เมื่อปี 2015 อาลีบาบาเข้าซื้อกิจการหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post)  หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายใหญ่ของฮ่องกง และเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดของโลกซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 114 ปีก่อน

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้รับรางวัลมากมายจากการรายงานข่าวประเด็นที่ถูกห้ามนำเสนอในประเทศจีน เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเหตุอื้อฉาวทางการเมือง

แม้การเข้าซื้อกิจการของอาลีบาบาช่วยชุบชีวิตกิจการหนังสือพิมพ์ที่ซบเซาก่อนหน้านี้ เช่น การจ้างนักข่าวจำนวนมาก แต่มันก็นำพาภารกิจใหม่มาด้วย นั่นคือการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประเทศจีนในต่างประเทศ และต่อสู้กับสิ่งที่อาลีบาบาเห็นว่า สื่อต่างประเทศมีอคติต่อประเทศจีน

นักวิจารณ์บอกว่าเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ห่างไกลออกไปจากสื่อมวลชนที่เป็นอิสระมากขึ้นทุกที และเป็นผู้บุกเบิกการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบใหม่ อาลีบาบาซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก และส่วนหนึ่งมาจากการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลจีน กำลังทำลายประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์โดยการรายงานข่าวที่ทำให้รัฐบาลจีนพอใจ

ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่สังเกตเห็นได้นับตั้งแต่การซื้อกิจการของอาลีบาบาคือ ปริมาณข่าวที่เกี่ยวกับอาลีบาบาและแจ็ก หม่า เพิ่มมากขึ้น นับเฉพาะปีที่แล้ว ทั้งในออนไลน์และฉบับสิ่งพิมพ์ มีข่าวเกี่ยวกับสองประเด็นนี้เฉลี่ยวันละ 3.5 ข่าว นอกจากนี้ ทุกวันจะมีข่าวหลายสิบชิ้นที่นำเสนอข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับประเทศจีน

ตั้งแต่เข้าซื้อกิจการ เว็บไซต์ก็เปิดให้เข้าอ่านข่าวฟรี ทำให้มีผู้อ่านเพิ่มขึ้นสามเท่าในปีที่แล้ว

แต่เว็บไซต์ก็ยังถูกบล็อคในประเทศจีน แม้จะมีข่าวที่มีเนื้อหาสนับสนุนรัฐบาลจีน แต่หนังสือพิมพ์ยังแตะหัวข้อต้องห้ามของจีน อย่างการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989

“การประกาศเป้าหมายว่าจะนำเสนอเรื่องราวแง่บวกของประเทศจีน และนำเสนอเรื่องที่ตั้งคำถามได้เท่านั้น ทำลายสิ่งที่หนังสือพิมพ์ได้สั่งสมมา” หยึน ชาน (Yuen Chan) นักข่าวและอาจารย์มหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong ให้ความเห็น

ขณะที่นักธุรกิจและรัฐบาลทั่วโลกหาทางจัดการกับสื่อดั้งเดิมแบบอ้อมๆ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์กลายเป็นกรณีทดสอบว่า เจ้าของใหม่สามารถร่วมมือเพื่อสร้างแบรนด์เพื่อส่งเสริมความคิดเห็นบางแบบ อาลีบาบาบอกว่าตนเองต้องการนำเสนอข่าวที่ “เป็นธรรมและสมดุล” เพื่อเป็นตัวเลือกแก่สื่อต่างชาติ

ดูเหมือนอาลีบาบายินดีที่จะเสียเงินกับกิจการนี้ซึ่งไม่ได้กำไร หนังสือพิมพ์มียอดจำหน่ายประมาณ 100,000 ฉบับ มีผู้อ่านในเว็บไซต์ประมาณ 10 ล้านคนต่อเดือน และเป็นบริษัทที่ยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ อย่างน้อยก็ใน 5 ปีนี้

วัฒนธรรมเซนเซอร์ตัวเองเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนที่อาลีบาบาจะเข้าซื้อกิจการ หวัง เฟิง (Wang Feng) บรรณาธิการข่าวออนไลน์ระหว่างปี 2012-2015 กล่าว เขาบอกว่าบรรณาธิการข่าวลดข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ลง เนื่องจากหวาดกลัวการคุกคามจากทางการจีนหรือนักธุรกิจ

บรรยากาศเช่นนี้ยังคงมีอยู่ภายใต้การบริหารของอาลีบาบา นักข่าวนับสิบคนบรรยายว่า หนังสือพิมพ์ลดการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และประเด็นสิทธิมนุษยชน

ปีที่แล้ว เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ถอดคอลัมน์ธุรกิจที่แนะนำให้นักลงทุนในฮ่องกงผูกสัมพันธ์กับที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง และใช้เครือข่ายของเขาเพื่อสร้างความมั่งคั่ง บรรณาธิการกล่าวว่าคอลัมน์นี้เป็นการ “พูดเกินข้อเท็จจริง”

เชอร์ลีย์ แยม (Shirley Yam) นักเขียนด้านการเงินซึ่งเป็นที่เคารพมากลาออก ในแถลงการณ์เขาบอกว่าบรรณาธิการได้ตรวจสอบบทความชิ้นนี้อย่างละเอียดแล้วก่อนที่จะตีพิมพ์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์บอกว่า กระทรวงความมั่นคงของจีนบังคับให้บรรณาธิการระดับสูงส่งนักข่าวไปสัมภาษณ์ กุ้ย หมิน ไห่ นักวิจารณ์การเมืองที่ถือสัญชาติสวีเดนซึ่งถูกทางการจีนลักพาตัวไป กุ้ยให้สัมภาษณ์ว่า เขาฝ่าฝืนกฎหมายจีนและไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

“เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์มีความเสี่ยงที่จะเป็นเครื่องโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน” วิลลี ลัม นักวิชาการมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong อดีตผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์แห่งนี้กล่าว

หนังสือพิมพ์อาจจะประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้อ่านต่างประเทศคิดว่าข่าวเกี่ยวกับจีนจากตนเองน่าเชื่อถือ แต่สำหรับนักข่าวแล้ว ถูกมองว่าเป็นสำนักข่าวอีกแห่งหนึ่งของรัฐบาลจีน

ทอม กรันดี (Tom Grundy) บรรณาธิการของเว็บไซต์ข่าว Hong Kong Free Press เห็นว่า เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์เคยเป็นที่อยู่ของนักข่าวเก่งๆ แต่เมื่ออาลีบาบาเข้ามาซื้อกิจการ และการกระทำที่ผิดพลาดของบรรณาธิการส่งผลต่อคุณภาพการทำงาน

นักข่าวคนหนึ่งซึ่งประจำอยู่ในนิวยอร์ก เล่าว่า การสัมภาษณ์นักการเมืองและแหล่งข่าวอเมริกันยากขึ้น เพราะแหล่งข่าวคิดว่าเขาทำงานให้กับสำนักข่าวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Tyrone Siu

ที่มา:

Tags: , , , , , , ,