมัดปาก เท่านี้จิ้งหรีดก็จะน็อกเพราะขาดอากาศ เราก็เอาไปล้างน้ำ ต้ม ใส่ถุง แล้วแช่ในห้องเย็นพร้อมส่ง”

เขายอมรับว่าการทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพที่ทำรายได้ค่อนข้างดี สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 40,000-50,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากบ่อหนึ่งทำกำไรได้ 1,000 บาท ทำไปควบคู่กับการขายพันธุ์ ขายบ่อ และอาหารสำหรับจิ้งหรีดด้วย

“ราคาส่งตามท้องตลาดอยู่ที่ 80-100 บาทต่อกิโลกรัม หนึ่งกิโลกรัมก็มีประมาณ 1,000 ตัว ระยะเวลา 40 วัน หนึ่งบ่อจะได้จิ้งหรีดมากถึง 20 กิโลกรัม”

ไพรัชเห็นว่าธุรกิจฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดยังไปได้อีกไกล เพราะจิ้งหรีดกลายเป็นอาหารทางเลือกของอนาคตเสียแล้ว เป็นแมลงที่มีโปรตีนมากแต่ไขมันน้อย เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีโรค แต่เขามีคำแนะนำว่า สำหรับมือใหม่ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดี เริ่มจากบ่อจำนวนน้อย แล้วค่อยขยายให้มากขึ้น และต้องศึกษาพฤติกรรมของแมลงไปด้วย

จากฟาร์มเลี้ยงที่มีทั่วประเทศ แมลงจะถูกส่งไปยังตลาดกลางหลายๆ แห่งที่เป็นศูนย์รวมของการขายส่งแมลงนานาชนิด แหล่งใหญ่มีอยู่ที่ตลาดโรงเกลือ อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถ้าขยับเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ ก็จะมีที่ตลาดไท ตลาดคลองเตย ตลาดเทเวศน์ และตลาดมหานาค เป็นต้น

ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าแมลงทอดรถเข็น ก็จะซื้อแมลงที่ขายส่งเป็นกิโลจากตลาดเหล่านี้ นำมาทอดขายให้กับลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวได้กินอย่างอร่อยตามตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนพลุกพล่าน หนึ่งในนั่นคือถนนข้าวสาร ซึ่งเท่าที่กวาดสายตาดูจะมีแมลงทอดรถเข็นอยู่ 7-8 เจ้าอยู่รอบๆ

เก๋ อายุ 37 ปี หนึ่งในแม่ค้าแมลงทอดรถเข็นที่ขายอยู่กลางถนนข้าวสารบอกกับเราว่า สมัยก่อนเป็นพนักงานเงินเดือน กว่าเงินเดือนจะออกก็ไม่พอใช้ จึงตัดสินใจออกมาลงทุนค้าขาย

“สมัยก่อนยังขายกันไม่เยอะ พอตอนหลังก็มีคนมาขายกันมากขึ้น ความแตกต่างของแต่ละร้านขึ้นอยู่กับความหลากหลายของแมลง แต่แมลงหลักๆ ก็ต้องมีไว้ขาย เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด แมงกระชอน ด้วงมะพร้าว แมงดา บึ้ง ส่วนใหญ่เราก็รับมาจากคลองเตย แต่แมลงบางชนิดหายาก เราต้องสั่งมาจากต่างจังหวัด ถ้าเป็นคนไทยจะนิยมดักแด้กับตั๊กแตน ส่วนฝรั่งจะแล้วแต่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาเคยกินหรือเปล่า”

“รายได้ก็ปานกลางนะ พออยู่ได้ วันหนึ่งได้อยู่ 1,000-2,000 บาท บางที ขายได้วันนี้เราก็ต้องเอาไปลงทุนต่อ ถ้าจะขายได้ราคาดี ก็ต้องแมงป่อง เพราะราคาตัวละ 100 บาท ขนาดใหญ่หน่อยก็ 150 บาท แล้วมันหายากด้วย”

ส่วนหัวถนนด้านสี่แยกคอกวัว บี อายุ 43 ปี ปักหลักขายตรงนี้มา 8 ปี เธอเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยขายอย่างอื่นมาก่อน แต่เปลี่ยนมาขายแมลงทอดเพราะรายได้ดีกว่า เฉลี่ยวันหนึ่งอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาท

“ที่ร้านมีตั้งแต่ เขียด แมงสะดิ้ง ดักแด้ แมงดา บึ้ง ตั๊กแตน แต่ที่ขายดีสุดคือแมงป่อง ส่วนใหญ่รับมาจากตลาดไท แต่นอกนั้นก็มีที่ตลาดมหานาค ตลาดคลองเตยบ้าง ลูกค้าส่วนมากเป็นฝรั่ง แต่บางคนก็ไม่กล้ากิน เขาจะถ่ายรูปอย่างเดียวก็มี เราก็ติดป้ายไว้ว่าถ่ายรูปอย่างเดียว 10 บาท บางทีก็ตื๊อเขาให้ช่วยซื้อหน่อย ก็ยืนขายตรงนี้ตั้งแต่ค่ำๆ จนถึงผับเลิกนั่นแหละ”

นอกจากเราจะเห็นแมลงทอดที่ขายตามรถเข็นแล้ว ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา แมลงทอดได้ยกระดับไปอีกขั้น กลายเป็นของกินเล่นที่บรรจุถุงอย่างดี วางขายในร้านสะดวกซื้อ เพิ่มมูลค่าของแมลงให้สูงขึ้นไปอีก และชื่อนั้นก็คือ ‘แมลงอบกรอบไฮไซ’

แมลงอบกรอบไฮไซ เกิดขึ้นในปี 2556 โดย ทัดณัฐ ฉันทธรรม์ มีไอเดียมาจากการเห็นลูกจ้างในร้านอาหาร ซื้อแมลงตามรถเข็นมากิน จึงคิดว่าแมลงเหล่านี้หาซื้อไม่ง่าย และยังไม่มีวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ จึงอยากสร้างความแตกต่าง เอาแมลงเหล่านี้มาบรรจุซองเป็นขนมถุงอย่างที่เห็นทุกวันนี้

ด้วยภาพลักษณ์ของแมลงอบกรอบไฮโซที่ดูบ้านๆ หลักการทำตลาดให้โดนใจผู้บริโภคคือ ต้องออกอีเวนต์ แจกให้คนทดลองชิม พร้อมเก็บข้อมูลความเห็นจากคนที่ได้ลองชิมมาปรับปรุงและพัฒนา และสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านสื่อออนไลน์ โดยใช้ไอเดียสร้างความแตกต่างเป็นตัวนำ มีการแจมให้ชิม เล่นมุกฮา คุยกับคนในเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่เหมือนกับขนมอื่นๆ ที่มีตามท้องตลาด

ด้านกลุ่มลูกค้าแมลงอบกรอบไฮโซ ปรากฏว่าเป็นกลุ่มคนมีการศึกษา รายได้สูง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ รู้ถึงคุณค่าของโปรตีนจากแมลง

ปัจจุบันแมลงอบกรอบไฮไซ ใช้แมงสะดิ้งและดักแด้เป็นหลัก มีรสชาติหลากหลาย เช่น รสโนริสาหร่าย รสบาร์บีคิว รสชีส เป็นต้น กระจายสินค้าผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายอย่าง ร้านค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าทั่วไป ปัจจุบัน ยอดขายกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ในประเทศ ส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ส่งออกไปยังลาว กัมพูชา รวมถึงอเมริกาและฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายว่าในปี 2017 นี้จะมียอดขายอยู่ที่ 60 ล้านบาท และภายในไม่เกิน 3 ปี จะมียอดขาย 100 ล้านบาท

จากอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นสู่การกินของคนทุกชนชั้น จากแมลงทอดรถเข็นที่ดูไม่แพง สู่การเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปเป็นขนมซองที่ขายในร้านสะดวกซื้อ และเราเชื่อว่ามันยังไม่หมดแค่นั้น แมลงยังเป็นอะไรอื่นๆ ได้อีกมาก ตราบเท่าที่มนุษย์เชื่อว่า มันคือทางรอดในอนาคต

 

ตอนต่อไป ‘แมลง’ สัตว์กู้โลก ปากท้องของอนาคต ตอน เมื่อแมลงขึ้นโต๊ะหรู

 

อ้างอิง:

  • www.prachachat.net
  • www.smilebull.co.th
  • www.thansettakij.com
  • www.bangkokbiznews.com
Tags: , , ,