เงินบำนาญ เป็นเงินที่ใครๆ ก็อยากได้ เพราะคือเงินที่ได้รับเป็นรายเดือนเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน ซึ่งเดิมที การมีเงินบำนาญสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุจากการทำงาน เป็นสิทธิที่ให้เฉพาะกับข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจบางกลุ่มที่ทำงานครบตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่แนวคิดเรื่องการวางแผนการเงินสมัยใหม่และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายขึ้น ส่งผลให้ใครก็ตามที่มีการวางแผนการเงินเป็นอย่างดี ก็สามารถสร้างเงินบำนาญสำหรับใช้ในยามเกษียณอายุได้เช่นกัน
วิธีการสร้างเงินบำนาญด้วยตัวเองมีหลากหลายวิธี ดังนี้
1. สร้างเงินบำนาญผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) วิธีนี้เหมาะสำหรับพนักงานบริษัทเอกชนหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่นายจ้างมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ซึ่งโดยหลักการแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนภาคสมัครใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งก้อนจะประกอบด้วยเงินสะสมส่วนของลูกจ้างและเงินสมทบส่วนของนายจ้าง โดยหากเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปจนครบเงื่อนไข เมื่อเกษียณอายุจากการทำงานเงินทั้งก้อนจะเป็นของพนักงานผู้นั้น โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แต่เดิม สำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานจะรับได้เป็นเงินก้อน แต่ไม่กี่ปีหลังมีทางเลือกสำหรับการรับเงินที่หลากหลายขึ้น โดยรับเป็นเงินก้อนอย่างเดิมก็ได้ หรือจะทยอยรับเป็นงวดๆ ก็ได้ หรือเลือกแบบผสมรับเงินก้อนส่วนหนึ่งและรับเป็นงวดอีกส่วนหนึ่งก็ยังได้ ซึ่งสิทธิในการรับเงินเป็นงวดนี้เองที่เป็นช่องทางให้พนักงานบริษัททั่วไปสร้างเงินบำนาญให้กับตัวเอง
การเลือกสร้างเงินบำนาญด้วยวิธีนี้ ผู้รับบำนาญต้องวางแผนการเงินล่วงหน้าเป็นอย่างดี เนื่องจากจำนวนเงินและระยะเวลารับเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ เช่น ถ้าต้องการมีเงินบำนาญเดือนละ 10,000 บาทหลังเกษียณอายุไปอีก 10 ปี ควรจะต้องมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งส่วนของตัวเองและส่วนของนายจ้างรวมกันไม่น้อยกว่า 1,200,000 บาท และถ้าต้องการเงินก้อนด้วยก็ต้องมีเงินมากกว่านี้ และต้องไม่ลืมที่จะดูค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากการรับเงินเป็นงวดประกอบด้วย
2. สร้างเงินบำนาญผ่านกองทุนประกันสังคม (social security fund) คนจำนวนไม่น้อยรู้จักสวัสดิการของประกันสังคมในรูปของสิทธิการรักษาพายาบาลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบกับกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ตามสูตรการคำนวณที่กองทุนประกันสังคมกำหนด
เงินบำนาญชราภาพเป็นบำนาญรายเดือนให้แก่ผู้ประกันตนไปตลอดชีวิต ดังนั้น การสมัครเป็นผู้ประกันตนภายใต้กองทุนประกันสังคม หรือการเลือกนายจ้างที่มีสวัสดิการประกันสังคม หรือเมื่อออกจากงานและมีนายจ้างใหม่ที่ไม่มีสวัสดิการประกันสังคม แล้วเราเลือกที่จะจ่ายสมทบประกันสังคมด้วยตัวเอง ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้ในการสร้างบำนาญด้วยตัวเอง
การเลือกสร้างบำนาญด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือเป็นบำนาญที่รู้จำนวนเงินแน่นอน และจะจ่ายให้เราไปตลอดชีวิต เนื่องจากได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เงินบำนาญในส่วนนี้คิดเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก ซึ่งจากสูตรการคำนวณปัจจุบัน เงินบำนาญรายเดือนที่จะได้รับอยู่ที่ประมาณ 3,000-7,500 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ ดังนั้นจึงควรมีการออมเงินจากช่องทางอื่นควบคู่กันไปด้วย
3. สร้างเงินบำนาญผ่านประกันชีวิตแบบบำนาญ (annuity) เป็นการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มีการระบุไว้ชัดเจนแต่แรกว่าเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งบริษัทประกันจะระบุชัดเจนในกรมธรรม์ว่าจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันกี่ปี และจะได้รับเงินบำนาญตั้งแต่อายุเท่าไรไปจนถึงอายุเท่าไร เป็นจำนวนเงินงวดละเท่าใด ซึ่งรูปแบบของประกันชีวิตแบบบำนาญจะค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่ส่งเงินแค่ 5 ปี ไปจนถึงหลายสิบปี และการเริ่มจ่ายเงินก็มีตั้งแต่เริ่มจ่ายบำนาญตอนอายุ 55 ไปจนถึง 65 ปี และการสิ้นสุดการจ่ายเงินมีตั้งแต่อายุ 80 ไปจนถึง 90 ปี
การเลือกสร้างบำนาญด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือมีตัวเลือกที่หลากหลายให้เราสามารถออกแบบได้เอง และคาดการณ์จำนวนเงินที่จะได้รับล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างเงินบำนาญด้วยวิธีนี้เป็นการสร้างเงินบำนาญผ่านภาคเอกชน ดังนั้นจึงควรพิจารณาปัจจัยด้านความมั่นคงของบริษัทประกันประกอบด้วย เนื่องจากกว่าจะได้รับบำนาญก็เป็นเวลาสิบหรือหลายสิบปีข้างหน้า
