ปี 2563 นับเป็นปีที่น่าประหลาดสำหรับวงการละครเวทีไทย สองเดือนแรกของปีแทบไม่มีละครเล่น (ทราบมาว่าเพราะมีหลายเรื่องไปทัวร์ต่างประเทศ) พอเข้าเดือนมีนาคมที่เริ่มจะมีละครเล่นบ้างสถานการณ์โควิด-19 ก็ร้ายแรงจนถึงจุดที่การแสดงทุกเรื่องต้องยกเลิกกหรือเลื่อน ในรอบห้าเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนจึงได้ดูละครเวทีไปเพียง 2 เรื่องเท่านั้น แม้ว่าละครที่ผู้เขียนได้ดูจะเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็อยากจะเขียนถึง เพราะมันอาจได้กลับมาเล่นอีกครั้ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้บทความนี้เป็นบทบันทึกที่อยู่ในโลกออนไลน์ไปอีกหลายปี 

เรื่องแรกที่ผู้เขียนได้ดูคือ Lindbergh’s flight การเดินทางของลินด์เบิร์ก การแสดงโดย GECKO PARADE คณะละครร่วมสมัยจากญี่ปุ่นที่ร่วมทำงานกับศิลปินไทยหลากแขนง ตั้งแต่นักแสดงละครเวที ผู้กำกับภาพยนตร์ ไปจนถึงนักดนตรี ส่วน Lindbergh’s flight นั้นเป็นบทละครของแบร์ทอลท์ เบรคชท์ นักการละครชาวเยอรมันคนดัง ว่าด้วยการขับเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกของนักบินที่ชื่อ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก  

Lindbergh’s flight นั้นเคยแสดงที่ญี่ปุ่นมาก่อนแล้ว จุดเด่นคือการเล่นกับ ‘พื้นที่’ โดยละครเรื่องนี้ไม่ได้เล่นในโรงละคร แต่เคยจัดแสดงมาแล้วทั้งในบ้านเก่า พิพิธภัณฑ์ โรงงานถั่วหมัก ส่วนเวอร์ชันไทยเดิมทีจะแสดงที่ตึกเก่าแก่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่เพราะโควิด-19 ทำให้ต้องย้ายมาที่ ‘สลัว’ คาเฟ่เล็กๆ ย่านเจริญกรุง และจำกัดคนดูเพียงรอบละ 10 คนเท่านั้น 

ความสนุกของ Lindbergh’s flight คือการเดินตามนักแสดงไปทั่วทั้งตึก ไล่ตั้งแต่ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ชั้นสาม และจบที่นอกร้านริมถนนใหญ่ ภายในตึกจะมีห้องต่างๆ ที่เปิดไปเจอคนกำลังเล่นเดี่ยวเชลโล่ ห้องที่กำลังฉายภาพยนตร์ และห้องที่มีงานจัดวางแบบอินสตอลเลชั่น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้ดูการแสดงในรอบบ่าย ซึ่งอากาศค่อนข้างร้อนและแสงสว่างจ้า ส่วนตัวเชื่อว่าความมืดในการแสดงรอบค่ำน่าจะให้บรรยากาศที่ขลังกว่า

แม้สไตล์การให้คนดูเดินย้ายที่ไปมาอาจไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วสำหรับศิลปะการแสดง แต่ผู้เขียนก็ตื่นตาตื่นใจกับแต่ละ ‘ด่าน’ ที่ผู้สร้างเลือกสรรมาให้ผจญภัย แต่ในส่วนของเนื้อเรื่องออกจะสับสนและจับความอะไรไม่ได้นัก เนื่องจากละครมีบทพูดทั้งภาษาไทยและญี่ปุ่น ส่วนซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษก็ใช้วิธีสุดเซอร์ด้วยการให้ทีมงานเดินถือเครื่องฉายยิงใส่กำแพง (อ่านทันบ้างไม่ทันบ้าง) แต่โดยรวมแล้วมันพูดถึงความสับสนและการดิ้นรนทางปัจเจกของนักบินทั้งในเชิงกายภาพ (การขับเครื่องบิน) และจิตใจ (การเอาชนะตนเอง)

ทั้งนี้ทีมงานได้แจ้งกับผู้เขียนว่า Lindbergh’s flight มีแผนจะกลับมาแสดงแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งในอนาคต…ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อไร 

ละครอีกเรื่องที่ผู้เขียนได้ชมคือ ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น โดยคณะ Crystal Theatre เล่าถึงกลุ่มหนุ่มสาวห้าคนที่หนีไปกบดานใต้ดิน (หมายถึงไปอยู่ใต้ดินจริงๆ) หลังเหตุรัฐประหาร เพื่อเตรียมพร้อมจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงโลก ความน่าสนใจคือกำกับโดยผู้กำกับชาวชิลี เซบาสเตียน เซบายอส (Sebastian Zeballos)

ละครเรื่องนี้มีสิ่งที่ผู้เขียนชอบและไม่ชอบมาผสมกันได้อย่างประหลาด ส่วนที่ชอบคือช่วงแรกของละครที่มีบรรยากาศแบบตลกแอบเสิร์ด เหล่าตัวละครพูดจาด้วยคำใหญ่คำโต เหมือนจะเป็นการจิกกัดพวกฝ่ายซ้ายหรือหัวก้าวหน้าไปในตัว แต่แล้วอยู่ดีๆ กลางเรื่องก็ดันกลายเป็นเรื่องราวของมิตรภาพและการทุ่มเถียงใหญ่โต ต้องยอมรับว่านักแสดงทุกคนมีพลังสูงและทุ่มเทมาก แต่ความดราม่าต่างๆ มันอาจจะท่วมท้นเกินไป ประกอบกับสถานที่แสดง (Spark drama studio) ก็แคบมาก ผู้ชมบางส่วนอาจจะรู้สึกอึดอัดกับละครก็เป็นได้ 

ผู้เขียนกลับมาชอบละครอีกครั้งในช่วงท้ายเรื่องที่มีการเฉลยหักมุมบางอย่าง นำไปสู่ธีมของการหลงผิดหลอกตัวเอง เชื่อไปเองว่าตัวเองจะสามารถทำการยิ่งใหญ่ได้ อันเป็นจุดอ่อนของฝ่ายซ้ายไฟแรงจำนวนมาก มันเป็นเรื่องขำขันและเจ็บปวดไปพร้อมกัน แต่ช่วงจบของละครก็กลับไปสู่ความดราม่าอีกครั้งในเรื่องภูมิหลังทางครอบครัวของตัวละครตัวหนึ่ง ถึงจุดนี้ผู้เขียนรู้สึกเหนื่อยจนถึงขั้น ‘สละเรือ’ มิอาจจดจ่อกับละครได้อีกต่อไป ชนิดว่าตัวละครอยากทำอะไรก็ตามใจเถิด

แม้จะทั้งชอบและชัง แต่ ‘ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น’ ก็เป็นผลงานที่มีแง่มุมน่าสนใจ น่าเสียดายว่าละครเล่นไปได้เพียง 4 รอบก็ต้องหยุดการแสดง ทางทีมงานแถลงไว้ในเพจว่ามุ่งหมายจะกลับมาเล่นอีกครั้งในเร็ววัน

ทีนี้ถ้าลองย้อนพิจารณาช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ละครเวทีไม่สามารถเล่นได้ตามโรงปกติ เราก็พบสองเทรนด์ที่น่าสนใจ อย่างแรกคือการปล่อยผลงานเก่าๆ ให้ดูกันแบบเต็มเรื่องทางออนไลน์ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วเป็นสิ่งที่ชาวละครไม่ทำกัน เพราะเคยเชื่อกันมาแต่ดั้งเดิมว่าละครเวทีเป็นสิ่งที่พลาดแล้วพลาดเลย หาดูย้อนหลังไม่ได้ ยกเว้นเรื่องดังๆ แบบ Phantom of the Opera หรือ Billy Elliot ที่เขาทำแผ่นขาย

ละครออนไลน์ดูฟรีที่ใม่น่าพลาดก็เช่น ผลงานจากคณะ B-Floor  ที่ทยอยปล่อยคลิปให้ดูแบบจำกัดเวลา โดยล่าสุดคือ Something Missing ละครเรื่องเยี่ยมประจำปี 2017 (ดูได้ถึง 13 มิ.ย.) ส่วนฝั่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็ทำซีรีส์ ‘ละครอักษรฯ on screen’ อัปโหลดละครทางยูทูบ เช่น ‘นางร้ายในลงกาที่รวมนักแสดงหญิงฝีมือดีทั้งวงการ (หมดเขตดูสิ้นเดือนมิถุนายน)

อีกเทรนด์หนึ่งคือการจัดแสดงแบบออนไลน์เพื่อให้วงการดำเนินได้ต่อไปแม้จะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ มีผลงานหลายชิ้นก็ใช้วิธีไลฟ์สดหรืออัพโหลดผ่านเฟซบุ๊ก เช่น ‘ตัดต่อเวลาที่ทำเก๋ให้นักแสดงสองคนไลฟ์เฟซบุ๊กพร้อมกัน ผู้ชมจะเลือกดูคนใดคนหนึ่งหรือสลับไปมาก็ได้, ‘ทึกทึก ทางไกล’ เป็นการบันทึกการโต้ตอบของเหล่านักแสดงในเรื่องผ่านโปรแกรม Zoom, In Own Space การแสดงจากนักแสดง 15 คน คนละ 2 นาที และในช่วงเดือนมิถุนายนจะมีโครงการ Co With Us  ที่อัปโหลดการแสดงของศิลปินศิลปาธรจำนวน 10 คน 

ละครออนไลน์ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งคือประเภทที่แสดงผ่านโปรแกรม Zoom โดยผู้ชมจะต้องจองรอบที่ต้องการ และแต่ละรอบจะจำกัดจำนวนคน เป็นรูปแบบที่อย่างน้อยก็คงสปิริตของการ ‘เล่นสด’ ของละครเวทีเอาไว้ ละครที่มาแนวทางนี้ก็เช่น ‘ก่อนอรุณรุ่งที่นำฉากหนึ่งจากหนังสือ ‘คนนอก’ ของอัลแบร์ กามูส์ มาเล่น และ ‘ฬ่านฤดีการแสดงเดี่ยวจากนักแสดงหญิง 5 คน ดัดแปลงจากซีรีส์ดังเรื่อง Fleabag

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าโควิด-19 ผลักดัน (แกมบังคับ) ให้ศิลปินต้องหาทางสร้างสรรค์ผลงานในเงื่อนไขจำกัด เช่นว่าต้องเน้นการแสดงเดี่ยวตามวิถี Social Distancing, การแสดงผ่าน Zoom หรือเฟซบุ๊กก็ต้องคำนึงเรื่องขนาดภาพ (Aspect ratio) ที่จำกัด จะเล่นอะไรกับพร็อพหรือการจัดองค์ประกอบภาพก็ทำได้ยาก นอกจากนั้นละครออนไลน์ในตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นดูฟรี ยังไม่มีเรื่องไหนเก็บค่าการแสดง ดังนั้นศิลปินก็ไม่สามารถสร้างรายได้จากผลงานได้ 

ส่วนในฝั่งนักวิจารณ์ หนักที่สุดคือนักวิจารณ์ละครเวที (Theatre critics) เพราะตอนนี้ไม่มีละครเล่น ก็ไม่มีวัตถุดิบไปเขียนงาน แต่เชื่อว่านักวิจารณ์ยุคนี้คงไม่มีใครสิ้นคิดยึดการเขียนวิจารณ์เป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องการประเมินคุณค่าใหม่ เช่นว่าละครเวทีออนไลน์นั้นถือเป็นละครเวทีหรือไม่ สมมติว่าต้องตัดสินรางวัลละครแห่งปี ต้องนับรวมละครออนไลน์ด้วยหรือเปล่า แถมยังมีประเด็นว่าละครออนไลน์บางเรื่องก็มีทั้งการตัดต่อและใส่เพลงประกอบ จนทำให้เส้นแบ่งระหว่างละครเวทีกับภาพยนตร์พร่าเลือนไป 

ผู้เขียนเชื่อว่าศิลปะการแสดงที่ดำรงมาหลายพันปีคงไม่ถึงขั้นสิ้นสลายด้วยเพราะโรคระบาด เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อมั่นและคุ้นชินอาจจะเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ ว่า “อะไรๆ ก็คงไม่เหมือนเดิม” ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องพบพานและก้าวผ่านไปให้ได้ 

Tags: ,