ส.ส.เกาหลีใต้ผลักดันล้มล้างประเพณีเก่า ชงเลิกนับอายุแบบเกาหลีที่เด็กจะมีอายุ 1 ปีในวันที่เกิดและมีอายุ 2 ปีทันทีในวันปีใหม่ แม้มันจะเป็นวันถัดไปก็ตาม

ถ้าหากใครสงสัยว่าประเพณีนี้แตกต่างกับการนับอายุแบบสากลอย่างไร ให้ลองคิดถึงเด็กที่เกิดในวันที่ 31 ธันวาคมส่งท้ายปีเก่าที่จะต้องมีอายุครบ 2 ปีทันทีที่นาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืน แม้จะมีอายุตามแบบสากลไม่ถึงวัน ซึ่งโดยปกติเมื่อโดนชาวต่างชาติถามอายุ ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากจะตอบทั้ง ‘อายุแบบเกาหลี’ และ ‘อายุแบบสากล’ ตามด้วยคำอธิบายที่ทำให้ผู้ถามสับสน

ต้นกำเนิดของระบบการนับอายุแบบเกาหลีไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนมากนัก โดยหนึ่งในทฤษฎีที่มีอยู่คือการคำนึงถึงเวลาที่ทารกใช้ในครรภ์ด้วย จึงทำให้เมื่อกำเนิดจึงปัดเศษอายุขึ้นเป็น 1 ปี ซึ่งทฤษฎีนี้เชื่อมโยงกับระบบตัวเลขเอเชียโบราณที่ไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับตัวเลขศูนย์ (0)

ส่วนคำอธิบายของการเพิ่มจำนวนปีที่จะเพิ่มในทุกวันที่ 1 มกราคมนั้นซับซ้อนกว่า ผู้เชี่ยวชาญบางคนอธิบายถึงทฤษฎีที่ว่าชาวเกาหลีโบราณวางปีเกิดของพวกเขาในวงจรปฏิทินจีน 60 ปี แต่ในเวลาที่ไม่มีปฏิทิน พวกเขามักจะไม่สนใจวันเกิดและเพิ่มอายุไป 1 ปีในวันแรกตามปฏิทินจันทรคติ ส่วนปีที่เพิ่มมาในวันที่ 1 มกราคมนั้นเกิดขึ้นเมื่อชาวเกาหลีเริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่ของปฏิทินสากลหรือปฏิทินตะวันตก  

ทั้งนี้ ส.ส.ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการยุติประเพณีนับอายุที่มีมากว่าศตวรรษอธิบายว่า เพื่อนร่วมชาติของเขาหลายคนกลัวว่าถ้าหากไม่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เกาหลีใต้ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียและเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลก เดินคนละสเต็ปกับส่วนอื่นๆ ของโลก

“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของคืออายุทางกฎหมายและอายุที่ใช้ในชีวิตประจำวันแตกต่างกันไป ในขณะที่อายุแบบสากลถูกใช้ในศาล โรงพยาบาล และสำนักงาน แต่อายุแบบเกาหลีกลับถูกใช้ในชีวิตประจำวัน จนทำให้เกิดความสับสนและไม่สะดวก” ฮวางจูฮง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลใช้อายุสากลในเอกสารราชการและกระตุ้นให้ประชาชนใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้นกล่าว

นอกจากนั้น ส.ส.ฮวางจูฮง ยังอ้างว่า ในหมู่สาธารณชนมีผู้ปกครองที่เกิดความกังวล เพราะมีลูกเกิดในเดือนธันวาคมด้วยเกรงว่าลูกจะประสบปัญหาเมื่อพวกเขาต้องอยู่รวมกับเด็กที่มีอายุมากกว่าและโตกว่า โดยอาจจะเสียเปรียบด้วยขนาดตัวที่เล็กกว่า พร้อมชี้ให้สังเกตว่าจีนนั้นยกเลิกระบบนับอายุแบบดั้งเดิมตั้งแต่ช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม ขณะที่ญี่ปุ่นปรับใช้การนับอายุแบบสากลตั้งแต่ช่วงก่อนยุค 1990s

สอดคล้องกับความสับสนของผู้ปกครองหลายคนอย่าง คิมซุนมี ซึ่งลูกสาวของเธอเกิดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมปีที่แล้ว กล่าวว่า ระบบอายุของเกาหลีใต้สร้างความสับสนให้กับผู้ปกครองของเด็กที่เกิดในช่วงปลายปี” ขณะนี้เธอยังต้องการให้ลูกของเธอนับอายุเป็นเดือนเพราะลูกของเธอยังเด็กเกินไป และจะเริ่มนับอายุแบบเกาหลีเมื่อเธอโตขึ้น พร้อมเพิ่มเติมว่ามันเป็นเรื่อง ‘ไร้สาระ’ ที่ลูกสาวของเธอต้องฉลองวันเกิดครั้งที่ 2 หลังคลอดได้ 2 วัน รวมถึงชี้ว่าระบบนับอายุแบบเกาหลีส่งผลกระทบทางลบหลายอย่างสำหรับทารกที่เกิดในยุคนี้

“ฉันยังเห็นโพสต์ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับวิธีที่พ่อแม่บางคนวางแผนการตั้งครรภ์ เพื่อลูกของพวกเขาจะไม่เกิดในช่วงปลายปี โดยบางคนถึงกับจงใจโกง โดยรอจดทะเบียนเกิดในเดือนมกราคมแทน”

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ชาวเกาหลีใต้ทุกคนที่เห็นว่าการนับอายุแบบดั้งเดิมนั้นผิดสมัย โดย จางยูซึง นักวิจัยอาวุโสของศูนย์วิจัยโอเรียนเต็ลศึกษาของมหาวิทยาลัยทงกุกอ้างว่าการนับอายุแบบเกาหลีสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปฏิทินจันทรคติในสังคมเอเชียตะวันออกซึ่งตรงข้ามกับปฏิทินสุริยคติที่พบในตะวันตก

“บางคนบอกว่ามันแปลกสำหรับเด็กที่เกิดในเดือนธันวาคมที่จะมีอายุ 2 ปีหลังจากเกิดเพียงไม่กี่วัน แต่มันก็เหมือนกันกับอายุแบบสากล เพราะทารกที่เกิดวันนี้และอีกคนที่เกิดในปีที่แล้วก็ต่างมีกำหนดจะฉลองวันเกิดของเขาหรือเธอในวันพรุ่งนี้ โดยมีวันเกิดห่างกันเกือบ 12 เดือน แต่พวกเขาทั้งคู่มีอายุเป็นศูนย์

“ทำไมระบบอายุแบบเกาหลีและอายุแบบสากลไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในลักษณะเดียวกับที่วันหยุดปีใหม่ทางจันทรคติและวันคริสมาสต์ดั้งเดิมสามารถอยู่ร่วมกับการนับวันแบบสากลได้” นักวิจัยอาวุโสกล่าว

เช่นเดียวกับ คิมยุนซู พลเมืองเกาหลี อายุ 32 ปีที่เห็นด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อเลียนแบบตะวันตกไม่ควรถูกบังคับใช้ เพราะระบบอายุแบบเกาหลีเกิดขึ้นจากการจดจำเวลาที่ทารกใช้ในครรภ์มารดาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลี

“ฉันไม่ได้ต่อต้านการใช้ระบบอายุแบบสากลทั้งหมด แต่ฉันสงสัยว่ามันจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้คนทำแบบเดียวกันด้วยหรือ”

ที่มา

https://www.theguardian.com/world/2019/jun/02/south-korea-mulls-ending-arcane-age-system-to-match-rest-of-world

https://www.dailymail.co.uk/news/article-6916411/Babies-born-December-31-two-years-old-day-South-Korean-age-system.html

ที่มารูป: Kim Hong-Ji / AFP