4. สร้างเงินบำนาญผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระและไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญใดๆ ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ โดยส่งเงินตั้งแต่เดือนละ 50 บาท แต่ไม่เกินปีละ 13,200 บาท โดยจะมีภาครัฐสมทบเงินให้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อส่งเงินครบตามเงื่อนไข เช่น ครบ 10 ปี ก็จะได้สิทธิรับเงินบำนาญตลอดชีวิต
การเลือกสร้างบำนาญด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือเหมาะสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระและไม่มีเงินส่งต่อเดือนมากนัก ภาครัฐกำหนดเงินส่งขั้นต่ำเพียงเดือนละ 50 บาท และมีเงินสมทบจากภาครัฐอีกด้วย แต่เนื่องจากการส่งเงินต่องวดที่ไม่มาก เงินบำนาญที่จะได้รับหลังเกษียณก็จะคิดเป็นเม็ดเงินที่ไม่มากตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น หากออมเงินเดือนละ 200 ตั้งแต่อายุ 30 ปีจนถึง 60 ปี จะได้เงินบำนาญเดือนละ 879 บาท ซึ่งคงไม่พอสำหรับการดำรงชีวิต จึงควรมีการออมเงินจากช่องทางอื่นควบคู่กันไปด้วย
5. สร้างเงินบำนาญผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) เป็นการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่ระบุชัดเจนว่าเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF กองทุนรวมประเภทนี้ ผู้ซื้อจะไถ่ถอน (หรือขายคืน) หน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุ 55 ปี เป็นการบังคับให้ออมเงินเพื่อนำไปใช้ในช่วงเกษียณหรือใกล้เกษียณอายุการทำงานไปในตัว ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแทบทุกแห่งมีกองทุนประเภทนี้เสนอขาย ด้วยลักษณะของการลงทุนที่ต่างกันตั้งแต่เสี่ยงน้อยไปจนถึงเสี่ยงมาก เราจึงควรเลือกแบบหรือส่วนผสมของการลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่รับได้
การเลือกสร้างบำนาญด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือเลือกแบบแผนได้ค่อนข้างหลากหลายจากหลายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แต่มีข้อควรระวังคือการเลือกแบบแผนที่มีความเสี่ยงซึ่งคาดหวังผลตอบแทนสูง อาจได้รับผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็ได้ นอกจากนี้ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนั้น โดยตัวมันเองไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเงินบำนาญเสียทีเดียว แต่เราสามารถประยุกต์ผ่านเทคโนโลยีของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ให้ส่งคำสั่งไถ่ถอน (หรือขายคืน) หน่วยลงทุนล่วงหน้าเป็นงวดได้ ทำให้เราจะได้เงินเป็นงวดคล้ายกับเงินบำนาญนั่นเอง แต่ก็ต้องมีการวางแผนการเงินล่วงหน้าเป็นอย่างดีคล้ายกับกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การวางแผนการเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณนั้นมักได้รับความสนใจจากคนหนุ่มสาวน้อยกว่าการวางแผนให้รวยเสมอ ครั้นจะมาเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณตอนที่อายุมากขึ้นก็อาจจะไม่ทันการเสียแล้ว ในต่างประเทศจึงมีวิธีการสร้างเงินบำบาญอีกวิธีหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ วิธีนี้คือ
6. สร้างเงินบำนาญผ่าน Reverse Mortgage ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า สินเชื่อโดยมีบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยมันจะตรงกันข้ามกับการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านตามปกติ
Reverse Mortgage เป็นธุรกรรมที่สถาบันการเงินจ่ายเงินให้กับผู้กู้เป็นงวดๆ โดยผู้กู้ไม่ต้องชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยคืนจนกว่าจะสิ้นสุดการกู้ยืม และที่สำคัญก็คือผู้กู้อาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวต่อไปได้ (บางกรณี สถาบันการเงินจะกันวงเงินจำนวนหนึ่งไว้สำหรับการเบิกใช้ในยามฉุกเฉินเพิ่มเติมก็ได้) ตัวอย่างเช่น บ้านราคา 2 ล้านบาท สถาบันการเงินอาจจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ 50% ของราคาบ้าน และทยอยจ่ายเป็นรายเดือนให้ผู้กู้ (ผู้สูงอายุ) ไว้เป็นค่าครองชีพไปเรื่อยๆ โดยมีเงื่อนไขการจ่ายเงินว่าจะทยอยจ่ายไปเรื่อยๆ จนครบวงเงิน หรือจนกว่าผู้สูงอายุจะเสียชีวิต ซึ่งถ้ายังมีวงเงินกู้เหลือ ก็จะส่งเงินให้ทายาทต่อไป หรือจนกว่าทายาทจะขอไถ่ถอนบ้านคืน
การเลือกสร้างบำนาญด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือเป็นการใช้สินทรัพย์ที่ตัวเองมีมาสร้างเป็นเงินบำนาญก้อนสุดท้ายของชีวิต สำหรับผู้ที่มีบ้าน แต่วางแผนทางการเงินได้ไม่ดีพอ และยังอยู่ในบ้านต่อไปได้
ทั้งนี้ ในประเทศไทยเริ่มมีการกล่าวถึงการทำธุรกรรม Reverse Mortgage บ้างแล้ว และเป็นไปได้ว่าจะมีบางธนาคารให้บริการสำหรับธุรกรรม Reverse Mortgage ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ยังช่วยลดภาระของรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตอีกด้วย
Tags: ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ, Reverse Mortgage, social security fund, annuity, คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ, RMF, เงินบำนาญ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนประกันสังคม